'ดร.เอ้'ปลุกการศึกษาไทยตื่นได้แล้วทึ่ง!จีนให้นักบินอวกาศสอนเด็กอนุบาลตั้งเป้าเหยียบดาวอังคารเอาชนะมะกัน


เพิ่มเพื่อน    


19 มิ.ย.63 - อีกไม่ถึงสองสัปดาห์ หลายโรงเรียน-สถาบันการศึกษา ทั่วประเทศ ก็จะเริ่มเปิดเทอมการเรียนการสอน ตั้งแต่ 1 ก.ค.นี้ ขณะที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งทั้งของรัฐและเอกชน  ก็จะเริ่มเปิดเรียนช่วงเดือนสิงหาคม การศึกษาไทยยุคPost Covid-19 ในมุมมอง ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์  อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) นายกสภาวิศวกร  กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การเรียนการศึกษาต้องปฏิรูป ต้องเปลี่ยนตลอด ที่เรียกกันว่า disrupt แต่ที่ผ่านมา ที่คนชอบพูดกันว่า ปฏิรูป ต้องถามว่าแล้วปฏิรูปจริงหรือไม่ ถึงตอนนี้ต้องบอกว่าเรายังไม่เห็น ตราบใดที่ประเทศไทย ยังแบ่งการเรียนระดับมัธยมปลายเป็นสายวิทย์-สายศิลป์ ทั้งที่ประเทศอื่นไม่มีกันแล้ว หรืออย่างที่ต่างประเทศ มหาวิทยาลัยก็ไม่มีการแยก โดยไม่ว่าสาขาไหน จะให้นักศึกษาปีหนึ่งกับปีที่สอง เรียนรวมกัน เรียนทั้งศาสตร์-ภาษา-บุคลิกภาพ แม้แต่ พละศึกษา จากนั้นถึงค่อยไปแยกเฉพาะทาง ก็เห็นว่า การเรียนเฉพาะทางควรไปเรียนตอนปริญญาโทกับปริญญาเอกเท่านั้นถึงจะดี เพราะเฉพาะทางต้องทำงานวิจัย ต้องลงลึก

อธิการบดีสจล.กล่าวว่า ระบบการศึกษาไทยตลกมาก มาบอกว่า เรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วต้องออกไปสื่อสารภาษาอังกฤษได้ ทั้งที่มาให้เริ่มเรียนตอนอายุ 18 ปี อย่างแค่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ เรียนสี่ปี แค่ให้เรียนด้านวิศวะอย่างเดียว ก็ยากเต็มทนแล้วจะให้เรียนจบไปพูดภาษาอังกฤษแบบฝรั่ง จะเป็นไปได้อย่างไร ไม่มีทางหรอก ดังนั้น การเรียนภาษา การเรียนสังคม ประวัติศาสตร์ ความเป็นพลเมืองต้องมาตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะช่วงเรียนมัธยมศึกษา แล้วประเทศไทย มองเด็กอนุบาล เป็นเด็กคนหนึ่ง พอโตขึ้น ก็เป็นเด็กประถม เป็นเด็กคนหนึ่ง เด็กมัธยม ก็เป็นเด็กอีกคนหนึ่ง เด็กอาชีวะก็เด็กคนหนึ่ง เด็กมหาวิทยาลัยก็เด็กคนหนึ่ง ทั้งที่จริงแล้ว คือท่อเดียวกันหมดเลย แยกกันแบบต่างคนต่างทำ ก็คงจะเจริญละ

เมื่อถามว่าการศึกษาไทยยุค โพสต์โควิดฯ เป็นอย่างไร เรื่องดังกล่าว อธิการบดีสจล. ย้อนถามว่า" อยากจะฟังความจริงหรืออยากจะฟังแบบไหน" คือแบบนี้  คือต่อให้ประเทศไทยไม่เจอโควิดฯ หากการศึกษาไทยไม่ดิปรัปชั่น ไม่หักศอก ไม่มีความกล้า ความกล้าในการทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อลูกหลานเรา กล้าเจ็บตัว กล้ามีคนเกลียด ต่อให้ไม่มีโควิดฯ ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย ก็ไม่ได้เห็นแสงสว่าง คือ การศึกษาไทยจะไปแข่งขันไม่ได้ จะสู้ไม่ได้น้อยลงไปเรื่อยๆ

ดร.สุชัชวีร์ กล่าวต่อว่า ยกตัวอย่าง รอบๆ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มีโรงเรียนที่เรียนฟรีถึง 17 แห่ง แต่แม้แต่คนที่มีรายได้น้อย ที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่นี้ ยังไม่ส่งลูกเรียนโรงเรียนใกล้บ้านเลย ยังส่งลูกเรียนที่โรงเรียนเอกชน หรืออาจารย์บางคนก็ต้องขับรถส่งลูกไปเรียนโรงเรียนนานาชาติ ที่มีค่าใช้จ่ายปีละเป็นล้านบาท แถวดอนเมือง ขับรถไป-กลับ วันละ 240 กิโลเมตร มันมีคำตอบหรือยัง ทั้งที่บ้านก็อยู่ตรงนี้ โรงเรียนให้เรียนฟรีเลย ก็อยู่ตรงนี้ ลาดกระบัง

ดร.สุชัชวีร์ ย้ำว่า การศึกษาที่ฟรี เป็นเรื่องถูกต้อง แต่ว่าฟรีแล้วต้องมีคุณภาพด้วยเพราะถึงต่อให้ฟรีแต่ไม่มีคุณภาพ ผู้ปกครองที่ไม่มีอันจะกิน ก็ไม่ส่งลูกไปเรียน เพราะเขาอยากให้ลูกได้สิ่งที่มีคุณภาพ การฟรีอย่างเดียวจึงไม่ได้ตอบโจทย์ทั้งหมด ต้องปรับโดยคิดเอาคนเป็นหลัก เช่นหากภาครัฐ ยังไม่ทำให้อาชีพครู เป็นอาชีพที่ดึงดูด ก็ยากในการปฏิรูป โดยต้องทำให้อาชีพครู มีRole model สร้างค่านิยม ยกย่องครู เหมือนกับอาชีพอื่นๆด้วยเช่น แพทย์ -พยาบาท -นักวิทยาศาสตร์-นักบินอวกาศ ไม่ใช่ให้คนเก่งๆ ดีๆ แหยงไม่อยากมาเป็นครู การศึกษา ไม่ควรปล่อยให้เป็นแต่เรื่องของรัฐแต่ต้องเป็นเรื่องของคนทุกคน ต้องร่วมมือกัน โดยการโฟกัสเป้าหมายให้ชัดเจน

ดร.สุชัชวีร์ เล่าให้ฟังว่า ก่อนหน้านี้ได้รับเชิญจากประเทศจีนให้ไปที่ สถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือChinese Academy of Science เมื่อไปถึง ทางผู้บริหารได้บรรยายให้ฟังว่า สถาบันมีความภูมิใจมากที่เกิดขึ้นพร้อมประเทศจีน โดยประเทศจีนเกิดเมื่อ 1 ตุลาคม ค.ศ. 1949 ส่วน Chiness Academy of Scince  ตั้งเมื่อ ค.ศ. 1949 ก็คือ ประเทศจีน ตั้งปุ๊ป ก็ตั้งสถาบันแห่งนี้เลย ผู้บริหารของเขาบรรยายต่อไปว่า ผู้นำของประเทศจีน สนับสนุนเรื่องวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอย่างถึงที่สุด มีมหาวิทยาลัยในจีน 20-30 แห่ง มีสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ต่างๆ มีการพัฒนาเรื่องต่างๆเช่น นิวเคลียร์ ตอนแรกผมก็เฉยๆ ก็บอกในใจ เก่งครับท่าน พอไปเจออีกสไลด์หนึ่ง ผมตื่นเลย เขาบอกตอนนี้กำลังสร้างโรงเรียนอนุบาลด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ เขตหวายโหรว ที่เป็นพื้นที่ซึ่งราคาแพงที่สุดของจีนตอนนี้ ที่จัดประชุมเอเปค เมื่อปี  ค.ศ. 2014  โดยมีการสร้างคอนโดมิเนียมให้ครูที่สถาบันฯได้พักอาศัย

" พอฟังแบบนี้ ผมก็ตื่นเลย เลยถามว่า จริงหรือ เอาแบบนั้นเลยหรือ เขาตอบกลับมาว่า ใช่ แล้วคำพูดต่อไป ผมแทบลงไปนอนดิ้นเลย เขาบอก เราจะบังคับนักบินอวกาศทุกคนของจีนต้องมาสอนเด็กอนุบาลที่นี่ มีนักบินอวกาศใส่ชุดนักบินมาสอน จะมาบอกว่า เขาคือ คนไม่กี่คนบนโลก ที่มีร่วม 7,000 ล้านคน ที่ขึ้นไปเห็นโลกอวกาศทั้งใบ  โดยนักบินอวกาศสอนเด็กอนุบาล ด้วยการให้ดูสไลด์เช่น รูปดาวอังคาร แล้วนักบินเขาจะสอนว่า ลูกๆ ที่อยู่อนุบาล ที่เรียนอยู่ที่ จีน วันหนึ่งจะไปเหยียบดาวอังคาร ก่อนพวกอเมริกา ผมฟังแล้ว ได้แต่บอก จีนเขาสอนเด็กอนุบาลกันแบบนี้แล้ว  ซึ่งอาชีพนักบินอวกาศ จะไม่เหมือนอาชีพอื่น เพราะแต่ละประเทศ จะมีการตั้งชื่อนักบินอวกาศ ด้วยภาษาของตัวเอง ทำให้การเรียกชื่อนักบินอวกาศ จะแตกต่างกันไปทั่วโลก ไม่มีชื่อกลาง ด้วยการเรียนการปลูกฝังแบบนี้ คือสอนให้เด็กๆ เริ่มคิดจะเป็นนักบินอวกาศ ผมว่า หากเด็กมีความคิดจะเป็นนักบินอวกาศตั้งแต่เด็ก และขยันเรียน เพื่อจะเป็นนักบินอวกาศ คนแบบนั้น ต่อไป ต่อให้เขาไปทำอาชีพอะไร ก็จะประสบความสำเร็จ ผมถึงเห็นว่าเรื่องการศึกษาไทย ต่อไป เราต้องโฟกัสกันตั้งแต่เขายังเด็กๆ แบบจีน ไม่ใช่มานั่งสอน ท่อง A B C D E "อธิการบดีสจล. ระบุ

ดร.สุชัชวีร์ ย้ำว่า  การศึกษาไทย จะมีหรือไม่มีโควิดฯ เราต้องมาสร้างคนรุ่นใหม่ ให้มาสู้-แข่งขันกับโลก ที่ต่อไปหลังจากนี้จะเข้าสู่ยุค Neo-nationalism ชาตินิยมใหม่ โดยในอนาคต สิ่งที่เราอาจจะเจออาจไม่ใช่โควิดฯ ก็ได้  แต่อาจเป็นเช่น ภัยธรรมชาติที่เราคาดไม่ถึง เราจึงต้องสร้างลูกหลานของเราให้พร้อมกับอนาคตที่อาจจะมาแบบไหนก็ได้

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"