"กรมอุตุฯ" เตือนฝนตกหนัก 16-17 มิ.ย.นี้ ปภ.เผย 6 จังหวัดได้รับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อน “นูรี” โคราชบูรณาการแก้น้ำท่วมซ้ำซาก 5 จุด แม้แต่จวนผู้ว่าฯ ยังท่วมหนัก "ผบ.ตร." สั่งตำรวจทุกพื้นที่เตรียมพร้อมรับมืออุทกภัย
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศเรื่อง "ฝนตกหนักถึงหนักมาก บริเวณประเทศไทย (มีผลกระทบถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2563)" ระบุว่า บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ จะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรง ประกอบกับยังคงมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศลาวและเวียดนามตอนบน ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีฝนตกชุกและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
ขอให้ประชาชนบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัยในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ระวังอันตรายจากฝนที่ตกหนัก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้
จังหวัดที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีดังนี้ ในช่วงวันที่ 16-17 มิถุนายน 2563 จะมีฝนตกหนักบางแห่ง ภาคเหนือ : จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : จังหวัดเลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง : จังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม นครปฐม รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ภาคตะวันออก : จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ : จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากอิทธิพลพายุโซนร้อน “นูรี” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้เคลื่อนขึ้นฝั่งบริเวณเมืองหยางเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนตกหนัก ขณะนี้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 6 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ พะเยา และอุตรดิตถ์, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 3 จังหวัด ได้แก่ เลย อุดรธานี และกาฬสินธุ์, ภาคใต้ 1 จังหวัด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี รวม 11 อำเภอ 20 ตำบล 55 หมู่บ้าน ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต
ที่จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าฯนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในพื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา อาทิ หน้าประตูเข้าค่ายสุรนารี-จวนผู้ว่าฯ, บริเวณหน้าตลาดเซฟวัน-ใต้ทางต่างระดับสามแยกปักธงชัย, บริเวณแยกไอที, ตลาดไนท์บาซาร์ วัดบูรณ์, หน้า ปภ. ถนนสุรนารายณ์-เทคโนวิลล่า, สามแยกหัวทะเล และพื้นที่ตำบลบ้านใหม่ โดยมีการมอบหมายให้เร่งระบายน้ำในจุดน้ำท่วมหนัก พร้อมการแก้ปัญหาการจราจร
นายวิเชียรกล่าวว่า เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้าง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังในหลายจุด โดยเฉพาะในเขต อ.เมืองนครราชสีมา รวม 5 จุด ระดับน้ำสูงเกือบ 1 เมตร ท่วม 2 รอบในช่วงค่ำเวลา 19.00 น. และกลางดึกเวลา 23.00 น. รถเล็กไม่สามารถสัญจรได้ มีเพียงรถสูงที่สามารถฝ่าน้ำท่วมได้ อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมขังใช้เวลาประมาณ 2-3 ชั่วโมงก็เข้าสู่ภาวะปรกติ รวมทั้งบริเวณไนท์บาซาร์วัดบูรณ์ ระดับน้ำ 30-40 ซม.
ปัญหาส่วนหนึ่งคือขยะจำนวนมากไปอุดตันท่อระบายน้ำ จึงให้ประสานในการเก็บกวาดขยะให้บ่อยขึ้น อย่างไรก็ตาม ภาพรวมฝนที่ตกในพื้นที่ จ.นครราชสีมา ถือเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะเกี่ยวกับการเกษตร พืชสวนไร่นา ส่วนการปลูกข้าวขอให้รับฟังการประกาศของจังหวัดก่อน เนื่องจากช่วงปลายเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จะเป็นช่วงที่ฝนทิ้งช่วง หากปลูกข้าวจะได้รับผลกระทบ ฉะนั้นช่วงนี้อยากให้รองน้ำฝนเข้าเก็บกักใส่โอ่ง ตุ่ม ถังน้ำ กะละมัง หรือบ่อ เพื่อจะได้นำมาใช้เมื่อเวลาจำเป็น
วันเดียวกัน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. เปิดเผยว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งการไปยังกองบัญชาการทุกภาคส่วน ให้ประสานการปฏิบัติร่วมกับทหาร ฝ่ายปกครอง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เตรียมพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ดินถล่ม และคลื่นลมแรงที่อาจเกิดขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนประชาชนอย่างรวดเร็วต่อเนื่องทั่วถึงในทุกช่องทาง พร้อมแนะแนวทางปฏิบัติและช่องทางการแจ้งข้อมูลหรือขอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐ
ประกอบกับผลกระทบที่อาจส่งผลต่อการจราจรในหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นจุดที่มีน้ำท่วมขัง จุดเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุ และจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรในทุกพื้นที่ ออกปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด ทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเน้นให้มีการประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ใช้รถใช้ถนนสัญจรไปมา และเร่งระบายรถอย่างเต็มกำลังในชั่วโมงเร่งด่วน
ตลอดจนการจัดชุดเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็ว พร้อมอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย อาทิ ขนย้ายสิ่งของ ลำเลียงผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ และฟื้นฟูเยียวยาพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หากมีบ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ ความเสียหาย ให้ผู้กำกับสถานีตำรวจในพื้นนั้นเปิดโรงพักให้บริการประชาชนเข้าพักอาศัยพร้อมบริการน้ำ อาหาร ยารักษาโรคและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็น พร้อมกำชับการเพิ่มวงรอบในการตรวจตรา เพื่อป้องกันมิจฉาชีพฉวยโอกาสซ้ำเติมประชนที่ได้รับความเดือดร้อน
รองโฆษก ตร.กล่าวอีกว่า ขอประชาสัมพันธ์ประชาชน นักท่องเที่ยว เพิ่มความระวังเป็นพิเศษจากสถานการณ์ภัยทางธรรมชาติ โดยให้ติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ตรวจเช็กสภาพรถ เครื่องยนต์ สภาพอากาศและเส้นทางก่อนออกเดินทาง เติมน้ำมันให้พร้อมเพียงพอต่อการเดินทาง เพื่อความปลอดภัยในการเดินทาง และสามารถสอบถามข้อมูลเส้นทางการจราจร หรือแจ้งอุบัติเหตุ ขอความช่วยเหลือรถเสีย ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ที่สายด่วน บก.จร. 1197 ตลอด 24 ชั่วโมง และสำหรับผู้ที่เดินทาง ในพื้นที่ต่างจังหวัด สามารถติดต่อสายด่วน ตำรวจทางหลวง 1193 ตลอด 24 ชั่วโมง.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |