ซูเปอร์โพลเผยประชาชนเบื่อนักการเมืองแย่งชามข้าว ยุ "บิ๊กตู่" ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ "ดร.นพดล" เผยจากการประเมินขั้นสุทธิ พบว่าการยุบสภาช่วงนี้จะเหมาะมากต่อจังหวะลงจากหลังเสือ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ออกแถลงการณ์ให้นายกฯ เสียสละด้วยการลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่ได้มีการปฏิรูปการเมืองและสร้างความปรองดองตามที่สัญญาไว้กับประชาชน
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) เสนอผลสำรวจภาคสนามเรื่อง คนดีการเมือง กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินการเก็บข้อมูลแบบผสมผสาน (Mixed Method) ทั้งการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ การลงพื้นที่ และการเก็บข้อมูลในโลกโซเชียล ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,790 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 9–12 มิ.ย. ที่ผ่านมา
เมื่อถามถึงลักษณะคนดีของรัฐมนตรีที่ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีไว้ใกล้ตัว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.5 ระบุซื่อสัตย์ สุจริต ตามศาสตร์พระราชา ไม่ถอนทุนคืน ไม่มีประวัติด่างพร้อย รองลงมาคือ ร้อยละ 10.9 ระบุทำเพื่อประชาชนในเฉพาะฐานเสียงของตนเอง, ร้อยละ 10.4 ระบุเป็นคนเก่ง การศึกษาดี มีผลงานสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ และร้อยละ 3.2 ระบุอื่นๆ เช่น ร่ำรวย มีบารมี เป็นต้น
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงกลุ่มคนที่จะกระโดดหนีห่างจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นกลุ่มแรกถ้าเกิดปัญหาวิกฤติขึ้นในบ้านเมือง พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 61.0 ระบุเป็นกลุ่ม ส.ส.ที่ปากบอกว่ารักบิ๊กตู่ หนุนบิ๊กตู่ ตอนนี้ที่บิ๊กตู่กำลังมีอำนาจ รองลงมาคือร้อยละ 21.6 ระบุเป็นกลุ่ม ส.ส.ที่กำลังแย่งชามข้าว แย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกันตอนนี้ และร้อยละ 17.4 ระบุเป็นกลุ่มข้าราชการและประชาชนทั่วไป
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.7 ระบุการแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว ทำรัฐบาลแตกแยก บ้านเมืองวุ่นวาย บนความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 21.3 ระบุไม่เป็น
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.5 ระบุการยุบสภา คืนอำนาจประชาชน เลือกตั้งใหม่คือคำตอบ ในขณะที่ร้อยละ 17.8 ระบุปรับคณะรัฐมนตรีคือคำตอบ และร้อยละ 11.7 ระบุอื่นๆ เช่น ทำงานต่อไปคือคำตอบ
ผอ.ซูเปอร์โพลกล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ชัดว่าลักษณะคนดีของรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการที่มากที่สุดคือ ซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีประวัติด่างพร้อย แต่ลักษณะของรัฐมนตรีที่ประชาชนต้องการน้อยที่สุดคือรัฐมนตรีที่มีบารมี จึงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าในคณะรัฐมนตรีไม่ควรมีคนมากบารมีมากกว่านายกรัฐมนตรีตามคำโบราณที่ว่า เสือสองตัวอยู่ในถ้ำเดียวกันไม่ได้
“แต่ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ การแย่งตำแหน่งรัฐมนตรีกันของ ส.ส.ในพรรคการเมือง ตอนนี้กำลังกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวที่ทำให้รัฐบาลแกว่งตัวสั่นคลอนบ้านเมืองวุ่นวายบนความทุกข์ยากเดือดร้อนของประชาชน"
ดร.นพดลกล่าวว่า ผลจากการประเมินขั้นสุทธิ (Net Assessment) พบว่าการยุบสภาช่วงนี้จะเหมาะมากต่อจังหวะลงจากหลังเสือ (Exit Strategy) ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และจะช่วยผ่อนหนักเป็นเบา หรืออาจทำให้ปัญหาวุ่นวายในบ้านเมืองช่วงปลายปีนี้ไม่เกิด แต่ถ้าจะยื้อกันต่อไป ก็คอยรอดูกันต่อว่าอะไรจะเกิดขึ้นช่วงปลายปีนี้ โดยรัฐบาลต้องไม่ทำอะไรฝืนกระแสอารมณ์ของสาธารณชนเพิ่มเติมขึ้นมาอีกนับจากเวลานี้เป็นต้นไป รัฐบาลต้องนิ่งๆ ก้มหน้าก้มตาทำงานแก้ปัญหาเดือดร้อนความทุกข์ยากของประชาชนต่อไป ขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในรัฐบาลอย่าเป็นต้นตอของความวุ่นวายเสียเอง
คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ที่มีนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ เป็นประธาน ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เสียสละด้วยการลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่ได้มีการปฏิรูปการเมืองและสร้างความปรองดองตามที่สัญญาไว้กับประชาชน โดยเปิดทางให้รัฐบาลชุดใหม่ที่ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งได้บริหารประเทศ เป็นการล้างกระดานการเมือง ก่อนที่สถานการณ์จะรุมเร้าปั่นป่วนโกลาหลจนยากจะเยียวยา
คณะกรรมการญาติวีรชนระบุเหตุผลว่า ทั้งนี้ เหตุผล 5 ข้อ ประกอบด้วย 1.การแย่งชิงตำแหน่งกันในพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล เพื่อต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีทั้งที่ประชาชนยังเดือดร้อนกับปัญหาโควิด-19 สะท้อนให้เห็นว่านักการเมืองในฝ่ายรัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะแก้ปัญหาของประชาชนอย่างแท้จริง สนใจแต่เพียงผลประโยชน์และพวกพ้องของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ของชาติและประชาชนโดยรวม สุดท้ายการเมืองไทยก็จะวนเวียนอยู่ใน "การเมืองน้ำเน่า" เช่นนี้ ระบบรัฐสภาก็เป็นที่พึ่งพาไม่ได้ และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นระบอบประชาธิปไตยและประเทศชาติกลายเป็นวงจรอุบาทว์อีก พอกันทีกับ "การเมืองน้ำเน่า" ประชาชนอดทนมามากแล้ว
2.พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปฏิรูปประเทศและไม่สร้างความปรองดองสมานฉันท์ หลังยึดอำนาจ 22 พ.ค.2557 มีการตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) แล้วก็ยุบทิ้ง แล้วก็ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และปัจจุบันมีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน รวมทั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งทั้งหมดคือการซื้อเวลาเพื่อสืบทอดอำนาจเท่านั้น 3.ก่อนจะลงจากหลังเสือ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์มีเวลาไม่นาน ต้องรีบเร่งแก้ปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาทุนผูกขาดประเทศ ปัญหากับดักรัฐธรรมนูญสืบทอดอำนาจ กระบวนการยุติธรรมสองมาตรฐานไร้ความน่าเชื่อถือ เร่งปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจและสังคมโดยเร่งด่วน ก่อนประเทศไทยจะเผชิญสถานการณ์วิกฤติเหมือนสหรัฐอเมริกา ปัญหาใหญ่จากความขัดแย้งกำลังจะปะทุขึ้นมาในไม่ช้า โดยเฉพาะปัญหาการเลือกปฏิบัติ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงทางเศรษฐกิจในสังคม คนรวยล้นฟ้า 1% กลับครอบครองโภคทรัพย์ในแผ่นดินมากมาย แต่ประชาชนกำลังเป็นทุกข์ยากจากภาวะตกงาน และกำลังจะอดตายเพราะนโยบายรัฐบาลและโครงสร้างประเทศที่ล้าหลัง
แถลงการณ์ระบุว่า 4.ถ้าจะมีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ขอให้คัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารประเทศ ไม่ใช่แต่งตั้งเพราะมีการต่อรองกัน ใครมีมือมากกว่าก็ได้กระทรวงที่มีผลประโยชน์ไปดูแล และที่สำคัญต้องโละระบบโควตา เพราะถ้ายังมีระบบนี้จะยิ่งทำให้ประเทศประสบวิกฤติหนักเข้าไปอีก และการปรับ ครม.ควรจะเป็นเพียงชั่วคราวเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และทำภารกิจพิเศษ อาทิ การแก้ไขให้มีการลดค่าใช้ไฟฟ้า ประปา ราคาพลังงานและระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้ถูกลงกว่าเดิม เพื่อบรรเทาภาระของประชาชน ด้วยการยกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่ทำไว้กับเอกชนเพื่อรักษาผลประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง
5.รัฐบาลต้องรีบแก้ไขปัญหารัฐธรรมนูญ เนื่องจากการทำหน้าที่ของวุฒิสภามาถึงทางตันแล้ว จากการใช้อำนาจมิชอบลงมติเห็นชอบให้นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข เป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทั้งที่ขาดคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญ 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เนื่องจากทำหน้าที่รัฐสภามาก่อน เป็นเรื่องผลประโยชน์ขัดกันชัดเจน และอย่านำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท รัฐบาลต้องเร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับผู้แทนปวงชนจากทุกพรรคการเมืองเพื่อเดินหน้าบ้านเมืองสู่การปรองดองสมานฉันท์โดยเร็ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |