คลื่นลมแรง"พปชร.-พท.-ปชป.” เปลี่ยนหน.-ย้ายพรรค-ทวงเก้าอี้รมต.


เพิ่มเพื่อน    

      ยามนี้ สามพรรคใหญ่-พรรคเก่าแก่ คือ "พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” กำลังอยู่ในช่วง "คลื่นลมแรง” ภายในพรรคพร้อมๆ กัน ที่ก็เป็นไปตามคาด เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย สอดรับกับช่วงเปิดประชุมสภา จึงทำให้อุณหภูมิการเมืองมีดีกรีความเข้มข้นตามไปด้วย ซึ่งพบว่าทิศทางการขยับต่างๆ ของคนการเมืองในสามพรรคดังกล่าวอยู่บนร่องรอยการเมือง คือ

      1.การไม่พอใจคณะผู้บริหารพรรค-หัวหน้าพรรค จึงต้องการให้มีการปรับเปลี่ยนหรือทบทวนการนำของคณะผู้บริหารพรรค ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เห็นอย่างชัดเจนในเวลานี้กับพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล และกำลังเริ่มมีข่าวคลื่นใต้น้ำในพรรคประชาธิปัตย์ พรรคที่มี ส.ส.เป็นอันดับสามในรัฐบาล รองจากพลังประชารัฐ-ภูมิใจไทย ที่เริ่มมีข่าวกระเส็นกระสายว่ากำลังมีบางกลุ่มใน "พรรคสีฟ้า-ปชป." ก็กำลังต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงหรือทบทวนยุทธศาสตร์ทางการเมืองบางอย่างในพรรค ปชป.เช่นกัน แม้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ จะเพิ่งเป็นหัวหน้าพรรคได้ครบปีเมื่อช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

      2.มีปัญหาเรื่องการบริหารงานภายในพรรค การชิงบทบาทการนำในพรรค มีความไม่ลงรอยกัน งัดข้อกันมาตลอด จนกำลังนำไปสู่การ "แยกตัว” เช่นกรณีของ "พรรคเพื่อไทย” ที่แกนนำบางคน-ส.ส.บางปีกที่ไม่กินเส้น ไม่ต้องการอยู่ใต้เงาของ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายค้าน การชิงอำนาจเพื่อให้ได้เป็นรัฐมนตรีหรือมีบทบาทในรัฐบาลจึงไม่ค่อยรุนแรง แต่เมื่อกลุ่มที่เห็นว่าไม่สามารถทำงานกับสุดารัตน์ได้ และมองว่าพรรคเพื่อไทยกำลังอยู่ในช่วงขาลง พื้นที่และฐานเสียงทางการเมืองกำลังถึงทางตัน จึงทำให้มีข่าวคนในพรรคเพื่อไทยอย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย ที่ปรึกษาผู้นำฝ่ายค้าน-อดีตเลขาธิการพรรคเพื่อไทยและ ส.ส.-คนการเมืองในพรรคเพื่อไทยบางปีก” รวมถึงกลุ่มอดีต ส.ส.เพื่อไทย ที่ย้ายไปไทยรักษาชาติแล้วกลับมาเพื่อไทยไม่ได้ เพราะไม่ต้องการอยู่ใต้เงาของ สุดารัตน์ อย่าง พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล-จาตุรนต์ ฉายแสง จึงกำลังมองเรื่องการสร้างรังใหม่-แบรนด์ใหม่ ที่ตอนนี้ข่าวว่ากลุ่มดังกล่าวเริ่มเขียนแปลนพิมพ์เขียวพรรคใหม่กันแล้ว

      3.และจากความ ไม่พอใจหัวหน้าพรรค คณะผู้บริหารพรรค ที่คนในพรรคต้องการให้มีการทบทวน ปรับเปลี่ยนตัวผู้นำพรรคอย่างที่เกิดขึ้นในพลังประชารัฐ หรือเสียงเรียกร้องให้หัวหน้าพรรค-แกนนำพรรคปรับวิธีการทำงานภายในพรรค ที่กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ แต่ในทางการเมืองก็แลดูจะเห็นได้ไม่ยากว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวมีจุดมุ่งหมายการเมืองที่หวังให้การปรับเปลี่ยนดังกล่าวส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนตำแหน่งในรัฐบาล-เก้าอี้รัฐมนตรีในโควตาพรรคตามมา

      เพราะกรกฎาคมนี้ รัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” ก็จะทำงานครบหนึ่งปี ดังนั้น กลุ่มการเมือง-คีย์แมนพรรคในพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ที่มีลุ้นเก้าอี้รัฐมนตรีจึงต้องเร่งเครื่องแล้ว เพราะแม้อำนาจการปรับ ครม.จะเป็นของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่หากมีแรงกระเพื่อมจนมีการปรับเปลี่ยนโควตารัฐมนตรีภายในพรรค เช่น ประชาธิปัตย์มีมติพรรคให้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งรัฐมนตรีในพรรคหลังทำงานมาครบหนึ่งปี จนรัฐมนตรีที่ถูกปรับเปลี่ยนต้องกระเด็นจากเก้าอี้ ถึงตอนนั้นยังไงพลเอกประยุทธ์จะดึงเรื่องไม่ยอมปรับ ครม.ก็ไม่ได้ บิ๊กตู่ก็ต้องจัดทัพรัฐบาล "ประยุทธ์ 2/2” ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอรายชื่อมาอยู่ดี

      โดยเมื่อสแกนลงลึกไปที่ "พรรคสีฟ้า-ประชาธิปัตย์” ซึ่งมีกระแสข่าวว่ากำลังมีแนวคิดของคนในพรรคบางส่วนที่เห็น "พลังประชารัฐโมเดล” แล้วจะเอาบ้าง คือใช้วิธีการให้กรรมการบริหารพรรคลาออกเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยน "หัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่” เพราะตามข้อบังคับพรรค หากมีกรรมการบริหารพรรคเกินกึ่งหนึ่งลาออก จะทำให้ กก.บห.พรรคทั้งหมดต้องพ้นตำแหน่งทั้งคณะ และต้องจัดประชุมใหญ่เลือก กก.บห.ชุดใหม่ต่อไป

      มีรายงานข่าวหลายกระแสอ้างว่า ความไม่พอใจของคนในพรรค ปชป.ต่อการบริหารงานการเมืองของ “จุรินทร์” ในยามนี้กำลังเริ่มก่อตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจริงๆ ก็ก่อตัวมานานแล้วตั้งแต่การตั้งรัฐบาล ในเรื่องการผลักดันคนในพรรคให้เป็นรัฐมนตรี และส่งชื่อไปรับตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ เช่น ผู้ช่วยรัฐมนตรี-ที่ปรึกษารัฐมนตรี-เลขานุการรัฐมนตรี ที่แม้จะมีการนำเรื่องไปหารือในที่ประชุมผู้บริหารพรรค-ที่ประชุมใหญ่พรรค แต่ก็มีบางคนมองว่ามีการทำโผไว้ล่วงหน้า จึงทำให้ ความไม่พอใจในตัว จุรินทร์ จากคนในพรรคก่อตัวขึ้นตามลำดับ จนบางคนเมื่อเห็นว่าอยู่ไม่ได้และมีลู่ทางที่ดีกว่าก็ออกไป เช่น “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค-อดีตผู้สมัครชิงหัวหน้าพรรค ปชป.” ซึ่งหลังพลาดเก้าอี้หัวหน้าพรรค-รัฐมนตรี ก็ลาออกไปอยู่พลังประชารัฐ จนได้ทั้งเก้าอี้ที่ปรึกษานายกฯ-บอร์ดการบินไทย-ปธ.กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาการแก้ไข รธน.ของสภา หรือ “กรณ์ จาติกวณิช-อดีตผู้ลงสมัครชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ปชป.” ที่ก็ลาออกไปตั้ง "พรรคกล้า” เป็นต้น

      ผสมกับการบริหารงานในพรรคประชาธิปัตย์และในรัฐบาลมาร่วมหนึ่งปี การทำงานหลายเรื่องในตำแหน่งรองนายกฯ-รมว.พาณิชย์ ที่ก็แน่นอนว่าต้องมีทั้งคนรัก-คนชัง แต่เมื่อคนชังเป็นลูกพรรคตัวเอง แถมแรงกระเพื่อม-ความคับข้องใจไม่ได้อยู่แค่ภายในพรรค แต่ถูกสื่อสารออกมาจนปรากฏบนพื้นที่สื่อ มันก็เลยเกิดภาพ “พรรคสีฟ้า” อาจกำลังเดินตามรอยพลังประชารัฐ

      อย่างไรก็ตาม มีการประเมินว่า คลื่นใต้น้ำภายในพรรค ปชป. คงไม่ก่อหวอดบานปลายเหมือนกรณีที่เกิดกับพรรคพลังประชารัฐ ที่จะถึงขั้นคนในพรรค ปชป.วางแผนจับมือกันโละแผงอำนาจในคณะกรรมการบริหารพรรคสายจุรินทร์ แล้วล้างไพ่ใหม่-ปรับทัพกันใหม่

      โดยแวดวงคนการเมือง พรรคสีฟ้า ประเมินว่า วัฒนธรรมการเมืองในพรรค ปชป.แตกต่างจากของพลังประชารัฐแบบสุดขั้ว เพราะของ ปชป.มีลักษณะหลอมรวมกันมากกว่า ไม่ได้มาอยู่รวมกันแบบเฉพาะกิจเหมือนคนของพลังประชารัฐ และลักษณะการนำทางการเมืองของ จุรินทร์ ก็เชี่ยวกราก-ลูกล่อลูกชน จังหวะเก๋าทางการเมืองเหนือกว่า อุตตม สาวนายน หน.พลังประชารัฐมากมาย

      ผนวกกับที่สำคัญเลยคือ กรรมการบริหารพรรค-ส.ส.สายที่จะต้านการบริหารงานของ จุรินทร์ หากเช็กเสียง ดูปูมหลังแต่ละคนแล้ว ก็จะพบว่ามีแค่ไม่กี่คนเท่านั้น เพราะแม้แต่กลุ่มที่เคยขับเคี่ยวกับจุรินทร์มาอย่าง "กลุ่มถาวร เสนเนียม” ตอนนี้ถาวรก็เป็น รมช.คมนาคม เรียกได้ว่าผลประโยชน์ลงตัว จึงไม่มีความจำเป็นต้องมาเคลื่อนไหวล้มจุรินทร์ในช่วงนี้

      อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า ประชาธิปัตย์มีวัฒนธรรมการเมือง นับถือผู้อาวุโสในพรรค ดังนั้น แค่ "ชวน หลีกภัย ประธานสภา" ที่คนในพรรค ปชป.วางให้เป็นเสาหลักของพรรค หากชวนที่หนุนจุรินทร์ให้เป็น หน.พรรค ปชป. ส่งสัญญาณกระแอมกระไอสัก 2-3 ทีในลักษณะ "หนุนจุรินทร์ให้ไปต่อ-เตือนกลุ่มเคลื่อนไหวในพรรคอย่าทำอะไรให้พรรคเกิดความปั่นป่วน เสียภาพลักษณ์” แค่นี้คนในพรรค ปชป.ที่คิดจะก่อหวอดเล็กๆ เขย่าเก้าอี้จุรินทร์ก็วงแตกแล้ว

      จึงทำให้มีการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองไว้เบื้องต้น หลังเกิดกระแสข่าวคลื่นลมแรงในพรรค ปชป.กำลังก่อตัว ว่าคงเป็นแค่คลื่นเล็กๆ ของคนกลุ่มเดิมๆ ในพรรค ปชป.ที่คงไม่ส่งผลให้เกิดแรงกระเพื่อมเหมือนที่เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐ

      เว้นเสียแต่มีปัจจัยแทรกซ้อน เช่น หากมีการปรับ ครม.ภายในพรรค ปชป.หลังจากนี้ โดยปรับบางคนออก หรือแม้แต่หากไม่ปรับ ซึ่งทั้งสองกรณียังไงก็ต้องมีคนในพรรค ปชป.ไม่พอใจตามมา มันก็อาจเกิดจังหวะผสมโรงจนเกิดกลุ่มก้อนการเมืองภายในพรรค ปชป. ที่ไม่พอใจจุรินทร์ขยายวงมากขึ้น จนคลื่นเล็กๆ รวมตัวกันมากขึ้น แล้วกลุ่มจุรินทร์บริหารจัดการไม่ดี ต่อให้พรรค ปชป.ไม่ถึงกับปั่นป่วนแบบพลังประชารัฐแบบทันทีทันใด แต่ก็อาจทำให้ภายในพรรคไร้เอกภาพ มีปัญหาการช่วงชิงการนำกันภายในพรรคตลอดเวลา จนอาจส่งผลต่อการคัมแบ็กของ ปชป. ที่แกนนำพรรคเคยวางเป้าหมาย จะต้องทำให้ ปชป.กลับมาเป็นพรรคที่ได้ ส.ส.อันดับต้นๆ หลังการเลือกตั้งแบบที่เคยทำได้ในอดีต ซึ่งหาก ปชป.ยังหลอมรวมคนในพรรคได้แบบไม่แนบสนิท ไม่จับมือกันเป็นหนึ่งเดียว เป้าหมายดังกล่าวมองดูแล้วอาจยิ่งไกลห่างออกไปทุกที

      คลื่นลมแรงทางการเมืองในพรรค "พลังประชารัฐ-เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์” ยามนี้ จึงน่าจับตาว่าสุดท้ายหากแกนนำของทั้งสามพรรค บริหารจัดการ-แก้ปัญหากันไม่ได้ หรือแก้ไขแล้วไม่ดีขึ้น มันจะก่อตัวเป็นพายุที่ทำเอาคนในพรรคแตกกระเซ็นกันไปคนละทิศละทางยามเมื่อพายุสงบลงหรือไม่.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"