ไล่ขยี้'เซเลบ'เมิน'#SAVEวันเฉลิม'


เพิ่มเพื่อน    


    แห่โหนวันเฉลิมลามทุ่ง สายประชาธิปไตยนิยมละเมิดสิทธิ์ ไม่ได้ดังใจไล่แขวะไม่เลี้ยง ลามเข้าวงการบันเทิง "ปู-แก้ม-BNK 28" ขณะที่ "โรม" ชง กมธ.เรียก ผบ.ตร.แจง ชี้บังคับหายสาบสูญเป็นเรื่องความปลอดภัยคนไทย ด้านอดีตรอง ผอ.ข่าวกรองฯ ระบุอย่าด่วนสรุป มีแค่มหาอำนาจทำภารกิจแบบนี้ได้ 
    เมื่อวันอาทิตย์ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงกรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ต้องหาลี้ภัยทางการเมืองแล้วถูกอุ้มที่กัมพูชาว่า  รัฐบาลไทยต้องประสานกับกัมพูชาติดตามเรื่อง เพราะเรามีทั้งสถานทูตไทยในกัมพูชา ก็สามารถประสานความร่วมมือได้อยู่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา 4 วันแล้วแต่รัฐบาลเงียบไม่ออกมาพูดอะไรเลย ซึ่งสังคมตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลทำเองหรือไม่ 
    "ดังนั้นรัฐบาลก็ควรแสดงความบริสุทธิ์ใจ และกรณีที่เกิดขึ้น สืบเนื่องมาจากเมื่อปีเศษเกิดกรณีนายสุรชัย แช่ด่าน พร้อมพวก จนมีข่าวว่าถูกฆ่า และกรณีนายสยาม ธีรวุฒิ และลุงสนามหลวง ที่หายตัวไป มาครั้งนี้อีก และที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายสุรชัย และเพื่อน หรือนายสยาม และลุงสนามหลวง ก็ไม่คืบหน้าว่าเขาอยู่หรือไม่ พอเกิดเรื่องกับนายวันเฉลิม สังคมจึงรู้สึกว่าเยอะไปแล้ว เพราะบุคคลดังกล่าวเป็นกลุ่มที่ขัดแย้งกับรัฐบาล จึงคิดว่ารัฐบาลควรแสดงความบริสุทธิ์ใจในการเข้าไปคลี่คลายคดี" นางอังคณาระบุ 
    ขณะที่นายรังสิมันต์ โรม โฆษกคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในฐานะที่คณะกรรมาธิการฯ มีขอบเขตงานในการติดตามเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ตนจึงจะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ ครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 10 มิ.ย. ให้พิจารณาเรียกหน่วยงานที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องมาชี้แจงและให้ข้อมูล ได้แก่ 1.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้กำหนดนโยบายในการติดตามตัวนายวันเฉลิม 2.ผู้บังคับการกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ในฐานะหน่วยงานที่ติดตามข้อมูลการข่าวของนายวันเฉลิมมาโดยตลอด 3.อธิบดีกรมการกงสุล หรือผู้อำนวยการกองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ 
    “ผมขอย้ำว่า กรณีนี้เป็นเรื่องของการบังคับให้หายสาบสูญ เป็นเรื่องความปลอดภัยของพี่น้องชาวไทย ซึ่งได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก รัฐบาลมีหน้าที่ต้องเข้ามาดูแลในกรณีนี้ ส่วนตัวผมเองจะพยายามหาทางช่วยเหลือคุณวันเฉลิม ตามบทบาทหน้าที่ของการเป็นผู้แทนราษฎรต่อไป” นายรังสิมันต์กล่าว
    วันเดียวกัน นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการหายตัวไปของนายวันเฉลิม ระบุใจความว่า อย่าด่วนสรุป  ชัดเจนแล้วหรือว่าวันเฉลิมถูกอุ้ม และวันเฉลิมเป็นใคร ทำอะไรผิดถึงต้องหนีไปกัมพูชา ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โทษน้อยมาก เป็นใคร สำคัญอย่างไรถึงต้องถูกอุ้ม บอกได้เลย ไม่มีหน่วยงานไหนในไทยที่มีภารกิจนอกประเทศแบบนี้ พูดง่ายๆ ไม่มีปัญญา ไทยไม่ใช่มหาอำนาจ งานอย่างนี้ต้องระดับมหาอำนาจถึงทำได้ ไม่ใช่หนัง
    "มาหมดทั้งเอ็นจีโอ กลุ่มสิทธิมนุษยชน ทั้งกลุ่มนักเคลื่อนไหว เรียกร้องขอความเป็นธรรม เหตุเกิดในกัมพูชา แต่มีคนเรียกร้องให้ทางการไทยชี้แจง ทำไมไม่ถามทางกัมพูชาว่าเกิดอะไรกับคนไทย ถูกอุ้มจริงมั้ย วันเฉลิมเป็นใคร สำคัญยังไงถึงต้องถูกอุ้ม บอกได้เลย ไม่มีหน่วยงานไหนในไทยที่มีภารกิจนอกประเทศแบบนี้ ปฏิบัติการอุ้ม ถ้ามีจริงทีมงานต้องประเมินความเสี่ยงอย่างมาก ถ้าล้มเหลว ถูกจับได้ ผิดกฎหมายของกัมพูชา กระทบกระเทือนความสัมพันธ์ไทยกับกัมพูชา ทำแล้วไม่คุ้มเสี่ยง" อดีตรอง ผอ.สำนักข่าวกรองฯ ระบุ
    อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเหตุการณ์ดังกล่าวลามไปสู่วงการบันเทิง โดยเฉพาะกรณีของนักแสดงหญิง "ปู ไปรยา สวนดอกไม้" ก็ต้องมาถูกหางเลขกับเรื่องนี้ไปแบบเต็มๆ หลังมีคนมาขอให้เจ้าตัวติด #Saveวันเฉลิม ทว่าสาวปูได้พิมพ์ข้อความชี้แจงเป็นภาษาอังกฤษระบุว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อน แต่ถ้าหากมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมก็สามารถแจ้งไปที่อีเมลของเธอได้
     "ฉันได้รับทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และโดยส่วนตัวก็เสียใจกับเรื่องนี้ด้วย สถานการณ์มันค่อนข้างละเอียดอ่อนและซับซ้อน ถ้ามีอะไรจะแจ้งเพิ่มเติมกรุณาแจ้งได้ที่อีเมล" นักแสดงสาวระบุ 
    ทั้งนี้ แม้ข้อความดังกล่าวจะเป็นการชี้แจงที่สุภาพ แต่ก็ทำเอากองเชียร์ของพรรคการเมืองที่ออกมารณรงค์เรื่องนี้ไม่พอใจเป็นอย่างมาก หลายคนต่างพากันเข้าไปพิมพ์ข้อความต่อว่าด่าทอนักแสดงหญิงกันด้วยข้อความที่ค่อนข้างจะรุนแรง ซึ่งก่อนหน้านั้นทางด้านของคนบันเทิง ทั้ง "แก้ม วิชญาณี เปียกลิ่น" และ "คัตโตะ ลิปตา" (อารมณ์ โพธิ์หาญรัตนกุล) ก็ถูกโจมตีในลักษณะนี้มาแล้วเช่นกัน รวมทั้ง Jennis BNK48 ก็เจอการกดดัน 
    ขณะที่ ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์ด้านสถาปัตยกรรม สอนพิเศษด้านปรัชญาการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กถึงเหตุการณ์ของนักแสดงสาวและคนในวงการบันเทิงว่า พวกเขาไม่ทำ เลยเจอถล่มในโลกโซเชียลด้วยคำหยาบคาย ดูถูก เหยียดหยาม มีพี่ที่ผมรู้จักท่านหนึ่งนิยามพฤติกรรมของกลุ่มการเมืองพวกนี้ไว้ว่า..."ผู้เรียกตัวเองว่าเสรีนิยม ผู้อยากให้คนอื่นมีเสรีภาพ ด้วยการ #บังคับ ให้คนอื่นทำตามเสรีภาพในแบบของพวกเขา" ซึ่งผมคิดว่าเป็นนิยามที่ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นอย่างมากครับ
    เช่นเดียวกับ ดร.ศุภณัฐ อภิญญาณ หรือ "ดร.นิว" นักวิจัยภายใต้สถาบันวิจัย MAST Center และคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ University of Arkansas ประเทศสหรัฐอเมริกา โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประชาธิปไตยจอมปลอม ไล่ #ระราน #บังคับ ชาวบ้านไปทั่ว พอไม่ได้ดั่งใจก็ #เหยียด และ #ละเมิดสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นเสียเอง
    ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “น้องทอนครับ อย่าพยายามโยงเรื่องของวันเฉลิม กับ George Floyd เป็นเรื่องเดียวกัน คนไทยส่วนใหญ่เขาไม่เชื่อ/ไม่ได้กินหญ้านะครับ” 
    วันเดียวกัน เครือข่ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและองค์กรสิทธิมนุษยชน 53 องค์กร 23 บุคคล ยื่นหนังสือเปิดผนึก 7 ข้อ ถึงคณะผู้จัดการประชุมสหประชาชาติผ่านอินเทอร์เน็ต เรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน : ปัญหาท้าทายใหม่ แนวทางการดำเนินงานใหม่ เอเชียและแปซิฟิก ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีหลักประกันคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งชายและหญิงในประเทศไทย  
    น.ส.ปรานม สมวงศ์ องค์กรโพรเทคชั่น อินเตอร์เนชันเเนล (พีไอ) กล่าวว่า การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมโดยรัฐ หรือหน่วยงานธุรกิจ ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำงานของผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย และยังเป็นการละเมิดหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ที่กำหนดว่า “เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยบริษัท  รัฐบาลต้องดำเนินการให้เกิดการเยียวยาที่เข้มแข็งและเหมาะสมต่อผู้เสียหาย” ดังนั้นการพิจารณาของเวทีนี้ ควรมีประเด็นสำคัญอย่างการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมและการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อปิดกั้นการมีส่วนร่วมสาธารณะ (SLAPP) ของภาคธุรกิจในทุกเวทีอภิปรายด้วย
    เธอระบุว่า  โดยสถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตกเป็นเป้าหมายการฟ้องคดีเพื่อขัดขวางการดำเนินงานเพื่อปกป้องสิทธิในที่ดิน ที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม และทรัพยากรในท้องถิ่น ซึ่งตั้งแต่ปี 2557 พบว่ามีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอย่างน้อย 440 คนถูกดำเนินคดี ซึ่งผู้ที่ตกเป็นจำเลยในคดีเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงยากจนในเขตเมืองที่ถูกไล่รื้อจากที่อยู่อาศัย ตามมาด้วยจำเลยที่เป็นผู้หญิงซึ่งทำงานปกป้องที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตนเอง
    "โดยผู้ที่เป็นคนฟ้องคดีคือบริษัทเหมืองแร่ บริษัทปาล์มน้ำมัน และหน่วยงานของรัฐบางแห่ง ทั้งที่รัฐควรจะสนับสนุนและคุ้มครองผู้หญิงและผู้ชายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แต่กลับกลายเป็นว่ารัฐบาลไทยมีท่าทีเพิกเฉยในการที่บริษัทสามารถคุกคามและข่มขู่โดยผ่านกระบวนการยุติธรรมและรูปแบบอื่น ๆ เช่น บริษัทเหมืองทองคำ มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง รวมทั้งมีการทำร้ายร่างกายสมาชิกกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด องค์กรชุมชนที่มีแกนนำเป็นผู้หญิงในจังหวัดเลยในปี 2557 ซึ่งบริษัทเหมืองทองคำและหน่วยงานรัฐ ได้ฟ้องดำเนินคดีถึง 22 คดีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน" น.ส.ปรานมระบุ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"