ดับเบิ้ลซีไรต์กวีนิพนธ์ 'อังคาร จันทาทิพย์' ชวนทบทวนความหมายคำว่า ”บ้าน”


เพิ่มเพื่อน    

 

     นักอ่านประทับใจผลงานกวีนิพนธ์”หัวใจห้องที่ห้า” ของอังคาร จันทาทิพย์ ซึ่งคว้ารางวัลซีไรต์ประเภทกวีนิพนธ์ ปี 2556 ในปีนี้กวีชายวัย 45 ปี สร้างความฮือฮาวงการวรรณศิลป์อีกครั้งด้วยการคว้ารางวัลซีไรต์ ประเภทกวีนิพนธ์เป็นสมัยที่สองจากผลงานเรื่อง ”ระหว่างทางกลับบ้าน” คนวรรณกรรม แฟนนักอ่านแสดงความยินดีคึกคักหลังทราบผลการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2562 (ประเภทกวีนิพนธ์) ที่ถ่ายทอดสดผ่านเพจสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  โดยมี ม... สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานคณะกรรมการดำเนินงานรางวัลซีไรต์  พร้อมด้วยคณะกรรมการตัดสินและผู้สนับสนุน ร่วมงานที่วังสวนผักกาด วันก่อน Top of Form

Bottom of Form

     รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  กรรมการตัดสิน    กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับ อังคาร จันทาทิพย์ ได้รับรางวัลซีไรต์ปีนี้และเป็นคนแรกที่ได้ดับเบิ้ลซีไรต์กวีนิพนธ์  ก่อนหน้านี้ มีดับเบิ้ลซีไรต์มาแล้ว อาทิ ชาติ กอบจิตติ (นวนิยาย 2) , วินทร์ เลียววารินทร์ (นวนิยาย 1 เรื่องสั้น1 )  และ วีรพร นิติประภา (นวนิยาย 2)   อีกเรื่องน่ายินดีในท่ามกลางวิกฤตหนังสือ กระทบผู้เขียนและผู้จัดพิมพ์ แต่กวีนิพนธ์ส่งประกวดปีนี้ไม่น้อยและน่าสนใจ วงการกวีนิพนธ์ไทยยังดำเนินไปอย่างมีชีวิตชีวา กวีได้จดจารเรื่องราวสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นที่ประจักษ์ผ่านงานรางวัลเรื่องนี้ วัฒนธรรมวรรณศิลป์ของไทยได้รับการสืบสานและสร้างสรรค์ ผู้เขียนให้ความหมายคำว่า “บ้าน” ในหลายมิติ ใครคิดว่า บ้านเป็นที่ซุกหัวนอนอย่างเดียว คงไม่ใช่   ซึ่ง 42 ปี รางวัลซีไรต์ มีบทบาทสนับสนุนการสร้างงานใหม่ที่ดี มีคุณภาพ และสร้างสรรค์  วรรณกรรมที่ได้รับซีไรต์เป็นส่วนหนึ่งของประวัติวรรณกรรมไทยร่วมสมัย

     “  ปัจจุบันเราอาจตระหนักถึงคำว่า”บ้าน” มากขึ้น เพราะประชาชนต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ หนังสือเล่มนี้พูดถึงบ้านในมิติที่น่าสนใจหลายประการและเป็นระหว่างทางกลับบ้าน  มนุษย์ต้องมีการเดินทาง ทำให้พบปะประสบการณ์ต่างๆ ผู้เขียนได้ทำให้เราเข้าใจภาพของบ้านในฐานะบ้านของผู้ประพันธ์เอง บ้านของปัจเจกบุคคล บ้านคนพื้นถิ่นอีสาน วิถีชีวิต ความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์กับครอบครัวใหญ่ที่เป็นครอบครัวของสังคมไทย ที่มีปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก แม้จะมีปัญหาเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ แต่บ้านก็เป็นที่พักพิง และรวมอารมณ์ความรู้สึกความผูกพัน ถือได้ว่า ผู้เขียนสามารถถ่ายทอดเรื่องราวที่เป็นปัจเจกบุคคลผ่านเรื่องเล่าที่เป็นบ้านของตนเอง ไม่เพียงเท่านั้น ผู้เขียนสามารถนำพาเราในระหว่างทางกลับบ้าน เป็นบ้านที่หลากหลายบ้านของคนในสังคมไทย บ้านของคนที่ไม่มีบ้าน มีบทหนึ่งเล่าถึงวัยรุ่นแต่งงานกันอยู่บ้านเช่าเล็กๆ ยากที่จะเรียกว่าบ้าน และมีลูกน้อย แต่ในที่สุดบ้านเช่าก็เป็นบ้านได้ เพราะมีความรัก  หรือแม้แต่คนติดคุก ในที่สุดคุกก็คือบ้านเรา เป็นงานที่ให้ความหวัง อย่าท้อเมื่อพบปัญหา  “ รศ.ดร.ตรีศิลป์ กล่าว

 

.ประกาศผลรางวัลซีไรต์ ปี 2562  ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ บริพัตร พร้อมด้วยคณะกรรมการตัดสิน ร่วมงานที่วังสวนผักกาด

 

     มิติการมองบ้านของกวีผู้นี้ นายกสมาคมฯ ระบุทำให้เราฉุกคิดว่า บ้านของเราอยู่ที่ไหน เราจะนิยามบ้านว่าอย่างไร  ฉะนั้น บ้านไม่ใช่พื้นที่รูปธรรมอย่างเดียว แต่บ้าน คือ พื้นที่รวมความรัก ความเข้าใจ แต่ก็มีบ้านที่มีปัญหาขัดแย้งกัน แต่บ้านของผู้เขียนนำไปสู่บ้านหลังใหญ่ คือ บ้านในสังคมไทย บ้านในสังคมโลกนำพาเราไปถึงสงครามซีเรีย พวกที่อพยพออกมาจากบ้านตัวเองแล้วไม่มีบ้านให้กลับ  เล่มนี้มีหลายมิติกว้างไกลไปสู่มวลมนุษยชาติ เรื่องนี้วิพากษ์วิจารณ์สังคม  สงคราม การเมือง  ความขัดแย้ง แต่อังคารเป็นกวีที่ไม่ได้เกรี้ยวกราดหรือมองด้วยความโกรธแค้น แต่มองด้วยความเข้าใจ และปล่อยให้คนอ่านคิด  “ รศ.ตรีศิลป์ กล่าว

     อีกจุดเด่น รศ.ดร.ตรีศิลป์ กล่าวว่า ด้วยความเป็นพื้นถิ่นอีสานของผู้ประพันธ์ ฉันทลักษณ์ ลีลาการใช้คำ มีอารมณ์ ความรู้สึก เรียกว่า ผัสสารมณ์ สามารถสื่อสารเสียง แสง สี ความเคลื่อนไหว  ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพที่เป็นจินตภาพ และสามารถสืบทอดเรื่องเล่าของพื้นถิ่น  การใช้ภาษาถิ่น ตำนาน และเรื่องราวคนพื้นถิ่น แง่กลวิธีทางวรรณศิลป์ก็มีข้อเด่น คือ เสนอกวีนิพนธ์ที่ประสานเปรียบเทียบไปกับศิลปะแขนงอื่น  บุคคลที่ถูกลืมแล้ว เช่น ชาวนาเปรียบดั่งศิลปิน ช่างไม้สร้างบ้านเป็นผู้สร้างงานศิลปะ  เป็นมุมมองที่ให้คุณค่าคนที่เรามองข้าม เป็นงานที่ว่าด้วยบ้านในมิติกว้างไกลและลุ่มลึกขณะเดียวกัน นอกจากนั้น มีอารมณ์สะเทือนใจเป็นคุณลักษณะของกวีนิพนธ์ เรื่องเล่าที่ผ่านกวีนิพนธ์ที่มีฉันทลักษณ์เฉพาะตัว ท้ายวรรคสะบัดสะบิ้ง มี 4 พยางค์  ลีลาอาจไม่ได้เป็นไปตามขนบกลอนสุนทรภู่   ซึ่งทำให้กวีนิพนธ์ของเขามีความแปลกใหม่ ขณะเดียวกันก็มีความเรียบง่าย    บทกวีจบด้วยบทที่ว่า แม้ว่าบ้านและระหว่างทางกลับบ้านจะมีปัญหา แต่ยังคงมีความหวังและกำลังใจ สักวันจะมีรุ้งทอขึ้นมาในบ้าน ซึ่งเกี่ยวพันตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับรุ้ง   

 

   รศ.ดร.ตรีศิลป์ บุญขจร นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ   กรรมการตัดสิน  

 

     แม้จะเป็นรางวัลซีไรต์สมัยที่ 2 แต่ก็ดีใจ อังคาร จันทาทิพย์ บอกว่า  ตื่นเต้นมากกว่าได้ซีไรต์ครั้งแรก   กวีนิพนธ์เรื่องนี้เขียนขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน หลังจากเขียนผลงาน”หัวใจห้องที่ห้า”  แรงบันดาลใจตั้งต้นจากงานเรื่อง”บ้านที่ไม่มีใครอยู่”เขียนถึงครอบครัวตนเอง หลังพ่อแม่เสียชีวิต จากนั้นประเด็นต่อเนื่องและเริ่มขยายโครงสร้างของเล่ม หากเขียนเฉพาะสังคมอีสาน ความเป็นกวีนิพนธ์เล่มหนึ่งน่าจะอธิบายปรากฎการณ์ในสังคมไทยและสังคมโลกไม่พอ จึงคิดหาประเด็นร่วมสมัยที่เกิดขึ้นในสังคมโลกมาขยายต่อ เหมือนการไปยืมแบบแปลนบ้านแต่ละหลังจากสถานการณ์บางอย่าง จากผู้คนแต่ละพื้นที่ เพื่อนำเสนอสังคมปัจจุบันเกิดปรากฎการณ์อะไรบ้าง เก็บเขียนสะสมมาเรื่อยๆ

     “  ผมทำงานช้า ช้าแต่เอาชัวร์ พยายามทำงานทุกชิ้นให้ดีที่สุด และพยายามไม่ละเลยประเด็นใหญ่ในสังคม ผู้คน   วิธีการทำงานเหมือนออกแบบบ้านแต่ละส่วน งานบางชิ้นเหมือนหลังคา เสา ห้องครัว ห้องรับแขก หรือเหมือนตะปูที่ยึดโยงโครงสร้างบ้านไว้ด้วยกัน ขณะเดียวกันบ้านอาจหมายถึงโลกใบนี้ ประเด็นที่อาจอยู่ไกล แต่ไม่ไกลเลยในยุคปัจจุบัน เช่น เขียนผู้คนของประเทศซีเรีย มีอารยธรรมเก่าแก่พันกว่าปี สงครามส่งผลกระทบต่อหัวใจเรา ในฐานะนักเขียนผมเข้าใจว่า ประเด็นต้องหลากหลาย มุมมองกว้างไกล ความรู้สึกนึกคิดต้องลุ่มลึก ตนอ่านหนังสือตลอด ไม่ได้หยุด และคิดประเด็น หากลวิธีนำเสนอตลอด ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งสามจังหวัดชายแดนใต้ โลกเสมือนจริงหรือโลกออนไลน์  ต้องเสนอผ่านบทกวี เพราะเหมือนบ้านหลังหนึ่งของผู้คน เราต้องสื่อสารเล่าเรื่องของยุคสมัย “ อังคาร กล่าว 

 

 กวีนิพนธ์เรื่อง"ระหว่างทางกลับบ้าน"

 

   กวีบอกว่า เล่มนี้ มีหลายประเด็นที่ผมอยากพูด แต่มีใครอ่านนัยของระหว่างทางกลับบ้านเหมือนที่ผมตั้งไว้อีกนัยหนึ่ง มันเป็นนามธรรม ชีวิตของคนหนึ่ง เกิด การดำเนินชีวิตเหมือนระหว่างทาง และการกลับบ้านสุดท้ายมนุษย์ก็กลับสู่ความตาย อีกมุมผมพูดถึงการเดินทางออกจากบ้านของตนเอง ไปเผชิญโลก พบเจอผู้คนหลากหลาย เจอบ้านในสถานการณ์อื่นๆ แล้ววันหนึ่งผมต้องกลับบ้านตัวเองเช่นกัน บทสุดท้ายของเล่มที่ชื่อว่า บ้าน ตนเขียนสั้นมาก แค่ 4 วรรค 1 บท ความว่า  ที่ให้เกิด ที่ให้ไกล ที่ให้กลับ ที่ไม่นับเล็กหรือใหญ่ ที่ให้อยู่ ที่ชีวิตจิตวิญาณควรสร้างอณู ที่ทุกข์สุขทุกฤดูอยู่ในนั้น ฝากบทสรุปนี้ให้คนอ่าน

      “ การใช้กวีนิพนธ์เป็นยุทธวิธีของผม อย่างเล่มระหว่างทางกลับบ้าน ผมเลือกใช้สัญลักษณ์เป็นกลอนสุภาพทั้งหมด เพราะเหมาะที่จะนำเรื่องเล่าลงไปบรรจุ และจำนวนคำ 6-10 คำ บอกเล่าได้เต็มที่มากกว่าฉันทลักษณ์ประเภทอื่น ผมถ้วนถี่คิดให้จบจะนำเสนออย่างไร ใช้เครื่องมือแบบไหน กวีนิพนธ์มีรูปแบบ คือ ฉันทลักษณ์ เปรียบกับจานชาม ใส่อาหารให้คนอ่าน ผมต้องเตรียมให้ดีเพื่อรองรับประเด็นและมีเนื้อหาเสิร์ฟให้คนอ่าน  “ อังคาร กล่าว

 

 

     ในช่วงโควิด-19  กวีซีไรต์บอกว่า งานชิ้นหลังๆ ที่เผยแพร่ในเพจช่างเขียนพยัญชนะ ก็เขียนเรื่องบ้านอีก ในสถานการณ์เช่นนี้ตนคิดถึงฐานที่มั่นของสังคม ขณะนี้กำลังเก็บรวบรวมข้อมูล จากการสังเกตช่วงวิกฤตโควิด คนจำนวนมากอพยพออกจากเมือง กลับไปสู่บ้านของตนเอง ที่ทางที่บรรพบุรุษสร้างไว้ เป็นบ้านที่มีพ่อแม่พี่น้องอยู่ ตนมองว่าเรื่องนี้สำคัญ   คนชนชั้นแรงงานและคนชนชั้นกลางอพยพ หากสังคมกึ่งเกษตรกรรมไม่แข็งแรงจริง คนเหล่านี้จะยากลำบาก ตนจะเขียนเรื่องนี้ต่อไป

นี่คือ ที่มาที่ไปและประเด็นสำคัญที่อังคาร จันทาทิพย์ ร่วมพูดคุยผ่านการประกาศผลรางวัลซีไรต์ กวีนิพนธ์ ประจำปี 2562

 

     เสียงของกรรมการตัดสินกับผลงานรางวัลซีไรต์ 62 

 

     พิบูลย์ศักดิ์ ละครพล กรรมการตัดสิน กล่าวว่า ความรู้สึกที่ได้อ่าน “ระหว่างทางกลับบ้าน”  กวีนิพนธ์ของอังคาร จันทาทิพย์  ขอถ่ายทอดผ่านบทกวีนี้ “ ระหว่างทางกลับบ้าน อังคารรจนาไว้จับจิต คมคายถ้อยคำ งามความคิด บทกวีมีชีวิตติดตรึงตรา บ้านหลังนอกบ้านหลังใน บ้านใครเล่า บ้านของเราบ้านของโลก โศกหรรษา เหนือหลุมศพดอกไม้บ้านผ่านน้ำตา  โรยรารุ่งเรืองเห็นเป็นเช่นนั้น ระหว่างทางห้ามสะทกต่อเส้นทาง มั่นคงเคียงข้างความเชื่อมั่น ศรัทธาสิ่งไหนให้ยืนยัน ปลูกความฝันให้ความจริงได้พิงพัก ระหว่างทางกลับบ้านพบและผ่านบ้านหลังใหม่ได้ตระหนัก บ้านทุกหลังในโลกนี้ควรมีรัก ให้มนุษย์ได้พำนักจรรโลงใจ  

                 

     รศ.สุรภีพรรณ  ฉัตราภรณ์ กรรมการตัดสิน กล่าวว่า หนังสือระหว่างทางกลับบ้านมีความแตกต่างจากหนังสือเล่มอื่นๆ ที่คณะกรรมการพิจารณา จึงมีมติเอกฉันท์ได้รับรางวัล กวีนิพนธ์เล่มนี้มีเอกภาพ ทุกบทกวีเป็นตัวต่อรวมเป็นบ้านและทางกลับบ้าน อีกทั้งภาพพจน์หลักที่ชัดเจนของหนังสือ คือ ภาพบ้าน เป็นอุปลักษณ์ ลักษณะของน้ำเสียงแสดงให้เห็นถึงการจรรโลงจิตใจและจรรโลงสังคม ซึ่งหาได้ยากในยุคนี้

     “ บทแรก บทเปิดหนังสือ บ้านหนังสือ เปรียบบ้านเป็นโลกและมนุษย์ คนในบ้าน คือ คนในโลกใบนี้ พูดถึงเสาหลักของบ้านที่ยึดโยงทุกอย่าง  ความว่า  แต่ละหน้าหนังสือคือหน้าต่าง คือ ประตูเปิดสู่ทางโลกกว้างใหญ่ เปิดดวงตาหน้าต่าง กว้างออกไป เปิดประตูสู่ภายในหัวใจคน โลกภายในโลกภายนอกเปิดออกอ่าน เปิดต้นทางสร้างต้นทางการเริ่มต้น อ่านชีวิตจิตวิญญาณอ่านผู้คน สร้างแรงดลดาลใจให้แก่กัน หนังสือคือบ้านที่มีหน้าต่างเปิดออกไปสู่โลก กวีเปิดได้ดีมาก บทจบก็ให้ความหวัง กำลังใจดีมาก  แม้ในเรื่องจะมีการวิพากษ์สังคมด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล อ่อนโยน ลุ่มลึก อ่านแล้วเข้าใจ กระตุ้นให้เกิดปัญญา ความคิด ตอนจบให้ผู้อ่านนำไปคิดต่อ เป็นงานประเทืองปัญญา “

     ผศ.ดร.สรตี ปรีชาปัญญากุล  กล่าวว่า บทกวีที่พูดถึงเรื่องราวยุคโซเชียลเชื่อมโยงกับคำว่า”บ้าน” ถือว่าเป็นหนึ่งในบทเด่นกวีนิพนธ์เล่มนี้ เนื้อหาถ่ายทอดทุกคนในบ้านต่างมีโซเชียลของตัวเอง แต่โลกโซเชียลก็อยู่ภายในบ้านนั่นเอง ผู้เขียนใช้คำศัพท์ในโลกโซเชียลมาแต่งบทประพันธ์บทหนึ่งน่าสนใจมาก “ แม่ ทำหนูงง ไม่ตรงประเด็น แม่เหน็ดเหนื่อย ลูกจึงเห็นบ้านเป็นบ้าน พ่อเหนื่อยหนักตรากตรำ พ่อกรำงาน  แม่อ้างยายเป็นเรือนชานด้วยจานชาม ยึดที่มั่นคนละมุมเปล่งสุ้มเสียง นั่นนี่เสียงอิอิ เศร้า เอาแต่ห้าม 555 กี่ครั้งลูกฟังความ หุหุ พล่ามเพ้ออัลไร ไร้สาระ “ เราจะเห็นภาพทั้งกวีในแบบยุคปัจจุบันที่สะท้อนภาพปัจจุบันในชีวิตประจำวัน และมองย้อนกลับมาที่บ้านของเราเองเป็นภาพไหน เป็นอีกภาพของบ้านที่ปรากฎให้เห็นในกวีนิพนธ์เรื่องนี้  

  

 

 

 

 

 

 

               

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"