3 สตรีนักวิจัย ค้นคว้าหายา-นวัตกรรมสู้โควิด-19 พบ"กระชายขาว "มีศักยภาพน่าสนใจ


เพิ่มเพื่อน    

จากซ้ายไปขวา 3 สตรีนักวิจัยไทย ดร. อนันต์ลดา, รศ.พญ.อรุณี และดร.นฤภร 


    ในสถานการณ์โควิด-19 งานวิจัยเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งยวด  ด้วยเหตุนี้บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้มอบทุนพิเศษ เพื่องานวิจัยโควิด-19 ส่วนหนึ่งในโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ภายใต้โครงการ L’Oréal Thailand COVID-19 Solidarity ให้กับนักวิจัยสตรี 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คือ รศ.พญ.อรุณี ธิติธัญญานนท์ จากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กับงานวิจัยหัวข้อ โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาวิธีการวินิจฉัย วิธีการรักษาโรค วัคซีนของโรค COVID-19 และการติดตามการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมและระบาดวิทยา ที่เกิดจากเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 

 

ในสาขาวัสดุศาสตร์  ดร.นฤภร มนต์มธุรพจน์ จากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับงานวิจัยหัวข้อ การเตรียมและทดสอบคุณสมบัติของวัสดุคอมโพสิทของไฮดรอกซีอะพาไทต์และไททาเนียมไดออกไซด์สำหรับใช้เป็นแผ่นกรองจุลินทรีย์ และ สาขาเทคโนโลยี ดร. อนันต์ลดา  โชติมงคล จากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับงานวิจัยหัวข้อ ระบบติดตามและประเมินผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อ COVID-19 (DDC-Care)

นางอินเนส คาลไดรา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กว่า 18 ปีที่ได้ดำเนินงานโครงการทุนวิจัย เพราะให้ความสำคัญกับเรื่องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากโลกปัจจุบัน และท่ามกลางสถานการณ์การระบาดไปทั่วโลกของไวรัสโควิด-19  งานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์เป็นความหวังสำคัญในการคิดค้นวิธียับยั้งและรักษาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดังนั้นในการมอบทุนพิเศษเพื่องานวิจัยโควิด-19 จะเป็นหนึ่งในฟันเฟืองที่สนับสนุนผลงานที่มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดี 

ผลการทดสอบกระชายขาว และสมุนไพรตัสอื่นในการผลิตยารักษาโควิด-19

ด้านนักวิจัย รศ.พญ.อรุณี ให้ข้อมูลว่า งานวิจัยนี้ได้เริ่มตั้งแต่ช่วงเกิดการระบาดของโรคโควิด -19 โดยการทำงานร่วมกับนักวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และสภากาชาดไทย เพื่อศึกษาวิจัยควบคุมการระบาดของโรค ที่ทำขึ้นภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ที่มีความปลอดภัย โดยในปลายเดือนมกราคมได้รับตัวอย่างเชื้อโควิด19 ของคนไข้ 2 ราย จากสถาบันบําราศนราดูร ที่จะทำให้สามารถเพาะเชื้อได้ในห้องแล็บ เพราะจะสามารถเพิ่มจำนวนเชื้อไวรัส ที่มีผลกับการศึกษาต่อ อย่างการทำยา หรือวัคซีน ฯลฯ ซึ่งสามารถทำการวิจัยหลายเรื่อง อาทิ  การพัฒนาชุด RT-LAMP ในระยะแรกรวมถึงให้คำปรึกษาในกระบวนการบ่มเพาะเทคโนโลยีกับ บริษัท สตาร์ทอัพเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุดตรวจทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานและผ่านการรับรองโดยหน่วยงานของรัฐ อีกส่วนที่ได้นำไปใช้จริงคือ การรักษาโดยใช้พลาสมา หรือเลือดจากผู้ที่เป็นโควิดหายแล้ว  ผ่านการพัฒนาวิธีตรวจเซรุ่มเพื่อทดสอบแอนติบอดี้ลบล้างฤทธิ์ นอกจากนี้ยังได้เก็บเลือดของผู้ที่เป็นโควิด-19 หายแล้วเก็บไว้เพื่อทำการพัฒนาต่อด้วย 

รศ.พญ.อรุณี กล่าวต่อว่า การพัฒนายาในการรักษาโควิด-19 ได้เลือกสมุนไพรที่หาง่าย และมีการใช้อยู่ เพราะหากการทดลองจะสามารถผลิตและหาได้ง่าย โดยคัดเลือกสมุนไพร จากคลังจัดเก็บยาและสาร จาก ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา (ECDD) มหาวิทาลัยมหิดล จำนวนกว่า 121 ตัวมาทดลอง โดยใช้เทคนิคอิมมูโนฟลูออเรสเซนส์ พบว่ามี 6 ตัว ที่สามารถกดเชื้อไวรัสโควิด-19  ได้ถึง 80% แต่ตัวที่ดีที่สุดคือ กระชายขาว  ที่มีความปลอดภัย  ซึ่งเมื่อสกัดออกมาพบว่ามีสารบริสุทธิ์สำคัญอยู่ 2 ชนิดที่ออกฤทธิ์ ได้ผลดีมากในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนของ SARS-CoV-2 ได้เกือบ 100%  คาดว่าจะดำเนินการในขั้นต่อไปในสัตว์ทดลองใน 3 เดือน และหวังว่าภายใน 1 ปี หรืออาจจะมากกว่านั้นจะเข้าสู่การทดลองในคน 

