'ปู'ยื่นขอลี้ภัยแล้ว ยกคำพิพากษาศาลไม่เป็นธรรม/ยะใสแนะจับตาคสช.


เพิ่มเพื่อน    

รองหัวหน้า ปชป.ชำแหละแผนการสืบทอดอำนาจของ "บิ๊กตู่" ตั้งแต่หลังการยึดอำนาจผ่านแม่น้ำ 5 สาย เตือนถ้าทำเพื่อตัวเองและพวกพ้องหนทางอาจไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป อดีต ส.ส.พท.ชวนทุกพรรคจับมือไม่เอานายกฯ คนนอก ไม่เชื่อจะป้องกันปฏิวัติได้ หวั่นเกิดความขัดแย้งอีก กห.ยกปรากฏการณ์ "พี่ตูน" เป็นโมเดลสร้างปรองดอง สวนดุสิตโพลเผยปี 61 การเมืองไทยน่าจะเหมือนเดิม "ยิ่งลักษณ์" ยื่นลี้ภัยแล้ว ลุ้นเมืองผู้ดีให้สถานะ   
          เมื่อวันอาทิตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงการประกาศตัวเป็นนักการเมืองที่มาจากทหาร และไม่ปิดทางตัวเองในการเป็นนายกรัฐมนตรีคนนอก ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะการประกาศแนวทางการเมืองของนายกฯ ครั้งนี้ น่าจะผ่านการกลั่นกรองเตรียมการมาแล้วเป็นอย่างดี ที่จะดำเนินการทางยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวทางการเมืองตามยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจ ที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่หลังการปฏิวัติรัฐประหาร จนกระทั่งถึงปัจจุบันได้ดำเนินการตามแผนการหลักๆ ผ่านแม่น้ำ 5 สาย ที่แต่งตั้งหัวหน้า คสช. และมีการดำเนินการเคลื่อนไหวหลากหลายรูปแบบมาตามลำดับ ดังนี้
    นายองอาจกล่าวต่อว่า 1.คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำรัฐธรรมนูญที่เอื้ออำนวยต่อการสืบทอดอำนาจด้วยการให้มี ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คน สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ และให้ที่ประชุมรัฐสภาสามารถเลือกนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชนได้ นอกจากนั้นยังมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตราที่สนับสนุนการทำงานหลังจากสืบทอดอำนาจ 2.มีการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) อีก 10 ฉบับ  โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอิสระ และการเลือกตั้งที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจ และใช้อำนาจต่อไปในอนาคต 3.ถึงแม้ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศใช้แล้วก็ไม่ยกเลิกคำสั่ง คสช. ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ จากนั้นก็ใช้ ม.44 ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเนื้อหาสาระของกฎหมายพรรคการเมือง โดยเฉพาะการรีเซตสมาชิกพรรค ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นกระบวนการของการนำไปสู่การสืบทอดอำนาจ 
    รองหัวหน้าพรรค ปชป.กล่าวอีกว่า 4.การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่สอดรับการสืบทอดอำนาจหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การตั้งคำถามประเด็นการเมือง ให้ประชาชนตอบทั้ง 4 ข้อ และคำถาม 6 ข้อ รวมถึงการลงพื้นที่ที่มีความถี่สูง มีการอัดฉีดเม็ดเงินในการผลักดันโครงการต่างๆ จำนวนมาก 5.เครือข่ายของผู้มีอำนาจหลากหลายฝ่ายได้เดินสาย ขยายฐานรวบรวม นักการเมือง พรรคการเมือง รวมถึงการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพื่อเป็นฐานรองรับการเข้าสู่อำนาจตามยุทธศาสตร์สืบทอดอำนาจ
    "การประกาศตัวเป็นนักการเมืองที่มาจากทหาร และไม่ปิดทางตนเองในการเป็นนายกฯ คนนอก จึงเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการในการเดินไปสู่เป้าหมายในการสืบทอดอำนาจ และเชื่อว่านับจากนี้เป็นต้นไป อาจมีการใช้ ม.44 และใช้อำนาจต่างๆ เพื่อขจัดปัญหาอุปสรรค พร้อมทั้งดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อบรรลุเป้าหมาย แต่จะดำเนินการไปสู่เป้าหมายได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขปัจจัยหลายประการ ที่สำคัญที่สุดก็คือการใช้อำนาจในช่วงหนึ่งปีกว่าๆ หลังจากนี้ไป จะต้องพิสูจน์ให้สังคมเห็นว่าท่านนายกฯ และรัฐบาล รวมทั้งบริวารแวดล้อมของท่านตั้งใจทำงาน ใช้อำนาจเพื่อส่วนรวม แต่ถ้าใช้อำนาจเพื่อตนเองและพวกพ้องปล่อยให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบ หนทางแห่งการสืบทอดอำนาจก็อาจจะไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป" นายองอาจกล่าว
         นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ระบุนายกฯ คนนอกที่เลือกตามระบบรัฐสภาจะป้องกันการปฏิวัติได้ว่า  ตามระบบประชาธิปไตย ผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯบริหารประเทศต้องมาจากประชาชน ดังนั้นผู้แทนราษฎรที่ผ่านการเลือกตั้งของประชาชนต้องคัดสรรบุคคลตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอให้เป็นนายกฯให้ได้ และโดยมารยาทแล้ว ก็ต้องให้พรรคการเมืองที่ได้เสียง ส.ส.มากที่สุดเป็นคนจัดตั้งรัฐบาลก่อน แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็ต้องเลือกคนในรายชื่อที่ทุกฝ่ายยอมรับหากไม่เป็นเช่นนั้น จะพูดไม่ได้เลยว่านายกฯ มาจากประชาชน 
จับมือต้านนายกฯ คนนอก
    "แต่เมื่อกติกาเขียนเปิดช่องให้สมาชิกรัฐสภาสองในสามเข้าชื่อยกเว้นรัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อคัดเลือกคนนอกบัญชีเป็นนายกฯ ได้ อาจเป็นทางออกหนึ่ง แต่ผมคิดว่าคนที่มาจากการเลือกตั้งต้องเลือกคนที่มาจากประชาชนเป็นนายกฯ และมองว่าแม้นายกฯคนนอกจะเป็นการคลี่คลายสถานการณ์ได้ระดับหนึ่งแต่ไม่อาจป้องกันการปฏิวัติได้ เพราะมันจะนำความขัดแย้งตามมา สุดท้ายก็เจอทางตันอีก แล้วเราก็จะหนีปัญหาเดิมๆ ไม่พ้น ทางที่ดีทุกพรรคควรจับมือกันไม่เอานายกฯ คนนอก แล้วเดินตามระบบประชาธิปไตยขับเคลื่อนประเทศ" นายอำนวยกล่าว
       นายชวลิต วิชยสุทธิ์ อดีตรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ไม่ปิดทางการเป็นนายกฯ จากคนนอก เพราะอยู่ในรัฐธรรมนูญว่า ปัจจุบันนี้รัฐบาลนี้ก็ยังได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลทหาร เพราะได้อำนาจมาจากการรัฐประหารโดยกำลังทหาร และยังควบคุมประเทศอยู่โดย คสช. ที่สำคัญไม่มีนักการเมืองประเทศไหนมี ม.44 อยู่ในมือ ทั้งในการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญจะเป็นการเลือกตั้งที่แปลกที่สุดในโลก คือมี ม.44 กำกับอยู่ ทั้งก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้งจนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลจะแล้วเสร็จ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าจะกระทบความเชื่อมั่นประเทศอย่างยิ่ง  กล่าวโดยสรุป คนที่จะมีโอกาสเป็นนายกฯ คนนอก ซึ่งท่านไม่ปฏิเสธปิดทาง กำลังอยู่ในฝ่ายบริหารของรัฐบาลชุดนี้ มีอำนาจบริหารประเทศและจัดการเลือกตั้งร่วมกับ กกต. โดยมี ม.44 เป็นอำนาจพิเศษกำกับอยู่    
    "เชื่อว่าประชาชนคงมีข้อพิสูจน์ระดับหนึ่ง ว่าในช่วงที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนบริหารประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง โดยเฉพาะเงินในกระเป๋าของประชาชนเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงที่รัฐบาลนี้บริหารประเทศย่างเข้าสู่ปีที่ 4 เงินในกระเป๋าพอกพูนขึ้นหรือหดหาย ประชาชนล้วนสัมผัสได้จากชีวิตจริง ดังนั้น ประเด็นการเลือกตั้งสุดฮอตที่รอการลงคะแนนจากประชาชนก็คือนายกฯ จากคนนอก หรือมาจากมือประชาชน รอการพิสูจน์ความเชื่อมั่นของประชาชนว่าใครจะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องของประชาชนได้" นายชวลิต กล่าว
    นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า สถานการณ์การเมืองในปีนี้มีปัจจัยที่ต้องจับตา เพราะอาจจะเป็นจุดเปลี่ยนการเมือง และทำให้ภาพการเมืองที่สลับซับซ้อนมีความชัดเจนมากขึ้น ปัจจัยที่หนึ่ง ปีนี้ถือเป็นปีของการเตรียมการเลือกตั้งกลุ่มก้อนทางการเมืองและพรรคการเมืองทั้งเก่าใหม่ หรือพรรคที่สนับสนุน คสช.จะเปิดตัวชัดเจน ที่น่าจับตาจะเห็นการเปลี่ยนร่างแปลงกายของ คสช. เพื่อเตรียมการส่งผ่านอำนาจ ปีนี้คงได้เห็นโฉมหน้าพรรคทหารหรือพรรคที่สนับสนุนทหารและที่ต้องจับตาคือการแต่งองค์ทรงเครื่องใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองมากที่สุดในขณะนี้จะปรากฏตัวบนเวทีทางการเมืองชัดขึ้น เข้มขึ้น และไม่เหนียมอายอีกต่อไป
      นายสุริยะใสกล่าวต่อว่า สอง โรดแมปเลือกตั้งยังเป็นวาระที่อยากจะปักธงว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่กันแน่ และต้องไม่มองข้ามปัจจัยพิเศษที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ฉะนั้นโรดแมปที่อึมครึมเช่นนี้ อาจจะเกิดการเคลื่อนไหวกดดันของบรรดาพรรคการเมืองเข้มข้นขึ้นทั้งบนดินและใต้ดิน เพราะบรรดานักการเมืองถูกเว้นวรรคมา 4 ปี จึงไม่อาจนิ่งดูดายอีกต่อไป ซึ่งอาจกลายเป็นปมเผชิญหน้าขัดแย้งในปีนี้ได้เช่นกัน,  สาม กระแสปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ยังคาใจประชาชนไม่ได้หดหายไปไหน ซึ่งเชื่อว่าบรรยากาศจะกลับมาอีกครั้งในช่วงหาเสียงเลือกตั้งหรือในครั้งรัฐบาลหน้าเพราะการปฏิรูปเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อีกต่อไป ฉะนั้นพรรคการเมืองที่ชูธงเรื่องปฏิรูปจะมีความได้เปรียบสูง, สี่ ปัญหาเศรษฐกิจจะเป็นตัวแปรของการกำหนดวันเลือกตั้ง 
    นายไพบูลย์ นิติตะวัน ผู้ก่อตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป กล่าวถึงกรณีนักการเมืองและนักวิชาการต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ในการเป็นนายกรัฐมนตรีว่า เป็นธรรมดา เป็นความเห็นของแต่ละคน แต่สำหรับผู้ที่สนใจร่วมจัดตั้งพรรคประชาชนปฏิรูป มีอุดมการณ์ที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เรามองโดยอาศัยหลักคุณธรรม เนื่องจากท่านเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ สุจริต และเที่ยงธรรม มีความเหมาะสมที่จะทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติ
ยก"พี่ตูน"โมเดลปรองดอง
    ด้าน พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ ประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์การสร้างความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์ชาติ ในสัญญาประชาคม เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นไว้ในเวทีการสร้างความสามัคคีปรองดองที่ผ่านมา โดยเห็นร่วมกันว่าความไม่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่องในทิศทางและเป้าหมายของการบริหารราชการแผ่นดินที่ผ่านมา เป็นเงื่อนไขของความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรมทางสังคมต่อเนื่องกันมา และเห็นตรงกันว่ายุทธศาสตร์ชาติมีความสำคัญ และจำเป็นต้องมี    เพื่อกำหนดทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนของประเทศ 
    พล.ท.คงชีพกล่าวว่า จากผลสัมฤทธิ์ของโครงการก้าวคนละก้าว โดยตูน บอดี้สแลม เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ชัดเจนของตูน ซึ่งความสำเร็จเพียงลำพังจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากขาดพลังน้ำใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งประเทศ ปรากฏการณ์ตูน บอดี้สแลม จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า แม้ในส่วนลึกของความรู้สึกทางสังคมว่าความขัดแย้งทางสังคมยังคงดำรงอยู่ แต่ในความเป็นจริง ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ทุกเชื้อชาติและศาสนา ยังคงเป็นหนึ่งเดียวกัน และผนึกกำลังกันแนบแน่น เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมและประเทศชาติ โดยเชื่อมั่นว่าการนำที่เข้มแข็ง บนความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการเดินหน้าขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ จะนำมาซึ่งความเจริญ ความสงบและสันติสุข ที่พอใจร่วมกัน  
       ทั้งนี้ ความคาดหวังและพยายามร่วมกันของทุกฝ่าย ในการสร้างความสามัคคีปรองดองในสังคม ยังคงมีและเดินหน้าร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยใน 8 ธ.ค.61 เวลา 10.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม จะเป็นประธานประชุมคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ณ ศาลาว่าการกลาโหม เพื่อขับเคลื่อนผนึกกำลังกันนำความรัก ความสามัคคี ความเป็นหนึ่งเดียวกันในสังคม เดินหน้าสู่พลังของการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศต่อไป
    วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง การคาดการณ์ของประชาชนต่อการเมืองไทยในปี 2561 สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,230 คน ระหว่างวันที่ 2-6 มกราคม 2561 สรุปผลได้ ดังนี้ การคาดการณ์ “การเมืองไทย” ในปี 2561 พบว่า อันดับ 1 น่าจะเหมือนเดิม 48.05% เพราะ   สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่นิ่ง นักการเมืองยังคงขัดแย้ง แตกแยก แตกความสามัคคี, อันดับ 2 น่าจะดีขึ้น 29.51% เพราะรัฐบาลทำงานตามโรดแมป มีประสบการณ์มากขึ้น รู้ปัญหาของบ้านเมือง มีทิศทางในการทำงานชัดเจน, อันดับ 3 น่าจะแย่ลง 22.44%เพราะการเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน ยังคงมีการทุจริตคอร์รัปชัน รัฐบาลยังถูกโจมตี   
    ส่วนการคาดการณ์ “เศรษฐกิจไทย” ในปี 2561 อันดับ 1 น่าจะดีขึ้น 38.53% เพราะรัฐบาลและภาคเอกชนร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ตัวเลขการค้าการลงทุนส่งสัญญาณที่ดี ธุรกิจต่างๆ มีโอกาสมากขึ้น เป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลเร่งแก้ไขอยู่ในขณะนี้ ฯลฯ, อันดับ 2 น่าจะเหมือนเดิม 31.71% เพราะข้าวของแพง ค่าครองชีพสูง ต้องประคับประคอง การเมืองมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ฯลฯ, อันดับ 3 น่าจะแย่ลง 29.76% เพราะปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาใหญ่ แก้ไขได้ยาก ทั่วโลกเศรษฐกิจไม่ดี 
    สำหรับการคาดการณ์ "สังคมไทย" ในปี 2561 อันดับ 1    น่าจะเหมือนเดิม 44.39% เพราะสังคมไทยยังมีปัญหาหลายเรื่องที่รอการแก้ไข เช่น ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด สังคมมีความเหลื่อมล้ำ ไม่ค่อยเห็นการเปลี่ยนแปลง, อันดับ 2 น่าจะดีขึ้น 28.05% เพราะคนไทยมีน้ำใจ ช่วยเหลือแบ่งปัน ทุกคนอยากเห็นบ้านเมืองสงบ ภาครัฐมีการรณรงค์ กระตุ้นให้คนไทยรักและสามัคคี, อันดับ 3 น่าจะแย่ลง 27.56% เพราะจากข่าวสังคมมีความรุนแรงมากขึ้น เศรษฐกิจไม่ดี ต่างคนต้องเอาตัวรอด คนขาดศีลธรรม แตกแยก หลงวัตถุ 
    ส่วนความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า   หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้เผยแพร่คำพิพากษาอย่างเป็นทางการ ในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ย.2560 น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ให้ทนายความนำคำพิพากษาดังกล่าวไปเป็นหลักฐานยื่นต่อรัฐบาลอังกฤษเพื่อขอลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์เห็นว่าคดีดังกล่าวเป็นการไต่สวน และพิพากษาโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ล่าสุดอยู่ระหว่างขั้นตอนและการพิจารณาของทางการอังกฤษที่จะให้สถานะผู้ลี้ภัยแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ 
         "หากทางการอังกฤษให้สถานะผู้ลี้ภัย น.ส.ยิ่งลักษณ์จะได้รับพาสปอร์ตผู้ลี้ภัย ซึ่งสามารถใช้เดินทางได้ตามเงื่อนไขของสหประชาชาติ แม้ขณะนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังไม่ได้ขอใช้พาสปอร์ตของประเทศใด ที่มีหลายประเทศทั้งในเอเชียและตะวันออกกลาง พร้อมจะให้สัญชาติกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์" รายงานข่าวระบุ. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"