ข้องใจไร้เงินเลือกตั้ง กกต.มีพร้อม800ล้าน


เพิ่มเพื่อน    


    “ประยุทธ์” กัดฟันบอกจะจัดเลือกตั้งท้องถิ่นสักอย่างภายในปีนี้แน่ อุบเงียบว่าเป็นอะไร พร้อมใจปิดปากสนิทเรื่องงบไม่มี “อนุพงษ์” หาแพะร่วมชี้ กกต.ต้องแบ่งเขตก่อน อ้างหากประกาศช่วงนี้จะทำให้ อปท.สิ้นสภาพยิ่งวุ่นไปใหญ่ “ก้าวไกล” ข้องใจมีทั้ง พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ พ.ร.บ.โอนงบจะไม่มีเงินได้อย่างไร  เล็งเรียก “บิ๊กตู่” เข้าชี้แจง กมธ. “จาตุรนต์-ศรีสุวรรณ” มองตรงกันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 252 เตรียมยื่นศาลฟันทั้งคณะ
    เมื่อวันจันทร์ ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่างบประมาณในการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้ถูกนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้อาจต้องเลื่อนการเลื่อนการเลือกตั้ง อปท.ออกไปก่อน โดยเมื่อช่วงเช้า ที่องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์ (อผศ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เดินทางมาเป็นประธานการประชุม อผศ. และปฏิเสธตอบคำถามเรื่องดังกล่าว
    ภายหลังการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ว่า จะพิจารณาเอง ทั้งหมดขึ้นอยู่กับกฎหมายและความพร้อมของกระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถ้าเป็นไปได้จะมีการเลือกตั้งสักอย่างในปีนี้ ขอให้รอเวลาก่อน
    เมื่อถามถึงกรณีที่มีความเป็นห่วงงบประมาณการจัดเลือกตั้งท้องถิ่นว่าอาจถูกโยกมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 จนไม่เพียงพอ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “เดี๋ยวหาทางดูก่อนว่าทำได้หรือไม่ได้”
    ถามอีกว่า จะนำร่องพื้นที่ไหนเป็นพิเศษ หรือเป็น กทม.ก่อนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่า ไม่ได้พูด แต่ขอดูว่าที่ไหนจะเลือกตั้งได้ก่อน
    เมื่อถามว่า เหตุใดถึงมั่นใจว่าจะเลือกตั้งได้ในปีนี้ ทั้งที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่จบ พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ และประชาชนก็ต้องร่วมมือ
    ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวในเรื่องนี้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดยต้องดูว่างบประมาณเป็นอย่างไร เมื่อได้ผลเป็นอย่างไรก็เสนอมาที่รัฐบาลเพื่อให้พิจารณา แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะขณะนี้ต้องรอ กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง และประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากนั้นจะเป็นเรื่องของ กกต.และรัฐบาลที่จะต้องหารือ ที่จะกำหนดให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นอำนาจของ กกต. จึงต้องดูว่ามีความพร้อมอย่างไรในภาพรวมด้วย นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกัน คือก่อนสิ้นปีงบประมาณ 2563 อปท.ทุกรูปแบบต้องนำข้อบัญญัติงบประมาณเพื่อเสนอรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่จะดำเนินการในเดือนสิงหาคมหรือกันยายน ถ้าช่วงนี้ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้บริหาร อปท.ทุกรูปแบบ ก็จะสิ้นสภาพลง ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ คือจะเสนอข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติงบประมาณไม่ได้ จึงต้องคำนึงถึงตรงนี้ด้วย
    ผู้สื่อข่าวถามว่า ในส่วนของงบประมาณที่จะดำเนินการใช้เลือกตั้งไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม 
ท่องคาถาประชาธิปไตย
    ด้านพรรคฝ่ายค้านได้มีการประชุมร่วมกันที่สำนักงานพรรคประชาชาติ โดยนายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นว่า หลักการปกครองระบอบประชาธิปไตย การกระจายอำนาจการปกครองให้ท้องถิ่นได้บริหารตนเองเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง มีการกำหนดในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่ช่วงที่ผ่านมาเรากลับว่างเว้นการเลือกตั้งท้องถิ่น ตั้งแต่การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถ้าเราคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญของระบอบประชาธิปไตย เรื่องงบประมาณไม่ใช่ปัญหา เราสามารถหาได้ ขณะเดียวกันเราต้องยึดหลักให้ท้องถิ่นปกครองดูแลตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นการทอดเวลาออกไปไม่ว่าจะนานเท่าไหร่ก็ตาม ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม การปล่อยเวลาให้ล่าช้าออกไปไม่ได้เป็นประโยชน์ของประเทศ และระบอบประชาธิปไตย
    นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน เเละการมีส่วนรวมของประชาชน สภาผู้เเทนราษฎร กล่าวว่า เหตุผลของนายวิษณุไม่สามารถยอมรับได้ เนื่องจากเราทราบอย่างเเน่ชัดว่าการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นมีการจัดสรรงบประจำปีอยู่เเล้ว ซึ่งในส่วนการเตรียมความพร้อมของ กกต.เเละ อปท.ก็มีการเตรียมความพร้อมมาโดยตลอด รวมทั้งงบประมาณในส่วนที่รัฐบาลนำมาเเก้ไขสถานการณ์โควิด รัฐบาลได้มีการกู้เงินจากการออกพระราชกำหนดเงินกู้ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากสภา เเละวุฒิสภา โดยประกาศใช้เป็นกฎหมายเรียบร้อยเเล้ว และยังมีการโอนงบจากของหน่วยงานราชการในการออกร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณของรัฐบาลอีก จึงคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับประเด็นในเรื่องนี้
    “การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ควรไปผูกกับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ถ้า ครม.มีปัญหามากในขณะนี้ เป็นเหตุให้ ครม.ไม่จัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ เรื่องนี้ต้องตั้งคำถามว่า ทำไมประชาชนต้องถูกละเมิดสิทธิ์ เพียงไม่พร้อมของ ครม. จริงเเล้วการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น ควรเป็นความเห็นชอบของ ครม.หรือไม่ หรือจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามวาระที่มันควรจะเป็น” นายปดิพัทธ์กล่าว และว่า บุคคลที่จะให้คำตอบเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่ง กมธ.จะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์เข้าชี้เเจงในวันพุธ 17 มิ.ย. เพื่อชี้เเจงเเละให้คำตอบต่อประชาชน โดยหวังว่าท่านจะให้ความร่วมมือและไขความกระจ่างแก่ประชาชน
ซัดจงใจฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ
         ขณะที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ “หยุดฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง” มีเนื้อหาว่า รัฐบาลนี้ถ่วงเวลาไม่ให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมานานเต็มทีแล้ว และคนที่ออกมาทำหน้าที่โยกโย้บ่ายเบี่ยงเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้งตัวเอ้คือ นายวิษณุ ซึ่งหาหลักหาเกณฑ์ไม่ได้มานานแล้ว โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 252 บัญญัติให้สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ส่วนผู้บริหารมาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น จะมียกเว้นได้บ้างก็ในกรณี อปท.รูปแบบพิเศษเท่านั้น จึงกล่าวได้ว่า อปท.เกือบทั้งหมดต้องเชื่อมโยงกับการเลือกตั้ง ไม่เลือกตั้งไม่ได้ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2560 ก็หลายปีแล้วที่ไม่มีการเลือกตั้งเสียที ถ้านับรวมถึงเวลาตั้งแต่ อปท.ส่วนใหญ่ครบวาระหรือถูกปลดออกก็ยิ่งหลายปี เท่ากับรัฐบาล คสช.และรัฐบาลนี้ซึ่งมีนายกฯ คนเดียวกัน จงใจไม่ทำตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญกันเลย 
    “การอ้างว่างบประมาณหมดแล้ว ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นได้แบบไม่มีกำหนด เป็นการอ้างแบบข้างๆ คูๆ ยิ่งอ้างสถานการณ์โควิดยิ่งเลอะเทอะไปใหญ่ อย่างนี้ถ้ารัฐบาลไม่อยากทำอะไรก็อ้างโควิด-19 ได้หมด” นายจาตุรนต์โพสต์ 
    เขายังโพสต์อีกว่า มีช่องทางมากมายที่จะหางบประมาณมาจัดเลือกตั้งท้องถิ่นได้ ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถตรวจสอบควบคุมการใช้งบประมาณของท้องถิ่นหลายแสนล้านบาทให้เป็นไปตามความต้องการของประชาชน และยังป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้ ดีกว่าปล่อยให้อยู่ใต้อำนาจกระทรวงมหาดไทยและรัฐบาลอย่างที่เป็นอยู่ สังคมไทยปล่อยให้ อปท.ตกอยู่ใต้การกำกับบงการของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจที่ตรวจสอบควบคุมไม่ได้ ใช้งบประมาณกันตามความต้องการของผู้มีอำนาจมากกว่าที่จะฟังเสียงประชาชนมานานเกินไปแล้ว ในหลายปีมานี้ การที่รัฐบาลสามารถสั่ง อปท.ได้ตามอำเภอใจ ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้ น่าจะเกิดเป็นความรั่วไหล สูญเปล่านับเป็นแสนล้านบาท มากกว่างบประมาณที่จะใช้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นมากมายหลายเท่า ถึงเวลาที่เราจะบอก พล.อ.ประยุทธ์และรองฯ วิษณุว่าพอกันที
    ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เฟซบุ๊กไลฟ์เรื่องดังกล่าวว่า หากมีการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จะพอเบี่ยงเบนความหวังของคนได้บ้าง เพราะจะมีแรงสะพัดระดับหนึ่งในช่วงใกล้ฟื้นเศรษฐกิจ ซึ่งยังไม่รู้จะฟื้นอย่างไร หากคิดเพียงงบประมาณหมดแล้วจัดเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้ จึงเป็นข้ออ้างที่ฟังกันไม่ขึ้น ส่วนการเลือกตั้งระดับชาตินั้น ต้องคุยกติการัฐธรรมนูญ 2560 กันใหม่ก่อนจะเกิดขึ้น แต่ส่วนท้องถิ่นนั้นมีความพร้อมมากกว่าจึงควรจัดเลือกตั้ง ขออย่าไปเลือกตั้งช่วงตั้งโรงทานของรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ เพราะจะวุ่นวายที่สุด
ศรีสุวรรณโดดร่วมขยี้
       ส่วนนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ระบุว่า มีความพยายามของรัฐบาลที่จะประวิงเวลายื้ออำนาจของตนเองผ่านกลไกของท้องถิ่นที่รัฐบาลได้ครอบงำไว้เบ็ดเสร็จแล้ว ทั้งๆ ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 252 ที่ระบุว่า สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง และขัดต่อกฎหมายท้องถิ่นทุกฉบับ ขัดต่อหลักประชาธิปไตย เพราะปล่อยให้ผู้บริหารท้องถิ่นครองอำนาจมาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดมากกว่า 7-8 ปี บางแห่งให้ข้าราชการรักษาการในตำแหน่งผู้บริหารมามากกว่า 5-6 ปี ตั้งแต่มี คสช.และในช่วงรักษาการก็มีการแต่งตั้งลูกเมียทายาทคนสนิทเข้ามาดำรงตำแหน่งกินเงินภาษีประชาชนกันเต็มคราบ โดยที่ประชาชนในแต่ละท้องถิ่นทำอะไรไม่ได้ เพราะติดเงื่อนไขคำสั่ง คสช. แต่บัดนี้มีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว คสช.สลายตัวไปแล้ว มีรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจนครบขวบปีแล้ว แต่กลับพยายามประวิงเวลายื้อการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เป็นสิทธิของประชาชนโดยชอบออกไปอีก โดยการอ้างสารพัดจะยกมาอ้าง ซึ่งไม่อยู่บนฐานข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแต่อย่างใด
         นายศรีสุวรรณย้ำว่า ตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น 2562 มาตรา 142 ระบุไว้ชัดเจนว่า ภายหลังจากกฎหมายนี้ใช้บังคับให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยให้ คสช.แจ้งไปยัง กกต. หากไม่มี คสช. ให้เป็นอำนาจของ ครม. ดังนั้นการเลือกตั้งท้องถิ่นจึงไม่ใช่อำนาจของกระทรวงมหาดไทยที่จะกำหนดกรอบเวลาได้ และขณะนี้ กกต.ได้ออกระเบียบสำหรับใช้ในการเลือกตั้งเสร็จสิ้นมานานแล้ว ส่วนงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งประมาณ 2-3 พันล้านบาท ก็สามารถใช้งบกลางได้อยู่แล้ว ส่วนการจะกระทบต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั้นเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น เพราะการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปางยังเกิดขึ้นได้ ไฉนเลยการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศจะเกิดขึ้นไม่ได้โดยเร็ว เว้นแต่รัฐบาลยังหวงอำนาจ และยังมีผลประโยชน์แอบแฝงอยู่กับผู้บริหารท้องถิ่นเดิมอยู่เท่านั้น
    “สมาคมจะนำคำร้องไปยื่นให้ ครม.ได้ตัดสินใจเพื่อให้มีมติแจ้งไปยัง กกต.เพื่อดำเนินการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นทั่วประเทศโดยเร็ว และหากยังมีการใช้เล่ห์กลประวิงเวลาไว้ สมาคมจะนำหลักฐานนี้ไปยื่นฟ้องต่อศาลเอาผิด ครม.ทั้งคณะต่อไป” นายศรีสุวรรณระบุ
     ทางด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวที่รัฐบาลจะเลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่นเหตุเพราะนำงบไปช่วยโควิด-19 ว่าในส่วนการเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นของ กกต. ขณะนี้ถือว่าพร้อมระดับหนึ่ง โดยระเบียบต่างๆ ดำเนินการแล้วเสร็จ กำลังเตรียมเรื่องการจัดอบรมเจ้าหน้าที่ ส่วนเรื่องการแบ่งเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละระดับเหลือเพียงขั้นตอนการตรวจทานและประกาศราชกิจจานุเบกษา เมื่อรัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นตามกฎหมายกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ ส่วน กกต.จะเป็นผู้กำกับดูแล ดังนั้นงบประมาณจะอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยเป็นหลัก ส่วนของ กกต.ได้รับการจัดสรรงบที่จะใช้ในการกำกับดูแลการเลือกตั้งท้องถิ่นในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 จำนวน 800 ล้านบาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวยังคงอยู่ และ กกต.พร้อมที่จะดำเนินการทันทีที่รัฐบาลประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"