“และการพัฒนาวัคซีน RNA โดยใช้แอนติเจน 3 ชนิด คือ โปรตีน Spike โปรตีน Envelope และ โปรตีน Membrane glycoprotein ที่คาดว่าจะทดสอบและผลิตในประเทศไทยเองทั้งหมด ที่จะทดสอบในสัตว์ภายใน 1-2 อาทิตย์นี้ ทั้งยังมีส่วนร่วมในการศึกษาการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรมของไวรัสชนิดนี้ที่พบในรายงานทั่วโลกและในประเทศ ที่อาจมีผลต่อภูมิต้านทานของวัคซีน รวมถึงดูความสัมพันธ์ของการเปลี่ยนแปลงทางรหัสพันธุกรรมกับความรุนแรงของโรค โดยจากการดำเนินการโครงการทั้งหมดเชื่อว่าจะนำไปสู่ทางออกที่มีประสิทธิภาพให้กับประเทศและขยายสู่ระดับโลกในการต่อสู้กับโรคโควิด -19 ได้อย่างแน่นอน” รศ.พญ.อรุณี กล่าว 

 

 

ด้าน ดร.นฤภร กล่าวว่า ทีมวิจัยได้มีการพัฒนาวัสดุคอมโพสิทของไฮดรอกซีอะพาไทต์ และไททาเนียมไดออกไซค์ ที่สามารถดักจับฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือจุลินทรีย์ ย่อยสลายจุลินทรีย์ เช่น ไวรัส H1N1 Influenza A และผลิตใช้ได้เองในประเทศได้ นอกจากนี้ ยังได้นำสารไฮดรอกซีอะพาไทต์และไทเทเนียมไดออกไซค์ เคลือบบนวัสดุนอนวูฟเวนแผ่นชั้นกรองบนเส้นใยธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นชั้นกรองของหน้ากากอนามัยที่ตัดเย็บเป็นรูปทรง 3 มิติ ที่มี 4 ชั้น จากการทดสอบโดยห้องปฏิบัติการ ที่ประเทศสิงคโปร์ มีการยืนยันว่าสามารถกรอง PM2.5 ได้ 99% ตามมาตรฐาน ASTEM F2299 และจากการทดสอบประสิทธิภาพการกรองไวรัส จากห้องปฏิบัติการของที่สหรัฐอเมริกา พบว่ากรองไวรัสได้ถึง 99% ตามมาตรฐาน ASTM F2100 โดยทางทีมวิจัยได้ทดลองผลิตในระดับอุตสาหกรรมและทดสอบตลาดในประเทศ จนได้รับผลตอบรับที่ดี จึงมีแนวคิดจะเดินหน้าผลิตในประเทศไทย  ลดการนำเข้าหน้ากากอนามัยและส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคต

 

การทดสอบผลิตหน้ากากอนามัย

 

 

     ในส่วนของ ดร. อนันต์ลดา   กล่าวว่า การติดตามและเฝ้าระวังอาการผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคโควิด-19 เป็นสิ่งที่จำเป็นต่อการควบคุมโรคระบาด จึงได้พัฒนาระบบ DDC-Care หรือ Department of Disease Control Care ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักคือ เว็บไซต์สำหรับลงทะเบียนใช้งานระบบผ่าน SMS หรือ QR Code ที่มีการยืนยันตัวตน ทั้งยังมีการรองรับระบบปฏิบัติการ iOS Android และ Huawei AppGallery มี 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน พม่า และสามารถรองรับการใช้งานพร้อมกันได้มากกว่า 100,000 คน โดยเริ่มใช้แห่งแรกที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด ในวันที่ 7 มิ.ย. 2563 พบว่ามีโรงพยาบาลและศูนย์สุขภาพที่ใช้งานระบบนี้แล้ว จำนวน 51 แห่ง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและอำเภอ จำนวน 18 แห่ง มีกลุ่มเสี่ยงสะสมในระบบ 4,878 คน แบ่งเป็น ผู้ที่กักตัวครบ 14 วัน 4,393 คน และอยู่ในระหว่างกักตัว 485 คน และคาดหวังว่าระบบนี้จะขยายการใช้งานออกไปได้ทั่วประเทศ และจะเป็นอีกหนึ่งระบบที่ช่วยติดตามตำแหน่งที่อยู่ของผู้มีความเสี่ยงและอำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รูปแบบการใช้งาน แอพฯ DDC-Care

อย่างไรก็ตามสำหรับนักวิจัยสตรีไทยในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และวิทยาศาสตร์กายภาพสตรีที่สนใจ โครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ในครั้งที่ 18 ประจำปี 2563 สามารถส่งผลงาน  ได้ตั้งแต่วันนี้ - 31 กรกฎาคม 2563 ศึกษารายละเอียดและดำเนินการสมัครได้ที่: www.fwisthailand.com


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"