นายกรัฐมนตรีหลี่เสียนหลงของสิงคโปร์พูดจากับประชาชนครั้งล่าสุดยาว 22 นาที...ถือเป็นคำปราศรัยที่ตรงไปตรงมาและปลุกเร้าคนในประเทศมาร่วมต่อสู้เพื่อฟันฝ่าวิกฤติโควิดได้อย่างน่าสนใจ
ผมนั่งฟังแกพูดตั้งแต่ต้นจนจบ ยอมรับว่าเขาทำการบ้านมาอย่างดี และเป็นคำปราศรัยที่มีเป้าหมายหลายด้านพร้อมๆ กันคือ
๑.รายการสถานการณ์โควิดต่อประชาชน
๒.วิเคราะห์สถานการณ์อย่างเปิดเผย ยอมรับนี่เป็นวิกฤติร้ายแรงที่สุดตั้งแต่ก่อตั้งประเทศมา
๓.ปลุกเร้าให้คนทั้งประเทศมาร่วมมือเพื่อฟันฝ่าวิกฤติครั้งนี้ด้วยการเรียกร้องให้ “อย่ากลัว, อย่าท้อ...เราต้องชนะพร้อมกัน”
คำปราศรัยของเขาเป็นจุดเริ่มต้นของซีรีส์การออกอากาศ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน ถึง 20 มิถุนายน พูดเองทั้งภาษาอังกฤษ, จีนและบาฮาซา
เป็นจังหวะที่คณะรัฐมนตรีของสิงคโปร์นำเสนอแผนในรายละเอียดเพื่อนำประเทศออกจากวิกฤติเศรษฐกิจอันหนักหน่วง
แกเริ่มด้วยการรายงานว่า การต่อสู้กับโควิด-19 มีความคืบหน้าไปมาก ในชุมชนมีผู้ป่วยรายใหม่ลดลง ในหอพักแรงงานต่างชาติสถานการณ์มีเสถียรภาพ ระบบการดูแลสุขภาพของเราสามารถรับมือได้ดี
แกเน้นว่าด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย สิงคโปร์ได้รักษาอัตราการเสียชีวิตอยู่ในระดับต่ำ – ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการตายที่ต่ำที่สุดในโลก
เมื่อก้าวออกจาก Circuit Breaker หรือมาตรการเข้มข้นแล้วเพื่อให้เศรษฐกิจและสังคมเดินหน้าต่ออย่างปลอดภัย
แต่หลี่เสียนหลงก็เตือนว่า เมื่อผ่อนผันมาตรการแล้ว จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นบ้างเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ
นั่นอาจจะหมายถึง “คลื่นระลอกสอง” ที่น่ากลัว
จึงขอให้ทุกคนรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลและล้างมือบ่อยๆ สวมหน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน
แต่นายกฯ สิงคโปร์ก็ยอมรับความจริงว่าสถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ
แกบอกตอนหนึ่งว่า
“COVID-19 จะยังคงมีปัญหาอีกเป็นเวลานาน อาจใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี อาจนานกว่านั้นก่อนที่วัคซีนจะวางจำหน่ายอย่างกว้างขวาง”
ความจริงที่ต้องยอมรับก็คือว่า คนสิงคโปร์จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับ COVID-19 ในระยะยาวอย่างที่เคยทำในอดีตกับโรคติดเชื้ออันตรายอื่นๆ เช่น วัณโรค
ผลกระทบทางเศรษฐกิจคือเรื่องที่ร้ายแรงที่สุดสำหรับประเทศเล็กๆ ที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติของตัวเองและต้องพึ่งการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก
แกบอกว่า “COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจโลกหยุดชะงัก รัฐบาลใช้เงินหลายล้านล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนธุรกิจเศรษฐกิจและการจ้างงาน แต่เราก็เจอกับการสูญเสียหลายหมื่นล้าน ตำแหน่งงานก็สูญหายไป ครอบครัวกำลังประสบปัญหา เราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน”
หลี่เสียนหลงบอกว่า จีดีพีของสิงคโปร์มีแนวโน้มจะหดตัวลง 4-7 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้
ซึ่งเป็นการหดตัวทางเศรษฐกิจที่เลวร้ายที่สุดของประเทศนี้
ผู้นำสิงคโปร์บอกว่ารัฐบาลได้เข้าแทรกแซงด้วยการฉีดเงินเกือบหนึ่งพันล้านเหรียญสิงคโปร์ หรือร้อยละ 20 ของ GDP
นั่นเป็นการแทรกแซงทางการคลังครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ
และยังบอกไม่ได้ว่าจะ “เอาอยู่” หรือไม่
ของเขาต่างจากคนอื่นตรงที่ไม่ต้องกู้เงินมาอุ้มสถานการณ์ เพราะมีเงินสำรองที่เก็บออกเอาไว้ของรัฐบาล
แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าแม้จะอัดเงินก้อนใหญ่เข้าในระบบแล้ว ก็ยังไม่รู้ว่าจะยืนหยัดอยู่ได้ตลอดหรือไม่
นี่คือการ “เปิดใจ” ครั้งสำคัญของผู้นำสิงคโปร์ที่รู้ว่าประชาชนไม่ได้เชื่อทุกอย่างที่นายกฯ พูด
แต่หากพูดความจริง พูดจากใจ และไม่เสแสร้างแกล้งทำว่าสามารถทำสิ่งที่อยู่เหนือความเป็นไปไม่ได้ ก็อาจจะมีความรู้สึกร่วมมากพอที่จะเข้าร่วมกระบวนการแก้ปัญหาร่วมกันได้
หลี่เสียนหลงสารภาพว่า แม้จะมีมาตรการเข้มข้นหนักหน่วงขนาดนี้แล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่โดนแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอกได้
เพราะสิงคโปร์ต้องพึ่งพาการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเป็นอย่างสูง
และเมื่อ COVID-19 ทำให้เกิดการชะลอตัวอย่างหนักเช่นนี้ อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้
ความจริงที่น่ากลัวสำหรับสิงคโปร์และประเทศอื่นๆ ก็คือจะหวังว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับไปเปิดกว้างและเชื่อมโยงอย่างที่เป็นมาไม่ได้
อีกทั้งเมื่อการเคลื่อนไหวของผู้คนถูกจำกัดมากขึ้น การเดินทางระหว่างประเทศจะลดน้อยลงอย่างมาก อีกทั้งการตรวจสุขภาพและกักกันจะกลายเป็นเรื่องปกติ
“จะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไปที่คุณจะบินไปเที่ยวกรุงเทพฯ หรือฮ่องกงในช่วงสุดสัปดาห์อย่างที่เคยทำได้...” หลี่เสียนหลงพูด
ด้วยประโยคนี้ แกทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าเรื่องอะไรที่เคยทำได้อย่างสบายๆ และคล่องแคล่วจะกลายเป็นเรื่องยากเย็นไปอีกนาน
พูดง่ายๆ คือทุกอย่างจะเปลี่ยนไป และจะไม่กลับมาเหมือนเดิม...อีกนานเท่าไหร่ก็ไม่รู้ได้.
(พรุ่งนี้ : ทางออกคืออะไร?)
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |