แรงกดดันการเมืองเป็นส่วนหนึ่ง ของชีวิตผู้ว่าการธนาคารกลาง!


เพิ่มเพื่อน    


    วันที่ "ดร.วิรไท สันติประภพ" ตัดสินใจไม่เสนอตัวเป็น "ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย" อีกหนึ่งสมัยนั้น ความคิดในสมองมีเรื่องอะไรอยู่? 
    เกือบ 5 ปีที่ผ่านมาในตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลาง เขาเผชิญกับอะไร และแรงกดดันทางการเมืองมีผลต่อการตัดสินใจหรือไม่...
    นี่คือบางส่วนของบทสนทนากับ ดร.วิรไทเมื่อ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา
    Q: ผมเคยถามว่าคุณวิรไทจะเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติสมัยที่สองหรือไม่...วันนี้มีคำตอบไหมครับ?
    A: ผมเรียนวันนี้เป็นครั้งแรกอย่างเป็นทางการเลยครับ ว่าผมไม่ประสงค์ที่จะเข้ากระบวนการที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นสมัยที่สองครับ
    กระบวนการสรรหาผู้ว่าการใหม่เริ่มแล้ว อยู่ในช่วงของการรับสมัคร ผมไม่ประสงค์จะเข้ากระบวนการคัดเลือกครับ 
    มันเป็นเหตุผลส่วนตัว
    Q: เกี่ยวกับโควิดไหมครับ?
    A: ไม่เกี่ยวอะไรกับโควิดครับ จริงๆ แล้วเป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่าย 
    ธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับผมเป็นสถานที่ทำงานดีที่สุดที่เคยผ่านมา และถ้ามองไม่เฉพาะในประเทศไทย จากประสบการณ์ทำงานทั่วโลกและเชื่อมโยงกับหลายๆ องค์กร ผมถือว่าที่นี่เป็นที่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลกในการทำงาน สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนโยบายสาธารณะ  สำหรับนักเศรษฐศาสตร์ที่อยากจะเห็นการพัฒนา การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในเศรษฐกิจและสังคมไทย
    Q: ที่ว่าดีที่สุดหมายถึงตัวเองมีผลงานดีที่สุดหรือครับ?
    A: มิได้ครับ ผมหมายถึงที่ทำงานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะเราทำงานกันอย่างมืออาชีพ ทั้งผู้บริหารและพนักงานเป็นคนที่มีจิตสาธารณะสูง เป็นคนที่มีหลักการถึงคุณค่าหลักของพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย เรามีอยู่ 4 เรื่องคือ
    ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน
    เรื่องยืนตรง เราทำงานที่นี่ด้วยความสบายใจ ไม่มีผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่มีผลประโยชน์ของพวกพ้อง ทุกคนมีจิตสาธารณะและคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวม และยึดหลักการของธนาคารกลางอย่างเข้มแข็ง
    มองไกล ในสภาวะที่โลกมีความไม่แน่นอนสูง เห็นได้ชัดเลย เรามีนักวิชาการคุณภาพเยอะมาก และมีนักปฏิบัติที่มีคุณภาพด้วย ทำให้เราสามารถต่อจิกซอว์และมองภาพไปข้างหน้า
    นี่เป็นเรื่องสำคัญ เพราะในโลกข้างหน้าการแก้ปัญหาไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เราได้พัฒนากลไกและจับมือกับพันธมิตรที่หลากหลายในหลายภาคส่วน เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของเราไปข้างหน้า
    Q: ที่ว่าตัดสินใจยากเพราะอะไรครับ? เพราะที่นี่เป็นที่ทำงานดี...แต่ขณะเดียวกันเราก็อยู่ท่ามกลางวิกฤติหลายเรื่อง ไม่เสียดายหรือครับว่าเราจะออกไปโดยไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้จบ?
    A: ผมว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถช่วยได้ในสังคมไทย บางคนถามว่าไม่กลัวเรื่องความต่อเนื่องหรือ ต้องเรียนว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เราทำงานกันเป็นทีม ทุกมาตรการที่ออกมามีการถกเถียง พูดคุยกันช่วยกันของผู้บริหารทุกระดับ
    ดังนั้นเรื่องความต่อเนื่องไม่ได้กังวล
    Q: ถ้ามีคนบอกว่าควรจะอยู่ช่วยชาติต่อไป จะว่าอย่างไรครับ?
    A: ผมว่าไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนในสังคมไทย เราก็สามารถที่จะมีบทบาทที่จะช่วยได้ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป
    Q: แรงกดดันที่เกิดขึ้นระหว่างที่แก้วิกฤตินี้มีส่วนในการตัดสินใจไหมครับ?
    A: จริงๆ แล้วในบทบาทของการเป็นผู้กำหนดนโยบายบริหารระดับสูงของประเทศต้องเผชิญแรงกดดันโดยตลอด ธนาคารกลางก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันค่อนข้างมาก เพราะเรานั่งอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ ทุกอย่างที่ธนาคารกลางตัดสินใจ มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราดอกเบี้ย เรื่องค่าเงิน เรื่องมาตรการดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน LTV ต่างๆ มันมีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ 
    ดังนั้นเรื่องนี้คงไม่ใช่เฉพาะตอนเกิดเรื่องโควิดเท่านั้น เป็นเรื่องที่นักธนาคารกลางต้องเผชิญตลอด
    Q: นอกจากผลประโยชน์ต่างๆ ก็คืออิทธิพลทางการเมือง ห้าปีที่ผ่านมาโดนแรงกดดันทางการเมืองที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรมบ้างไหมครับ?
    A: เราพูดกันในหมู่นักธนาคารกลาง ไม่เฉพาะในเมืองไทย มันเป็นส่วนหนึ่งของภาระหน้าที่ (part  of the job description) แล้ว
    ไม่ว่าเราจะอยู่ประเทศไหน ถ้าเรามีเจตนาที่ดีเหมือนกันทั้งฝั่งของรัฐบาลและธนาคารกลาง ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีเรื่องที่เห็นไม่ตรงกัน เพราะว่าระยะเวลาของการมองต่างกัน การเมืองเขาก็จะมองระยะเวลาของการเลือกตั้งเช่น 4 ปี และประเทศไหนที่การเมืองไม่มั่นคงก็ยิ่งมองสั้นกว่านั้นอีก 
    ดังนั้นการเมืองก็จะหวังผลระยะสั้นๆ แต่ธนาคารกลางมีหน้าที่ดูแลเรื่องเสถียรภาพ เสถียรภาพเป็นแนวคิดระยะยาว เราต้องป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาที่เป็นจุดเปราะบางที่จะนำไปสู่ปัญหาในระยะยาวหรือไปเกิดวิกฤติในระยะยาว
    เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าจะมีเจตนาที่ดีเหมือนกัน แต่ก็จะมีความขัดแย้งกันอยู่ตลอดเวลาซึ่งเป็นปัญหาของทุกธนาคารกลาง
    Q: ตัวคุณวิรไทเองเจอแรงกดดันทางการเมืองหนักกว่าที่คาดไหมครับ?
    A: ผมมักจะอยู่กับปัจจุบัน ก็เลยไม่ค่อยได้คาดเท่าไหร่ ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้นเราก็มีหน้าที่ต้องทำความเข้าใจและแก้ไขและสื่อสาร 
    ในช่วงเกือบ 5 ปีที่ผ่านมาก็เห็นชัดว่า การรับฟังและของการเข้าใจความคาดหวังของกลุ่มต่างๆ  เป็นเรื่องสำคัญ แล้วเราจะประมวลเรื่องเหล่านั้นอย่างไร และถ้าคิดว่าเราเห็นไม่ตรงกับที่ฝ่ายการเมืองอาจจะต้องการ ถึงเวลาก็ต้องสื่อสาร ต้องแสดงจุดยืนให้เห็น 
    และถ้าเขาคิดว่าเขามีเหตุผลที่หักล้างได้ เราก็ต้องรับฟัง
    Q: การประนีประนอมสำคัญไหมครับ?
    A: อาจจะไม่เรียกว่าประนีประนอม ประนีประนอมเหมือนว่าคนหนึ่งจะเอา 1 อีกคนจะเอา 5 แล้วมาตกลงเอาตรงกลางหรือเอา 3 ไม่ใช่ครับ หน้าที่ของธนาคารกลาง ถ้าเราคิดว่ามันต้องเป็น 5 เราก็ต้องพยายามอธิบายว่าทำไมต้องเป็น 5 
    ผมว่าทักษะของการรับฟังและการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการทำนโยบายหลายอย่างมีแต่จะยากขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางความคาดหวังของสังคมที่จะหลากหลายมากขึ้น
    หลายเรื่องอย่างเช่นมาตรการที่เราต้องทำในช่วงโควิด เรื่องเสถียรภาพในระบบการเงินเป็นคำใหม่  เมื่อก่อนคนบอกว่าธนาคารมีหน้าที่ดูแลเฉพาะธนาคารพาณิชย์ ไปยุ่งอะไรกับตลาดทุน แต่ระบบการเงินมันเชื่อมโยงกันหมด เราก็ทำงานร่วมกับ ก.ล.ต. ร่วมกับ คปภ. และกระทรวงการคลังอย่างใกล้ชิด  เราต้องสร้างกลไกที่จะดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน ถ้าจำเป็นต้องทำก็ต้องทำ และอธิบายให้คนเข้าใจ
    ก็ต้องยอมรับตั้งแต่ต้นว่าตอนแรกก็มีแต่เสียงวิจารณ์ ต่อว่าว่าไม่ใช่หน้าที่ของธนาคารกลาง แต่พอเราได้อธิบายให้คนเข้าใจว่าดีกว่าที่จะเลือกไม่ทำอะไร 
    เพราะการเลือกไม่ทำอะไรก็จะถูกต่อว่าอยู่ดี เพราะถ้าเกิดวิกฤติขึ้นก็จะบอกว่าทำไมแบงก์ชาตินิ่งดูดาย เห็นปัญหาแล้วไม่ทำ 
    เมื่อเราทำแล้วถูกวิจารณ์ก็ต้องสื่อสารว่าเราต้องรักษาเสถียรภาพของระบบ เพราะนั่นเป็นหัวใจที่สำคัญกว่า
    Q: แล้วจะไปทำอะไรครับ?
    A: ยังไม่มีแผนการใดๆ ครับ ก็คงจะพักสักระยะหนึ่ง เพราะงานเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นเป็นงาน 24 ชั่วโมง เหตุการณ์ที่มากระทบระบบเศรษฐกิจของเราเกิดขึ้นตลอดเวลา และผมก็อยากมีเวลาให้คุณพ่อคุณแม่ให้ครอบครัวเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาเรียกว่าให้เวลาท่านน้อยมาก
    Q: ในฐานะประชาชนก็คงยังติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองต่อไป?
    A: ครับ ฐานะนักเศรษฐศาสตร์.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"