สสส.ผนึกสังคมสงเคราะห์ มธ. ก.พม. กรมควบคุมโรค และภาคีฯ ธรรมศาสตร์โมเดลดูแลผู้หายป่วยคืนสู่สังคม


เพิ่มเพื่อน    

 

สสส.ผนึกคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. กระทรวง พม. กรมควบคุมโรค พร้อมภาคีเครือข่ายสู้วิกฤติโควิด-19 เปิดตัวโครงการพัฒนาสมรรถนะและรูปแบบการดูแลทางสังคม เสริมพลังชุมชน เฝ้าระวัง ดูแล จัดการทางสังคม ผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กลับมาใช้ชีวิตปกติ ดร.สุปรีดาชมเปาะครอบครัวแมทธิว คือฮีโร่โควิด-19 เป็นภาพลักษณ์ที่ดี กล้าเปิดตัวในฐานะผู้รับผิดชอบต่อสังคม รัฐบาลผ่อนปรนระยะ 3 เชื่อมั่นบุคลากรทางการแพทย์-สาธารณสุขรับมืออยู่ โควิดไม่กลับมาอีก รองปลัด ก.พม.เดินหน้ามาตรการผ่อนปรนพักชำระหนี้บ้านเอื้ออาทร โครงการเช่าซื้อ กคช. ทุกปัญหาปรึกษาได้ที่สายด่วน 1300

           

ด้วยความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิปกรณ์ อังศุสิงห์ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก สมาคมนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ไทย ชมรมนักสังคมสงเคราะห์ สถาบันวิชาชีพวัดโตนด บางกรวย และภาคีเครือข่ายจัดแถลงข่าวเปิดตัวโครงการพัฒนาสมรรถนะและรูปแบบการดูแลทางสังคมและเสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวัง ดูแล และจัดการทางสังคม สำหรับผู้ป่วยและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2563 ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)       

 

             

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีฉายานามว่า คุณแม่อธิการ หรือฮองเฮา แม่ทัพหญิงธรรมศาสตร์สู้วิกฤติโควิด-19 กล่าวว่า ในนามของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา มีทั้ง รร.แพทย์ คณะที่เกี่ยวกับสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ ทำงานในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมาแล้วกว่า 66 ปี มธ.ร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อรับมือโควิด-19 รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเป็นต้นแบบดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ครอบคลุมดูแลสังคมตั้งแต่ มี.ค.63 พร้อมรับมือดูแลสุขภาพด้วยวิถีใหม่อย่างต่อเนื่อง บุคลากรทางการแพทย์พัฒนาสมรรถนะรับมือการทำงานออนไลน์ ช่วยผู้ป่วยบริหารจัดการทรัพยากรสังคม เข้าถึงมาตรการที่เหมาะสม คำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้กลับมาใช้ชีวิตปกติ ใช้พลังชุมชนเฝ้าดูแล

           

สำนักงานศูนย์วิจัยให้คำปรึกษา คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ เป็นแกนนำ 17 ภาคีองค์กรพัฒนาสมรรถนะด้วยรูปแบบดูแลสังคม เสริมพลังชุมชน เฝ้าระวังผู้ป่วยผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค พัฒนาระบบสุขภาพเพื่อประชาชนแบบองค์รวม บุคลากรจิตอาสาช่วยสังคมเป็นเวลา 1 ปี ด้วยเครื่องมือประเมินปัญหาทางสังคม เป็น Platform Telemedicine การจัดการตัวเองเฝ้าระวังการจัดการทางสังคมจากการแพร่ระบาดของผู้ป่วยมากกว่า 1,600 คน ได้รับคำปรึกษา ดูแลมิติเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ เปิดหลักสูตรออนไลน์ชุดความรู้สำหรับบุคลากรจิตอาสาช่วยงานสังคมเพื่อเผชิญโรคอุบัติใหม่ในอนาคต  

           

โครงการดังกล่าวเป็นการทำงานต่อเนื่องจากระยะแรกในพื้นที่ กทม. ปทุมธานี นนทบุรี และสมุทรปราการ โดยมีเป้าหมายพัฒนาสมรรถนะนักสังคมสงเคราะห์และบุคลากรผู้ช่วยเหลือทางสังคม จำนวน 200 คน เพื่อติดตามผู้ป่วยกลับบ้านจำนวน 1,600 คน เจ้าหน้าที่จะต้องผ่านการอบรม 4 หลักสูตร ให้คำปรึกษาเสริมพลังทุกภาคส่วนในการฟื้นฟูดูแลทางสังคมกับผู้ป่วยโควิด-19 ให้สามารถปรับตัวเข้าสู่การใช้ชีวิตปกติ โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัวและชุมชน ทั้งนี้ มธ.ถือเป็นมหาวิทยาลัยแรกที่ประกาศตัวมีส่วนร่วมต่อสู้กับโควิด-19 ด้วยการผันรูปแบบมาเป็นโรงพยาบาลสนาม และปิดตัวลงหลังจากส่งตัวผู้ป่วยที่รักษาหายแล้วรายสุดท้าย เมื่อวันที่ 19 พ.ค.63 สรุปจำนวนผู้ป่วย 60 ราย แต่ก่อนการจำหน่ายผู้ป่วย ทาง รพ.จะเตรียมความพร้อมโดยทีมงานสังคมสงเคราะห์ที่ได้รับแจ้งจากผู้ป่วยว่าไม่สามารถกลับเข้าสู่ครอบครัวหรือชุมชนได้ จะนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการติดตามดูแลผลกระทบทั้งด้านสุขภาพและสังคม หรือประเมินส่งตัวต่อให้กับหน่วยงานภาคีที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อไป

 

             

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ร่วมป้องกันโควิด-19 ไปด้วยกัน ทำงานอย่างเข้มแข็งทั้งด้านสาธารณสุขและการแพทย์โดยตรง ผู้ที่เจ็บป่วยโรคโควิดกระทบหลายมิติ ต้องพึ่งหมอหลายแขนงที่ดูแลทั้งกาย จิต สังคม มาตรการหมอทางสังคม ซึ่ง มธ.มีผู้เชี่ยวชาญ สสส.สนับสนุนการทำงานคู่ขนานใช้ระบบสื่อสาร Platform ไทยรู้สู้โควิด

           

“โควิดเป็นโรคอุบัติการณ์ใหม่ เราได้ยินครั้งแรกช่วงปีใหม่ ต้องทำให้คนไทยรู้จักโรคอย่างถูกต้อง ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ไม่รับรู้ก็ต้องรับรู้ ความกลัวมีโดยธรรมชาติ กลัวน้อยไปก็มีปัญหา กลัวพอดีก็สนใจแก้ไขปัญหา แต่ถ้ากลัวมากเกินไปก็เกิดปัญหา ต้องสื่อสารเป็นพลวัตสูง มีสาส์นใหม่ๆ การปรับตัวหยุดอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติ ด้วยการล็อกดาวน์หยุดกระจายแพร่เชื้อโรค พื้นที่ภูธรเกิดศูนย์เฝ้าระวังระดับปฐมภูมิ ประเทศไทยเข้มแข็งทั้งหมอ พยาบาล อสม. รพ.สต. แต่ยังมีจุดอ่อนในเขตเมือง ปัญหาการสื่อสารที่กลัวกันเกินเหตุ มีการตีตราคนที่ติดเชื้อแล้ว วิชาชีพที่เสี่ยง แพทย์ สาธารณสุข แอร์โฮสเตส เกิดความหวาดระแวงถ้าติดเชื้อจะเป็นปัญหา จำเป็นต้องปรับทิศทางการสื่อสารให้คนรับรู้การแพร่ระบาดมากกว่านี้ในสังคมไทย สมัยหนึ่งโรคเอดส์ระบาดมีการตีตราเป็นปัญหาในสังคม เครื่องมือทางการแพทย์ช่วยได้ในระดับหนึ่ง ต้องสร้างความเข้าใจทางสังคมการอยู่ร่วมกันในจุดที่เหมาะสมด้วย การพัฒนาระบบออนไลน์ นำผลขยายเข้าไปในชุมชน เราทุกคนมีส่วนร่วมลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย”

           

ในช่วงการระบาดโควิด-19 สสส.ร่วมกับภาคีเครือข่าย มุ่งให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้แก่ประชาชน เพราะมักจะพบว่าผู้ที่ติดเชื้อหรือผู้ที่อาจติดเชื้อโควิด-19 ต้องเผชิญกับปัญหาทัศนคติของคนรอบข้าง การไม่ถูกยอมรับ การถูกเลือกปฏิบัติจากคนในชุมชน ทั้งยังมีปัญหาด้านเศรษฐกิจในกรณีที่ต้องหยุดงานเพื่อรักษาตัว ผู้สูงอายุหรือเด็กเล็กในครอบครัวไม่มีคนดูแล สสส.ร่วมกับคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ. สภาวิชาชีพสังคมสงเคราะห์ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และคลินิกเทเลเมดิซีน พัฒนาระบบออนไลน์ให้คำปรึกษาทางสังคมแก่ผู้ป่วยติดเชื้อและผู้ที่เคยติดเชื้อ โดยนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา ซึ่งผลตอบรับค่อนข้างดี ผู้ที่เคยติดเชื้อมีความรู้ในการดูแลตัวเอง เกิดความมั่นใจมากขึ้นเมื่อกลับเข้าสู่สังคม ส่วนคนในครอบครัวได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม

           

ดร.สุปรีดาให้ข้อคิดกับสื่อมวลชนว่า “ครอบครัวแมทธิว ดีน เป็นฮีโร่ที่ติดเชื้อและกล้าประกาศตัวว่าได้รับจากสนามมวยเป็นรายแรกก่อนที่จะมีการคัดกรองผู้ติดเชื้อ ขณะนั้นร่างกายยังแข็งแรงดี สังคมเฝ้าจับตาดูและให้กำลังใจกับครอบครัวแมทธิวในฐานะที่รับผิดชอบต่อสังคม ส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีของสังคม กล้าที่ก้าวออกมาประกาศตัวว่าติดเชื้อโควิด ในขณะที่คนจำนวนมากเกิดความลังเลที่จะประกาศชัดเจนต่อสังคม อย่างไรก็ตาม การผ่อนปรนของรัฐบาลในระยะที่ 3 ให้หลายกิจการประกอบกิจการได้นั้น มีผู้ตั้งข้อสังเกตเรื่องโควิดระบาดรอบ 2 ดังที่เกิดขึ้นในหลายประเทศนั้น ผมมีความเชื่อมั่นว่าบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขสามารถรับมือและควบคุมผู้ติดเชื้อได้”

             

สสส.จัดทำคู่มือผู้ติดเชื้อโควิด ให้เข้าใจถึงความร้ายแรงของโรค วิธีปฏิบัติตัว หากกลัวเกินความพอดีจะเกิดปัญหา โดยเฉพาะการรังเกียจผู้หายป่วยและตีตรา จะส่งผลให้ต่อไปผู้ติดเชื้อไม่กล้าแสดงตัวต่อสังคม มีการปกปิดข้อมูล เกิดการระบาดของโรคเป็นเรื่องอันตรายมาก ดังนั้นหลายหน่วยงานต้องร่วมมือและประสานงาน ใช้มาตรการ App ข้อมูลเพื่อเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดด้วยระบบการแพทย์และสาธารณสุขทำให้สังคมไทยรับมือได้ดีขึ้น การสร้างแนวโน้มชีวิตวิถีใหม่นัดหมายด้วยการรับบัตรคิวรอที่ รพ. ติดตามการใช้ App แพทย์ประยุกต์ใช้เพื่อการรักษา

 

           

สราญภัทร อนุมัติราชกิจ รองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ดีกรีปริญญาตรี คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปริญญาโท คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตร์ด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนา มหาวิทยาลัย American U. วอชิงตัน ดี.ซี สหรัฐ ได้ทุนจากรัฐบาลนิวซีแลนด์เรียนต่อที่ประเทศนิวซีแลนด์ให้กลับมารับราชการเพื่อใช้ทุน) กล่าวว่า ล่าสุดกระทรวง พม.ได้มีนโยบายให้จังหวัดปทุมธานีเป็นพื้นที่ทดลองพัฒนาระบบการติดตามผู้ป่วยโควิด-19 เริ่มที่สถาบันพระประชาบดี โดยเชิญนักสังคมสงเคราะห์ 31 คน จาก 13 องค์กรมาร่วมโครงการระบบติดตามผู้ป่วยโควิด-19 และส่งเสริมให้มีการพัฒนาทักษะนักสังคมสงเคราะห์ ในการติดตามเคสผ่านระบบออนไลน์ หรือการเชื่อมโยงระบบการดูแลทางสังคมกับผู้ที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ หรือศูนย์ต่างๆ โดยพบว่าที่ผ่านมาแอปพลิเคชัน CLICKNIC ช่วยให้ระบบการดูแลผู้ประสบปัญหาทางสังคมมีประสิทธิภาพ สามารถแก้ปัญหาเคสล้นทำงานไม่ทันของนักสังคมสงเคราะห์ และช่วยพัฒนาการทำงานแบบ New Normal ของบุคลากรของกระทรวง พม.ได้อีกด้วย

             

มาตรการพักชำระหนี้ที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคงทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย บ้านเอื้ออาทรพักอัตราค่าเช่าซื้อ ผู้เช่ารายย่อยของการเคหะแห่งชาติ มีกองทุนให้คนพิการ ผู้สูงอายุเพื่อประกอบอาชีพ 12 เดือน เยียวยาคนพิการที่มีบัตรประจำตัวคนพิการคนละ 1,000 บาท เงินสงเคราะห์ในสถานธนานุเคราะห์เพิ่มขยายเวลา 90 วัน คิดดอกเบี้ย 1.25 บาท/เดือน กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยวตกงานไร้ที่พัก ส่งเสริมฝึกทักษะมีการฝึกอาชีพระยะสั้นออนไลน์ ช่วยกันจัดทำหน้ากากผ้ากระจายทั่วประเทศ การทำสวนเกษตร เกษตรแปรรูป จัดสวัสดิการให้คนที่ตกงาน ได้มีที่พักอาศัย มีอาหาร 3 มื้อ บ้าน 4 มุมเมืองเป็นศูนย์ไร้ที่พึ่ง ในขณะที่ศูนย์เด็กเล็กยังปิดอยู่ พ่อแม่ที่ยากจนไม่มีเงินที่จะนำลูกมาฝากศูนย์เด็กเล็ก ก็มีผู้สนับสนุนจัดซื้อนมผงให้พ่อแม่เป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กเล็ก ทุกปัญหาปรึกษาได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้ยังมีศูนย์ให้คำปรึกษาเฉพาะด้านอีก 77 แห่งทั่วประเทศ ในช่วงวิกฤติใช้อาสาสมัครสำรวจข้อมูลคนพิการที่ตกสำรวจเพื่อเยียวยา เป็นที่น่าสังเกตว่าสถานสงเคราะห์ต่างๆ ของกรมประชาสงเคราะห์ไม่มีผู้ใดติดเชื้อโควิดแม้แต่รายเดียว

             

โทรศัพท์สายด่วน 1300 แต่เดิมมีเพียง 15 คู่สาย ในช่วงวิกฤติโควิดมี 60 คู่สาย เพิ่มพนักงานนักพัฒนาสังคม นักสังคมสงเคราะห์จาก 30 คน เป็น 100 คน เพื่อรับคำปรึกษาเฉลี่ยแล้ว 4,000 สาย/วัน ขณะเดียวกันการเยี่ยมผู้ประสบปัญหา กระทรวง พม.เราไม่ทิ้งกันสำรวจ 4,000 ชุมชน แบ่งเป็น 2,000 ชุมชน อยู่ในความดูแลของ กทม. และอีก 2,000 ชุมชน อยู่ในความดูแลของ พอช. ยังมีอีกกว่า 1,000 ชุมชน ที่ไม่มีใครดูแล ในช่วงแรก กคช.เข้าไปดูแลร่วมมือกับกรมอนามัยสำรวจความต้องการ ให้ความช่วยเหลือเฉพาะหน้า ระยะยาว ขณะนี้เร่งสำรวจชุมชนใน 9 จังหวัดนำร่อง นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ เพื่อสำรวจกลุ่มเสี่ยงโควิดในชุมชนที่ไม่ได้รับการดูแล


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"