"วิษณุ" เผยหากไม่อยากมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ให้จัดเลือกตั้งท้องถิ่นหลัง 1 ต.ค. ด้าน "อนุพงษ์" แจง กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ สภา ยันเลือกตั้งท้องถิ่นได้ในปีนี้ ทุกหน่วยงานในมหาดไทยพร้อมจัด รอ กกต.ประสานมา
เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เห็นชอบรับหลักการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 แล้ว และเตรียมที่จะส่งไปยังสภาผู้แทนราษฎรต่อไปว่า ในร่าง พ.ร.บ.นั้นมีเรื่องงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นด้วย ซึ่งงบประมาณนี้จะใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป หากไม่อยากมีปัญหาในเรื่องการใช้งบประมาณก็ไปจัดการเลือกตั้งหลังวันที่ 1 ต.ค.ซึ่งเป็นงบปี 2564 อยู่แล้ว
"ที่สื่อมวลชนถามมานั้นเมื่อวันก่อน หมายถึง 2-3 เดือน แต่ตอนที่สื่อถามมานั้นมันวันที่ 12 มิถุนายน ซึ่งกรกฎาคม สิงหาคม กันยายนมันจะมีปัญหาเรื่องงบประมาณ ซึ่งเมื่อไม่จัดการเลือกตั้งในตอนนี้ ก็ไปจัดการเลือกตั้งหลังวันที่ 1 ตุลาคม เพราะงบประมาณปรากฏในงบประมาณปี 64 อยู่แล้ว" นายวิษณุกล่าว
ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร มีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกลเป็นประธาน ได้พิจารณาถึงปัญหาการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมาชี้แจง ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมาชี้แจงแทน
พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ได้ทำการตรวจแบ่งเขตเลือกตั้งท้องถิ่น และยังไม่ประสานใดๆ มายังคณะรัฐมนตรีหรือกระทรวงมหาดไทย แต่ทุกหน่วยงานต้องเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ทันทีที่มีประกาศกำหนดการเลือกตั้งลงในราชกิจจานุเบกษา
"จะจัดการเลือกตั้งส่วนไหนก่อนหลังยังตอบไม่ได้ รอเพียง กกต.กำหนดวันจัดการเลือกตั้งส่งมา แต่ยืนยันได้ว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นในปีนี้อย่างแน่นอน และจะนำความเห็นจากกรรมาธิการฯ ไปเสนอประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย"
สำหรับกรณีที่มีการให้สัมภาษณ์ว่างบประมาณเลือกตั้งท้องถิ่นไม่เพียงพอนั้น พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่าไม่ขอพูดถึง เป็นเรื่องการแสดงความเห็นส่วนบุคคล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรรมาธิการฯ เห็นตรงกันว่าต้องการให้การเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นวาระสำคัญของรัฐบาล เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการกระจายอำนาจ สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย และจะได้เห็นเจตจำนงที่แท้จริงว่าต้องการผู้บริหารท้องถิ่นแบบไหน
ต่อมานายปดิพัทธ์แถลงว่า ได้รับการยืนยันชัดเจนว่ามีงบประมาณเพียงพอแน่นอนในการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น และวันนี้ก็มีข่าวดีเนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ประกาศแล้วว่าจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่นบางแห่งในปีนี้ ดังนั้นผู้ที่ให้คำตอบเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุดคือคณะรัฐมนตรี เนื่องจากบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่นั้นให้เป็นอำนาจของ ครม. ซึ่ง รมว.มหาดไทยได้ให้ความมั่นใจกับคณะ กมธ.ด้วยว่า ครม.จะหารือเรื่องดังกล่าวในเร็วๆ นี้ ซึ่งเราขอเรียกร้องให้ ครม.พิจารณาโดยเร็ว
ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าคณะ กมธ.จะเชิญนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และเลขาธิการ ครม.มาชี้แจง นอกจากนี้ ในวันที่ 18 มิ.ย. คณะอนุ กมธ.ติดตามและพัฒนาประสิทธิภาพการจัดการเลือกตั้ง จะเชิญกรมควบคุมโรคมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งภายใต้ภาวะโควิด-19 ด้วย
วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาออกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่องการแบ่งเขตการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 19 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ ชัยนาท ชุมพร ตรัง ตราด นครปฐม ปราจีนบุรี ปัตตานี พระนครศรีอยุธยา พังงา พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง ราชบุรี สตูล สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และสุราษฎร์ธานี สำหรับตำบล หมู่บ้าน หรือชุมชนที่จัดตั้งขึ้นใหม่หลังประกาศนี้ ให้ถือว่ามีพื้นที่อยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกับตำบล หมู่บ้าน หรือชุมชนเดิมที่แยกออกมา ลงนามประกาศ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |