10ปีตามล่าทรัพย์สิน'พธม.'


เพิ่มเพื่อน    

รองโฆษก อสส.เผยขั้นตอนยึดทรัพย์ 13แกนนำ พธม. ชดใช้ปิดสนามบินปี 51 กว่า 500 ล้าน หากไม่พอจ่ายตามคำพิพากษา ทอท.ร้องให้ฟ้องล้มละลายได้ "จำลอง" โอดไม่มีทรัพย์สินให้ยึด ปัดระดมทุนหาเงิน
    จากกรณีที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 มีหนังสือแจ้งแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) 13 คน ซึ่งประกอบด้วย พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสุริยะใส กตะศิลา, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข,  นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์, นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์, นายอมร อมรรัตนานนท์ หรือนายรัชต์ชยุตม์ ศิรโยธินภักดี, นายนรัญยู หรือศรัณยู วงษ์กระจ่าง, นายสำราญ รอดเพชร, นายศิริชัย ไม้งาม, นางมาลีรัตน์ แก้วก่า และนายเทิดภูมิ ใจดี จำเลยคดีแพ่ง ที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการชุมนุมปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ปี 2551 เพื่อประท้วงรัฐบาลและขับไล่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ร่วมกันชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นจำนวนเงิน 522,160,947.31 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 3 ธ.ค.2551 ให้แก่ ทอท. (นับรวมดอกเบี้ยจะอยู่ที่วงเงิน 744 ล้านบาท) รวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ จำนวน 597,847 บาทนั้น
    เมื่อวันที่ 7 มกราคม นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า อัยการสำนักงานบังคับคดีจะมีอำนาจในการบังคับคดีในส่วนที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง หรือคดีในส่วนอาญาที่ศาลมีคำพิพากษาให้ปรับหรือชำระค่าเสียหาย โดยคดีนี้อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้ง 13 มี ทอท.เป็นเจ้าของเรื่อง ฉะนั้นในกระบวนการสืบทรัพย์ ทางอัยการจะช่วยดำเนินการสืบทรัพย์โดยการออกหนังสือสอบถามเรื่องทรัพย์ไปในหน่วยงานต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหุ้น บัญชีเงินฝาก หรือที่ดิน ตามกรมที่ดิน 
    ทั้งนี้ เมื่อสืบทรัพย์และได้ความว่ามีทรัพย์สินอยู่ที่ใด จะแจ้งให้ ทอท.เจ้าของเรื่องนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ลูกหนี้ตามคำพิพากษาของศาลที่ได้ออกคำบังคับไว้ ซึ่งทรัพย์ที่ยึดได้จักต้องนำมาขายทอดตลาด แต่หากชำระแล้วยังไม่พอ อัยการจะดำเนินการตามหน้าที่ คือแจ้งตัวความ ถ้า ทอท.มีหนังสือมาขอให้ฟ้องคดีล้มละลายต่อ ทางสำนักงานอัยการสูงสุดมีกองคดีล้มละลายสำหรับฟ้องคดีล้มละลายต่อ ส่วนขั้นตอนการสืบทรัพย์กรณีที่มีการยักย้ายถ่ายเทนั้น หากเกิดกรณีเช่นนี้ สำนักงานอัยการฝ่ายการบังคับคดีคงจะต้องนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นเพื่อพิจารณาดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป
    "อัยการมีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย ทำตามคำพิพากษา ที่ศาลออกคำบังคับ หมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลสั่งอย่างไร อัยการมีหน้าที่ทำตามคำพิพากษา หน้าที่ที่ต้องทำก็คือไปดำเนินการสืบทรัพย์ แล้วแจ้ง ทอท.เจ้าของเรื่องให้ทราบ เพื่อให้ไปดำเนินการนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา อัยการทำหน้าที่ตามกฎหมายเหมือนเช่นคดีทั่วๆ ไป เช่น คดีคุณรักเกียรติ สุขธนะ ที่มีการฟ้องคดีไป อัยการก็ทำหน้าที่ตามคำพิพากษา หมายบังคับคดีดำเนินการยึดทรัพย์ขายทอดตลาดไปแล้ว ขายทอดตลาดได้เงินมา 35 ล้าน ส่งคืนให้แผ่นดินแล้ว นี่คือหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของรัฐในชั้นบังคับคดี ก็จะมีสำนักงานบังคับคดีเข้าไปปฏิบัติหน้าที่" นายโกศลวัฒน์ระบุ
    น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวว่า ในส่วนของกรมบังคับคดี ได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 1 ตรวจสอบว่ามีโจทก์ ซึ่งในคดีนี้คือ ทอท. ได้ยื่นคำร้องเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการบังคับคดีหรือยัง คาดว่าวันที่ 8 ม.ค.นี้จะทราบผล ทั้งนี้ คาดว่าขั้นตอนกำลังอยู่ระหว่างการสืบทรัพย์ ซึ่งทางอัยการเข้ามาช่วยดำเนินการ เนื่องจาก ทอท.เป็นหน่วยงานของรัฐ อย่างไรก็ตาม เมื่อทาง ทอท.นำรายการทรัพย์ที่มีการสืบทราบได้ว่ามีทรัพย์สินได้บ้างของจำเลย กรมบังคับคดีจะทำหนังสือแจ้งอายัดและยึดตาม หากเป็นเงินเดือน จะแจ้งธนาคารเพื่อขออายัดเงิน หากเป็นอสังหาริมทรัพย์ ตรวจสอบเป็นชื่อของบุคคลที่เกี่ยวข้องจริง ก็ทำหนังสือแจ้งการบังคับคดี
    “กรมบังคับคดีทำหน้าที่เพียงออกหนังสือยึดและอายัดจำเลยตามที่โจทก์แจ้งเท่านั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสืบหาทรัพย์ เป็นหน้าที่ของโจทก์และอัยการ หากพบทรัพย์สินใดบ้างที่เป็นของจำเลย ก็ให้แจ้งมายังกรมบังคับคดี เพื่อดำเนินการยึดอายัดตามคำสั่งศาล คดีดังกล่าวมีอายุความในการติดตามทรัพย์ 10 ปี เพื่อนำทรัพย์มาชดใช้หนี้ตามคำพิพากษาของศาล”น.ส.รื่นวดีกล่าว
    ทางด้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตแกนนำ พธม. เปิดเผยว่า ได้รับทราบแล้วถึงคำสั่งศาลแพ่งยึดทรัพย์ 13 แกนนำกว่า 800 ล้านบาท ในคดีนำมวลชนบุกรุกปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ซึ่งไม่มีความเห็นอะไร รวมทั้งยังไม่รู้ว่าเอาทรัพย์สินที่ไหนมาให้ยึด และยังยืนยันว่าไม่ได้ทำผิด แต่ทำไมโดนฟ้องร้องเรียกเงินมากมายเป็นร้อยๆ ล้าน ยังกับไปเผาตึก ซึ่งยังไม่เคยเผาตึกสักหลัง 
    "ไม่รู้เอาเงินจากไหนจ่ายศาล เพราะทุกอย่างที่ทำมาตลอดชีวิตเป็นองค์กรส่วนกลาง มูลนิธิทั้งนั้น เช่น ศูนย์ฟอกไต ศูนย์บริการไตเทียม สถาบันฝึกอบรมผู้นำ สถานที่เลี้ยงสุนัขจรจัด ไม่มีอะไรเพื่อส่วนตัว ขณะนี้ไม่รู้สึกอะไร เพราะเมื่อเราทำไปแล้วได้ผลจริง ที่ผ่านมาโดนมาหลายคดี และยังเหลืออีกหลายคดี ผมไปชี้แจงศาลตามความเป็นจริง ว่าการชุมนุมของพันธมิตรฯ และประชาชนได้ผลเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และคนไทยทุกคนได้ประโยชน์ เป็นอย่างนั้นจริงๆ" พล.ต.จำลองระบุ
    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะโดนหลายคดี แต่ทุกคนที่เป็นคนไทยได้หมด ไม่เคยเสียใจ ตั้งใจแล้วทำเพื่อประเทศชาติ และได้ทำจริงๆ ไม่จำเป็นต้องตั้งโต๊ะแถลงหรือชี้แจงอะไรอีก เพราะถือว่าได้ทำเพื่อชาติบ้านเมืองอย่างดีที่สุดแล้ว ส่วนใครจะนำไปใช้เป็นโอกาสของฝ่ายใดอย่างไรแล้วแต่ประชาชนมอง จะไม่เรียกร้องอะไรทั้งสิ้น ไม่ต้องระดมทุนมาช่วยเหลือ เพราะคนอื่นไม่ควรเดือดร้อนไปด้วย 
    นางมาลีรัตน์ แก้วก่า 1 ใน 13 แกนนำ พธม. กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ 13 แกนนำเคยหารือกันถึงประเด็นดังกล่าว คุยกันว่าคงต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไป ซึ่งเป็นไปตามที่นายสุริยะใส กตะศิลา อดีตผู้ประสานงาน พธม. เคยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อไปแล้ว ขณะนี้ขึ้นอยู่กับ ทอท.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
    "ตั้งแต่ได้รับใบแจ้งชำระหนี้จากสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายการบังคับคดี 1 ยังไม่มีการพูดคุยกันระหว่าง 13 แกนนำ พธม. และตอนนี้คงไม่ดำเนินการใดๆ ต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ คือ ยึดทรัพย์ ถ้าไม่มีทรัพย์สินให้ยึด ก็ต้องถูกฟ้องล้มละลาย ยอมรับว่าเราก็ลำบากพอสมควร" นางมาลีรัตน์กล่าว
    นางมาลีรัตน์ยังปฏิเสธข่าวการระดมเงินจากประชาชนที่เคยสนับสนุน พธม.มาช่วยชดใช้ค่าเสียหายว่า มีคนบอกว่าทุกคนไม่ได้สู้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว เพราะฉะนั้นหากจะบังคับคดีกันจริงๆ เรื่องอะไรจะให้ยึดทรัพย์ 13 แกนนำ พธม. ซึ่งทาง 13 แกนนำทักท้วง และขอบคุณในเจตนาดี.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"