ในช่วง 3 เดือนที่ประเทศไทยมีมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้คนต้องอยู่บ้าน งดเดินทางข้ามเขตพื้นที่ ส่งผลให้การขับขี่ยานพาหนะลดลง สายการบินต้องหยุดให้บริการ งดเดินทางและท่องเที่ยว ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงมาก ส่งผลให้ธรรมชาติทะเล ป่าเขา ได้พักฟื้นตัว ส่วนชั้นบรรยากาศเหมือนขั้นโอโซน ก้ได้พักตัวด้วยเหมือนกัน เพราะไร้การรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ ลดการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ ถือเป็นมุมบวกของโลกและธรรมชาติท่ามกลางวิกฤตโควิด
และนับเป็นความท้าทายว่า จะทำอย่างไร ความสวยงามและสมบูรณ์นี้ถึงจะอยู่กับเราได้ยืนยาว มีนักวิชาการและนักพัฒนาองค์กรเอกชนตั้งข้อสังเกตว่า ปรากฎการณ์นี้ อาจเป็นแค่ระยะสั้นเท่านั้น พร้อมโยนคำถามถึงยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนสู่ประเทศสีเขียว รวมถึงการรุกสร้างความเข้าใจกับประชาชนหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นหลังปลอดภัยจากโควิด
จากเวทีเสวนา ”Our Wild,Our Climate สภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหลัง COVID-19 “ โดยความร่วมมือของสำนักข่าว Bangkok Tribune และองค์กรพันธมิตร จัดขึ้นที่ SEA Junction ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันก่อน โดยมี ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม ,ดร.กลย์วัฒน์ สาขากร ผู้อำนวยการกลุ่มงานประสานกลางอนุสัญญา กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ,ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย และวรรณสิงห์ ประเสิรฐกุล นักทำสารคดี”เถื่อน Travel” และนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ร่วมเสวนา
สถานการณ์สภาพแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก่อนและในระหว่างช่วงโควิด-19 ดร.กลย์วัฒน์ สาขากร กล่าวว่า ก่อนโควิดหลายองค์กรมีการคาดการณ์ตรงกันว่า อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มขึ้นตลอด ไม่มีแนวโน้มลดลง และขณะนี้อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย อุณหภูมิน้ำทะเลก็สูงขึ้น ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น ชี้ให้เห็นผลกระทบรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แม้ในเวทีโลกได้ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน เพื่อควบคุมอุณหภูมิและหาแนวทางสร้างภูมิคุ้มกันกลุ่มเสี่ยง เดิมทีปีนี้ทุกประเทศต้องเตรียมการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส ประเทศพัฒนาแล้วต้องสนับสนุนถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ซึ่งแม้ทุกประเทศทำแล้วก็ยังไม่พอ มีช่องว่างในการลดปล่อยคาร์บอนอีกมาก มีหลายประเทศไม่เห็นด้วย บอกไม่ยุติธรรม มอว่าทำไมบางประเทศทำน้อย บางประเทศทำมาก ทำให้หาข้อตกลงในการทำงานไม่ได้ ซึ่งโควิดเข้ามาพอดี
ภาพรวมของโลกเมื่อเกิดการระบาดโควิดตั้งแต่มีนาคม –พฤษภาคม 2563 พบว่า ปริมาณการปล่อยคาร์บอนของโลกลดลงมาก สัดส่วนกิจกรรมที่ปล่อยคาร์บอนลดลง คือ ด้านคมนาคมขนส่ง รวมแล้ว 97% ของการปล่อยทั้งหมด การบินหยุดหมด สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรมของมนุษย์ใดบ้างที่กระทบสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างมาก มาดูประเทศไทยข้อมูลมีนาคมที่ผ่านมา ปริมาณการปล่อยคาร์บอนลดลงเกือบ 20 ล้านตัน หรือคิดเป็น 12.6 % เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีที่แล้ว หลักๆ คือ พลังงาน อุตสาหกรรม การเดินทางและการใช้พลังงานในอาคาร
โลมาปากขวด สัตว์ทะเลหายาก เริงร่าในทะเลอันดามัน บริเวณเกาะไม้ท่อน
“ จากสถานการณ์ที่กำลังดิ่งลงเหว เหมือนมีอะไรหยุดเอาไว้ ทำให้เราย้อนกลับมาคิด สิ่งแวดล้อมฟื้นกลับมาจากโควิด ช่วงแค่สองเดือนยังไม่ได้บอกชัดเจนที่เราจะไปใช้ต่อได้ เพราะคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเกิดขึ้นและมีชีวิตยาวนานมาก ในบรรยากาศไม่ได้ลดลง ต้องศึกษามากกว่านี้ หากอยากแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนต้องทำอย่างต่อเนื่อง แต่ที่แน่ๆ ปริมาณคาร์บอนในเมืองใหญ่ลดลงมาก โควิดมุมหนึ่งเป็นวิกฤตต่อเศรษฐกิจและสังคม แต่ในด้านสิ่งแวดล้อมทำให้เราเห็นสัตว์ป่าหายากกลับมาแสดงตัวตนอีกครั้ง ทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในกรุงเทพฯ เป็นสีเขียวทุกวัน เราจจัดระเบียบและนำไปวางแผนจัดการสภาพแวดล้อมต่อไปในอนาคตอย่างไร “ กลย์วัฒน์ กล่าว
กลย์วัฒน์ กล่าวต่อว่า เศรษฐกิจที่พังในปัจจุบันบนเงื่อนไขโควิด มีหลายสถาบันคาดการณ์หากโควิดควบคุมได้ช้าระบาดต่อเนื่องปีหน้า อาจจะกลายเป็นสองปี หรือปีหน้าระบาดซ้ำครั้งที่สอง หรือครั้งที่สาม เศรษฐกิจโลกจะช้าไปอีก 1 ปี เท่ากับอีก 3 ปี ถึงจะฟื้น จากการสำรวจมุมมองเรื่องนี้ คนมองว่า โควิดกับโลกร้อนรุนแรงพอกัน 70% อีก 20% มองว่าโควิดรุนแรงกว่า ส่วนโลกร้อนเป็นเรื่องเด็กๆ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เป็นที่ประจักษ์การลดก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียวไม่ยั่งยืน สิ่งที่ช่วย คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งสอดคล้องกับคำว่า New Normal อีกโอกาสของสภาวะโลกร้อนต้องมองเรื่องผลประโยชน์ร่วมกัน
ท้องทะเลได้พักผ่อน ฉลามหูดำว่ายน้ำหากินที่อุทยานฯ หมู่เกาะพีพี /ภาพโดยกรมอุทยานฯ
“ ขณะนี้มีกระแสการฟื้นฟูสีเขียวมาแรงมากจากประเทศตะวันตก หากยับยั้งโควิดได้วัคซีนมาเมื่อไหร่ จะปรับรูปแบบการใช้ชีวิต เพื่อให้สิ่งแวดล้อมได้ผลประโยชน์ด้วย สำหร้บ สผ.ได้ร่วมงานกับต่างประเทศ มีการถามถึงแผนฟื้นฟูสีเขียวของประเทศไทย ขณะนี้ สผ.กำลังผนวกเรื่องดังกล่าว รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีการพูดถึงธุรกิจที่ตายไปแล้ว จะให้ฟื้นคืนชีพอีกครั้งต้องเป็นธุรกิจสีเขียว หรือธุรกิจยานยนตร์หากได้รับเงินสนับสนุนฟื้นฟูหลังโควิดต้องปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์ ใช้พลังงานรูปแบบใหม่ นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมจะมีปรับเปลี่ยนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างไร แม้แต่การเดินทางขนส่งทางอากาศในรูปแบบที่ควรจะเป็น หรือการปรับปรุงอาคารหลังโควิดจะเปลี่ยนให้ได้มาตรฐานสีเขียวอย่างไร เมื่อได้รับเงินหนุนจากภาครัฐ “ กลย์วัฒน์ กล่าวถึงโอกาสจากวิกฤตโควิด
ส่วนแผนลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ของสผ. ที่มีอยู่เดิม กลยวัฒน์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมหลักๆ คือ การใช้พลังงานทดแทน และพัฒนาเทคโนโลยี สนับสนุนการเดินทางที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ ใช้ระบบขนส่งมวลชน อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย ลดปริมาณ กำจัดถูกวิธี คัดแยก นำของเสียกลับมาผลิตพลังงาน ส่วนแผนการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศมีประโยชน์ทางอ้อมต่อเศรษฐกิจและสังคม ลดปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วม ภาคเกษตรปรับวิธีทำเกษตร การท่องเที่ยวในชุมชนที่เหมาะสม ด้านสาธารณสุขจะรับมืออย่างไร ด้านทรัพยากรธรรมชาติจะรักษาและฟื้นฟูเพื่อลดภัยพิบัติ น้ำท่วม น้ำเค็มหนุน จากสถานการณ์โควิด ทำให้ต้องวิเคราะห์อีกครั้ง วางแผนจัดลำดับความสำคัญเรื่องใดทำก่อนหรือหลัง
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กล่าวว่า พลังงานเป็นจำเลยปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 70% แต่เวลาชี้นิ้วภาคพลังงาน มนุษย์ทุกคน คือ ผู้ทำกิจกรรมต่างๆ ฉะนั้น เราต้องช่วยลดโลกร้อน นอกจากนี้ ตามแผนปฏิรูปพลังงานของประเทศ จะมุ่งเป้าการเพิ่มพลังงานหมุนเวียนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตลาดต้องการสินค้าคาร์บอนฟุตพรินท์ต่ำ นอกจากนี้ จะขับเคลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าจากชีวมวล ช่วยจัดการของเสีย ลดการปล่อยก๊าซมีเทนและบรรเทาปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมถึงมีโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ประเภทบ้านอยู่อาศัย ติดตั้งบนหลังคา เพื่อลดการซื้อไฟฟ้า ส่วนอัตราการรับซื้อไฟฟ้า จะไม่กระทบทำให้ราคาไฟเฉลี่ยโดยรวมของประเทศสูงขึ้น พลังงานแสงอาทิตย์ไม่ได้ยุ่งยาก มีการลดกฎกติกาเพื่อให้ติดตั้งได้ พลังงานสะอาดเข้าถึงได้ เราเดินแล้วตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เริ่มแล้วตั้งแต่โควิดยังไม่มา มีความท้าทายประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไรในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน หากโควิดระบาดรอบสอง ประเทศไทยคิดเรื่องนี้ แต่จะแอคชั่นแค่ไหนต้องดูกัน
“ เวลานี้โลกพูดถึงผลของโควิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค อย่างน้อยน่าจะมีผลสองสามปีที่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม หลังจากนั้นกราฟขึ้นแน่ๆ แต่ที่เห็นชัดเจนมีการใช้ไฟฟ้าในบ้านเรือนมากขึ้น คาร์บอนโดยรวมของโลกลดลง เนื่องจากการเดินทางขนส่ง โจทย์อยู่ที่ว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว จะฟื้นเป็นแบบเดิมๆ หรือเส้นทางสีเขียว นี่คือ อนาคตและความหวัง งบ 4 แสนล้าน ไม่มีใครพูดจะฟื้นเศรษฐกิจโดยไม่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่าง กติกาจะไปทิศทางไหน "
บัณฑูร กล่าวอีกว่า และถ้าหากมีการระบาด ระลอก 2 ระลอก 3 ยังประเมินไม่ได้ว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะรุนแรงแค่ไหน ส่วนจะมีผลต่อสิ่งแวดล้อมลักษณะไหน ก็เป็นไปได้หลายรูปแบบ ขึ้นกับว่าเราจะตัดสินใจให้เศรษฐกิจฟื้นตัวไปในทิศทางใด และฟื้นอย่างไร ในวงเสวนา สวทช. บอกว่าไทยกำลังสู่ระยะฟื้นตัว สิ้นเดือนนี้จะมีกติกาคลายล็อกดาวน์เกือบทั้งหมดแล้ว หลังจากปลดล็อกแล้ว จะเป็นระยะสำคัญของไทยว่าเราจะปรับโครงสร้างกันอย่างไร โจทย์สำคัญสิ่งแวดล้อมคือเรื่องโลกร้อน รัฐบาลเองก็ความตั้งใจดีมากที่จะพัฒนาประเทศสู่เส้นทางใหม่ ซึ่งตัวทดสอบในเรื่องนี้ คือ การใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 แสนล้าน จะมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืนได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 20% รวมถึงจะเกิดการสร้างงานสีเขียวอย่างไร เวลานี้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีกรอบเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจชุมชน และท่องเที่ยวคุณภาพ แต่ความป็นจริงจะเดินไปได้แค่ไหน ส่วนเรื่องพลังงานและไฟฟ้าจะสนับสนุนพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ยกตัวอย่างติดตั้งโซล่ารเซลล์ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ ช่วยลดค่าไฟ เงินที่ลด ก็นำมาซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือกระทั่งปรับการท่องเที่ยวเปลี่ยนสู่นิวนอร์มอล
โลมาสีชมพู สัตว์ทะเลหายากที่ดอนสักต่อเนื่องอ่าวขนอม สื่อธรรมชาติอ่าวไทยตัวก ล่าง สมบูรณ์
"ผมขอยกตัวอย่าง ธรรมชาติที่กลับคืนมาจากโควิดและกติกาทางสังคม การรักษาระยะห่าง ขณะนี้กรมอุทยานฯ ร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจเกาะเสม็ด ประกาศจำกัดนักท่องเที่ยวขึ้นเกาะไม่เกินวันละ 4,000 คนจากปกติวันละหมื่นกว่าคน เราจะทำโมเดลแบบนี้ ในสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ ได้มั้ย ไม่ให้คนทะลักเหมือนที่ผ่านมา เวลานี้นักวิชาการกำลังหาสมดุลใหม่ระหว่างการฟื้นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เป็นโจทย์ท้าทายกับทุกภาคส่วนในสังคม รวมถึงรับมือกับโรคอุบติใหม่ที่แนวโน้มเป็นไปได้จะเกิดขึ้นอีก ต้องใช้โอกาสนี้ โมเมนตัมนี้ ทำให้ตระหนักและสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ทิศทางพัฒนาโลกน่าอยู่ "บัณฑูรกล่าว
โลกใต้ทะเล ปะการังฟื้นตัวดีขึ้น ภาพโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ภาพจากกรมทรัพยากรทางทะเลทชายฝั่ง )
ด้าน ธารา บัวคำศรี กล่าวว่า เวทีเจรจาโลกร้อนที่กำหนดก่อนเกิดโควิดถูกเลื่อนออกไป เพราะมองว่าไม่ใช่วาระเร่งด่วน แต่ก่อนเจอโรคระบาดใหญ่ มีกระแสความตื่นตัวมากมายของเยาวชนคนรุ่นใหม่ในปัญหาโลกร้อน เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลายประเทศและหลายท้องถิ่นประกาศภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ ส่วนไทยเองก็มีความล่อแหลม ความเสี่ยง และเปราะบางจากผลกระทบที่เกิดขึ้น ความเร่งด่วนของปัญหา วิกฤตไวรัสทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปแต่แค่ระยะสั้น หากจะคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงขึ้นมากกว่า 1.5 องศา ต้องให้โควิดเกิดติดต่อกัน 30 ปี ฉะนั้น นโยบายการจัดการสภาพภูมิอากาศเดินหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ย้อนแย้งกับการสร้างขีดความสามารถปรับตัวทางเศรษฐกิจ ลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เราต้องมาสู้กันเรื่องทางด่วน, ภาคตะวันออกมีการถมทะเลขยายท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด หรือผลักดันเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ล่าสุดที่ อ.จะนะ จ.สงขลา จะขยายเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เป็นเรื่องที่เราต้องจับตาดู การฟื้นฟูสีเขียวจะไปทางไหนแน่ มีความเป็นห่วงหลายอย่าง บางภาคส่วนขับเคลื่อนประเด็นตัวเอง ใช้โอกาสช่วงโควิด ย้อนแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติ ขณะนี้รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการต่างๆ หลังโควิดคลี่คลาย ต้องติดตามรัฐบาลจะเดินไปทางไหน จะเป็นนิวนอร์มอลอย่างไร
วรรณสิงห์ ประเสิรฐกุล แสดงทัศนะว่า ข่าวตามหน้าสื่อในช่วงโควิดว่า ธรรมชาติฟื้นตัว ช่องโหว่ชั้นโอโซนของบรรยากาศโลกดีขึ้น คนรู้สึกดี เพราะเป็นข่าวดีท่ามกลางโลกเกิดการแพร่ระบาดไวรัสครั้งใหญ่ แต่ตนมองว่า ไม่ได้ตอบโจทย์ระยะยาว ก๊าซเรือนกระจกลดลงก็แค่ชั่วคราว ไม่ว่าจะด้านการผลิตพลังงานรูปแบบใหม่หรือการใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อโควิดจบปุ๊ปก็กลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม
เจ้าหน้าที่อุทยานสำรวจ จุดวางไข่เต่าทะเล
“ การคุมโควิดทำให้ทั่วโลกปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ลดลงมากสุด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปี 2562 เป็นครั้งแรกที่โลกสามารถทำได้ตามเป้าหมาย เพราะมีมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ การขนส่งภาคพื้นดินหายไป การปล่อยคาร์บอนก็ลดลง แต่โจทย์จะทำอย่างไรให้ลดก๊าซเรือนกระจก โดยไม่ต้องใช้ชีวิตทรมานอย่างมาตรการคุมโควิด ไปช้อปปิ้งได้ สามารถเดินทางได้ เชื่อว่า ไม่มีใครอยากให้เกิดโควิดทุกปี "
ตัวแทนคนรุ่นใหม่ ให้มุมมองอีกว่า อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูสภาพแวดล้อมหรือแก้โลกร้อน ไม่ใช่แค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กน้อยๆ แต่รวมถึงปรับปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ประเด็นโลกร้อนยังต้องการการสื่อสารให้มวลชนเข้าใจ สร้างความคิดเห็นของประชาชน และผลักดันสู่นโยบายต่อไป
“ โควิดเป็นตัวอย่างของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ และโรคระบาดซ้ำที่เคยหายไปแล้วแต่กลับมาให้ได้เห็นใหม่ รวมถึงการเพิ่มจำนวนง่ายขึ้นของพาหะนำโรค ก่อให้เกิดการไวรัส โควิดเป็นหนังตัวอย่าง แต่กระตุกให้สังคมสนใจเห็นผลกระทบจากความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ เห็นความเหลื่อมล้ำทางสังคม สิทธิมนุษยชน และภาวะโลกร้อน จะรักษาสิ่งแวดล้อม หากพูดแต่รักษ์โลกหรือหัวใจสีเขียวไม่สามารถสื่อสารได้ เพราะวิกฤตที่เผชิญหนักกว่าเยอะ โควิดสะท้อนถ้าไม่จัดการสิ่งแวดล้อมให้ดี จะกระทบกับคนบนโลกแค่ไหน “ วรรณสิงห์ กล่าวในท้ายต้องสร้างความรู้สึกร่วมจุดชนวนสังคมเรื่องโควิดกับสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องกันอย่างแยกออกไม่ได้ เพื่อฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน
เต่าทะเลขึ้นวางไข่ชายหาดต่างๆ เกาะสมุย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |