ฟื้นอย่าง'ทุลักทุเล' ดีกว่า'เจ้าหญิงนิทรา'


เพิ่มเพื่อน    


    ไทยจะฟื้นจากวิกฤติโควิด-19 เมื่อไหร่? คือคำถามที่รอคำตอบจากทุกฝ่าย
    แต่ต้องยอมรับกันตั้งแต่ต้นว่าไม่มีใครมีคำตอบที่แน่นอน...เพราะมีปัจจัยสำคัญๆ ที่ “อยู่เหนือการควบคุม” มากมาย
    ปัจจัยผัวผวนที่สำคัญที่สุดคือจะมีวัคซีนเมื่อไหร่...ถึงวันนี้เป็นคำถามที่มีคำตอบ
    แต่หลักของการฟื้นจากวิกฤติในประวัติศาสตร์โลกที่ผ่านมาบอกชัดว่าจะต้องมี 3 R 
    นั่นคือ Relief เยียวยา
    จากนั้นต้องเป็น Recovery คือฟื้นฟู
    และ Reform คือการปฏิรูป
    ตอนนี้เรายังอยู่ใน R ตัวแรก และยังไม่รู้ว่าจะเข้าสู่ R ตัวที่สองเมื่อไหร่
    ถ้าเข้าสู่ R ตัวที่สองแล้วจะต้องใช้เวลานานเท่าไหร่ ใช้เงินอีกเท่าใด ก็ไม่มีใครบอกได้
    กว่าจะเข้า R ตัวที่สามคงจะไม่น้อยกว่า 3-5 ปี
    ก่อนจะเข้าสู่ฟื้นฟูต้องทำให้ได้ 3 T ก่อน
    นั่นคือ Targeted หมายถึงการแก้ปัญหาให้ตรงจุด มีเป้าหมายที่ชัดเจน
    ตามมาด้วย Timing ซึ่งแปลว่าจะต้องได้จังหวะที่ถูกต้องเหมาะสม ช้าไปนิดเดียวก็พลาดเป้า และเร็วเกินไป แรงเกินไปก็จะมีผลกระทบจนผู้ป่วยอาจเข้าสู่อาการหนัก ล้มหายตายจากได้
    แต่ทั้งหมดนี้จะต้องไม่ลืมว่าทุกอย่างต้องเป็นเรื่องชั่วคราว ไม่ลากยาว ไม่ยืดเยื้อ ไม่เอาเรื่องระยะสั้นกลายเป็นแผนถาวร จึงเป็นที่มาของ T ตัวที่สามคือ Temporary
    เราอยู่ในช่วงแรกๆ ของกระบวนการอันหนักหน่วง และจำเป็นจะต้องมีสมาธิและยุทธศาสตร์ที่ถูกต้อง อีกทั้งต้องปรับตามสถานการณ์ได้ตลอดเวลา
    ผมเห็นด้วยกับ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่บอกว่าการฟื้นสู่ภาวะปกติจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2-3 ปี
    และจะเป็นการฟื้นแบบ “ทุลักทุเล”
    เห็นภาพเลยใช่ไหมว่าจะไม่มีอะไรราบเรียบ จะไม่มีสูตรที่ไม่เจ็บปวด และจะไม่มีสูตรไหนที่จะทำได้อย่างสบายๆ
    ดร.ศุภวุฒิบอกในการสัมมนาของ “ประชาชาติธุรกิจ” สัปดาห์ก่อนว่าเศรษฐกิจไทยก่อนโควิด-19 ก็เริ่มอ่อนแรงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2561 ซึ่งจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2562 โตแค่ 1.9-2% พอมาเจอโควิดก็ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยลดลงต่ำสุดในไตรมาส 2 ปีนี้ 
    และอาจติดลบถึง 10% 
    “ขณะที่เราจะยังไม่ผ่านพ้นโควิด-19 และจะต้องอยู่กับโควิดไปประมาณ 1 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะว่าหากมีการค้นพบวัคซีนที่ทำได้สำเร็จจริงๆ ภายในต้นปีหน้า กว่าทุกคนจะได้ฉีดวัคซีนคงกลางปีหน้าเป็นอย่างเร็ว และอย่างที่ทราบว่าจะมีไวรัสตัวอื่นๆ ที่จะมาเยือนเราอีก 4-5 ปีมาสักครั้ง แต่ตอนนี้ทุกคนเริ่มตื่นตัวแล้ว รอบหน้าต้องเตรียมให้ดีกว่านี้”
    ดร.ศุภวุฒิบอกว่าถ้ารัฐบาลยังไม่เร่งผ่อนคลายการเปิดเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า จะฟื้น “แบบพิการ” หรือฟื้นตัวอย่าง “ทุลักทุเล”
    “ลองคิดดูง่ายๆ ตามเงื่อนไขมาตรการ social distancing ลิฟต์ที่เราจะขึ้นตึกจะเขียนว่าสามารถจุได้ 24 คน แต่ตอนนี้เหลือ 8 คน รถโดยสาร เครื่องบินต่างๆ เช่นเดิมทีบินได้ 300 คน ก็จะเหลือสักกว่า 100 คน เช่นที่ซีอีโอสายการบินแควนตัสออกมาบอกว่า ถ้าให้ทำแบบนั้น ค่าโดยสารจะต้องปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า เพราะฉะนั้น การฟื้นตัวจะเป็นไปแบบทุลักทุเลแน่นอน” ดร.ศุภวุฒิบอก
    ดร.ศุภวุฒิเปรียบเทียบว่า มาตรการล็อกดาวน์เศรษฐกิจเพื่อปราบโควิด เปรียบเสมือนให้ “เศรษฐกิจกลั้นหายใจ” ซึ่งกลั้นนานไม่ได้ ขณะที่ไทยมีจุดแข็งด้านสาธารณสุข ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 3-4 คน ซึ่งจริงๆ ถ้าไม่เกิน 100 คน สาธารณสุขของประเทศยังเอาอยู่ 
    เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องกล้าเปิดเศรษฐกิจให้มากๆ เพื่อให้ประชาชนเอาตัวเองรอด ขณะที่ระบบสาธารณสุขประเทศทำได้ดีมานานแล้ว แต่ทำไมยังไม่ให้ธุรกิจสตาร์ท ซึ่งน่าจะให้รีบวิ่งได้เร็วๆ ที่สุด โดยรัฐรับความเสี่ยงตรงนี้ไป เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจรับความเสี่ยงในการไปฟื้นธุรกิจ 
    “แต่ตอนนี้รัฐบาลบอกให้คอยอยู่ที่เส้นรอสตาร์ท ซึ่งระหว่างรอนี่เหมือนกลั้นหายใจ และมีความเสี่ยงสูงมาก การกลับมาทำธุรกิจก็ไม่ง่าย ข้อมูลภัทรพบว่า กลุ่มเอสเอ็มอีไทยมีสายป่านอยู่ได้แค่ 2 เดือน เอสเอ็มอีนับล้านแห่งจะมีปัญหามาก แม้กระทั่งบริษัทใหญ่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากการประเมินก็พบว่ามีสายป่านประมาณ 5 เดือนเท่านั้น” ดร.ศุภวุฒิบอก
    การปรับดุลระหว่าง “สุขภาพสาธารณสุข” กับ “สุขภาพปากท้อง” จึงต้องเกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน เพราะสถานการณ์เปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา
    จะฟื้นแบบทุลักทุเลก็ยังดีกว่าหลับไม่ตื่น ฟื้นไม่เป็น!.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"