อุตตมตอกย้ำชัด เงินกู้'โควิด-19' ห้ามโยกย้ายงบ


เพิ่มเพื่อน    


    รัฐบาล-ฝ่ายค้านงัดกันหนัก ร่าง พ.ร.บ.โอนงบ 8 หมื่นล้านบาท วิปรัฐบาลจี้หวังเสร็จสัปดาห์นี้ แต่ฝ่ายค้านโวยอย่ามาเร่ง "อุตตม" การันตีใช้ทำอย่างอื่นไม่ได้นอกจากแก้ภัยแล้ง-สู้โควิด  การันตีไม่มีโยกงบไปทำรถไฟความเร็วสูง เกษตรกรเตรียมเฮ จ่อออกมาตรการพักหนี้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเวลา 1 ปี 
    ความคืบหน้าหลังสภาผู้แทนราษฎรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.... ที่เป็นการตัด-ปรับลดงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 มาเป็นงบกลางเพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินและเหตุจำเป็น โดยเฉพาะการใช้ในการรับมือกับการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด และจากนั้นได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่มีนายอุตตม สาวนายน รมว.การคลัง เป็นประธาน กมธ. 
     นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ.... ให้สัมภาษณ์ว่า ภาพรวมการพิจารณาเป็นไปด้วยดี เพราะกรรมาธิการทุกคนตระหนักดีถึงความเป็นมาของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวเพื่อแก้ปัญหาภัยโควิด-19 ที่เราทุกคนต้องร่วมกันจัดการ แม้ในอดีตเคยพิจารณาร่างพระราชบัญญัติเช่นนี้ แต่ยังไม่เคยทำในสภาปัจจุบัน ทำให้กรรมาธิการส่วนใหญ่มีการซักถามและมีความเป็นห่วงถึงการใช้งบประมาณจำนวนมาก ที่เป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่างบประมาณทุกเม็ดจะใช้อย่างเกิดประโยชน์จริง โดยงบประมาณดังกล่าวโอนแล้วจะถูกนำไปรวมกับงบกลางในส่วนของรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยจะใช้แก้ปัญหาทั้งโควิด-19 และภัยแล้ง 
    รมว.การคลังยังกล่าวถึงงบฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 4 แสนล้านบาท ที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะไม่ถึงฐานราก และไปเน้นที่การลงทุนขนาดใหญ่ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ก่อสร้างรถไฟฟ้า ว่าต้องแยกแยะระหว่างงบ 8.8 หมื่นล้านบาท ในส่วนของงบ 4 แสนล้านบาท จะเน้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เน้นใช้เม็ดเงินลงพื้นที่ระดับฐานราก ซึ่งรัฐบาลได้วางแนวทางแก้ไขไว้อย่างชัดเจน จึงเชื่อว่างบประมาณนี้จะไม่นำไปใช้สำหรับการก่อสร้างรถไฟฟ้าเร็วสูงแน่นอน 
    ขณะที่ฝ่ายค้านนั้น นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล พร้อมด้วยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. .... สัดส่วนฝ่ายค้าน เปิดเผยถึงข้อสังเกตในการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว
    โดยนายวรวัจน์กล่าวว่า จากการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว มีหลายประเด็นที่เป็นปัญหา เช่น กรณีความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ และการล็อกฝ่ายนิติบัญญัติไม่ให้สามารถปรับลดงบประมาณได้จากวงเงินที่กำหนด โดยตัดงบที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนออกไป แต่กลับคงงบในโครงการที่ไม่จำเป็น เช่น งบโครงการอบรมสัมมนาประชาสัมพันธ์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามีเจตนาออกหลักเกณฑ์ที่เอื้อประโยชน์ให้คนที่มีศักยภาพมากกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ร้ายแรง อยากให้มีการตามต่อ และหากเราเป็นรัฐบาลเราจะถอยในเรื่องนี้
    ด้านนายเรืองไกรกล่าวว่า ได้สอบถามในที่ประชุมกรรมาธิการว่า หากที่ประชุมกรรมาธิการไม่ให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่าน ทาง ครม.จะดำเนินการอย่างไร เพราะจะเท่ากับว่ามติ ครม.เมื่อวันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมาเป็นโมฆะ และจะดึงเอางบประมาณกลับมาพิจารณาตามแผนงานได้ทันหรือไม่ ทั้งนี้ มติ ครม.ไม่ใช่กฎหมาย ดังนั้นการออกมติ ครม.ต้องชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ ซึ่ง ผอ.สำนักงบประมาณพยายามยืนยันว่ากรรมาธิการไม่สามารถปรับลดงบประมาณฉบับนี้ได้ 
    "แต่ผมเห็นต่างว่า เมื่อมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมา หากเห็นว่าไม่จำเป็น ก็ต้องปรับลดได้ แต่ที่เป็นปัญหาคือ ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เขียนไว้แบบ งบประมาณปี 63 ที่ระบุว่างบประมาณต้องใช้จ่ายไม่เกินเท่าไหร่ แต่ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณฉบับนี้ กลับได้กำหนดให้ใช้งบประมาณทั้งหมด 8.8 หมื่นล้านบาทที่ได้โอนมา ดังนั้นหากร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ผ่าน ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องหาทางเอางบประมาณที่อนุมัติไปแล้วกลับมา ผมมองว่าเรื่องนี้เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 144 วรรค 3 ว่าด้วยกรณีที่มีการแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการ หรือจำนวนรายการในร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายมิได้ ซึ่งเรื่องนี้ที่อาจส่งผลให้ ครม.พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะได้ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่งนั้น” นายเรืองไกรกล่าว
    นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า เมื่อ 6 มิ.ย. นายวิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล ได้เข้ามาสอบถามในกรรมาธิการว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จะสามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน วันที่ 11 มิ.ย.นี้หรือไม่ ซึ่งเห็นว่ารัฐบาลสามารถกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาได้ แต่ไม่ควรบีบกรรมาธิการให้พิจารณาให้แล้วเสร็จตามวันเวลาที่กำหนด รวมถึงในวาระการประชุมสภาก็ยังไม่มีกำหนดไว้ ดังนั้นจึงต้องบอกว่า 11 มิ.ย.นี้จะไม่สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมสภาในวาระ 2-3 ได้ อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการจะพยายามพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้เร็วที่สุด 
    ด้าน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลได้ดำเนินการดูแลเกษตรกรทั่วประเทศในหลายๆ ด้าน ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในด้านการเยียวยาเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีการโอนเงินงวดแรกถึงบัญชีเกษตรกรแล้ว (ข้อมูล 4 มิ.ย.) 7.1 ล้านราย รวมเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนปัญหาการแก้หนี้เกษตรกร นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้เร่งรัดและดำเนินการจนมีการออกประกาศและระเบียบให้กองทุนฟื้นฟูฯสามารถวางเงินชำระหนี้แทนเกษตรกรในชั้นบังคับคดีได้ ทำให้ที่ทำกินเกษตรกรไม่ถูกขายทอดตลาด โดยมีเกษตรกรรายแรกได้รับการแก้ปัญหาไปเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.ที่ผ่านมา และจะมีเกษตรกรรายอื่นๆ ทั่วประเทศอีก 2,743 ราย 
    รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวอีกว่า มากไปกว่านั้น ยังมีการเตรียมการเพื่อออกมาตรการพักหนี้เกษตรกรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นเวลา 1 ปี ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการแก้ระเบียบ และอีกเรื่องหนึ่งที่เกษตรกรรอคอยมานาน คือการแก้ไข พ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรให้สามารถเข้าไปจัดการหนี้เกษตรกรที่มีบุคคลค้ำประกันได้ ขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะมีการประกาศใช้ในอีกไม่นานนี้ ซึ่งจะเกิดประโยชน์แก่เกษตรกรเกือบ 4 แสนราย
    น.ส.รัชดากล่าวว่า ในส่วนของการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ณ เวลานี้ได้ความชัดเจนเรื่องแนวทางการเจรจาเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การชำระเงินต้นและดอกเบี้ยกับธนาคารของรัฐ 4 แห่ง คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์, ธนาคารอาคารสงเคราะห์,  ธนาคารออมสิน และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และจะเริ่มกระบวนการเจรจาจากนี้ไป
    “การแก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกรเป็นวาระสำคัญที่รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างรอบด้าน มีทั้งเรื่องการปรับแก้กฎหมาย/ระเบียบ และการเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งจะบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกรได้มาก มีเกษตรกรหลายรายเป็นหนี้ขึ้นทะเบียนมากว่า 20 ปี หากเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เป็นตามที่ตั้งเป้าไว้ เกษตรกร 4.4 หมื่นรายจะได้รับการลดการชำระเงินต้นและดอกเบี้ย มีที่ดินทำกิน ในขณะที่ธนาคารเจ้าหนี้ไม่ต้องเสี่ยงต่อหนี้สูญ” น.ส.รัชดา กล่าว   
    วันเดียวกันนี้ “สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ กรณี “ระดมความคิดแก้วิกฤติว่างงาน” จำนวนทั้งสิ้น 1,038 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 1-5 มิถุนายน 2563 สรุปผลได้ ดังนี้    โดยเมื่อถามว่าประชาชนคิดว่าสาเหตุของ “วิกฤติว่างงาน” มาจากเรื่องอะไร อันดับ 1 ตอบว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 88.18%, อันดับ 2 เศรษฐกิจไม่ดี 74.03%, อันดับ 3 ปิดกิจการ 46.22%, อันดับ 4 ไม่มีการจ้างงานในตลาดแรงงานเพิ่ม 45.35%, อันดับ 5เลือกงาน 21.12%
    ผลสำรวจพบว่า เมื่อถามถึงกรณี “วิกฤติว่างงาน” ประชาชนอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องอะไร ส่วนใหญ่ตอบว่าอันดับ 1 การจ้างงานจากภาครัฐ 71.00%, อันดับ 2 มาตรการทางภาษี เช่น ลดภาษี 63.82%, อันดับ 3 ให้เงินช่วยเหลือ/ค่าครองชีพ 58.58%, อันดับ 4 ฝึกอาชีพ 54.22%, อันดับ 5 หาแหล่งเงินทุน/เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ 44.91%.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"