ฟัน9เปรตโกงเงินทอนวัด เด็กพท.ราวีนาฬิกาป้อม


เพิ่มเพื่อน    

ป.ป.ช.เตรียมแถลงฟัน "บิ๊ก พศ." 9 ราย โกงเงินทอนวัดชายแดนใต้ มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท 8 ม.ค.นี้ "วรวิทย์" กั๊กรับลูก "วิษณุ" แก้ประกาศ จนท.รัฐรับของไม่เกิน 3 พันบาท อ้างยังไม่มีการหารือในที่ประชุมบอร์ด แบะท่ารอดู "พ.ร.ป.ป.ป.ช." ประกาศใช้อีกที "เรืองไกร" ตามบี้นาฬิกาหรู "ประวิตร" ต่อ 
    เมื่อวันอาทิตย์ มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า ในวันจันทร์ที่ 8 ม.ค. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะแถลงมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จำนวน 9 คน กรณีทุจริตเงินค่าสนับสนุนสำหรับจัดทำโครงการอบรมพระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประจำปี 2558 ของวัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 3 วัด มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท
    โดยคดีแรก กรณีกล่าวหานายเสถียร ดำรงคดีราษฎร์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนา จ.สงขลา เรียกรับเงินที่ พศ. โอนเงินค่าสนับสนุนสำหรับจัดทำโครงการอบรมพระธรรมทูตเผยแผ่พระพุทธศาสนา ประจำปี 2558 ให้แก่วัดชลธาราวาส ต.ตันหยงมัส อ.ระแงะ จ.นราธิวาส จำนวน 4 ล้านบาท ซึ่งนายเสถียรเสนอว่าจะให้วัดจำนวน 8 แสนบาท และให้โอนกลับมาให้นายเสถียรจำนวน 3.2 ล้านบาท 
    ส่วนอีก 2 คดี เป็นวัดในจังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นเดียวกัน โดยมีการทุจริตในลักษณะเดียวกัน ซึ่ง ป.ป.ช. ได้ใช้กรณีของนายเสถียรเป็นโมเดลในการตรวจสอบการทุจริตเงินทอนวัดในวัดอื่นๆ
    ทั้งนี้ กรณีนายเสถียร สืบเนื่องจากพระครูบริหารสังฆานุวัตร เลขานุการเจ้าคณะจังหวัดนราธิวาส ได้ประสานไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณในการจัดกิจกรรมและการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดชลธาราวาส เพราะพบว่ามีพิรุธ โดยเริ่มจากเมื่อวันที่ 20 ส.ค.2558 นายเสถียรได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังพระครูบริหารสังฆานุวัตรทางโทรศัพท์มือถือส่วนตัว แจ้งว่า เงินอุดหนุนโครงการจัดกิจกรรมและเผยแผ่พระพุทธศาสนาปี 2558-2559 จำนวน 4 ล้านบาท ที่เข้าบัญชีของวัดชลธาราวาส หากทางวัดได้รับเงินเรียบร้อยแล้ว ให้แบ่งเก็บไว้ใช้จ่ายในการดำเนินการตามโครงการ 8 แสนบาท และให้นำเงินที่เหลือ 3.2 ล้านบาท มามอบให้กับตัวเอง เพื่อจะได้แบ่งจ่ายให้กับวัดอื่นต่อไป พร้อมกับมีการนัดหมายให้นำเงินมาส่งมอบที่บริเวณลานจอดรถหน้าห้างโลตัส สาขา อ.เมืองสงขลา
    ต่อมาวันที่ 21 ส.ค.2558 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), สำนักงาน ป.ป.ช. จ.สงขลา, สตง.ภาค 15 และ สภ.เมืองสงขลา ร่วมกันวางแผนจับกุม โดยซ้อนแผนให้พระครูบริหารสังฆานุวัตร นำเงินสดจำนวน 3.2 ล้านบาท ซึ่งมีการถ่ายสำเนาไว้เป็นหลักฐานมามอบให้ 
    กระทั่งเวลา 17.30 น. มีรถตู้สีเทาของสำนักงานพระพุทธศาสนา จ.สงขลา ขับเข้ามาจอดติดกับรถของวัดชลธาราวาส และนายเสถียรได้ลงมาจากรถ เดินไปพูดคุยกับพระครูบริหารสังฆานุวัตร และพระครูบริหารสังฆานุวัตรได้ส่งมอบเงินให้ และนายเสถียรได้เดินทางไปขึ้นรถตู้ เจ้าหน้าที่ซึ่งวางกำลังอยู่รอบๆ บริเวณจึงแสดงตัวเข้าจับกุมพร้อมของกลางเงินสด ก่อนที่ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช.จะตั้งอนุกรรมการไต่สวนคดีดังกล่าว โดยมี พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวน
    อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงเดือน ธ.ค.60 คณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยชี้มูลความผิดเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ พศ. จำนวน 3 ราย ประกอบด้วย นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีต ผอ.พศ., นายพนม ศรศิลป์ อดีต ผอ.พศ. และ น.ส.ประนอม คงพิกุล อดีตรอง ผอ.พศ. กรณีทุจริตงบประมาณโครงการเงินอุดหนุนการบูรณปฏิสังขรณ์วัด และการพัฒนาวัดของ พศ. ที่อนุมัติให้แก่วัดพนัญเชิงวรวิหาร ต.กระมัง อ.เมืองฯ จ.พระนครศรีอยุธยา ประจำปีงบประมาณ 2557 และประจำปีงบประมาณ 2558 รวมมูลค่าความเสียหาย 13 ล้านบาท
    โดยพฤติการณ์ของขบวนการทุจริตเงินทอนวัด ได้มีการวางแผนและแบ่งหน้าที่กันกระทำความผิดเป็นขั้นเป็นตอน โดยจะมีกลุ่มบุคคลทำหน้าที่ติดต่อวัดต่างๆ โดยแจ้งว่าจะมอบเงินอุดหนุนบูรณปฏิสังขรณ์ และการพัฒนาวัด แต่มีเงื่อนไขว่าวัดจะต้องมอบเงินกลับคืนเพื่อนำไปใช้ในกิจการของ พศ. ในการจัดสรรให้แก่วัดต่างๆ     ต่อมากลุ่มบุคคลดังกล่าวจะนำรายชื่อวัดที่เชื่อตามคำกล่าวอ้างไปทำเอกสารการอนุมัติเงินอุดหนุนให้แก่วัด โดยไม่มีคำขอรับเงินอุดหนุนของวัดประกอบการพิจารณาอนุมัติเงินให้แก่วัดตามขั้นตอนและระเบียบแบบแผนของทางราชการ และเมื่อ พศ.ได้โอนเงินอุดหนุนเข้าบัญชีเงินฝากของวัดแล้ว กลุ่มบุคคลดังกล่าวจะแจ้งให้วัดโอนเงินหรือรับเงินกลับคืนมา แล้วนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวโดยทุจริต
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันคดีเงินทอนวัดที่อยู่ในการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีทั้งสิ้น 97 คดี แบ่งเป็นสำนวนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.ตร.) ที่ส่งมาจำนวน 2 ล็อต รวม 35 คดี และยังมีที่ประชาชนร้องเรียนกรณีทุจริตเงินทอนวัดปีงบประมาณ 2557-2558 อีก 62 แห่ง โดยพฤติกรรมการทุจริตมีลักษณะคล้ายคลึงกัน
    ขณะที่นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุทาง ป.ป.ช.เตรียมแก้ไขประกาศ ป.ป.ช. เพื่อเพิ่มมูลค่าให้รับ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐ จากเดิม 3,000 บาท เพื่อให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบันว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่เคยมีการหารือกันในที่ประชุม คณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่อย่างใด 
    นายวรวิทย์กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายกฎหมายกำลังร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ป.ป.ช.ที่จะต้องประกาศใช้ตามรัฐธรรมนูญใหม่ จึงไม่ทราบว่าเกณฑ์จำนวนมูลค่าในการรับทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น จะถูกบรรจุอยู่ในมาตราใด ซึ่งข้อเสนอของนายวิษณุเป็นเพียงความเห็นหนึ่ง ที่ต้องขอบคุณ แต่หลักการทำงานของ ป.ป.ช. เมื่อจะมีการยกร่างกฎระเบียบหรือประกาศใด จะต้องรับฟังความเห็นของหลายๆ ฝ่าย เพื่อให้เกิดความรอบคอบรอบด้าน 
    "เรื่องเกณฑ์การรับของมีค่าของเจ้าหน้าที่รัฐ มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้นการรับฟังความเห็นน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด แต่คงไม่ถึงขั้นต้องเปิดเวทีรับฟัง เพียงแต่ฟังเสียงสะท้อนแนวคิดนี้จากสังคม เพราะเรื่องนี้บางคนบอกว่าตัวเลข 3,000 บาทมีมานานแล้วตั้งแต่ปี 2542 ควรปรับปรุง แต่บางคนเห็นว่าการให้ประมาณนี้เป็นเกณฑ์ที่เหมาะสมดีอยู่แล้ว ซึ่งส่วนตัวผมมองว่าเกณฑ์ที่มีอยู่เดิมยังมีความเหมาะสมอยู่" เลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าว
    ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และอดีตประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า ข้อเสนอให้มีการแก้ไขประกาศ ป.ป.ช. เพื่อเพิ่มมูลค่าให้รับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐ จากเดิม 3,000 บาท ส่วนตัวเห็นด้วย ในอดีตคณะกรรมการ ป.ป.ช.เคยมีการหารือเพื่อให้แก้ไขประกาศดังกล่าว เพื่อให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงของค่าครองชีพในปัจจุบันนั้นๆ เพราะประกาศของ ป.ป.ช.ได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2542 แล้ว จึงอาจล้าสมัยไปบ้าง 
    วันเดียวกัน นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ป.ป.ช.แถลงเกี่ยวกับการตรวจสอบนาฬิกาหรูราคาแพงกว่า 10 เรือนที่ปรากฏอยู่บนข้อมือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่ามีข้อกังขาในแนวทางการตรวจสอบหลายประเด็น ดังนั้นสิ่งที่ ป.ป.ช.ต้องทำอันดับแรกคือ ควรขอให้ พล.อ.ประวิตรส่งมอบนาฬิกาทั้งหมดที่อยู่ในความครอบครองมาให้ ป.ป.ช.ยึดไว้เพื่อทำการตรวจสอบก่อน และหากจำเป็น ก็ควรใช้อำนาจตาม พ.ร.ป.ป.ป.ช. 2542 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 79 ยึดหรืออายัดนาฬิกาเพื่อตรวจสอบที่มาที่ไป หลักฐานการครอบครองไว้ก่อน แล้วจึงไปสอบพยานเอกสารหรือพยานบุคค
    หากพิจารณาจากที่ ป.ป.ช.เคยตรวจสอบนาฬิกาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ขายไปก่อนดำรงตำแหน่งนายกฯ ซึ่ง ป.ป.ช.ก็ยังไปตรวจสอบโดยอ้างว่าเรื่องดังกล่าวปรากฏเป็นข่าวและเป็นที่สนใจของสาธารณชน จึงมีความจำเป็นต้องทราบข้อเท็จจริงและเอกสารที่เกี่ยวกับความมีอยู่จริงของนาฬิกาเพื่อตรวจสอบว่านาฬิกานั้น ให้ใครไปซื้อ ซื้อยี่ห้อใด รุ่นใด จากที่ใด ต่อมาขายให้ใคร มูลค่าเท่าใด ชำระราคาอย่างไร เมื่อเทียบกับกรณีของ พล.อ.ประวิตร ป.ป.ช.ก็ต้องตรวจสอบในทำนองเดียวกัน" นายเรืองไกรกล่าว
    คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า จะไปยื่นหนังสือร้องเพื่อให้ ป.ป.ช.ดำเนินการในวันที่ 8 ม.ค.นี้ เวลา 10.30 น. เพื่อตรวจสอบตามประเด็นดังกล่าวเพิ่มเติมด้วย โดยเฉพาะการขออายัดนาฬิกาทั้งหมดมาไว้ก่อน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"