เรื่องเล่าคราวลากเรือหลวง (จบ)


เพิ่มเพื่อน    

(เรือหลวงอุดมเดชในจุดจอดชั่วคราวของเจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่ที่กำลังมีการก่อสร้าง)

    “สมุดคำสั่งกลางคืน วันที่ ๔ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๕๖ เวลาที่เขียนคำสั่ง ๑๗๓๐
    ๑. เส้นทางเดินเรือจาก ฐท.สส. – สิงคโปร์ ระยะทางประมาณ ๗๗๘.๘๗ ไมล์ ในการสับเปลี่ยนเรือปฏิบัติราชการ ทรภ.๓
    ๒. รูปกระบวนเดินทาง Sector Screen เรืออยู่ในแนวแบริ่ง ๓๒๐ – ๐๐๐ ระยะ ๒,๐๐๐ หลา – ๔,๐๐๐ หลา เข็ม ๑๘๐ ความเร็ว ๑๕ นอต
    ๓. เส้นทางเดินเรือจากจุด A1 มาจุด A2 เข็ม ๑๘๐ ระยะ ๒๓๘ ไมล์ ผ่านแท่นขุดเจาะธรรมชาติปลาทองทางกราบซ้ายระยะ ๒๖ ไมล์ เวลาประมาณ ๑๙๔๐ ผ่านเกาะพะงันทางกราบขวาระยะ ๔๒ ไมล์ที่เวลา ๑๙๔๕ ผ่านเกาะสมุยทางกราบขวาระยะ ๔๒ ไมล์ที่เวลา ๒๐๓๐ เวลาประมาณ ๒๓๕๐ ถึงจุดเปลี่ยนเข็ม A2 ไปถือเข็ม ๑๓๕ ผ่านเกาะกระทางกราบขวาระยะ ๑๔ ไมล์ที่เวลาประมาณ ๐๒๐๐
    ๔. นำเรือให้ห่างเรือสินค้าและเรืออื่นไม่ต่ำกว่า ๑ ไมล์ และนำเรือให้ห่างจากที่หมายอันตรายไม่ต่ำกว่า ๓ ไมล์ ห้ามนำเรือตัดหน้าเรืออื่นที่เป็นฝ่ายถูกทางเป็นอันขาด ให้ตัดท้ายเรือเท่านั้น...”

(เรือลาก เรือหลวง และเรือคัดท้าย ในแม่น้ำท่าจีน)

    บันทึกนี้ผมเจออยู่บนดาดฟ้าเรือเมื่อตอนกลางวัน นำมาเปิดอ่านระหว่างนั่งจิบซิงเกิลมอลต์ช่วงหัวค่ำ พี่โมทย์ผู้เป็นหัวหน้าทีมและลูกเรืออีก 6 คนของแกยังคงมีงานทำอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อก่อนจะลอดแต่ละสะพานจนกระทั่งลอดผ่านไปได้ ผมจึงฆ่าเวลาด้วยการอ่านสมุดคำสั่งกลางคืนของเรือหลวงอุดมเดช ลงชื่อโดยผู้บังคับการเรือไปพลางๆ สลับกับการชมแสงไฟตามบ้านเรือนและร้านอาหารสองฝั่งแม่น้ำท่าจีนที่ค่อยๆ เบาบางลงเมื่อเรือแล่นไกลเข้ามา
    ขออนุญาตเท้าความจากตอนที่แล้วสักหน่อยนะครับ เรือหลวงอุดมเดช 323 ปลดประจำการลงแล้วเจษฎาเทคนิคมิวเซียมก็ได้ขอรับการสนับสนุนจากกองทัพเรือเพื่อนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ที่กำลังมีการก่อสร้างริมแม่น้ำท่าจีน บริเวณโค้งน้ำวัดกกตาล ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี ซึ่งแม่น้ำท่าจีนช่วงที่ไหลผ่านเขตจังหวัดนครปฐมเรียกว่าแม่น้ำนครชัยศรี

(เรือลากนำเรือหลวงอุดมเดชแล่นขึ้นไปตามแม่น้ำท่าจีนมีจุดหมายที่ตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี)

    ทีมลากได้ถอดช่วงบนของห้องบังคับการเรือ หรือ Bridge และเสาเรดาร์ออก กลายเป็นดาดฟ้าลักษณะแบนราบ ความสูงของเรือจึงลดลง ส่วนที่ถอดออกนำลงไปวางด้านหน้าเรือและหลังเรือรัดเชือกไว้อย่างดี ช่วยถ่วงน้ำหนักให้เรือลอดสะพานในแม่น้ำท่าจีนได้ง่ายขึ้น ปฏิบัติการลากจูงเริ่มขึ้นในเช้าวันที่ 19 เมษายน 2562 เรือลากหรือเรือโยงนำพาเรือหลวงออกจากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ สู่ปากน้ำเจ้าพระยาก่อนออกสู่อ่าวไทย เลี้ยวขวาวิ่งขนานชายฝั่งไปยังปากน้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เรือลากในแม่น้ำมารับไม้ต่อจากเรือลากในทะเล มีเรือประคองท้ายเรือหลวงเข้ามาด้วย 1 ลำ ทำหน้าที่คัดท้ายไม่ให้เรือหลวงชนตอม่อสะพาน
    ทีมเรือลากนับสะพานข้ามแม่น้ำท่าจีนไว้ก่อนหน้านี้ได้ 17 สะพานก่อนถึงเจษฎาเทคนิคมิวเซียม ผมได้รับข้อมูลว่าการลอดแต่ละสะพานนั้นเป็นงานไม่ง่าย ต้องใช้ความชำนาญและธรรมชาติเป็นใจ รอจังหวะน้ำลดสูงสุดของแต่ละวัน ซึ่งจะทำให้ลอดไปได้แค่วันละประมาณ 2-3 สะพาน อาจต้องอยู่ในเรือเป็นสัปดาห์จึงเก็บเสื้อผ้าใส่เป้มา 1 ใบใหญ่ ทว่าก่อนฟ้ามืดลงก็พอคาดเดาได้ว่าไม่น่าจะนานขนาดนั้น อย่างมากคงแค่ 3 หรือ 4 วัน เวลากลางคืนเรือก็ยังแล่นไปเรื่อยๆ  
    อาหารค่ำทยอยมาวางบนโต๊ะท้ายเรือหลวง ผมตักมากินแค่นิดหน่อยเท่านั้นเพราะกังวลเรื่องห้องน้ำ หากปวดหนักไม่รู้จะทำอย่างไร เรือหลวงปลดประจำการไปแล้วเช่นเดียวกับห้องน้ำบนเรือ ส่วนเรื่องปวดเบานั้นพอแก้ปัญหาได้ตามคำแนะนำของคนเรือ
    พี่โมทย์และป๋ายาวเข้ามานั่ง พี่โมทย์ชี้ให้ผมดูบนฝั่ง บอกว่าเรือกำลังผ่านบ้านป๋ายาว ถูกหลวงเวนคืนที่ดิน ทางรัฐบอกจะชดเชยให้ 18 ล้าน มีเพื่อนเป็นตำรวจชื่อ “เบี้ยว” หอบเงินมาให้ 3 ล้าน บอกว่าเดี๋ยวจะเอามาให้อีกจนครบ แต่ตอนนี้เซ็นชื่อเสียก่อน ปรากฏว่าหลังจากเซ็นชื่อแล้วเพื่อนเบี้ยวก็เบี้ยวสมชื่อ ไม่เคยโผล่มาอีกเลย ป๋ายาวต้องไปปักหลักที่เกาะสีชัง แกถามว่าควรทำอย่างไร ผมบอกว่าถ้าเซ็นชื่อไปแล้วคงลำบาก แต่ก็น่าจะมีช่องทางร้องเรียนขอความเป็นธรรม
    ตอนดึกป๋ายาวมาคุยกับผมอีกรอบ ให้ดูรูปเกาะสีชังเต็มไปด้วยขยะ แกว่ามีเรือเล็กไปรับขยะจากเรือใหญ่เพื่อนำไปทิ้งบนฝั่งแผ่นดิน แต่เรือเล็กกลับนำมาทิ้งบนเกาะ หรืออาจจะทิ้งในทะเลแล้วคลื่นก็ซัดมากองกันอยู่ตรงชายหาดเกาะสีชัง แกปรึกษาว่าควรทำอย่างไรดี ผมแนะว่าร้องเรียนสื่อ หรือ คสช. (ในเวลานั้น) พรุ่งนี้ผมจะอธิบายให้ฟัง
    อากาศยังร้อนแม้จะดึกแล้ว คงเพราะเรือเหล็กเก็บความร้อนไว้มาก จากที่ข่มขวัญคนเรือด้วยการดื่มเพียวมาตลอด สุดท้ายผมก็ต้องใส่น้ำแข็งลงไปในแก้ว 2 ก้อน ก่อนรินซิงเกิลมอลต์ตาม และเมื่อหมดแก้วทีหนึ่งก็รินน้ำใส่แก้วแล้วดื่มตามจนเกลี้ยง บนโลกนี้นอกจากริมหน้าผาแล้วก็คงเป็นในเรือที่เราไม่ควรดื่มจนเมามาย
    ใกล้เวลาเลิกราวงคุย ตั้มทำข้าวต้มโดยการนำของเหลือบนโต๊ะส่วนใหญ่เทลงไปในหม้อ กินกันเกือบทุกคน ผมก็กินด้วยเพราะหิวจัด แต่ไม่กล้ากินมากเพราะยังกลัวเรื่องห้องน้ำ ระหว่างนี้มีคนทยอยอาบน้ำจากถังน้ำมันเก่าที่ตั้งเรียงกันอยู่ห้าหกถัง แล้วค่อยๆ นอนทีละคน ล้วนกระจัดกระจายอยู่บริเวณหลังเรือ ทุกห้องภายในตัวเรืออากาศยังร้อนไม่มีใครสามารถนอนได้ อ้วนแบกที่นอนมาให้ผม เป็นฟูกฟองน้ำขนาดกว้างประมาณ 2 ฟุตครึ่ง วางลงบนหัวเห็ด 2 หัวของท่อระบายอากาศ (โบลต์รูปดอกเห็ด) ทางด้านขวาหลังเรือ ตั้งได้พอดีเป๊ะ ผมมองดู ถ้าขึ้นไปนอนเผลอพลิกขวาก็ตกน้ำ พลิกซ้ายตกลงสู่ชิ้นส่วนเหล็กกองย่อมๆ วางเสร็จอ้วนถามผมว่านอนดิ้นไหม ผมตอบว่าถ้าพรุ่งนี้เช้ายังเจอกันก็แสดงว่าไม่ดิ้น
    ผมอาบน้ำเป็นคนสุดท้าย เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วจิบอีกแก้ว สำรวจที่นอนอีกครั้ง ฟูกชื้นจนเกือบเปียก จะนอนโดยใส่ถุงนอนที่เตรียมมาก็กลัวถุงนอนทำให้ลื่นไถลตกแม่น้ำ จึงขึ้นไปนอนทั้งอย่างนั้นตอนตี 2 กว่าๆ หันหัวไปทางท้ายเรือ วางถุงนอนไว้ด้านบนกองเหล็กด้านล่าง เสียงดังครืดคราดของเชือกท้ายเรือที่ผูกกับเรือคัดท้ายดังอยู่ต่อเนื่องทำให้กว่าจะหลับลงไปได้คงประมาณตี 4 ระหว่างนี้ได้ยินเสียงพี่โมทย์พูดสั่งการเรือลากและเรือคัดท้ายทางวิทยุอยู่ข้างๆ ไม่รู้ว่าทั้งคืนแกได้นอนหลับบ้างไหม 
    เวลาใกล้สว่างอากาศเย็นลง ผมเอื้อมมือไปหยิบถุงนอนขึ้นมาห่ม ได้ยินพี่โมทย์พูดเจรจากับคนบนฝั่งทางขวามือเพื่อขอจอดเรือที่ท่าน้ำ แกแนะนำตัวอย่างสุภาพว่าชื่ออะไร เคยทำงานอยู่แถวนี้กับใคร ซึ่งคงเป็นผู้กว้างขวางในถิ่นนี้ พี่โมทย์ขอจอด 1 ชั่วโมง คนบนฝั่งอนุญาต ผมลืมตามาดู แกโยนบ่วงเชือกลงไปยังพื้นซีเมนต์บนฝั่งเพื่อไม่ให้โดนชายข้างล่าง ตอนแรกชายข้างล่างจะรับซึ่งถ้ารับพลาดขึ้นมาก็คงเจ็บตัวเพราะเชือกมีขนาดใหญ่ ชายข้างล่างหยิบเชือกขึ้นมาคล้องกับเสาตอไม้ต้นหนึ่งของท่าเรือ ด้านหลังท่าเรือมีโกดังขนาดใหญ่มากกว่า 2 หลัง อาจเป็นโกดังมันสำปะหลังหรือข้าวเปลือก
    พี่โมทย์ไต่ลงจากเรือ เหยียบลงบนเสาตอไม้ต้นสูง ลงไปต้นต่ำ แล้วย่างลงบนพื้นซีเมนต์ท่าเรือ ระดับความสูงของเรือหลวงสูงกว่าตลิ่งพอสมควร แกว่าจะไปซื้ออาหารเช้า ผมมองจากเรือไม่เห็นความเป็นไปได้ว่าจะมีตลาดหรือร้านค้า แต่พี่โมทย์พูดก่อนหน้านี้ว่าเคยอยู่แถวนี้ แกคงทราบดี
    สักพักต่อมาผมลงจากเรือเดินหาห้องน้ำ อ้วนลงมาด้วย เจอแต่ห้องน้ำเก่าใช้การไม่ได้ ผมก็กลับขึ้นเรือ เพราะนึกขึ้นได้ว่าตอนนี้ห้องพักผู้บังคับการเรือน่าจะเย็นพอที่จะใช้นอนได้แล้ว เข้าไปถึงก็ล้มตัวลงนอนบนโซฟา แล้วหลับอย่างง่ายดาย ตื่นตอน 8 โมงนิดๆ เรือนิ่งมากเหมือนยังไม่ออกเดินทาง แต่พอมองออกไปจากช่องหน้าต่างกลมๆ เห็นฝั่งน้ำเคลื่อนที่ไปข้างหลัง แสดงว่าเรือออกแล้ว
    อ้วนเดินมาบอกว่าตอนเรือจอดพวกเขาหาห้องน้ำจนเจอ ทุกคนได้ทำธุระกันหมด เขาตามหาผมอยู่นานแต่หาไม่เจอ ผมได้แต่เสียดาย แล้วเดินไปหลังเรือ พี่โมทย์ชวนให้กินข้าวเช้า มีไก่ทอดและต้มจับฉ่าย ผมขอบคุณแล้วบอกว่าไม่หิว ความจริงหิวมากแต่กลัวว่ากินแล้วจะต้องถ่ายทุกข์ซึ่งไม่รู้จะถ่ายยังไง เมื่อวานมีคนแนะนำเรื่องการปลดทุกข์ใส่ถุงโยนทิ้งน้ำ ผมได้แต่หวังว่าจะไม่ต้องใช้วิธีนี้ จึงนำอาหารและน้ำใส่ท้องให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้มาตั้งแต่ตอนเช้าของเมื่อวาน

(เรือหลวงอุดมเดชกำลังจะลอดสะพานรวมเมฆที่ถือว่าเป็นงานหินที่สุดในการลากจูงครั้งนี้)

    ตอนสายๆ เรือโยงพาเรือหลวงผ่านวัดไร่ขิงทางด้านขวามือ ลอดสะพานวัดไร่ขิง จากนั้นผ่านตลาดน้ำดอนหวายทางฝั่งเดียวกัน ขณะนั่งเขียนคอลัมน์อยู่นี้ผมได้สำรวจแผนที่กูเกิลใหม่ซ้ำๆ หลายครั้ง นับสะพานได้ 16 สะพานเท่านั้น ไม่รู้หายไปไหน 1 สะพาน โดยสะพานวัดไร่ขิงเป็นสะพานลำดับที่ 10 เท่ากับเหลือสะพานต้องฝ่าไปอีก 6 สะพาน พี่โมทย์บอกว่าถ้าไปได้เรื่อยๆ อย่างนี้ ตอนเย็นถึงที่หมายแน่นอน ผมถามย้ำว่าจริงหรือ? นึกว่าจะหลายวัน? แกตอบว่า ถ้าลอดสะพานรวมเมฆไม่ได้ก่อน 4 โมงเย็น ก็จะลอดได้ตอน 4 ทุ่ม ร้อยเปอร์เซ็นต์ แกท้า “เชื่อพี่หรือเปล่า” ผมจึงต้องโทรศัพท์แจ้งคนที่พิพิธภัณฑ์ให้รอรับและถ่ายภาพ เพราะใครๆ ก็คิดว่าการลากจูงต้องใช้เวลามากกว่า 2 วัน
    ผมหิวมากขึ้นเรื่อยๆ จนทนไม่ไหว หยิบขนมบราวนี่ที่เลขาฯ คุณเจษฎาให้มาเป็นเสบียงออกจากเป้ กินไป 1 ชิ้น ดื่มน้ำตามนิดหน่อย อยากกินกาแฟแต่ไม่กล้า เพราะข้าศึกมาแน่นอน ตอนนี้ก็มีอาการนิดๆ ได้แต่ใช้การทำสมาธิขั้นสูงข่มมันไว้

(เรือหลวงอุดมเดชกำลังจะผ่านสะพานนครชัยศรี)

    เรือลอดผ่านสะพานทรงคนองรัฐประชาสามัคคี สะพานข้ามแม่น้ำท่าจีน (ถนนบรมราชชนนี) ช่วงที่ผ่านสะพานไทยาวาสนั้นไม่ต้องลอดเพราะสะพานยังสร้างใหม่ไม่เสร็จหลังจากถูกเรือโป๊ะบรรทุกถั่วเหลืองชนตอม่อจนสะพานหักพังลงเมื่อปลายปี 2560 ด้วยสาเหตุที่เครื่องยนต์เรือคัดท้ายพัง ทำให้บังคับทิศทางเรือโป๊ะไม่ได้ จากนั้นลอดผ่านสะพานนครชัยศรี แล้วก็มาถึงสะพานรวมเมฆ บริเวณตลาดท่านา เวลาบ่าย 2 โมง ผมขึ้นไปบนดาดฟ้าเรือหลวง อ้วนเห็นก็บอกให้รีบลงเพราะอันตราย และเมื่อคำนวณระยะแล้วไม่สามารถลอดผ่านไปได้ เรือหลวงสูงกว่าสะพานประมาณ 1 ศอก
    ขณะนี้ยังเป็นเวลาน้ำลง พี่โมทย์สั่งให้ลูกน้องเร่งสูบน้ำจากแม่น้ำเข้าสู่ท้องเรือหลวงเพื่อถ่วงน้ำหนักให้เรือลดความสูงลงไป มีกองเชียร์ทั้งจากเจษฎาเทคนิคมิวเซียมและชาวบ้านส่งเสียงให้กำลังอยู่ริมตลิ่งหลายสิบคน ขณะที่การสูบน้ำผ่านไปประมาณ 40 นาที พี่โมทย์ก็ออกคำสั่งให้เรือลากกระตุกเชือกเบาๆ เรือหลวงค่อยๆ เคลื่อนที่ไปข้างหน้า แล้วก็เกิดเสียงดังโครม ระดับของดาดฟ้าเรือหลวงยังสูงกว่าสะพาน ขาดอยู่ไม่กี่เซนติเมตร ยังดีที่สะพานไม่เป็นอะไร เพราะแรงชนไม่มาก

(ผ่านสะพานเสาวภา (ทางรถไฟสายใต้) มาได้อย่างฉิวเฉียด)

    การสูบน้ำเข้าเรือดำเนินไปเรื่อยๆ จนถึงบ่าย 3 โมง เป็นช่วงที่เรือหลวงรับน้ำหนักแทบไม่ไหวแล้ว พี่โมทย์ออกคำสั่งให้เรือลากกระตุกเชือกเบาๆ อีกที เรือหลวงค่อยๆ ลอดเบียดกับใต้สะพาน มีเสียงเสียดสีนิดหน่อย คงเป็นข้อต่อเหล็กที่ยื่นไปจากดาดฟ้าเรือ ลอดผ่านไปได้ประมาณ 1-2 เซนติเมตรเท่านั้น กองเชียร์ริมตลิ่งร้องกรี๊ดด้วยความดีใจ ด้านพี่โมทย์ออกคำสั่งให้หยุดสูบน้ำเข้า เปลี่ยนเป็นสูบน้ำออกทันที
    สองสามร้อยเมตรต่อมา คือสะพานเสาวภาซึ่งเป็นทางรถไฟสายใต้ (และสายตะวันตก) สามารถลอดผ่านไปได้ชนิดเฉียดฉิวยิ่งกว่า ได้ยินเสียงครูดเบาๆ แต่ไม่มีอะไรเสียหาย เรือแล่นโค้งขวาเล็กน้อยไปตามลำน้ำอีกประมาณ 1.5 กิโลเมตร ผ่านวัดสัมปทวน วัดสัมปตาก ทางด้านซ้ายมือ จนถึงวัดกกตาล ก่อนจะโค้งขวาเป็นรูปโดนัท ริมฝั่งทางด้านขวามือก็คือพื้นที่ของเจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่ที่กำลังมีการก่อสร้างบนเนื้อที่ 30 ไร่

(เรือหลวงอุดมเดชขณะแวะจอดที่ท่าน้ำแห่งหนึ่งในเวลาเช้า บริเวณหลังเรือที่ฟูกฟองน้ำวางพาดอยู่คือที่นอนของผู้เขียน)

    รถแบ็กโฮขุดร่องเข้าไปจากแม่น้ำเป็นจุดจอดชั่วคราวของเรือหลวงอุดมเดช มีเรือเข้ามาประคองทางด้านซ้ายอีกลำเพื่อทำหน้าที่เบียดผลักให้เรือหลวงเลี้ยวขวาเข้าจุดจอด เรือลากผละออกไป เมื่อเรือหลวงเข้าสู่ปากหลุมจอดพี่โมทย์สั่งให้ผูกเชือกหัวเรือหลวงเข้ากับบุ้งกี๋แบ็กโฮ จากนั้นแบ็กโฮดึงเรือหลวงเข้าไปทีละนิดจนจอดพอดีตอนเวลาประมาณ 4 โมงเย็น กองเชียร์เจษฎาเทคนิคมิวเซียมจากสะพานรวมเมฆตามมารอรับที่ปลายทางทันเวลา ปรบมือโห่ร้องเกรียวกราว 
    เป็นอันว่าเรียบร้อยไปขั้นตอนหนึ่ง จากนี้ไปทีมของพี่โมทย์จะประกอบเรือหลวงให้กลับมามีรูปร่างสง่างามดังเดิม โดยจะใช้เวลาอีกหลายวัน เมื่อเจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่สร้างเสร็จเรือหลวงอุดมเดชก็จะถูกขยับไปร่วมแสดงอยู่ด้านนอกอาคารพิพิธภัณฑ์ภายในสระที่จะขุดขึ้นโดยที่ตัวเรือไม่สัมผัสกับน้ำแต่มองจากด้านนอกเหมือนอยู่ในน้ำ เช่นเดียวกับเรือตรวจการณ์อีกลำที่จะมาสมทบหลังจากนี้
    พี่โมทย์ชวนให้อยู่ต่ออีกคืน ผมขอปฏิเสธโดยไม่ได้บอกเหตุผล กลับเข้าเรือไปเก็บกระเป๋าในห้องพักผู้บังคับการ ใช้เวลาไม่กี่นาทีแต่เหงื่อแตกพลั่กด้วยอากาศร้อนอบอ้าว ก่อนหน้านี้ผมวางขวดน้ำเปล่าที่ดื่มค้างไว้บนโต๊ะในห้อง เก็บกระเป๋าเสร็จเผลอหยิบมาดื่มก็ต้องเผลอบ้วนทิ้งแบบอัตโนมัติอย่างกับดื่มน้ำร้อน
    บนพื้นดินข้างหลุมจอดด้านซ้ายมือมีคนนำนั่งร้านมาตั้ง พาดบันไดไม้ไผ่มายังหัวเรือหลวง ผมปีนลงไป อ้วนส่งกระเป๋าตามลงมา ผมกล่าวลาทุกคน โดยลืมเรื่องปัญหาขยะบนเกาะสีชังของป๋ายาวเสียสนิท
    จากนั้นคงไม่ต้องบอกว่าผมต้องการสิ่งใดมากที่สุด
    ใครก็ได้ช่วยที สุขาอยู่หนใด.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"