17 มิ.ย.2563 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) กรมเจ้าท่า (จท.) เป็นต้น รีบดำเนินการนำเสนอกรอบวงเงินฟื้นฟูผู้ประกอบการขนส่ง ตามมาตรการที่เข้าข่ายลักษณะแผนงานโครงการตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ทั้งนี้ กำหนดให้แต่ละหน่วยงานเร่งส่งสรุปมายังกระทรวงคมนาคมภายในสัปดาห์นี้ ก่อนที่จะสรุปเสนอข้อมูลทั้งหมดไปที่สภาพัฒน์ฯ และเมื่อผ่านการพิจารณา ก็จะนำเสนอเพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม.ต่อไป พร้อมทั้งมอบหมายให้นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ปลัดกระทรวงคมนาคม ไปประสานกับสภาพัฒน์ฯ เนื่องจากในการรายงานเพื่อของบประมาณฟื้นฟูเยียวยาดังกล่าวต่อที่ประชุม ครม. ยังไม่มีในส่วนของกระทรวงคมนาคม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการเยียวยาผู้ประกอบการภาคขนส่ง ขณะนี้มีกรอบวงเงินประมาณ 7,697 ล้านบาท แบ่งเป็น กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) วงเงิน 4,773 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือชดเชยผู้ประกอบการรถโดยสาร ที่เดินเที่ยววิ่งในที่นั่ง 30% ของจำนวนที่นั่งรวม และคิดราคาค่าโดยสารที่ต้องใช้มาตรการเว้นระยะห่างของเดือน พ.ค.-ก.ค.2563 2.องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) วงเงิน 614 ล้านบาท เป็นเงินสนับสนุนจากกรณีที่รายได้ค่าโดยสารลดลง ,บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) รวม 800 ล้านบาท เป็นการชดเชยรายได้ค่าโดยสาร และรายได้ค่าชนส่งพัสดุภัณฑ์ ,การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) วงเงิน 627 ล้านบาท เป็นเงินชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากการงดเดินขบวนรถโดยสารเชิงพาณิชย์ เดือน เม.ย.-มิ.ย.2563
นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงความคืบหน้าแผนฟื้นฟูกิจการ ขสมก. (ฉบับปรับปรุงใหม่) ว่า ในวันพรุ่งนี้ (17 มิ.ย. 2563) จะมีการประชุมติดตามการดำเนินการ จึงได้สั่งการให้นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการ ขสมก. ไปเตรียมการรายละเอียดต่างๆ เนื่องจากหากการประชุมในวันพรุ่งนี้ได้ข้อสรุปยุติแล้วนั้น จะต้องเสนอเข้า ครม. ให้ทันในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ เนื่องจากหลังจากนี้ จะต้องไปดำเนินการขอความเห็นจากหลายหน่วยงานด้วย นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้ ขสมก. เร่งศึกษาเครื่องฟอกอากาศติดหลังคารถเมล์ ขสมก. พร้อมประสานงานกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อร่วมกันดำเนินการ และให้มีมาตรฐานรองรับ
นายศักดิ์สยาม กล่าวต่ออีกว่า ที่ประชุม ครม. ยังมีการพิจารณาตามที่กระทรวงคมนาคมขอความเห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือระหว่างราชอาณาจักรไทยและองค์การทางทะเลระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเข้าร่วมโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกองค์การทางทะเลระหว่างประเทศภาคบังคับ (IMO Member State Audit Scheme: IMSAS) นั้น จึงได้สั่งการให้ จท. รีบไปดำเนินการ เนื่องจากจะต้องมีการขอความเห็นหน่วยงานอื่นๆ ด้วย
นอกจากนี้ จากการลงนามความร่วมมือ (MOU)การนำอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมานั้น นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ไปพิจารณารายละเอียดที่ต้องดำเนินการ และประสานงานกับกระทรวงการคลัง ว่าได้กำหนดให้เป็นการจัดซื้อแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ใช้วิธีการจัดซื้อแบบเฉพาะเจาะจงแล้วหรือไม่ เนื่องจากกระทรวงคมนาคมได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวนั้น จะต้องมีเป้าหมายชัดเจน พิจารณาพื้นที่ทั่วประเทศที่มีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดความไม่ปลอดภัย
ขณะเดียวกัน ในการประชุมรัฐสภาฯ เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ในสัปดาห์หน้านั้น ตนได้สั่งการให้หัวหน้าหน่วยงานในสังกัดจะต้องเตรียมความพร้อม พร้อมแต่งตั้งนายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงคมนาคม ให้เป็นผู้ประสานงาน และพิจารณาประเด็นคำถามต่างๆ ด้วย
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |