สภาไฟเขียวตั้งกมธ.ศึกษาCPTPP


เพิ่มเพื่อน    


    กกร.คงจีดีพีปีนี้ -5% ห่วงประชาชนตกงานยาว ฉุดสถานการณ์ย่ำแย่ตามหลังผลกระทบโควิด  บี้รัฐอัดเม็ดเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก หนุนไทยเข้าร่วมเจรจา CPTPP หวั่นตกขบวนการค้า สภารุมถล่มได้ไม่คุ้มเสีย ก่อนไฟเขียวตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบ 
    เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เศรษฐกิจไทยเดือนเมษายน 2563 ล้วนหดตัวในทุกเครื่องชี้วัด ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การผลิต การบริโภคและการลงทุน  มีเพียงการใช้จ่ายภาครัฐที่ขยายตัวเท่านั้น โดยเหตุผลหลักมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก ในช่วงของการล็อกดาวน์ทั้งในประเทศและหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งเผชิญการระบาดที่รุนแรงของไวรัสโควิด-19 แม้สถานการณ์โควิด-19 ในไทยจะดีขึ้นจนภาครัฐคลายล็อกให้กิจการต่างๆ กลับมาเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือน พ.ค. (เฟส 1-3) รวมทั้งมีมาตรการเยียวยาเพื่อบรรเทาผลกระทบหลายด้าน ซึ่งทำให้เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้ว
    อย่างไรก็ตาม ด้วยกำลังซื้อครัวเรือนที่อ่อนแอและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะถดถอย และยังมีความเสี่ยงจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ปะทุขึ้นอีกรอบ จึงทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทยจะยังไม่กลับสู่ภาวะปกติหรือก่อนโควิด-19 และคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ดังนั้น สถานการณ์การว่างงานในประเทศจึงยังอยู่ในภาวะที่น่ากังวล ซึ่งที่ประชุม กกร.เห็นว่าภาครัฐควรเร่งขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็ว โดยเน้นโครงการที่เพิ่มเม็ดเงินลงสู่เศรษฐกิจฐานราก และฟื้นฟูธุรกิจท้องถิ่นเพื่อสร้างงานอย่างครอบคลุมทั่วประเทศ
     "สำหรับมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นั้น กกร.ยังคงประมาณการต่างๆ ไว้ตามเดิม โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยอาจหดตัวในกรอบ -5.0% ถึง -3.0% และการส่งออกอาจหดตัว -10.0% ถึง -5.0%  ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง 0.0%" นายปรีดีระบุ
    นายปรีดีกล่าวว่า กกร.มองว่าการเร่งผลักดันการใช้วงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) ภายใต้พระราชกำหนด 500,000 ล้านบาท ให้มีความคืบหน้าอย่างรวดเร็ว จะมีส่วนสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมให้สามารถประคองกิจการต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากลำบากนี้ จึงเห็นว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหารือและบริหารจัดการให้เงื่อนไขต่างๆ ของการปล่อยสินเชื่อในทางปฏิบัติมีความคล่องตัวมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เช่นอาจให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อเพิ่มเติม หลังสิ้นสุดโครงการ 2 ปีตาม  พ.ร.ก. (โครงการ PGS-9)
     นอกจากนี้ ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการระบาดของโควิด-19 และเศรษฐกิจโลกที่ถดถอย สร้างความท้าทายต่อทิศทางเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจในช่วงข้างหน้า การกลับมาพึ่งพาแรงขับเคลื่อนจากปัจจัยภายในประเทศจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งผลักดัน กกร.จึงเสนอให้มีการประชุมระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้มีเวทีสำหรับการหารือนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างจริงจังอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง อาทิ การฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19, การขับเคลื่อนโมเดล BCG  เป็นต้น
    สำหรับปัญหาภัยแล้งซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดย กกร.มีความเป็นห่วง และขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอในการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งเร่งดำเนินโครงการเพื่อให้มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ
    นายปรีดีกล่าวด้วยว่า กกร.มีข้อสรุปในเรื่องการเข้าร่วมข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยเห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในเดือน ส.ค.63 เนื่องจากการเข้าร่วมเจรจาทำให้เห็นถึงผลดีหรือผลเสียต่อการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง CPTPP ซึ่งกระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้นมีขั้นตอนเป็นลำดับขั้น ซึ่งประกอบด้วยการขอเข้าร่วมเจรจา การเข้าร่วมเจรจากับประเทศภาคี หลังจากเจรจาเสร็จแล้วต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
    ขณะเดียวกันต้องมีการรับฟังประชาพิจารณ์ผลการเจรจาด้วย และสุดท้ายต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในทุกกระบวนการอย่างน้อย 4 ปี และประเทศไทยสามารถยุติการเจรจาในทุกขั้นตอนได้หากเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ กกร.เห็นว่าการเข้าร่วมเจรจาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพื่อให้ทราบถึงข้อตกลงและเป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่ม ASEAN
      ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.25 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาญัตติเพื่อขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วม CPTPP ซึ่งหลายพรรคการเมืองเสนอ อาทิ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่, นายศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย, นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ, นายวรภพ วิริยะโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เป็นต้น โดยทั้งหมดเห็นควรให้ตั้ง กมธ.เพื่อทำการศึกษาถึงผลดีผลเสียและความพร้อมต่างๆ  ก่อนที่จะมีการตัดสินใจเข้าร่วม CPTPP ในเชิงลึกทุกมิติ โดยเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม เพราะถือเป็นเรื่องสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยและคนไทย
    นอกจากนี้ยังมีสมาชิกร่วมอภิปรายอย่างกว้างขวาง โดยมองว่าได้ไม่คุ้มเสีย เช่น น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า ข้ออ้างว่าถ้าเข้าร่วมแล้วไทยจะได้เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลก ในทางทฤษฎีฟังดูดี แต่หากศึกษารายการอาหาร ระเบียบกฎเกณฑ์ กรมศุลกากร การเยียวยาการค้า แหล่งวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตของไทย จะเห็นว่าไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกเลย นี่คือการขี่ช้างจับตั๊กแตนของรัฐบาล และไม่ได้การันตีว่าเราจะสามารถเจาะตลาดเม็กซิโกและแคนาดาได้ง่ายอย่างที่คิด 
    กระทั่งเวลา 19.00 น. นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เสนอว่า ขอใช้ข้อบังคับการประชุม ข้อที่ 88 ให้ที่ประชุมสภาตั้ง กมธ.วิสามัญโดยไม่ต้องลงมติ เนื่องจาก ส.ส.ทั้งหมดเห็นด้วยกับการตั้งคณะ กมธ.วิสามัญดังกล่าว 
    จากนั้นนายสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมขณะนั้น ได้สอบถามสมาชิกว่ามีใครเห็นต่างหรือไม่ สุดท้ายที่ประชุมได้ตั้งคณะ กมธ.จำนวน 49  คน
    ด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่สภาตั้ง กมธ.วิสามัญศึกษาผลกระทบ CPTPP ว่า เรื่องนี้มีความเกี่ยวข้องกับทุกหน่วยงาน และมีข้อกังวลจากภาคประชาสังคมในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องของสาธารณสุข เกษตร การคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่  ยา การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รัฐบาลจึงให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อเป็นเจ้าภาพพิจารณาเรื่องนี้  โดยให้นับหนึ่งใหม่ และให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีโอกาสชี้แจงและร่วมแสดงความคิดเห็น เมื่อกรรมาธิการมีความเห็นอย่างไรจะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ลงมติ จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร ก็ต้องแล้วแต่การพิจารณาของสภาและ ครม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"