รัฐบาลลงนามกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสลุยพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก


เพิ่มเพื่อน    

 

ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล  วันศุกร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในพิธีลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งขึ้นเฉพาะกิจโดย กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ผู้ยื่นข้อเสนอเงินประกันขั้นต่ำเป็นผลตอบแทนให้แก่รัฐดีที่สุด เพื่อร่วมกันลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล 

โดยผู้ร่วมลงนามสัญญาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ฯ ประกอบด้วย พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน

สำหรับ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ อีอีซี มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็น “สนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3” เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิด้วยรถไฟความเร็วสูง ทำให้ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี

นอกจากนี้ โครงการฯ จะทำให้เกิดศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมาย โดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” รวมถึงการเป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (พัทยาถึงระยอง)  ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์การพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ดที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญ ของประเทศไทย  โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้งทางน้ำ ทางบกและทางอากาศ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ศูนย์กลางทางการบินและประตูเศรษฐกิจสู่เอเชีย

นายคณิศ แสงสุพรรณ กล่าวว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 290,000 ล้านบาท แต่เป็นโครงการที่รัฐได้ผลประโยชน์ด้านการเงิน 305,555 ล้านบาท ได้ภาษีอากรกว่า 62,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานเพิ่ม 15,600 ตำแหน่งต่อปีในระยะ 5 ปีแรก เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรด้านธุรกิจการบินและธุรกิจเชื่อมโยง เพิ่มเทคโนโลยีองค์ความรู้ด้านธุรกิจการบิน โดยทรัพย์สินทั้งหมดจะตกเป็นของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

“เมื่อผสานโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะก่อให้เกิดการลงทุนในมิติต่างๆ ทั้งจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมาสู่พื้นที่อีอีซี ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประเทศไทยและคนไทยทุกคน” นายคณิศ กล่าว 

พื้นที่ของโครงการตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมเมืองการบินตะวันออก อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง อยู่ใกล้พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ในระยะทางประมาณ 30 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางเพียง 20 นาทีโครงการนี้ มีเป้าหมายที่จะพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับการขนส่งทางอากาศทั้งการขนส่งผู้โดยสาร และการขนส่งสินค้า มีองค์ประกอบหลัก ได้แก่ ทางวิ่งมาตรฐาน 2 ทางวิ่ง มีความยาว 3,500 เมตร ซึ่งสามารถให้อากาศยานขึ้นลงทั้ง 2 ทางวิ่งอย่างอิสระต่อกัน และสามารถรองรับเครื่องบินพาณิชย์ได้ทุกขนาด โดยมีหลุมจอดอากาศยานรวมทั้งสิ้น 124 หลุมจอด ในส่วนของอาคารผู้โดยสาร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทุกระยะแล้ว จะมีขนาดพื้นที่กว่า 450,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้มากกว่า 60 ล้านคนต่อปี ภายในอาคารมีการติดตั้งระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่ทันสมัย เช่น ระบบการ Check-in อัตโนมัติ (Smart Airport) ระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automate People Mover, APM) นอกจากนี้ จะมีการก่อสร้าง Air Traffic Control Tower หรืออาคารหอบังคับการบิน โดย บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด สามารถให้บริการการขึ้นลงของอากาศยานได้สูงสุด 70 เที่ยวบินต่อชั่วโมง

ในส่วนขององค์ประกอบหลักอื่นๆ ได้แก่ คลังสินค้า, Cargo Village และ Free Trade Zone มีขนาดพื้นที่กว่า 470,000 ตารางเมตร ประมาณการขีดความสามารถรองรับการขนส่งสินค้าและศูนย์กระจายสินค้ากว่า 3 ล้านตันต่อปี ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน (Ground Transportation Center, GTC) มีขนาดพื้นที่กว่า 30,000 ตารางเมตร เพื่อให้การเดินทางในรูปแบบต่างๆ เช่น รถไฟความเร็วสูง รถบัส แท็กซี่ สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่อาคารผู้โดยสารหลังใหม่ได้อย่างรวดเร็วและไร้รอยต่อ พื้นที่กิจกรรมด้านอุตสาหกรรมการบินที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งงานสนับสนุนอื่นๆ บนพื้นที่ ขนาด 1,400 ไร่ ประกอบด้วย ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ศูนย์ฝึกอบรมบุคลากรด้านการบินและอวกาศ โรงผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น โรงผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสีย และบริการเติมเชื้อเพลิงอากาศยาน

นอกจากองค์ประกอบหลักดังกล่าวแล้ว ยังมีองค์ประกอบที่ดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์และส่งเสริมการเป็น Aviation Hub ของโครงการฯ คือ Commercial Gateway ขนาดพื้นที่กว่า 400,000 ตารางเมตร จัดเป็นพื้นที่ร้านค้าปลอดภาษี ร้านค้าและภัตตาคาร โรงแรม รวมทั้ง Business Park และ Airport City ซึ่งมีขนาดพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางเมตร ประกอบด้วย ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า และอาคารสำนักงาน

โดยทางกลุ่ม BBS หรือ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด ได้จัดทำแผนการพัฒนาโครงการแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ระยะที่ 1 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตารางเมตร พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์  อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคนต่อปี ระยะที่ 2 อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ.2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคนต่อปี  ระยะที่ 3 เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตารางเมตร เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะ แล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคนต่อปี ส่วนระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่สองเพิ่มขึ้นกว่า 82,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งติดตั้งระบบ Check-in แบบอัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 14 หลุมจอด ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2598 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคนต่อปี 

ส่วนโครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ซึ่งเป็นทางวิ่งที่มีความยาว 3,500 เมตรนั้น กองทัพเรือเป็นผู้รับผิดชอบการก่อสร้าง ซึ่งเป็นโครงการที่เข้าข่ายต้องจัดทำรายงาน EHIA ทั้งนี้ ยังอยู่ระหว่างการออกแบบและจัดทำรายงาน EHIA โดยได้จัดการรับฟังความคิดเห็นฯ จากประชาชนโดยรอบโครงการฯ แล้วจำนวน 2 ครั้ง และคาดว่าจะจัดการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 3 ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งสุดท้ายของกระบวนการจัดทำรายงาน EHIA ก่อนนำส่งให้ สํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปลายเดือนสิงหาคม 2563 เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการพิจารณาต่อไป โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 นี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมใช้งานได้ภายในปี พ.ศ. 2567

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้ว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก โดยเป็นความร่วมมือกันระหว่าง 3 บริษัท ผู้มีความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่หลากหลาย ภายใต้บริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คือ บริษัท อู่ตะเภาอินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด  บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส อยู่ในอุตสาหกรรมการบินมานานกว่า 50 ปี บริษัทฯ มีพันธมิตรทางการบินกว่า 100 สายการบินทั่วโลก และดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น อาทิ ครัวการบิน การให้บริการภาคพื้น การให้บริการคลังสินค้า ร้านค้าปลอดอากร รวมถึงธุรกิจสนามบินที่บริษัทฯเป็นเจ้าของและบริหารจัดการเองรวม 3 แห่ง ได้แก่ สนามบินสมุย สนามบินสุโขทัย และสนามบินตราด

นอกจากประสบการณ์ในการบริหารสนามบินทั้ง 3 แห่ง สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ นี้ทางกลุ่มฯ ได้พันธมิตรที่แข็งแกร่งคือ สนามบินนานาชาตินาริตะ ซึ่งเป็นสนามบินชั้นนำของโลก เข้ามาร่วมบริหารสนามบินอู่ตะเภาด้วย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาบุคลากร การสร้าง และถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการบริหารสนามบินเพื่อก้าวไปสู่ระดับสากล

“บริษัท และพันธมิตรฯ มีความพร้อมและมีความมุ่งมั่นที่จะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่มีมาใช้ในการพัฒนาโครงการ ร่วมกับ อีอีซี และกองทัพเรือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ตามนโยบายและกรอบการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกของรัฐบาล เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการต่อเนื่องอื่นๆ ที่จะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยได้เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายพุฒิพงศ์กล่าวสรุป

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการร่วมลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือกลุ่มกิจการร่วมการค้าบีบีเอส ได้ร่วมลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ กับทางภาครัฐ โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่สำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย และผมรู้สึกภาคภูมิใจที่ กลุ่มบริษัทบีทีเอส ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการนี้ จากการผนึกกำลังของภาคเอกชนทั้งสามกิจการ ภายใต้ความร่วมมือกันใช้ทรัพยากรและศักยภาพที่โดดเด่น สามารถสร้างผลประโยชน์สูงสุดคืนให้กับภาครัฐและประชาชน ตลอดจนยกระดับการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป

จากประสบการณ์ที่มีมากกว่า 20 ปี ในการดำเนินงานโครงการขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวซึ่งเป็นรถไฟฟ้าสายแรกของประเทศไทย และได้เปิดให้บริการมาแล้ว 20 ปีเศษ รวมระยะทางให้บริการปัจจุบันเกือบ 60 กิโลเมตร และยังมีรถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง-ชมพู และรถไฟฟ้าสายสีทอง ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างหรือจะเป็นโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ต่างๆ ที่ กลุ่มบริษัทบีทีเอสได้ดำเนินการมาจำนวนมาก นอกจากนั้น กลุ่มบริษัทบีทีเอส ยังได้ดำเนินธุรกิจด้านสื่อโฆษณานอกบ้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงทำธุรกิจทางด้าน E-Payments และเทคโนโลยีด้านระบบเก็บเงิน ทำให้เชื่อได้ว่า กลุ่มบริษัทบีทีเอส จะสามารถช่วยสนับสนุนให้โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมายซึ่งเมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะสามารถยกระดับสู่ศูนย์กลางมหานครการบิน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation ของ อีอีซี นำไปสู่การเป็นประตูเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และด้านการท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพจะยกระดับการพัฒนาประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไป
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"