โจทย์ยาก..ที่รออยู่ข้างหน้า


เพิ่มเพื่อน    

 

      การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลกับธุรกิจทุกภาคส่วน การค้าขาย การเดินทาง ซึ่งแม้จะมีการปลดล็อกให้ชีวิตคืนสู่ปกติแล้ว แต่วิธีคิดแบบ New Normal ในการอยู่รอดของภาคเศรษฐกิจยังเป็นหนทางที่เต็มไปด้วยขวากหนามและท้าทายความสามารถของทุกฝ่าย โดยเฉพาะทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล "ลุงตู่" เพราะมีเงินงบประมาณก้อนมหาศาลทั้งในรูปเงินกู้ และเงินโยกไปมาตามกระบวนการเงินการคลังถึง 1.9 ล้านล้านบาทเป็นเดิมพันสำคัญ ว่าจะใช้จ่ายให้ได้ประสิทธิผลอย่างที่อวดอ้างและตั้งใจหรือไม่อย่างไร

      เชื่อว่า มีหลายบริษัทที่นั่งคุยถกกันบ้างแล้วว่าโลกหลังโควิดที่ทุกคนบอกนิวนอร์มอลนั้น แล้วตีโจทย์คำว่า "นิวนอร์มอล" อย่างไร

      สำหรับภาคธุรกิจการเงินการธนาคาร น่าจะลุกขึ้นถอดสมการโจทย์นี้ก่อนเพื่อน เพราะระบบการเงินการธนาคารนั้น "ซัพพอร์ต" หรือเกี่ยวข้องกับทุกภาคธุรกิจอย่างหลีกหนีไม่พ้น ซึ่งหมายความว่า หากภาคธุรกิจใดสะเทือน ระบบการเงินการธนาคารก็ย่อมกระทบเป็นลูกโซ่ มากบ้างน้อยบ้างขึ้นอยู่กับเม็ดเงินที่มีการกู้ยืมหรือไปลงทุนในแต่ละคลัสเตอร์

      โจทย์ปัญหาของภาคการเงินจึงเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจว่า จะเลือกช่วยใคร และปล่อยอะไรทิ้ง เพราะถ้าฝืนตัวเองก็จะกลายเป็น "เตี้ยอุ้มค่อม" นอกจากจะเจ็บป่วยตามกันไป สุดท้ายอาจจะไม่มีใครรอดเลยก็ได้

      มิติธุรกิจภาคท่องเที่ยวน่าจะเป็นตัวอย่างชัดเจนที่สุด เพราะโดยด้านซัพพลายของประเทศแล้ว เรารับรู้กันว่าก่อนโควิดเราโอเวอร์ซัพพลายอยู่ 

      พิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยว 44 ล้านคนต่อปี โรงแรมผุดขึ้นมามากมายเพราะต้องการสนองตอบต่อดีมานด์ แต่จากวันนี้เมื่อปลดล็อก นักท่องเที่ยว 44 ล้านคนไม่มีทางที่จะกลับเข้ามาแม้จะมีความร่วมมือที่เรียกว่า Travel Bubble ก็ตาม 

      หากมองมุมบวก อย่างเก่งก็อาจจะฟื้นกลับมาสัก 20 ล้านคน  แล้วระยะเวลา 1-2 ปี จากนี้โรงแรมที่สร้างไว้สำหรับคน 44 ล้านคนจะสามารถเอาตัวรอดสักกี่ราย

      นี่แค่มิติเดียว ที่ว่ากันว่าสร้างรายได้หลักให้กับประเทศ หากมองไปในมิติธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีโครงสร้างที่เปราะบาง ก็ยิ่งต้องทำงานด้านความคิดเพื่อการตัดสินใจที่หนักหน่วงขึ้นว่าจะเหลือรอดสักกี่ราย ท่ามกลางความเป็นจริงที่ว่า ที่ผ่านมาการใช้เงินลงทุนของกลุ่มเอสเอ็มอีนั้นผิดรูปผิดรอยและวัตถุประสงค์อย่างยิ่ง

      โจทย์ปัญหาจึงไม่ใช่แค่ปลุกธุรกิจให้ลืมตาอ้าปากหลังโควิด-19 แต่จะทำอย่างไร "ให้รอด" ปลอดภัยอย่างมั่นคง ยั่งยืน มิใช่ร่อๆ แร่ๆ พิกลพิการ ลากถูกันไป บอกไม่ทิ้งกัน แล้วสุดท้ายตายกันทั้งยวง 

      การตัดสินใจ "เลือก" จะอุ้มหรือจะช่วยธุรกิจอะไร คงไม่สามารถหว่านเงินลงไปเหมือนมาตรการเยียวยาปัญหาจากโควิด-19 ได้แน่นอน เพราะทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว ..ทั้งโลก.

 

                                                                        "ปิยสาร์"


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"