ครม.ไฟเขียว งบฯจ่ายปี64 3.3ล้านล้าน


เพิ่มเพื่อน    

    ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 ไม่เกิน 3.3 ล้านล้านบาท เตรียมเสนอสภาต่อไป พร้อมดึงภาคประชาสังคมร่วมเป็นกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ประชาชนสามารถร่วมตรวจสอบ แจ้งเบาะแสการทุจริตผ่านเว็บไซต์และแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง
    นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ผ่านมาว่า ครม.มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ไม่เกิน 3,300,000 ล้านบาท เตรียมเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป​ ร่าง พ.ร.บ.กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ไม่เกิน 3,300,000 ล้านบาท โดยจำแนกตามกลุ่มงบประมาณ ดังนี้ รายจ่ายงบกลาง 614,616.2 ล้านบาท รายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ 1,135,182.0 ล้านบาท รายจ่ายบูรณาการ 257,877.9 ล้านบาท รายจ่ายบุคลากร 776,887.7 ล้านบาท รายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน 221,981.9 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ 293,454.3 ล้านบาท
    นางนฤมลกล่าวว่า นอกจากนี้คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบกรรมาธิการ จำนวน 64 คน ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรีที่ไม่เกิน 16  คน สำหรับ กมธ.ในสัดส่วนพรรคการเมืองมี 48 คน แบ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล จำนวน 27 คน และ ส.ส.ฝ่ายค้าน จำนวน 21 คน ซึ่งจะมีการคัดเลือกตามกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวด้วยว่า ครม.เห็นชอบกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ครอบคลุม 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส, การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต, การตรวจสอบ, การดำเนินมาตรการทางปกครองวินัยและอาญา หวังดึงภาคประชาชน เอกชนเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแสการทุจริตผ่านเว็บไซต์และแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวต่อว่า สำนักงาน ป.ป.ท.ในฐานะฝ่ายเลขานุการของศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เสนอให้ประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน ทั้งรัฐ สังคม เอกชน และประชาชน เพื่อเป็นกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ใน 4 ด้าน ได้แก่ การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบแผนงาน/โครงการต้องเปิดเผยข้อมูลแผนการดำเนินงาน แผนการใช้จ่ายงบประมาณ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างและความคืบหน้าในการดำเนินงาน  เพื่อให้ประชาชน เอกชนร่วมเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตทางเว็บไซต์ และจุดบริการข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง และทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ (ภาษีไปไหน) ของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ให้ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสการทุจริตหรือความเดือดร้อนในพื้นที่ที่มีการใช้งบประมาณ
    เปิดช่องทางรับแจ้งเบาะแส แจ้งการทุจริตของประชาชนเชื่อมโยงระบบรับเรื่องร้องเรียนของทุกหน่วยงานทางแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง หรือทางเว็บไซต์ระบบข้อมูลการใช้จ่ายภาครัฐ การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต หน่วยงานผู้รับผิดชอบทำการประเมินและจัดทำแผนบริหารความเสี่ยงการทุจริต ก่อนการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการ การตรวจสอบ ให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ  (ศอตช.) ตรวจสอบการดำเนินโครงการ หากมีเหตุสงสัยหรือเรื่องร้องเรียน และการดำเนินมาตรการทางปกครองวินัยและอาญา โดยหน่วยงานต้นสังกัดดำเนินการทางปกครอง วินัย และอาญากับผู้ที่กระทำความผิดตามมาตราป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในระบบราชการอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม​ 
    ทั้งนี้ รัฐบาลจะดำเนินการตรวจสอบหน่วยงานที่เบิกจ่ายงบประมาณอย่างเข้มงวดและจริงจัง สอดคล้องกับแถลงการณ์องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for  Economic Co-operation and Development: OECD) ที่ให้ประเทศสมาชิกระมัดระวังการจ่ายงบประมาณ มีมาตรการป้องกันความเสี่ยงการทุจริตในการใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ด้วย
    นางนฤมลกล่าวว่า สำหรับพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  พ.ศ.2563 มูลค่ารวมไม่เกินหนึ่งล้านล้านบาท มีผลบังคับใช้แล้ว ดังนี้ 1.แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  วงเงิน 45,000 ล้านบาท 2.แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 555,000 ล้านบาท และ 3.แผนงาน/โครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 400,000  ล้านบาท. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"