2.2หมื่นล.ฟื้นท่องเที่ยว ผุด3โครงการใน4เดือน


เพิ่มเพื่อน    

    ครม.เท 2.24 หมื่นล้านบาท ลุย 3 โครงการฟื้นท่องเที่ยว หนุนไทยเที่ยวไทย 4 เดือนตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.63 "อุตตม" เชื่อช่วยภาคการท่องเที่ยวไตรมาส 3-4 คึกคัก แจงมาตรการภาษียังไม่มี ชี้พร้อมดำเนินการเมื่อจำเป็น
    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.63 มีมติเห็นชอบโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง ททท., สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อฟื้นฟูภาคธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการโรงแรมที่พัก, ผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว และผู้ประกอบการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของรัฐบาล ให้สามารถมีรายได้และฟื้นฟูกิจการได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม โดยมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ก.ค.-ต.ค.63 (4 เดือน)
    โดยการจัดทำโครงการเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว จำนวน 3 โครงการ มีวงเงินดำเนินการทั้งสิ้น 2.24 หมื่นล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการกำลังใจ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าเดินทางของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  รวม 1.2 ล้านคน ให้เดินทางโดยการใช้บริการกับบริษัทนำเที่ยว ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณเดินทางไม่เกินคนละ 2 พันบาท สำหรับการเดินทางที่ไม่น้อยกว่า 2 วัน 1 คืน วงเงินงบประมาณ 2.4 พันล้านบาท
    2.โครงการเราไปเที่ยวกัน โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย (Co-pay)  จำนวน 5 ล้านคืน ในอัตรา 40% ของค่าห้องพัก แต่ไม่เกิน 3 พันบาทต่อคืน และสนับสนุนค่าอาหารและค่าใช้จ่ายสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ และ ททท.จะแจ้งรายชื่อแก่ธนาคารกรุงไทย จำนวน  600 บาทต่อห้องต่อคืน โดยจะต้องมีที่ตั้งอยู่ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่จังหวัดในทะเบียนบ้านของประชาชนผู้จองที่พัก วงเงินดำเนินการ 1.8 หมื่นล้านบาท
    3.โครงการเที่ยวปันสุข โดยรัฐบาลสนับสนุนการเดินทางของประชาชน จำนวนไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน โดยการจำหน่ายบัตรโดยสารของผู้ประกอบการขนส่งด้านการท่องเที่ยว 3 กลุ่ม ได้แก่ สายการบินในประเทศ รถขนส่งไม่ประจำทางข้ามจังหวัด และรถเช่า ในอัตรา 40% แต่ไม่เกิน 1 พันบาท วงเงินดำเนินการ 2 พันล้านบาท
    สำหรับแนวทางการดำเนินงานนั้น ธนาคารกรุงไทยจะมีการจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับใช้เป็นช่องทางในการรวบรวมข้อมูลและรายละเอียดโรงแรมที่พัก รายการนำเที่ยวจากบริษัทนำเที่ยว รายละเอียดบัตรโดยสารของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งเพื่อการท่องเที่ยว ร้านอาหารและสถานที่ท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อการตรวจสอบการจดทะเบียนตามกฎหมายร่วมกับ ททท. จากนั้นผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะนำเสนอรายละเอียดสินค้าและบริการในแพลตฟอร์มตามข้อกำหนดด้านราคาที่กำหนดในรายละเอียดโครงการ
     ขณะที่ ททท.จะดำเนินการสื่อสารโครงการเพื่อให้นักท่องเที่ยวแจ้งความประสงค์ขอรับสิทธิ์ และดำเนินการซื้อสินค้าและบริการในแพลตฟอร์ม แล้วชำระค่าบริการตามข้อกำหนด หลังจากนั้นจะได้รับสิทธิ์ในการใช้บริการตามรายละเอียดของแต่ละโครงการ ส่วนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 3  โครงการ จะรายงานสรุปการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ โดยธนาคารกรุงไทยจะดำเนินการจ่ายงบประมาณให้แก่ผู้ประกอบการตามรายละเอียดการสนับสนุนงบประมาณในแต่ละโครงการ
    "โครงการเราไปเที่ยวกันที่ดำเนินการในลักษณะ Co-pay นั้น จะกำหนดสิทธิ์ให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิ์ได้ 1 ครั้ง โดยจะพิจารณาจากบัตรประชาชน คือค่าห้องพักสูงสุดไม่เกิน 5 คืนต่อคน พร้อมได้สิทธิ E-Voucher ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังค์ 600 บาทต่อคืน (สูงสุดไม่เกิน 5 คืน) และรับสิทธิ์ในการซื้อบัตรโดยสารไป-กลับ เส้นทางการบินในประเทศ 1 ครั้ง โดยในส่วนของบัตรโดยสารเครื่องบินให้ประชาชนชำระค่าบริการก่อน โดยภาครัฐจะชำระคืนให้ภายหลัง เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับสิทธิ์ได้อย่างทั่วถึง" นางสาวไตรศุลีกล่าว
    นางสาวไตรศุลีกล่าวอีกว่า การใช้สิทธิ์ 2 โครงการ คือ โครงการเราไปเที่ยวกันและโครงการเที่ยวปันสุขที่เป็นการใช้สิทธิ์รวมกันนั้น ผู้ใช้สิทธิ์บัตรโดยสารสายการบินจะได้รับส่วนลด 40% แต่ไม่เกิน 1  พันบาทต่อสิทธิ์ เมื่อใช้สิทธิ์ในโครงการเราไปเที่ยวกันเพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นการสนับสนุนผู้ประกอบการภาคการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง พร้อมทั้งประสานสายการบินจัดทำโปรโมชันบัตรโดยสารไป-กลับราคาเดียวในอัตราพิเศษ โดยในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.นี้อาจพิจารณาในส่วนการเดินทางทางอากาศก่อนเป็นลำดับแรก ส่วนการเดินทางโดยรถโดยสารไม่ประจำทางหรือรถเช่าซึ่งมีความซับซ้อนในการดำเนินการ อาจพิจารณาจัดทำเป็นโครงการช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะถัดไป    
    นายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง กล่าวว่า งบประมาณ 2.24 หมื่นล้านบาทที่ใช้ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยวนั้น จะอยู่ในส่วนของวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน วงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3-4 ของปี 2563 ให้ขยายตัวได้ดีขึ้นกว่าไตรมาส 2/2563 เนื่องจากขณะนี้ภาคการท่องเที่ยวซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งรวมถึงต่างประเทศด้วย ดังนั้นการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวจึงจำเป็นต้องเน้นจากภายในประเทศก่อน เพราะการกระตุ้นท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงทำไม่ได้ในขณะนี้
    "การดำเนินการของภาคการท่องเที่ยวในขณะนี้ เป็นการประคองเศรษฐกิจให้ยังสามารถเดินหน้าต่อได้ ถือเป็นเรื่องที่จำเป็น โดยเน้นให้คนไทยเที่ยวประเทศไทยไปก่อน เพราะการกระตุ้นภาคท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติยังทำไม่ได้ ส่วนมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวขณะนี้คงยังไม่มี  เพราะการใช้มาตรการภาษีจะต้องพิจารณาตามความจำเป็น คงไม่มีการพูดก่อนว่าจะทำหรือไม่ทำ แต่การดำเนินการจะดูตามความเหมาะสมและจำเป็น และการจะออกมาตรการด้านภาษีออกมานั้นก็ต้องออกมาเป็นชุดตามสถานการณ์" นายอุตตมกล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"