ไทยพบผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย กลับจากปากีสถาน-ยูเออี-สหรัฐ ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศ 14 วันแล้ว ศบค.ปรับรูปแบบแถลง ใช้ทำเนียบฯ แค่จันทร์-พุธ-ศุกร์ "วิษณุ" แบะท่าต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้หลายอย่างใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อแทนไม่ได้ กห.รับขอข้อมูลมือถือ ปชช. ยังอยู่ขั้นทดลองไว้คุมระบาดรอบ 2
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน เวลา 11.30 น. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทย มีผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย ทั้งหมดอยู่ในสถานกักตัวของรัฐ ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสม 3,119 ราย หายป่วยสะสม 2,973 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม ยอดสะสมคงที่ 58 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัว 88 ราย
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่ 7 ราย มาจากปากีสถาน 2 ราย เป็นนักศึกษาชาย อายุ 28 ปี ทั้งสองคนเดินทางถึงไทยวันที่ 6 มิ.ย. เข้าพักในสถานกักตัวของรัฐที่ กทม.ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. อีก 4 ราย มาจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นเพศหญิง 3 ราย เป็นพนักงานนวด อายุระหว่าง 39-43 ปี และเด็กนักเรียนชาย อายุ 11 ปี เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. เข้าพักในสถานกักตัวของรัฐที่ กทม. ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. รายสุดท้ายเป็นหญิงไทย อายุ 37 ปี เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา ถึงไทยเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. เข้าพักในสถานกักตัวของรัฐที่ กทม. ตรวจพบเชื้อโควิด-19 เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. ทุกรายไม่มีอาการ
อย่างไรก็ตาม 14 วันแล้วที่ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อในประเทศ พร้อมยืนยันว่าเรายังมีการค้นหาเชิงรุกอยู่ แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ และจนถึงขณะนี้ตรวจไปแล้ว 468,175 ตัวอย่าง ทั้งนี้ สัปดาห์นี้ยังต้องลุ้น ถ้าปลายสัปดาห์นี้ทุกอย่างเรียบร้อยจะเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 4 ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมากขึ้น แต่ทุกคนต้องช่วยกัน
ส่วนสถานการณ์ทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อแตะ 7 ล้านรายวันแรก ผู้ป่วยรายใหม่วันนี้มีสูงถึง 111,755 ราย ทำให้ยอดสะสมอยู่ที่ 7,086,476 ราย และเสียชีวิตสะสม 406,126 ราย และถือเป็นวันแรกที่สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยสะสมแตะ 2 ล้านราย สำหรับข่าวที่น่าสนใจในต่างประเทศ เกาหลีใต้ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยมีการระบาดใน 3 กลุ่มใหม่ คือ ผู้ที่ทำกิจกรรมในโบสถ์ กลุ่มบริษัทขายสินค้าตามบ้าน และโรงยิมปิงปอง เหล่านี้เราต้องนำมาศึกษา นอกจากนี้ ในวันที่ 8 มิ.ย. จะมีคนไทยเดินทางกลับมา 3 เที่ยวบิน จำนวน 504 ราย และวันที่ 9 มิ.ย. 5 เที่ยวบิน จำนวน 498 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้ให้นโยบายมาว่า ในขณะนี้อยู่ในช่วงการผ่อนคลายระยะที่ 3 แล้ว ตัวเลขต่างๆ ในประเทศดีขึ้น ประชาชนรับทราบการดูแลสุขภาพตัวเอง จึงจะมีการปรับรูปแบบการแถลงข่าวของ ศบค. โดยจะให้ตนแถลงทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล ส่วนวันอังคารและพฤหัสบดี จะให้ พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงที่กระทรวงสาธารณสุข ขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์ จะดูตามสถานการณ์ แต่จะต้องนำเสนอผ่านเพจเฟซบุ๊กไทยคู่ฟ้าและ ศบค. เพื่อให้ประชาชนสามารถรับทราบข้อมูลได้
ทั้งนี้ แม้จะไม่มีการแถลงข่าว แต่ไม่ได้ทำงานน้อยลง ตรงกันข้ามเราประชุมกันบ่อยมากขึ้น เพื่อเตรียมการเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 4 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูง ว่ามีความพร้อมมากแค่ไหน หากเปิดให้ประชาชนใช้บริการแล้วจะต้องมีมาตรการหลักและมาตรการเสริมอย่างไร เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 4 อย่างปลอดภัยทั้งประเทศ
พลิกโฉมชายหาดให้สวย
นอกจากนี้ ในระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ที่จะมีการเดินทางข้ามจังหวัดได้อย่างเสรี และจากกรณีหาดบางแสนที่มีนักท่องเที่ยวแออัด ผอ.ศบค.ได้ฉายภาพการปรับเปลี่ยนให้เป็นชีวิตวิถีใหม่ โดยมองว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่คนไทยจะช่วยกันดูแลชายหาดให้สวยงามเหมือนเมืองนอก ซึ่งแบ่งเป็น 4 ส่วน 1.บริเวณชายหาดที่มีโขดหินไม่สามารถเล่นน้ำทะเล ซึ่งมีร้านอาหารตั้งอยู่บนนั้น จะเปิดให้บริการได้หรือไม่ 2.บริเวณชายหาดที่มีโขดหินประปราย ให้ร้านค้าแผงลอยไปเปิดบริการตรงนั้น เพื่อให้ประชาชนได้ซื้อหาสินค้าได้หรือไม่ 3.บริเวณชายหาดที่ประชาชนสามารถลงเล่นน้ำได้ จะกันพื้นที่ไม่ให้มีการขายสินค้า และให้ประชาชนไปปิกนิก เตรียมอาหารไปรับประทานเอง และ 4.ชายหาดที่จะให้เล่นน้ำอย่างเดียว นายกฯ บอกว่าอยากเห็นภาพนี้ จะทำให้คนไทยได้ชื่นชมและใกล้ชิดธรรมชาติ เป็นไอเดียที่น่าจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ศบค.ที่จะต้องจัดชุดข้อมูลผ่านกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ รวมถึงประชาชนต้องเห็นด้วย ผู้ให้บริการต้องดำเนินการตามมาตรการ และภาครัฐควบคุมกำกับดูแล
เมื่อถามว่า การไม่พบการติดเชื้อในประเทศ 14 วัน เท่ากับเราปลอดภัยและใช้ชีวิตแบบเดิมได้แล้วหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ปลัดกระทรวงสาธารณสุขดีใจ แต่อีกด้านหนึ่งยังเบาใจไม่ได้ เพราะเคยมีกรณีที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการนานกว่า 14 วัน ดังนั้น การ์ดต้องไม่ตก เบาใจได้หน่อย แต่อย่าวางใจ จนกว่าจะยาวนานกว่านี้ เราต้องดูแลประชาชนในประเทศให้ดี ไม่นำเชื้อจากภายนอกเข้ามา ทุกอย่างยังอยู่ในการเฝ้าระวังทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นความภูมิใจของคนไทย หลายสื่อให้เครดิตประเทศไทยในการควบคุมโรค แต่ตรงนี้อยู่ที่ประชาชนทุกคนให้ความร่วมมือ ขอให้ทุกคนช่วยกันดูแลต่อเพื่อผ่านไปสู่การผ่อนคลายระยะที่ 4 และระยะที่ 5 ซึ่งมีหรือไม่ยังไม่รู้ เราต้องเป็นศูนย์อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
ทางด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาผ่อนคลายกิจการหรือกิจกรรมเพิ่มเติมว่า คณะทำงานกลั่นกรองจะใช้เวลาช่วง 2 สัปดาห์ของเดือน มิ.ย. เพื่อประเมินว่าจะใช้มาตรการอย่างไรต่อไป ส่วนตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย.จนสิ้นเดือน จะเฝ้าติดตามสถานการณ์ หากสามารถควบคุมสถานการณ์อยู่หรือดีขึ้น อัตราการติดเชื้อคงที่ หรือหากมีการติดเชื้อ ก็เป็นกรณีที่ติดจากเมืองนอก และถ้าในประเทศมีตัวเลขเป็นศูนย์ และนิ่งต่อกันได้หลายวันอย่างที่ผ่านมา การจะนำไปสู่การปลดล็อกทั้งหลายโดยสิ้นเชิงก็เป็นไปได้
ขณะนี้ได้เตรียมการไว้ทุกรูปแบบ คือกรณีแรก เตรียมการที่จะต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิก (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) และกรณีที่สอง เตรียมการที่จะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และกรณีที่สาม เตรียมการที่จะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่งดใช้มาตรการต่างๆ เช่น สามารถที่จะชุมนุมได้ เลิกเคอร์ฟิว ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่ขณะนี้ถือว่าสถานการณ์ดี
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสถานการณ์ดีเช่นนี้ การผ่อนคลายมาตรการระยะที่ 4 ก็คงจะไม่มีปัญหาใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มองจากวันนี้ก็ใช่ แต่หากเราลองปล่อยแล้วเกิดความประมาทชะล่าใจขึ้นมา ตรงนี้ก็น่ากลัว ที่เป็นห่วงคือวันที่ 1 ก.ค. เป็นต้นไปจะเป็นวันหมดอายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และยังเป็นดีเดย์การเปิดภาคเรียนและสนามบินด้วย และในขณะนี้โรงเรียนเขาก็คิดวิธีการของเขาอยู่ ทั้งเรื่องเวลาเด็กเข้าห้องน้ำ เล่นกีฬาจะทำอย่างไร ถ้าทุกอย่างคุมกันได้เองเช่นนี้ ก็วางใจได้ หากวันที่ 15-31 มิ.ย. ปลอดภัย เราก็เชื่อว่าวันที่ 1 ก.ค. ก็น่าจะปลอดภัย คนต่างชาติที่เข้ามาก็ไม่ได้เดินไปโรงเรียนอยู่แล้ว โดยอีก 3-4 วันจะเป็นวันหยุดยาว ทำให้ต้องนำทุกอย่างมาเป็นปัจจัยคิด ซึ่งยังไม่มีคำตอบในเวลานี้
แทนพรก.ฉุกเฉินไม่ได้หมด
เมื่อถามว่า มีแนวโน้มจะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพิ่มเติมหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็มีทุกทางอย่างที่ตนบอก พอไปดูพระราชบัญญัติโรคติดต่อแล้ว หลายเรื่องไม่สามารถที่จะบริหารจัดการเหมือนอย่างการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้เลย ทั้งนี้ พนักงาน เจ้าหน้าที่ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตั้งขึ้นมา ไม่สามารถที่จะบูรณาการทหารพลเรือนเข้ามาได้ แค่การนำคนลงจากเครื่องเข้ามา แล้วนำไปในสถานกักกันของรัฐ สมมติว่าเป็นพื้นที่ค่ายทหาร หากภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สามารถรับช่วงต่อบูรณาการทำงานกันได้ แต่ยังนึกไม่ออกว่าภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อจะทำอย่างไร เพราะตามกฎหมายนี้เป็นอำนาจของผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัด สมมติว่าไปสัตหีบ ก็ต้องเริ่มต้นที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ต้องออกคำสั่งเป็นทอดๆ ไปถึงสัตหีบ ค่าใช้จ่ายใครจะเป็นคนดูแล ทุกวันนี้คือรัฐ เพราะรัฐเป็นคนปิด หรือกรณีที่ผู้โดยสารนั่งเครื่องบินมาแล้วเกิดการติดเชื้อกันมาก สนามบินสุวรรณภูมิที่อยู่ในจังหวัดสมุทรปราการ ผู้ว่าฯ กล้าปิดสุวรรณภูมิหรือไม่ ไม่ให้สายการบินทั้งหมดลง แต่ทุกวันนี้ที่สั่งได้เพราะ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ส่วนกรณีเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาแบบประเทศต่อประเทศ จะมีการพิจารณาเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่นั้น รองนายกฯ กล่าวว่า เพราะไทยมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงมีการปิดสนามบิน เป็นเหตุเป็นผลต่อเนื่องกัน โดยใช้ พ.ร.บ.การเดินอากาศ ต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จึงปิดสนามบิน ถ้าเราไม่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้วไปปิดสนามบิน จะอธิบายกับสายการบินไม่ได้ วันนี้เราให้เหตุผลว่าเป็นเพราะการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จากเหตุโควิด-19 และบางอย่างแม้ไม่ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็สามารถดำเนินตามมาตรการได้ เช่น การสวมหน้ากาก และการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล
ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ผู้ที่ถูกกักกันที่สถานที่กักกันของรัฐได้มีการปรับแนวทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็น 2 ครั้ง โดยการตรวจครั้งแรกคือวันที่ 3-5 และครั้งที่ 2 คือวันที่ 11-13 ซึ่งถ้าพบว่าผลเป็นบวก แม้จะนอนดูอาการมาแล้ว 13 วัน เจ้าหน้าที่ก็จะส่งต่อโรงพยาบาลเพื่อดูแลต่ออีก 14 วัน เพราะฉะนั้นคนไทยที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ ส่วนใหญ่ร้อยละ 50 จะมีอาการ และมีบางกลุ่มที่ไม่มีอาการแต่ตรวจพบเชื้อในวันที่ 0-2 ประมาณร้อยละ 49
อย่างไรก็ตาม ในช่วง 11-12 วัน อาจมีคนที่มีอาการประมาณ 4 คน และกลุ่มที่ไม่มีอาการมีจำนวน 7 คน รวมทั้งสิ้น 11 คน จากจำนวน 175 คน ส่วนวันที่ 13-14 พบผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการจำนวน 4 คน โดยมีรายหนึ่งตรวจเจอเชื้อในวันที่ 21 ซึ่งมีโอกาสเจอเชื้อได้น้อยมาก สรุปแล้วระยะเวลา 14 วัน ในการกักกันตัวในสถานที่รัฐกักกันเป็นระยะเวลาที่เหมาะสม
เมื่อถามว่า การที่ไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ภายในประเทศติดต่อกัน 14 วัน ถือว่าสถานการณ์แบบนี้ทำให้อุ่นใจได้หรือไม่ นพ.อนุพงศ์กล่าวว่า ยังไม่สามารถนิ่งนอนใจได้ เพราะว่ากลุ่มที่ไม่มีอาการแล้วยังอยู่ที่ชุมชนอาจจะมีได้ หากประเทศไทยสามารถยืนระยะให้มีผู้ป่วยในประเทศเป็นศูนย์ต่อเนื่องไปถึงวันที่ 28 หรือครบหนึ่งเดือนจะสบายใจยิ่งกว่า โอกาสที่เจอผู้ติดเชื้ออยู่ในชุมชนแล้วไม่แสดงอาการจะมีน้อยมากๆ หรือไม่มีเลย ประกอบกับขณะนี้อยู่ในช่วงการผ่อนปรนระยะที่ 3 ถ้าจะเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ 4 จะเป็นเรื่องของกิจการหรือกิจกรรมที่ค่อนข้างจะมีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง
ส่วนที่กำหนดไว้แล้วว่าจะให้เปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.ค.นั้น หากสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ น่าจะเปิดโรงเรียน เพราะไม่อยากให้บุตรหลานเลื่อนเวลาเรียนออกไปมากกว่านี้ แต่ประสบการณ์จากต่างประเทศนั้น การเปิดโรงเรียนอีกครั้งหนึ่งมักจะมีการระบาดในโรงเรียน ซึ่งการระบาดนั้นอาจจะมาจากภายนอกโรงเรียน โดยเป็นเรื่องที่ยังเป็นห่วงอยู่ ทั้งนี้ ถ้าเปิดโรงเรียนได้อย่างปลอดภัยจะสบายใจมากกว่านี้ ทั้งนี้ แม้ว่าจะไม่พบผู้ติดเชื้อในวันที่ 14 แล้ว แต่มาตรการป้องกันต่างๆ ยังต้องมีความเข้มข้น ต้องตระหนักว่าคนที่อยู่ในชุมชน หรือว่าคนที่พบปะอาจจะมีคนที่ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ
ขอข้อมูลมือถือ ปชช.จริง
พล.อ.รักศักดิ์ โรจน์พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน (สนผ.) กระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณี น.ส.สฤนี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ เผยแพร่เอกสารของ สนผ.กลาโหม ระบุขอข้อมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ในการสนับสนุนการควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ว่า ยอมรับว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารฉบับจริง เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนโรค โดยที่ประชุมวงเล็กเรียกฝ่ายทางเทคนิคของกระทรวงกลาโหม มาสอบถามว่า สามารถเป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอติดตามสัญญาณโทรศัพท์ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 และผู้ใกล้ชิดทั้งหมด เนื่องจากกรณีสนามมวย ที่มีคนเข้าชม 2,800 คน แต่สามารถติดตามมาได้เพียง 800 คน แต่หากเรารู้ข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์ทั้ง 2,800 คน เราจะสามารถส่งข้อความไปแจ้งเตือนได้ทันที
ทั้งนี้ จึงเชิญผู้ประกอบการค่ายมือถือทั้ง 5 ค่าย โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เข้ามาควบคุมอีกชั้นหนึ่ง โดยการทำโปรแกรมกรมดังกล่าว กรมควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้น กห.ไม่ได้นำข้อมูลของประชาชนไปทำอะไร และที่สำคัญ โปรแกรมดังกล่าวยังไม่ได้บังคับใช้ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดสอบของรายแรกอยู่ เพื่อเตรียมความพร้อมหากมีการระบาดของโรคในรอบสอง
ที่ จ.ภูเก็ต มีติดเชื้อยืนยันโรคโควิด-19 จำนวน 227 ราย รักษาหายให้กลับบ้าน 224 ราย เสียชีวิต 3 ราย จำหน่าย 1 ราย ทั้งนี้ ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ติดต่อกันมา 15 วัน (รายล่าสุด วันที่ 24 พ.ค. 2563) ยังคงเน้นย้ำให้ประชาชนระมัดระวังตนเอง หลีกเลี่ยงการเดินทางไปแหล่งชุมชนและสถานที่เสี่ยง ซึ่งอาจมีผู้ติดเชื้อที่ไม่แสดงอาการ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดครั้งใหม่
ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้ครบ 7 วันของการเข้าสู่การผ่อนปรนระยะที่ 3 ซึ่งจากการตรวจติดตามของทางจังหวัด พบว่าทุกหน่วยงานได้ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามระเบียบที่รัฐบาลกำหนด ขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่มีความคุ้นชินกับการปฏิบัติตนวิถีใหม่ หรือ New Normal กันอย่างแพร่หลาย ดังนั้น ขอขอบคุณชาวขอนแก่น และสถานประกอบการทุกประเภท ที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐอย่างเข้มงวด ทำให้ข้อบกพร่องหรือจุดด้อยของจังหวัดนั้นมีน้อยมาก วันนี้เราไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 มานานกว่า 1 เดือนแล้ว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |