หากคนไทยต้องตกงาน 8.4 ล้าน...


เพิ่มเพื่อน    


    ถ้าคนไทยต้องตกงาน 8.4 ล้านคน จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมไทย?
    เรากำลังถูกท้าทายอย่างชนิดที่ไม่เคยต้องเผชิญมาก่อน
    คำถามก็คือว่า ความสามารถของผู้นำ นักการเมือง และฝ่ายเอกชน มีภูมิต้านทานและเรี่ยวแรงพอที่จะประคองสถานการณ์ให้ข้ามพ้นไปได้หรือไม่
    หรือเราพร้อมจะยอมรับความจริงไหมว่า เศรษฐกิจไทยจะยังต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปีจึงจะเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
    และจะเป็นการฟื้นที่ "ทุลักทุเล" หรือแบบ "คนเดินขาเป๋" ไปอีกหลายปี
    แค่เราได้ยินว่าคนไทยเสี่ยงตกงาน 8.4 ล้านคน และเด็กจบจากมหาวิทยาลัยใหม่ปีนี้ 5.2 แสนคนจะ "หางานยาก" เราก็ต้องหันมานั่งประเมินทางหนีทีไล่กันอย่างจริงจังได้แล้ว
    สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ บอกว่าไตรมาส  1/2563 ประเทศไทยมีแรงงาน 37.4 ล้านคน ลดลง 0.7% จากปีก่อน 
    ในไตรมาสแรกโควิด-19 ยังไม่แสดงผลกระทบมากนัก สถานประกอบการขอใช้มาตรา 75 เพื่อหยุดกิจการชั่วคราว 570 แห่ง มีแรงงานต้องหยุดงานแต่ยังได้เงินเดือนราว 1.2 แสนคน 
    คาดว่าไตรมาส 2 จะมีเพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ 3.9 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน  1.03% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ 0.92%
    สภาพัฒน์คาดว่าจากผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความเสี่ยงการถูกเลิกจ้างในไทยจะเพิ่มเป็นประมาณ 8.4 ล้านคน 
    โดยอาจจะเห็นการเคลื่อนย้ายแรงงาน เช่น ย้ายสาขา ย้ายงาน ฯลฯ โดยกลุ่มที่เสี่ยงถูกเลิกจ้างแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  
    * ภาคการท่องเที่ยว คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 2.5 ล้านคน จากแรงงานรวมที่มีอยู่ 3.9 ล้านคน 
    * ภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน จากแรงงานทั้งหมด 5.9 ล้านคน
    * ภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่ท่องเที่ยว เช่น สถานศึกษา โรงเรียนกวดวิชา ตลาดสด ห้าง คาดว่าได้รับผลกระทบ 4.8 ล้านคน จากแรงงานทั้งหมด 10.3 ล้านคน 
    ในส่วนภาคเกษตร คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวม 6 ล้านคน แบ่งเป็นในพื้นที่ที่เกิดภัยแล้ง 3.9 ล้านคน และพื้นที่อื่นๆ 2.1 ล้านคน 
    บางส่วนจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทอาจช่วยบรรเทาปัญหานี้ได้บ้าง
    เช่นส่วนหนึ่งในวงเงิน 4 แสนล้านบาทจะนำมาเพิ่มการจ้างงาน โดยคาดว่าจะสามารถเพิ่มงานได้ราว 2-3 แสนงาน อาจจะเป็นการจ้างงานชั่วคราว (Part-time)
    มองโลกในแง่ดี ภายในปีนี้หากโควิดคลี่คลายลง การจ้างงานอาจจะกลับมาและทำให้ภาพรวมทั้งปี  2563 มีการเลิกจ้างรวม 2 ล้านคน คิดเป็น 3-4% ของการจ้างงานในไทยทั้งหมด 
    นั่นแปลว่าจะมากกว่าค่าเฉลี่ยการเลิกจ้างเดิมที่อยู่ราว 3-4 แสนคนต่อปี หรือราว 1% 
    ที่เห็นได้ชัดคือ การเลิกจ้างราว 2 ล้านคนถือว่าใกล้เคียงกับช่วงวิกฤติปี 2540 ทีเดียว
    กลุ่มเด็กจบการศึกษาใหม่ในปีนี้ราว 5.2 แสนคน คือคำถามใหญ่ว่าจะมีงานทำหรือไม่เพียงใด
    จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสร้างงานและจ้างงาน สภาพัฒน์มองว่าหากเด็กรุ่นนี้มีทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งอาจจะทำงานในพื้นที่ต่างๆ เช่น การเก็บข้อมูลด้านดิจิทัล ฯลฯ 
    แต่ก็ต้องยอมรับว่าโครงการจากเงินกู้ก็ไม่สามารถจ้างงานได้ทั้งหมด
    ที่น่ากังวลอีกด้านหนึ่งคือ หนี้ครัวเรือนที่ผมเห็นว่าเป็นปัญหาเรื้อรังและหนักหน่วงมากขึ้นทุกที
    ขนาดยังไม่มีโควิดก็หนักหนาอยู่แล้ว ยิ่งมีวิกฤติโรคระบาดซ้ำเติมก็ยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้น
    ตัวเลขสภาพัฒน์บอกว่าหนี้ครัวเรือนไตรมาสนี้อยู่ที่ 13.47 ล้านล้านบาท เติบโต 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน 
    อัตราหนี้สินต่อครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 79.8% มีหนี้เสีย (NPL) มูลค่า 1.5 แสนล้านบาท คิดเป็น  3.23% ต่อสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 
    ตัวเลขการขอสินเชื่อรถยนต์และสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง แต่สินเชื่อส่วนบุคคลที่ขอกู้เพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปมีมากขึ้น 
    ตัวเลขอีกชุดหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยคือเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา
    ไตรมาส 1/2563 พบว่าจำนวนเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาอยู่ที่ระดับ 6.7 แสนคน 
    ส่วนหนึ่งเกิดจากความยากจนและเกิดจากปัญหาภายในครอบครัว เช่น จำเป็นต้องดูแลคนป่วยที่อยู่บ้าน 
    ชัดเจนว่าการหลุดออกนอกระบบการศึกษาสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย โดยเฉพาะในกลุ่มครัวเรือนที่ยากจนที่สุด 10% ปัญหานี้จะส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพราะทำให้ทุนของประเทศลดลง
    ทุกวันนี้เยาวชนไทยอายุ 15-24 ปี ซึ่งไม่ได้เรียนต่อ หรือไม่มีงานทำ หรือจัดเป็นกลุ่มที่ไม่อยู่ในกิจกรรมสะสมทุนมนุษย์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ปัจจุบันอยู่ราว 1.2 ล้านคน 
    ขณะที่ "คนจน" ณ ปี 2561 มีจำนวน 6.7 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจนอยู่ที่ 9.8% จากประชากรไทยทั้งหมด 
    นิยามของสภาพัฒน์คือมีการใช้จ่ายต่ำกว่าเส้นความยากจน โดย ณ ปี 2561 อยู่ที่ 2,700 บาท
    เมื่อเกิดโควิด-19 คำถามใหญ่ก็คือว่าจำนวน "คนจน" และ "ผู้ยากไร้" จะพุ่งทะยานขึ้นมาอย่างไร
    จะมีผลทำให้ทรัพยากรที่ทุ่มเทเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประเทศที่ผ่านมา 20-30 ปีถูกลบออกไปหมดเลยหรือไม่?


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"