ตลอดปีนี้โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) กำหนดให้ “TIME FOR NATURE ถึงเวลา…คืนลมหายใจให้ธรรมชาติ" เป็นแนวคิดหลักในการรณรงค์วันสิ่งแวดล้อมโลก กระตุ้นให้ผู้คนปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต ทำลายธรรมชาติให้น้อยลง ซึ่งปัญหาขยะพลาสติกกำลังเป็นวิกฤติสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ
ในแต่ละปีประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 2 ล้านตันต่อปี ขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องไหลลงสู่แม่น้ำลำคลองและออกสู่ทะเล ปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม หลายครั้งทำลายชีวิตของสัตว์ทะเลหายาก ทั้งเต่าทะเล โลมา วาฬ รวมถึงพะยูน สัตว์เหล่านี้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารในธรรมชาติ อย่างกรณีพะยูนน้อยกำพร้าแม่ "มาเรียม” ที่ตาย เพราะขยะพลาสติก ความสูญเสียที่เกิดขึ้นภาครัฐได้เร่งผลักดันการงดบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use Plastic)
แต่ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้วิถีการใช้ชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป จากมาตรการอยู่บ้าน หยุดเชื้อ การใช้พลาสติกแบบครั้งเดียวทิ้งนั้นกลับมาเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุผลจำเป็นด้านสุขอนามัยและข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) หลังจากนี้ เมื่อสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลายเตรียมกลับมารณรงค์ พร้อมเดินหน้าตามโรดแมปการจัดการขยะพลาสติกของประเทศไทย 2561-2573 ต่อ หลังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งห้างใหญ่ ร้านค้าปลีก ร้านสะดวกซื้องดแจกถุงพลาสติกหูหิ้วให้ลูกค้า
วันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย.ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทส. เปิดตัวโครงการ "เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน)" โดยร่วมกับ 20 กระทรวงและภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastic) ขับเคลื่อนแก้ปัญหาขยะพลาสติก โดยเน้นรวบรวมขยะพลาสติกผ่านจุดรับพลาสติก Plastic Drop Point ที่ตั้งในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และกระทรวงต่างๆ กว่า 300 จุด ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ และ จ.นนทบุรี เป้าหมายนำขยะพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น จีวรรีไซเคิลถวายให้ภิกษุสงฆ์ หรือผลิตภัณฑ์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลให้กับศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเล เรียกได้ว่าผู้บริจาคขยะพลาสติก นอกจากช่วยบรรเทาปัญหามลพิษพลาสติกแล้ว ยังได้ทำบุญด้วย
วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทส. กล่าวว่า ช่วงเกิดสถานการณ์โควิด ทุกคนอยู่บ้าน หยุดเชื้อ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยได้หยุดพักและฟื้นตัวกลับมาสวยงาม ขณะเดียวกันประชาชนโดนบังคับให้อยู่บ้าน ใช้บริการอาหารเดลิเวอรีมากขึ้น ส่งผลให้ขยะบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มขึ้น เฉลี่ยร้อยละ 15 จาก ปกติ 5,500 ตัน ต่อวัน เป็น 6,500 ตันในหนึ่งวัน ขยะในช่วงโควิด-19 ไม่มีการคัดแยก ใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิล หากสามารถทำให้พลาสติกสะอาดนำกลับใช้ใหม่ กระทรวงได้จัดทำโครงการ "เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ” (เมื่อคุณหมุนเวียน) เพื่อนำพลาสติกเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการอัพไซเคิล เพื่อใช้ใหม่ เปลี่ยนขยะเป็นจีวรพระ เสื้อผ้า เป็นที่มาเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ
“ ขยะพลาสติกใน กทม. ช่วงโควิด กระจุกตัวอยู่ตามบ้านเรือนในสังคมเมือง เราไม่ได้ยินข่าวสัตว์ทะเลหรือสัตว์บกตายเพราะกินพลาสติก เรามาช่วยกัน Reuse Reduce Recycle และขยับสู่ Upcycle โครงการนี้เราประสานงานและได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนมีจุดทิ้งครอบคลุม จากนี้จะกระตุ้นความรู้สึกกันใหม่ สร้างจิตสำนึก ขยะต้องนำมาใช้ได้ 100% ตามโรดแมปการลดขยะพลาสติกประเทศไทย ภายในปี 2565 จะออกกฎหมายยกเลิกใช้กล่องโฟมบรรจุอาหาร, แก้วพลาสติกใช้แล้วทิ้ง, หลอดพลาสติก และถาดโฟม ออกกฎหมายกำหนดมาตรฐานความหนาถุงพลาสติกหูหิ้ว และภายในปี 2573 จะรีไซเคิลพลาสติกให้ได้ 100% ก้าวแรกเลิกใช้ถุงพลาสติก แทนที่ด้วยถุงพลาสติกที่มีความหนามากกว่า 36 ไมครอน เมื่อได้รับแล้ว ประชาชนนำมาใช้ซ้ำ ลดขยะพลาสติก หลังโควิด หวังว่าทุกอย่างจะเป็นนิวนอร์มอล เช่น การใช้ภาชนะส่วนตัว การใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก จะขอร่วมมือจากคนไทย ช่วยคืนความสมดุลให้สิ่งแวดล้อมของประเทศไทยและฝ่าวิกฤติขยะพลาสติก " วราวุธ กล่าว
อีกโครงการหนุนลดขยะพลาสติกที่ดีเดย์ในวันสิ่งแวดล้อมโลกปีนี้ด้วย คือ โครงการมือวิเศษ X วน โดย PPP Plastic มุ่งพัฒนาแนวทางแก้ปัญหาขยะพลาสติกอย่างยั่งยืนด้วยหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy โดยขอความร่วมมือประชาชนนำถุงหูหิ้ว, ถุงช็อปปิ้ง, ฟิล์มหุ้มแพ็กขวดน้ำ หรือหุ้มแพ็ก UHT, ซองไปรษณีย์พลาสติก พลาสติกกันกระแทก, ถุงซิปล็อกซองยา, ถุงผักผลไม้ หรือถุงขนมปัง สะบัดเศษขนมปังออก ถุงน้ำแข็งสะบัดให้แห้ง สะอาด ไปบริจาคที่จุด Drop Point เพราะถุงพลาสติกสะอาด วนใหม่ได้ด้วยมือคนไทยทุกคน
ภราดร จุลชาต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถุงพลาสติกก่อปัญหาขยะพลาสติกในประเทศไทยมากที่สุด หากนำถุงพลาสติกกลับมารีไซเคิลได้ปริมาณมากเท่าไหร่ จะช่วยลดปัญหาพลาสติกในสิ่งแวดล้อม โครงการมือวิเศษ X วน เป็นส่วนหนึ่งสนับสนุนโรดแมปจัดการขยะพลาสติกของภาครัฐ ซึ่งตั้งเป้าว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ต้องนำขยะพลาสติกรีไซเคิลได้ทั้งหมด โดย PPP Plastic ร่วมกับ วน (Won Project) ที่มุ่งนำถุงหูหิ้วไปรีไซเคิล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ใหม่เป็นถุงพลาสติกใหม่ใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตและผลิตภัณฑ์พลาสติกชนิดอื่นๆ
“ หัวใจของโครงการนี้ต้องการให้ผู้บริโภคได้เรียนรู้และมีการคัดแยกขยะ พลาสติกสะอาด หากแยกออกมา สามารถนำกลับสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ ช่วงเริ่มต้นเราได้ตกลงกับผู้ประกอบการรีไซเคิลในโครงการวน ทุกๆ 1 กิโลกรัม ผู้รีไซเคิลจะจ่ายเงินให้ 5 บาท และเงินดังกล่าวจะบริจาคให้กับศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) อนาคตจะขยายผลสร้างมูลค่าให้พลาสติก มีราคาตลาด ถ้าพลาสติกสะอาดขายให้ธุรกิจรีไซเคิลได้ ผลการศึกษาบรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ไม่ว่าจะถุงหูหิ้ว ขวด มีปริมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี เราต้องการจุดประกายและอยากให้คนไทยมีส่วนร่วมคัดแยกพลาสติกสะอาดให้ได้ปริมาณมากที่สุด" ภราดรกล่าว ผู้แทนกลุ่ม PPP Plastic บอกว่า ถุงพลาสติกหลายชนิดสะอาดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นถุงช็อปปิ้ง ถุงขนมปัง ถุงน้ำตาลทราย ผลไม้ ห่อสินค้าทิชชู่ ผ้าอนามัย ผ้าอ้อมเด็ก หรือฟิล์มห่อสินค้าต่างๆ เพียงแต่อย่าทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป แต่หากใครขยันหน่อยล้างให้สะอาดมาทิ้ง ถือเป็นส่วนเพิ่ม แต่ถ้าพลาสติกทิ้งปนขยะเปียก ขยะมูลฝอย จะไปสู่เชื้อเพลิงขยะ (Refuse Derived Fuel: RDF) หมายถึง ขยะที่เผาไหม้ได้ ไว้ผลิตพลังงาน แต่ถ้ารีไซเคิลจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ดีกว่า ลดภาวะโลกร้อนได้มากกว่า วันสิ่งแวดล้อมปีนี้จึงนำโครงการมือวิเศษ และวน มารวมกัน และจะรณรงค์ให้ประชาชนบริจาคถุงพลาสติกมากขึ้น ขั้นต้นจุดตั้งตามห้างเดอะมอลล์ เซ็นทรัล เทสโก โลตัส ปั๊มน้ำมันบางจาก ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และระยอง เฟสต่อไปจะขยายจุดรับเพิ่มเติมไปยังภูมิภาคอื่นๆ เป็น 500 จุด หากการดำเนินการไปด้วยดี เชื่อว่าจะมีองค์กรภาครัฐและเอกชนร่วมมือกับเรามากขึ้น ปริมาณขยะจะถูกคัดแยกด้วยฐานเศรษฐกิจหมุนเวียน เกิดธุรกิจในอนาคต นอกจากนี้ ยังชวน TBCSD ซึ่งทำโครงการส่งพลาสติกกลับบ้านร่วมกับ ทส. ร่วมกันทำงานคัดแยกขยะพลาสติกสะอาดภายใต้โมเดลนี้
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |