ข่าวคราวพรรค "ร้าว”!!! เกิดขึ้นต่อเนื่องในระยะนี้ ไม่ใช่แค่ “พรรคพลังประชารัฐ”
แม้แต่ฝ่ายค้านอย่าง “พรรคเพื่อไทย” ก็ประสบปัญหานี้ หลังสมาชิกพรรคไม่พอใจที่มีสมาชิกบางส่วน นำโดยขุนพลหลักสมัยพรรคไทยรักไทย ได้แก่ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช, นายภูมิธรรม เวชยชัย, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี และ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ออกไปตั้ง
“กลุ่มแคร์”
และล่าสุดพรรคประชาธิปัตย์มีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการประชุมพรรค เพื่อจะเปลี่ยนแปลงกรรมการบริหารพรรค หลังสมาชิกบางส่วนไม่พอใจการทำหน้าที่ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค
สำหรับ “พลังประชารัฐ” และ “ประชาธิปัตย์” อยู่ในซีกของรัฐบาล ปัญหาที่เกิดขึ้นคล้ายคลึงคือ ไม่พอใจการทำหน้าที่ของผู้บริหารพรรค
ปฏิบัติการโค่น นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง และ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน ออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค อาจมีเชื้อเรื่องการทำงานที่ไม่ดูแลเอาใจใส่สมาชิก แต่หลักใหญ่ใจความคาบเกี่ยวกับการปรับคณะรัฐมนตรี
นายอุตตม และ นายสนธิรัตน์ สองรัฐมนตรีสาย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ถูกมองว่าได้โควตารัฐมนตรีเกินจำเป็นเมื่อใช้สูตรคำนวณทางการเมืองในการจัดสรรอำนาจ ซึ่งในทางการเมืองตำแหน่งหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคถือเป็นรัฐมนตรีโดยตำแหน่ง การล้มสองรายนี้ได้เท่ากับเป็นการ “เปิดทาง” โควตารัฐมนตรี
ขณะที่ “ประชาธิปัตย์” มีรอยร้าวมาตลอด ตั้งแต่ช่วงที่มีการท้าชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้ง นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม มาถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่สงครามภายในครั้งนั้นทำให้สถานะปัจจุบันกลายเป็นคนนอกเต็มตัว
แม้นายจุรินทร์จะได้รับการเลือกตั้งจากสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ แต่ปัญหาไม่ได้จบลง ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะๆ
ในช่วงแรกๆ หลังการจัดตั้งรัฐบาล การลงมติในสภาผู้แทนราษฎรของฝ่ายรัฐบาลมักประสบปัญหา โดยเฉพาะจากกลุ่ม ส.ส.ที่ถูกมองว่าเป็นสาย นายอภิสิทธิ์ ในพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนำโดย นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง, นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี, นายเทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ยังเป็นแกนนำ ส.ส.พรรคประขาธิปัตย์ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากการกู้เงินตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าความตั้งใจเดิมของรัฐบาลไม่ได้ต้องการแบบนั้น
และการเคลื่อนไหวให้เปลี่ยนตัวนายจุรินทร์ครั้งล่าสุด ก็มีการจับจ้องว่า ส.ส.กลุ่มนี้คือตัวตั้งตัวตี เนื่องจากก่อนหน้านี้นายอันวาร์เคยทำจดหมายเปิดผนึกถึงนายจุรินทร์ให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ปัญหาภายในพรรคมาแล้ว
อย่างไรก็ดี ข่าวการล่ารายชื่อเพื่อขอเปลี่ยนแปลงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ครั้งนี้ ถูกมองว่าเป็นโมเดลเดียวกับของพรรคพลังประชารัฐ นั่นคือ หวังผลในเรื่องการปรับคณะรัฐมนตรี
เป็นเพียงการเขย่าเพื่อส่งสัญญาณไปยัง “ผู้มีอำนาจในพรรค” และ “ผู้มีอำนาจในรัฐบาล”
หนึ่งในเหตุผลของการล่ารายชื่อเพื่อถอดนายจุรินทร์คือ การรวมศูนย์อำนาจไว้เพียงไม่กี่คน สอดคล้องกับข่าวความไม่พอใจก่อนหน้านี้ที่ว่า มีการจัดสรรโควตารัฐมนตรีภายในพรรคไม่ทั่วถึง กระจุกตัวอยู่กลุ่มผู้มีอำนาจในพรรค
ขณะที่กลุ่ม ส.ส. ที่นำโดยนายสาทิตย์ นายอันวาร์ นายเทพไท และนายพนิต หรือคนสนิทของนายอภิสิทธิ์ ไม่ได้รับการจัดสรรเลย
การทำตัวเป็น “เด็กดื้อ” ตลอดระยะเวลาที่ผ่านของ ส.ส.กลุ่มนี้ รวมถึงครั้งนี้ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเดินเกมเพื่อต่อรอง โดยเฉพาะขณะนี้ถึงฤดูของการปรับคณะรัฐมนตรีแล้วจึงต้องเคลื่อนหนัก
ที่สำคัญบางคนในพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวให้เปลี่ยนแปลงผู้บริหารพรรคก็คุ้นเคยกันดี กับกลุ่มที่กำลังจะล่ารายชื่อถอดนายจุรินทร์
รอยร้าวของสองพรรคนี้ต่างกันแค่พลังประชารัฐโค่นนายอุตตมและนายสนธิรัตน์แบบจริงจัง เพื่อปรับโครงสร้างพรรคอันนำไปสู่การเก้าอี้รัฐมนตรีของบางกลุ่ม ซึ่งสำเร็จได้เพราะ “เจ้าของพรรค” อย่าง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ไฟเขียว
แต่สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ การเขย่านายจุรินทร์ออกจากตำแหน่งไม่ง่าย เพราะ “ผู้มากบารมี” ในพรรคยังให้สนับสนุน หวังผลเพียงเพื่อให้กลุ่มตัวเองได้โควตาบ้าง
เรียกว่า ไม่ต่าง "กรรม” ไม่ต่าง “วาระ” กัน.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |