เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 'พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์' รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ได้โยนไอเดียในการสร้างแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งของไทย (ซึ่งเรียกกันเบื้องต้นว่า 'ไทยฟลิกซ์') โดยหลังจากมีการนำเสนอประเด็นนี้ออกไป สังคมก็วิพากษ์วิจารณ์บอกว่า เรากำลังจะไปก๊อปไอเดียบ้าง จะเป็นแพลตฟอร์มที่ควบคุมสื่อจากรัฐบ้าง และอื่นๆ อีกมากมาย
จริงๆ หากมาทบทวนดีๆ เนื้อหาสาระของไอเดียนี้น่าสนใจไม่ใช่น้อย เพียงแต่บางกลุ่มอาจจะไปยึดติดกับชื่อ 'ไทยฟลิกซ์' ที่มันคล้ายๆ กับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่อย่าง 'เน็ตฟลิกซ์' จนถึงนำไปเปรียบเทียบ แต่จริงๆ แล้วสาระสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ชื่อ แต่มันคือการทำแพลตฟอร์มที่จะรวบรวมคอนเทนต์ของไทย ที่เป็นการจัดแพ็กรวมพลังในการสร้างกระแส บุกตีตลาดในต่างประเทศมากกว่า
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ปัจจุบันสื่อโทรทัศน์ถูกดิสรัปชันหรือโดนสื่อออนไลน์แย่งคนดูไปมากมาย ปัจจุบันบรรดาผู้ผลิตละคร ผู้ผลิตรายการต่างๆ ต้องหาทางออกไปพึ่งแพลตฟอร์มต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็น Line TV เองก็ดี หรือไปพึ่ง 'เน็ตฟลิกซ์' ซึ่งแน่นอนมันเป็นช่องทางในการหารายได้เพิ่มระดับหนึ่ง สำหรับผู้ผลิตคอนเทนต์ แต่ขณะเดียวกัน ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาออกไปสู่เจ้าของแพลตฟอร์มต่างประเทศ ขณะที่ประเทศไทยแทบไม่ได้ประโยชน์
ซึ่งจริงๆ ก็ต้องยอมรับในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยมีฝีมือและได้รับรางวัลระดับโลกมากมาย และจริงๆ ไทยเราก็มีแฟนหนังจากต่างประเทศที่สนใจในภาพยนตร์ไทยค่อนข้างมาก อย่างตลาดในเออีชี เมียนมา, ลาว, กัมพูชา, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเชีย หรือแม้กระทั่งจีน, ไต้หวัน และญี่ปุ่น ซึ่งที่ผ่านมาเนื่องจากผู้ผลิตไทยไม่มีช่องทางในการทำคอนเทนต์ได้อย่างอิสระมากนัก เพราะติดในเรื่องของการออกอากาศ แต่หลังๆ เพิ่งมีการปลดล็อกในการทำละครเว็บดราม่ามากขึ้น ทำให้ผู้ชมได้เห็นคอนเทนต์ที่หลากหลาย และการมีข้อจำกัดที่ลดลง ทำให้สร้างผลงานได้ดียิ่งขึ้น
จึงไม่แปลกที่จะเห็นว่าละครแนวบอยเลิฟ หรือละครวาย กลายเป็นคอนเทนต์ส่งออกตีตลาดในภูมิภาคนี้ และกำลังจะกลายเป็นเทรนด์ใหม่ของละครของกลุ่มผู้ชมเจนใหม่ด้วย ดังนั้นหากไทยสามารถรวมแพ็ก และนำเสนอแพลตฟอร์มขึ้นมา ก็เชื่อว่าจะมีตลาดที่เขายินดีที่จะยอมจ่ายเงินค่าสมาชิกรับชมคอนเทนต์จากไทย หรือถ้าไม่สมัครก็พร้อมดู และรับชมโฆษณาจากสปอนเซอร์ ทั้งละคร ภาพยนตร์ คอนเทนต์วาไรตี้
แน่นอนหลายประเทศก็มองเห็นโอกาสเหล่านี้ และก็เริ่มบุกตีตลาดคอนเทนต์เข้ามาในไทย ซึ่งมีทั้งการหารายได้ผ่านระบบบอกรับสมาชิก และการหารายได้จากโฆษณาออนไลน์ ทั้งหมดคนที่ได้ประโยชน์คือ ต่างชาติ ดังจะเห็นได้จาก ประเทศจีน ที่รุกหนักส่งแพลตฟอร์มอย่าง WETV และ IQIYI (อ้ายฉีอี้) ที่เริ่มนำเสนอคอนเทนต์จากจีนมาเสิร์ฟให้กับคนไทยกันอย่างหนักหน่วง หรืออย่างเกาหลีก็มีแพลตฟอร์ม VIU ที่รวบรวมคอนเทนต์บันเทิงจากเกาหลีเป็นหลัก ซึ่งก็ทำให้คนไทยหลายคนยอมสมัครเพื่อรับชมคอนเทนต์ใหม่สดจากเกาหลีใต้เช่นกัน
คำถามคือ แล้วคอนเทนต์ไทยสามารถทำแบบนี้ได้ไหม บอกเลยว่าได้ เอาแค่อย่างละครเรื่องเพราะเราคู่กัน (2gether : The Series) ของ GMMTV ก็สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วเอเชีย จนหลายประเทศต้องซื้อลิขสิทธิ์ไปออกฉาย หรือแม้กระทั่งล่าสุด ละคร “อกเกือบหักแอบรักคุณสามี” ของช่อง 3 ประสบความสำเร็จท่วมท้น หลังออนแอร์ผ่าน Tencent Video ประเทศจีน กวาดยอดวิวทะลุ 100 ล้าน
จะบอกว่า คอนเทนต์ไทยไม่มีคนดู คงไม่ใช่ แต่ถ้ามีการบริหารจัดการที่ดี ก็มั่นใจได้ว่า หากไทยมีแพลตฟอร์มของตัวเองและผู้ผลิตคอนเทนต์ทุกเจ้าร่วมมือกัน รวมถึงภาครัฐสนับสนุน และผนึกกำลังกัน การส่งออกคอนเทนต์บันเทิงของไทยนั้นย่อมมีตลาดแน่นอน และสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศได้ และนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพของคอนเทนต์ขึ้นอีกระดับ
ฉะนั้น ก่อนที่จะไปวิพากษ์วิจารณ์เรามาช่วยกันคิดดีกว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการกระจายคอนเทนต์ของไทยไปสู่ตลาดโลก และทุกฝ่ายๆ วินวินกันทั้งหมด โดยไม่จำเป็นต้องไปพึ่งอากาศหายใจจากแพลตฟอร์มของต่างชาติเพียงอย่างเดียว.
ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |