ชาวแพร่ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ ตรวจสอบการรื้อถอน "อาคารบอมเบย์ เบอร์มา" อายุ 127 ปี ผู้ดูแลแจงระงับดำเนินการแล้ว ด้านผู้ว่าฯ สั่งตั้งกรรมการสอบเอาผิด ยันเสียใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กำชับก่อสร้างให้เหมือนเดิม ด้านนักวิชาการ-ชาวเมืองแพร่ถล่มยับ ป่าไม้ทุบอาคารประวัติศาสตร์จนเหลือแต่ซาก ผอ.สบอ.13 ยันเจตนาดี แต่ไม่คาดคิดจะเกิดผลกระทบขนาดนี้ได้
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ศาลากลางจังหวัดแพร่ มีตัวแทนภาคเอกชน ภาคีเครือข่าย เข้าพบและยื่นหนังสือถึงนางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ กรณีการรื้อถอนอาคารบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง ที่เข้ามาทำไม้ในเมืองแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 ซึ่งมีอายุราว 127 ปี ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าน้ำบ้านเชตวัน อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ โดยบริษัทรับเหมาเข้ามาดำเนินการรื้อถอนโดยไม่มีการทำประชาคม หรือสอบถามความคิดเห็นของคนเมืองแพร่
นายธีรวุธ กล่อมแล้ว ประธานภาคีเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าแพร่ และชาวบ้านเชตวัน ได้เข้ายื่นหนังสือประท้วงการกระทำดังกล่าว โดยระบุถึงประกาศให้เมืองแพร่เป็นเมืองเก่าว่าด้วยการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ตามมติ ครม. 10 ก.พ.2558 จึงเรียกร้องให้จังหวัดดำเนินการดังนี้ 1.ให้ระงับการก่อสร้างทั้งหมด 2.เปิดเผยข้อมูลงบประมาณ แผนการรื้อถอนและก่อสร้าง 3.หาผู้รับผิดชอบการทุบทิ้งอาคารประวัติศาสตร์ 4.สร้างประชาคมให้มีส่วนร่วมพัฒนาสวนรุกขชาติเชตวัน และ 5.ให้หน่วยงานรับผิดชอบเสนอแนวทางฟื้นฟู
นายธีรวุธกล่าวว่า ได้มายื่นหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบขั้นตอนการดำเนินงานในโครงการที่ระบุว่าซ่อมแซม ปรับปรุง แต่กลับให้ผู้รับเหมาเข้ามารื้อถอนทำใหม่ด้วยงบ 4.5 ล้านบาท เชื่อว่าไม่สามารถทำได้ในงบนี้ และที่สำคัญการออกแบบยังไม่ชัดเจนทั้งแบบที่สมบูรณ์ หรือเอกสารประกอบในด้านสถาปนิกที่ถูกต้อง ก็ยังไม่ชัดเจน แต่หน่วยงานกลับเข้าไปรื้อถอน ทำให้เกิดความคลางแคลงใจ ส่วนชาวบ้านในเขตเทศบาลเมืองแพร่ ชุมชนเชตวัน ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับโครงการนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยมีนายอิศเรศ สิทธิโรจนกุล ผู้อำนวยการสำนักฯ รับผิดชอบโครงการ กล่าวว่า ในความรับผิดชอบในฐานะหน่วยงานเจ้าของเรื่อง คงต้องฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย และได้ระงับการดำเนินการไว้ก่อนขณะนี้เพื่อทบทวน แต่เราจะทำให้อาคารนี้กลับมาในรูปแบบเดิม
ตามที่สวนรุกขชาติเชตวัน สังกัดสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (แพร่) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ดำเนินการของบประมาณจากจังหวัดแพร่เพื่อดำเนินการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารศูนย์เรียนรู้การป่าไม้ ภายในสวนรุกขชาติเชตวัน ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่สร้างขึ้นราวปี พ.ศ.2432 ซึ่งอาคารนั้นถือว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในเรื่องของการทำไม้ของประเทศไทยมายาวนาน โดยบริษัทที่ทำไม้ในเขตภาคเหนือตอนบนได้สร้างอาคารบ้านพัก สำนักงาน ที่พักคนงาน เป็นที่รวมไม้ซุงก่อนจะล่องซุงไปตามแม่น้ำยมลงไปยังภาคกลางและกรุงเทพฯ
นายอิศเรศกล่าวอีกว่า ทางสวนรุกขชาติเชตวันเห็นว่าอาคารไม้ดังกล่าวมีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงได้ของบประมาณจากจังหวัดแพร่เพื่อทำการซ่อมแซมปรับปรุงให้มั่นคงแข็งแรง โดยของบตั้งแต่ปี 2561 จนได้รับการอนุมัติงบประมาณในปี 2563 จำนวน 6.7 ล้านบาท ซึ่งจังหวัดแพร่ได้มอบอำนาจให้กับอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบ มีราคากลาง 5.3 ล้านบาท มีผู้ดาวน์โหลดแบบประมูลไป 23 ราย แต่มายื่นประมูล 3 ราย โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัด แพร่โกสินทร์ก่อสร้าง ชนะการประมูลที่ราคา 4,560,000 บาท
"ผมมีเจตนาดีในการปรับปรุงอาคาร แต่ไม่คาดคิดว่าจะส่งผลกระทบมากขนาดนี้ ส่วนแนวทางรื้อถอนอยู่ที่ผู้รับเหมาและนายช่างวิศวกร ซึ่งจะมาชี้แจงในวันศุกร์ที่ 19 มิถุนายนนี้ เป็นวันที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ได้นัดให้มีการชี้แจงอีกรอบ" นายอิศเรศกล่าว
จากโครงการซ่อมแซมปรับปรุงอาคารไม้เก่า กลับกลายเป็นถูกรื้อถอนออกจนไม่เหลือสภาพเดิม ส่งผลต่อจิตใจชาวจังหวัดแพร่ที่เห็นอาคารไม้ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ควบคู่กับการทำไม้ของจังหวัดแพร่ในอดีตเป็นอย่างยิ่ง เกิดความไม่พอใจในการกระทำดังกล่าว
ทั้งนี้ นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ได้เดินทางลงพื้นที่ดูสภาพอาคารประวัติศาสตร์ป่าไม้เมืองแพร่ที่ถูกทุบทิ้งที่บริเวณสวนรุกขชาติเชตวัน ซึ่งเป็นอาคารไม้ประยุกต์แบบอาณานิคมอังกฤษ เคยเป็นสำนักงานบริษัท บอมเบ เบอร์มา และยังเคยเป็นท่าเรือล่องซุงของบอมเบ เบอร์มา-บริษัท อิส เอเซียติค สมัยยังมีเจ้าหลวงผู้ครองนครแพร่อยู่
เมื่อนางกานต์เปรมปรีด์เห็นสภาพถึงกับอึ้ง โดยได้สั่งการให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเอาผิดกรณีการรื้อถอนอาคารดังกล่าว โดยให้นายวรญาณ บุญณราช รองผู้ว่าฯ แพร่ เป็นประธานในการสอบข้อเท็จจริง พร้อมกำชับให้ดำเนินการก่อสร้างอาคารให้กลับมาเหมือนเดิม และเรียกหน่วยงานที่รับผิดชอบประชุมด่วนเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
นางกานต์เปรมปรีด์กล่าวว่า เสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาก ทราบว่าการของบประมาณไปเพื่อซ่อมแซมอาคารเก่า จำนวน 4 ล้านบาท แต่ผลออกมาเป็นการรื้อถอนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ขอให้รอการสอบสวนข้อเท็จจริงก่อน ขอให้ชาวแพร่อดใจรอผลการสอบสวน
ด้านนายพัฒนา แสงเรียง นักวิชาการอิสระ กล่าวว่า อาคารดังกล่าวเป็นองค์ประกอบสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองแพร่ แต่ทำไมการซ่อมแซมถึงกลายเป็นการรื้อไปได้ ซึ่งการขอดูขั้นตอนการทำงานทางวิศวกรรมก็ไม่มีหมายความแล้ว เรื่องนี้คงต้องใช้กฎหมายจัดการ เพราะความผิดสำเร็จแล้ว ความเสียหายเกิดขึ้นกับประวัติศาสตร์เมืองแพร่แล้ว
สำหรับบริษัท บอมเบย์ เบอร์มา เทรดดิ้ง เป็นบริษัทสัญชาติอังกฤษ เริ่มทำไม้ในประเทศเมียนมาก่อนเพื่อส่งออกไม้ไปยังจีน อินเดีย ต่อมาเริ่มเข้ามาทำไม้ในภาคเหนือของไทย เนื่องจากป่าไม้ยังอุดมสมบูรณ์ และค่าสัมปทานถูกกว่าในเมียนมา โดยเข้ามาทำไม้ในเมืองแพร่ตั้งแต่ปี พ.ศ.2432 ได้รับสัมปทานทำไม้ในบริเวณป่าแม่น้ำยมตะวันตก และได้สร้างอาคารสำนักงานดังกล่าวจนถึงปัจจุบันมีอายุราว 127 ปี ตั้งอยู่ที่บริเวณท่าน้ำบ้านเชตวัน อ.เมือง จ.แพร่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |