ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์วงถกกรรมาธิการฯ โอนงบกลับจากกระทรวงกลาโหมกว่า 17,000 ล้าน แฉทหารแทรกแซงเดินเก็บเอกสารกลับคืนเกลี้ยงห้องประชุม ชี้เป็นอุปสรรคต่อการทำงานของ กมธ. "เพื่อไทย" โวยถูกลดโควตา กมธ.สามัญกลายเป็นเสียงข้างน้อยในหลายคณะ กระทบการทำงานตรวจสอบรัฐบาล
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.63 ที่รัฐสภามีการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย จากส่วนราชการกลับเข้าสู่งบกลางเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิด-19 โดยกรรมาธิการจากซีกพรรคฝ่ายค้านวอล์กเอาต์ออกจากที่ประชุม ลงมาแถลงเปิดเผยถึงปัญหาและอุปสรรคการทำงานของคณะกรรมาธิการ ที่ไม่สามารถพิจารณาปรับลดงบประมาณในวงเงิน 88,000 ล้านบาทได้
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รองประธานกรรมาธิการฯ แถลงว่า การพิจารณาปรับลดงบประมาณรายจ่ายจากหน่วยงานต่างๆ ครั้งนี้ มีการตัดงบหลายโครงการที่มีความจำเป็นมาไว้ที่งบกลาง ไม่สามารถนำงบประมาณจาก พ.ร.ก.กู้เงินมาทดแทนได้ ประกอบกับงบประมาณที่มีการโอนกลับมาให้รัฐบาล ส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้เกี่ยวกับการแก้ปัญหาภัยแล้ง ซึ่งเป็นผลประโยชน์ของคนเพียงกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ทั้งที่ยังมีปัญหาสถานการณ์โควิด-19 และปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่จะต้องเร่งฟื้นฟู ประกอบกับในรายละเอียดงบประมาณก็ไม่ชัดเจน มีเพียงเอกสาร 2 แผ่นที่มาชี้แจงต่อกรรมาธิการ จึงอยากให้รัฐบาลรับฟังความเห็นปรับโอนงบประมาณจากโครงการที่จำเป็น
นายวรวัจน์กล่าวต่อว่า ในส่วนการพิจารณางบประมาณที่มีการโอนกลับจากกระทรวงกลาโหมกว่า 17,000 ล้านบาทนั้น ระหว่างการชี้แจงจากผู้แทนกระทรวงกลาโหมได้ให้เอกสารที่มีหัวเอกสารระบุว่าเป็นเอกสารลับ และระหว่างที่พิจารณาไม่นานก็มีนายทหารมาเดินเก็บเอกสารกลับคืนทั้งหมด จึงเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของคณะกรรมาธิการ เพราะข้อมูลเหล่านี้มีความจำเป็นและไม่น่าจะอยู่ในชั้นความลับ เพราะเป็นงบประมาณที่ถูกปรับโอนไว้ ประกอบกับเป็นสิทธิของกรรมาธิการตามรัฐธรรมนูญ ที่สามารถเรียกข้อมูลดังกล่าวได้ แต่นายวราเทพ รัตนากร ในฐานะประธานในที่ประชุม ก็ไม่อนุญาตให้เรียกเอกสารจากกระทรวงกลาโหมอีก ถือเป็นการปิดกั้นการทำหน้าที่อย่างมาก
น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กรรมาธิการวิสามัญ กล่าวว่า การพิจารณางบของกระทรวงกลาโหมไม่มีรายละเอียดเปิดเผยที่ชัดเจน รู้สึกเป็นงบประมาณที่ไม่สามารถแตะต้องได้ มีการอ้างว่าเป็นชั้นความลับมาก ต้องเซ็นลายมือชื่อทุกครั้งที่รับ และเก็บเอกสารคืนในระยะเวลาที่รวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถพิจารณาได้ครบถ้วน รวมถึงข้อมูลการโอนงบประมาณส่วนอื่นๆ ก็ไม่มีการระบุรายละเอียดที่ชัดเจนเช่นกัน ทำให้ต้องมีหนังสือถึงประธานกรรมาธิการเพื่อขอเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้มาชี้แจงรายละเอียดด้วยตัวเองแทน แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากประธาน
ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการวิสามัญสัดส่วนของพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การให้เจ้าหน้าที่ทหารชั้นผู้น้อยมาเรียกเก็บเอกสารกลางที่ประชุมเป็นเรื่องที่ไม่ชอบด้วยวิธีปฏิบัติ จึงฝากติงถึงผู้ใหญ่ในกระทรวงกลาโหมว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะการพิจารณากรรมาธิการจะต้องเขียนรายงานข้อสังเกต จำเป็นต้องมีเอกสารรายละเอียดมาประกอบการพิจารณา เพื่อดูว่าเหตุใดหน่วยรับงบประมาณยอมตัดงบประมาณคืนกลับมาที่งบกลาง ทั้งที่งบประมาณบางส่วนก็มีความจำเป็น โดยเฉพาะงบด้านบุคลากรทางการแพทย์ งบประมาณด้านสาธารณสุข จึงอยากให้นายกรัฐมนตรีมาชี้แจงต่อกรรมาธิการ ในฐานะผู้ที่จะนำงบประมาณส่วนนี้ไปใช้ แต่ในกรรมาธิการพยายามบ่ายเบี่ยง อ้างว่าการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปกติจะไม่มีการเชิญคณะรัฐมนตรีมาชี้แจง ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายปกติ และเพิ่งมีการตั้งคณะกรรมาธิการเป็นฉบับแรก เพราะ พ.ร.บ.โอนงบประมาณ 4 ฉบับที่ผ่านมาผ่านการลงมติโดย สนช.ในยุคเผด็จการ จึงไม่มีการตั้งกรรมาธิการ
"จากปัญหาทั้งหมดจึงเป็นอุปสรรคที่ทำให้คณะกรรมาธิการไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นต้องรอว่ากระทรวงกลาโหมจะมีการส่งเอกสารมาให้กรรมาธิการอีกครั้งหรือไม่ หรือนายกรัฐมนตรีจะมาชี้แจงด้วยตัวเองได้หรือไม่ เบื้องต้นได้หารือกับนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ข้อสรุปว่ายังไม่มีการบรรจุเป็นวาระเพื่อพิจารณาลงมติในวาระ 2 และ 3 ในสัปดาห์นี้ได้ เนื่องจากระยะเวลากระชั้นชิดเกินไปและยังไม่มีความชัดเจนหลายเรื่อง แต่ก็ไม่อยากให้เกินสัปดาห์หน้าเพราะเป็นงบประมาณที่มีความจำเป็น" นายเรืองไกรกล่าว
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย แถลงว่า ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันที่ 10 มิ.ย.จะมีการพิจารณาตั้ง กมธ.สามัญประจำสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นผลมาจากกรณีการยุบพรรคอนาคตใหม่และกรณีมี ส.ส.เสียชีวิต จึงต้องปรับโครงสร้างกันใหม่ เรื่องนี้ฝ่ายค้านกังวลเพราะโดยประเพณีแล้ว กมธ.ที่จะปรับโครงสร้างใหม่เป็นชุดที่ตรวจสอบการทำงานฝ่ายรัฐบาล ดังนั้นโควตาดังกล่าวต้องตกเป็นของฝ่ายค้าน เช่น กมธ.ป.ป.ช., กมธ.ติดตามการใช้งบประมาณ แต่มีการเจรจากันยากเพราะฝั่งรัฐบาลก็ต้องการเติมคนเข้ามา ทราบว่าจะเติมเบอร์ใหญ่เข้ามา ทำให้สัดส่วนโครงสร้างเปลี่ยน ทำให้ฝ่ายค้านกลายเป็นเสียงข้างน้อยใน กมธ. โดยเฉพาะใน กมธ.ป.ป.ช.จะตรวจสอบรัฐบาลไม่ได้ เขี้ยวเล็บกลไกการสอบฝ่ายค้านจะพิการทันที เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับ กมธ.หลายคณะที่ฝ่ายค้านเป็นประธาน กมธ. เพราะสมาชิกใน กมธ.เป็นฝ่ายรัฐบาลเยอะกว่า ในสัดส่วนที่ประธาน กมธ.ของฝ่ายค้านแทบจะทำงานไม่ได้
"เมื่อเป็นเช่นนี้ฝ่ายค้านเป็นห่วงว่า กมธ.ตรวจสอบใน กมธ.จะทำไม่ได้ จึงคิดว่าต้องเจรจากันและจะขอหารือกับประธานสภาในที่ประชุมด้วย เพราะถ้าปล่อยให้เป็นสภาพเช่นนี้ กมธ.ชุดที่ทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลจะทำงานไม่ได้ ทำให้ไม่มีหลักการถ่วงดุล" นายสุทินกล่าว
นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะ กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการพิจารณาแต่งตั้ง กมธ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบที่ว่างลง 1 ตำแหน่ง แทนนายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.ชาติไทยพัฒนา ที่ลาออกจาก กมธ.ว่า โควตา กมธ.ที่จะมาแทนนายจุลพันธ์ควรเป็นของฝ่ายค้าน เพราะเดิมนายจุลพันธ์ เป็นอดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ แต่เมื่อมีการยุบพรรคอนาคตใหม่จึงย้ายไปอยู่พรรคชาติไทยพัฒนา ก่อนที่นายจุลพันธ์จะลาออกจาก กมธ.ป.ป.ช. ดังนั้นควรคืนโควตาเดิมให้พรรคฝ่ายค้าน
นายธีรัจชัยกล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายค้านเสียเปรียบมากใน กมธ.ป.ป.ช. จากเดิมที่เคยเป็นเสียงข้างมาก ใน กมธ.มี 8 เสียง ฝ่ายรัฐบาลมี 7 เสียง ต่อมานายจารึก ศรีอ่อน และนายจุลพันธ์ อดีต ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ย้ายไปอยู่ฝ่ายรัฐบาล ทำให้ฝ่ายค้านกลายเป็นเสียงข้างน้อยทันทีใน กมธ. เหลืออยู่ 6 เสียง ทำอะไรแทบไม่ได้ ถ้ารอบนี้ฝ่ายรัฐบาลได้โควตา กมธ.แทนนายจุลพันธ์ที่ลาออกไป ฝ่ายรัฐบาลจะมีเสียงข้างมากใน กมธ.เป็น 9 เสียง แต่ฝ่ายค้านมี 6 เสียง ถือว่าไม่ควรอย่างยิ่ง
"กมธ.ป.ป.ช.มีบทบาทสูงในการตรวจสอบรัฐบาล ไม่ควรให้การเมืองเข้ามาแทรก ถ้าเสียงฝ่ายค้านใน กมธ.ถูกถ่างมากขึ้น การทำงานตรวจสอบรัฐบาลจะลำบากขึ้น ขณะนี้วิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านกำลังเจรจากันอยู่ว่าโควตา กมธ.ที่ว่างลงควรตกเป็นของฝ่ายใด" ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลกล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |