อยู่ในช่วงวัดใจ "ประธานวุฒิสภา-พรเพชร วิชิตชลชัย" ในการจะนำรายชื่อ 2 ว่าที่กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่วุฒิสภาลงมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 26 พ.ค. ขึ้นทูลเกล้าฯ พร้อมกันไปเลยทั้งสองชื่อหรือไม่ คือ สุชาติ ตระกูลเกษมสุข อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่งมีนบุรี อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา อัยการอาวุโส หลังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับ "คุณสมบัติของสุชาติ" ในฐานะที่เป็นอดีต สนช.ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติในช่วงรัฐบาล คสช. 5 ปี แล้วมาสมัครและได้รับเลือกจากที่ประชุมวุฒิสภา จะเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามการเป็น ป.ป.ช.หรือไม่
จนทำให้มีการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่างๆ ที่ต้องการทำให้เรื่องนี้เคลียร์เสียก่อนจะได้ไม่เกิดปัญหาภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นกรณี "ศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย" ที่ยื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัยให้สะเด็ดน้ำว่า การที่ "สุชาติ" พ้นจากตำแหน่ง สนช.มายังไม่ครบ 10 ปี จะมีลักษณะต้องห้ามการเป็น ป.ป.ช. ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช.ฯ หรือไม่
ขณะเดียวกันฝ่ายค้านก็มีขยับเช่นกัน ที่ทำผ่าน นิคม บุญวิเศษ ส.ส.พรรคพลังปวงชนไทย ที่ทำหนังสือขอคัดค้านการให้นายสุชาติเข้าดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช. โดยส่งเรื่องผ่าน "ชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ"
ที่น่าสนใจ ซึ่งหลายคนหากไม่สังเกตความเคลื่อนไหวดังกล่าวของฝ่ายค้านอาจแปลกใจว่าทำไมงานนี้ "พรรคเพื่อไทย" เงียบผิดปกติ ไม่ออกมาเทกแอคชั่นอะไร ทั้งที่เป็นพรรคแกนนำฝายค้าน น่าจะเข้าทางเพื่อไทยในการ "ขย้ำวุฒิสภา-ป.ป.ช.-องค์กรศาล" แต่กลับให้พรรคเล็กอย่างพลังปวงชนไทยขยับแทน
เบื้องลึกเบื้องหลังเรื่องก็เพราะ เพื่อไทย หากขยับอะไรไปจะทำให้ "หัวหน้าพรรคเพื่อไทย-สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภา" ติดร่างแหไปด้วย
เหตุก็เพราะ ในการลงมติเลือกผู้สมัครเป็น ป.ป.ช. ในชั้นกรรมการสรรหาฯ ที่มี "ไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา" เป็นประธาน ปรากฏว่า กว่าที่สุชาติจะฝ่าด่านกรรมการสรรหาฯ มาได้นั้น กรรมการต้องมีการลงคะแนนกันถึงสามรอบ จนสุดท้ายสุชาติจึงเบียดชนะ "ปรเมษฐ์ โตวิวัฒน์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1" มาได้ ซึ่งปรากฏว่า "สมพงษ์ หน.เพื่อไทย" ลงคะแนนเห็นชอบให้สุชาติได้เป็นว่าที่ ป.ป.ช.คนใหม่ด้วย จนเป็นมติ กก.สรรหาฯ 7 ต่อ 1 ส่วน 1 คะแนนที่ไม่เลือกสุชาติไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คือ "ชวน-ประธานสภาฯ" ที่เป็นหนึ่งในกรรมการสรรหาฯ นั่นเอง
อาจเพราะเหตุนี้ ส.ส.ฝ่ายค้านเลยรู้กันว่า ต้องกระทุ้งผ่าน "ชวน" ให้ขยับเรื่องนี้ โดยต้องไม่ทำโดย ส.ส.เพื่อไทย เพื่อกัน "สมพงษ์" ออกมานั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่กรรมการสรรหาฯ 7 เสียงจะหนุนสุชาติให้ได้เป็นว่าที่ ป.ป.ช.ก็พบว่า ตอนลงมติรอบแรกและรอบที่สอง บางคน จริงๆ ก็ไม่ได้เลือกสุชาติ ไม่ว่าจะเป็นไสลเกษ ประธานศาลฎีกาฯ-ปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด รวมถึงตัวสมพงษ์ หน.เพื่อไทยเองด้วย
แต่เมื่อการลงคะแนนผ่านมาถึงรอบที่ 3 แล้วยังหาข้อยุติไม่ได้ เพราะ "สุชาติ-ปรเมษฐ์" คะแนนเบียดกัน ไม่มีใครได้ถึงเกณฑ์ เลยทำให้ในรอบที่ 3 ทางประธานศาลฎีกาฯ-ประธานศาลปกครองสูงสุด-หัวหน้าพรรคเพื่อไทย จึงเปลี่ยนใจหันมาเลือกสุชาติจนคะแนนนำโด่ง 7 เสียง มีแค่ชวน หลีกภัย ที่ยืนกรานลงมติไม่เอาสุชาติ
และยิ่งน่าสนใจขึ้นไปอีกเมื่อพบว่า ตอนเรียก "สุชาติ" มาแสดงวิสัยทัศน์ต่อหน้ากรรมการสรรหาฯ ที่มีประธานศาลฎีกานั่งหัวโต๊ะ
"ชวน" ได้เป็นผู้ตั้งคำถามสุชาติอย่างหนักกลางที่ประชุม เช่น "แปลกใจทำไมไม่คิดเอาดีเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ทำไมถึงตัดสินใจมาเป็น ป.ป.ช.ครับ" หรือคำถามที่ว่า "ท่านเข้าไปเป็น สนช.ได้อย่างไรครับ" และประเด็นเรื่องคุณสมบัติของสุชาติที่กำลังถูกวิจารณ์ขณะนี้ ก็พบว่าเป็น "ชวน" คนนี้ที่ซักถามเรื่องนี้ไว้แล้วด้วยข้อความดังนี้
"ท่านคิดว่า วุฒิสภา สมาชิกวุฒิสภาไม่ตีความคุณสมบัติอันนี้ ท่านเป็นห่วงหรือไม่ครับ คุณสมบัติเรื่องการเคยเป็น สนช. เขาจะตีความ หมายถึงเคยเป็นสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นลักษณะห้ามอย่างหนึ่ง ซึ่งเราก็พูดกันอยู่ครับ"
โดยสุชาติตอบแบบชัดถ้อยชัดคำดังนี้ "ผมก็เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน ในเรื่องการตีความ" จากนั้นได้ยกเหตุการณ์ในอดีตที่ สนช. ที่นายสุชาติเคยเป็นอยู่ด้วย เคยมีข้อถกเถียงเรื่องคุณสมบัติคนที่ถูกเสนอชื่อเป็น กสทช.มาเปรียบเทียบ แล้วก็จบการพูดไว้เพียงเท่านั้น
ความคลุมเครือดังกล่าวก็อยู่ที่ทั้งพรเพชร-ผู้ตรวจการแผ่นดิน-ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ว่าจะทำเรื่องนี้ให้กระจ่างชัด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นภายหลังหรือไม่.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |