ทั้งนี้ ประเทศไทยเราเองต้องกลับมาดูแลเศรษฐกิจพื้นฐานในประเทศให้กลับมาเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มพื้นฐานต่างๆ จะเป็นตัวชี้วัดจีดีพีของประเทศว่าจะไปต่อได้หรือไม่ ซึ่งทฤษฎีที่ว่าหากธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ได้ รายเล็กก็อยู่ได้ มองเป็นเรื่องที่ผิด เพราะจากความเป็นจริงแล้วต้องพัฒนาธุรกิจรายเล็กๆ ให้อยู่ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อรายใหญ่ให้อยู่ได้ตามมา เพื่อจะรักษาอัตราการบริโภคให้คงอยู่ จึงอยากให้รัฐบาลมองธุรกิจในประเทศอย่างเท่าเทียม อย่ามัวที่จะกระตุ้นธุรกิจรายใหญ่ๆ เพียงอย่างเดียว
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นี้ ส่งผลกระทบอย่างมากให้กับภาคธุรกิจเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม โดยเฉพาะที่ต้องพึ่งพาการส่งออก แต่ในขณะเดียวกันบางกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีการเพิ่มขึ้นของยอดขายเป็นเท่าตัว เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนในปัจจุบัน อย่างเช่นอุตสาหกรรมเครื่องมือการแพทย์ รวมถึงอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องทั้งหน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ เจลล้างมือ กระดาษรูปแบบต่างๆ
และจากผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้ประชาชนต้องมีการปรับตัวอย่างมาก การใช้ชีวิตประจำวันก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเป็นอยู่ เนื่องจากต้องมีแนวทางรับมือเชื้อไวรัสดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของโรคเป็นวงกว้าง และเกิดวิถีชีวิตที่หลายคนจะรู้จักกันในชื่อเรียกว่า นิวนอร์มอล (New Normal) หรือการใช้ชีวิตปกติในรูปแบบใหม่ ที่อาจจะมีบางส่วนคล้ายกับการดำเนินชีวิตเดิมๆ แต่ก็มีหลายกิจกรรมที่ปรับรูปแบบให้เข้ากับสถานการณ์มากขึ้น
จนหลายคนเริ่มมีความคิดว่า นิวนอร์มอลจะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในโลกให้มีการดำเนินการแบบนี้ต่อไปหลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 จบลงแล้วก็ตาม โดยส่วนใหญ่นิวนอร์มอลจะเป็นเรื่องของการใช้เทคโนโลยีที่เพิ่มมากขึ้นของคนเรา ทุกคนจะเข้าหาความเป็นออนไลน์มากกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การใช้ชีวิต ซื้อของ ซื้ออาหาร ซึ่งจากพฤติกรรมดังกล่าวก็ส่งผลให้หลายกลุ่มธุรกิจที่ปรับตัวทัน หรือมีฟังก์ชันที่ตอบสนองในส่วนนี้อยู่แล้วได้รับอานิสงส์ไปเต็มๆ
และมีหลายหน่วยงานที่เริ่มวางแผนธุรกิจให้ตอบสนองกับนิวนอร์มอลในอนาคตด้วย แต่มุมมองที่แตกต่างออกไปของผู้บริหาร อย่าง นายธีระชัย ธีระรุจินนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยอุตสาหกรรมพลาสติก (1994) จำกัด (มหาชน) หรือ TPLAS กลับมองว่า นิวนอร์มอลอาจจะมาแค่ช่วงนี้ และเป็นกระแสที่ไม่ได้มั่นคงหรือยืนยาวจนทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจอะไร
นายธีระชัย กล่าวว่า ตอนนี้ยังมองไม่ออกว่าจะต้องดำเนินธุรกิจไปในแนวทางไหน การปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตของคนในปัจจุบันที่เกิดขึ้นอยู่นี้ ก็ไม่มีใครมาการันตีได้ว่าจะเป็นแบบนี้ไปต่ออีกนานแค่ไหน อย่างเช่น ปัจจุบันที่คนเราใช้แอปพลิเคชันในการจะประชุมงานหรือสื่อสารกันในหน่วยงาน แต่หากในอนาคตอันใกล้นี้ เหตุการณ์ทุกอย่างคลี่คลายก็ไม่มีใครตอบได้ว่า แอปพลิเคชันดังกล่าวจะมีคนใช้อยู่หรือไม่
ซึ่งการปรับตัวหลังจากที่มีวัคซีนรักษาโรคโควิด-19 ออกมา ทุกคนอาจจะคาดการณ์ได้ แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์หรือเปล่า อีกตัวอย่างเช่น ปัจจุบันที่ทุกคนต้องใส่แมสก์ออกจากบ้าน แต่เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายแล้ว ทุกคนยังจะใช้อยู่หรือไม่ ยังไม่มีใครตอบได้ ตอนนี้สิ่งที่ทำได้ดีที่สุดคือการยืนอยู่บนขาของตัวเองอย่างแข็งแรงให้ได้ แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ไม่ประมาท
ขณะเดียวกัน การแพร่กระจายของไวรัสโควิด-19 นั้น นอกจากจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์แล้วนั้น ยังส่งผลกระทบไปถึงภาพรวมเศรษฐกิจของโลกให้ปั่นป่วนอีกด้วย เมื่อคนไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตได้ ความต้องการของสินค้าต่างๆ ก็ลดลงไป รวมทั้งความวุ่นวายที่เกิดขึ้นทำให้นักธุรกิจส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะลงทุนทำอะไรใหม่ หรือย้ายถิ่นฐานในการดำเนินงานมากนัก จึงเป็นส่วนหนึ่งของตัวเลขการลงทุนในประเทศมีแนวโน้มที่จะลดลง พ่วงไปด้วยความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการใช้วัตถุดิบต่างๆ นั้นลดลงไปด้วย
และประเทศไทยเองที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ในยุคที่เกิดวิกฤติแบบนี้จึงส่งผลกระทบเป็นอย่างมาก เนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่อาจจะต้องมีการชะลอออกไป รวมทั้งปัจจุบันที่ไทยกำลังจะพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือที่รู้จักกันในนามอีอีซีนั้น อาจจะส่งผลไปยังการตัดสินใจลงทุนของนักธุรกิจทั้งในและต่างประเทศได้
กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก
โดย นายธีระชัย เห็นว่า นโยบายการพัฒนาอีอีซีนั้นเป็นเรื่องที่ดี เป็นหนึ่งในจุดสนใจของนักลงทุนต่างชาติ แต่ปัจจุบันที่เกิดปัญหาโควิด-19 ที่ส่งผลให้ทุกอย่างชะลอไปหมดนั้นจึงมีความคิดเห็นว่า โครงการอีอีซีควรจะต้องชะลอไปก่อนเพราะกระแสของการเคลื่อนย้ายการลงทุนขนาดใหญ่ในปัจจุบันนี้ยังไม่น่าจะเกิด เพราะแต่ละกลุ่มทุนกว่าจะมีการตัดสินใจต้องใช้ปัจจัยอื่นๆ มาร่วมด้วย และยิ่งเกิดสถานการณ์แบบนี้แล้ว แรงจูงใจของนักลงทุนอาจจะลดน้อยลง รวมถึงในแต่ละประเทศยังคงต้องหวังพึ่งพาเอกชนขนาดใหญ่เพื่อฟื้นฟูประเทศตัวเองให้กลับมาอยู่สถานการณ์ปกติก่อน
ทั้งนี้ ประเทศไทยเองเราต้องกลับมาดูแลเศรษฐกิจพื้นฐานในประเทศให้กลับมาเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มพื้นฐานต่างๆ จะเป็นตัวชี้วัดจีดีพีของประเทศว่าจะไปต่อได้หรือไม่ ซึ่งทฤษฎีที่ว่าหากธุรกิจขนาดใหญ่อยู่ได้ รายเล็กก็อยู่ได้มองเป็นเรื่องที่ผิด เพราะจากความเป็นจริงแล้วต้องพัฒนาธุรกิจรายเล็กๆ ให้อยู่ได้ ซึ่งจะส่งผลต่อรายใหญ่ให้อยู่ได้ตามมา เพื่อจะรักษาอัตราการบริโภคให้คงอยู่ จึงอยากให้รัฐบาลมองธุรกิจในประทเศอย่างเท่าเทียม อย่ามัวที่จะกระตุ้นธุรกิจรายใหญ่ๆ เพียงอย่างเดียว
“คิดว่ากระแสการลงทุนขนาดใหญ่ตอนนี้น่าจะยังไม่เกิด เพราะกลุ่มทุนหลายประเทศจะต้องมาเร่งพัฒนาเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศตัวเองให้กลับมาดีก่อน เชื่อว่านโยบายของแต่ละประเทศเองยังคงต้องอาศัยแรงกำลังของธุรกิจขนาดใหญ่เพื่อดึงจีดีพีในประเทศอย่างแน่นอน แต่ถ้าเกิดเป็นภาวะปกติเห็นด้วยอย่างเต็มที่กับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ดังนั้นขณะนี้รัฐบาลควรที่จะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากก่อน” นายธีระชัยกล่าว
นายธีระชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ที่ประเทศไทยกำลังประสบปัญหาเรื่องไวรัสที่แพร่กระจายอย่างหนักหน่วง แต่ปัญหาด้านอื่นๆ ที่มีอยู่เดิมของประเทศนั้นก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างเช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมเองที่ถือว่าเป็นปัญหาที่ทำให้ต้องปวดหัวอยู่เรื่อยๆ เสมอมา โดยล่าสุดปัญหาเรื่องฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 นั้น ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเต็มที่ แม้ว่าปัจจุบันตัวการที่ทำให้เกิดปัญหา อย่างเช่น การคมนาคม การเผาพืชภาคการเกษตร และด้านอื่นๆ นั้นจะลดลงเนื่องจากนโยบายการเฝ้าระวังไวรัสกำหนดขึ้น ทำให้กิจกรรมทุกอย่างในประเทศนั้นเบาบางลงไป
และอีกเรื่องที่ยังเป็นปัญหาต่อเนื่องมาตลอดก็คือปัญหาขยะ โดยประเทศไทยนั้นติดอันดับต้นๆ ของโลกที่มีการทิ้งขยะลงในทะเลมากที่สุด รวมถึงปัญหาขยะบนบกที่สร้างความเดือดร้อนให้กับพื้นที่นั้นๆ อยู่ตลอดเวลา เป็นปัญหาสำคัญที่ยังไม่มีนโยบายที่ออกมาแก้ไขได้ตรงจุด โดยนายธีระชัยกล่าวว่า นโยบายการแบนถุงพลาสติกของประเทศไทยนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เนื่องจากเมื่อขึ้นชื่อว่าขยะแล้วไม่ว่าจะเป็นพลาสติกหรือกระดาษ ก็คือขยะ
และที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วงนี้ที่เกิดสถานการณ์โควิด-19 นั้น เป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยว่าแม้คนจะออกมาใช้ชีวิตน้อยลง แต่ความต้องการและยอดขายของอุตสาหกรรมพลาสติกนั้นยังคงที่ไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากส่วนนี้ แต่ปริมาณขยะตามทะเลหรือชายหาดนั้นลดน้อยลง ซึ่งหากมามองดีๆ แล้วปัญหาจริงๆ คือมนุษย์เรา หรือผู้ใช้มากกว่าตัวถุงหรือพลาสติก ที่ยังมีพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติโดนตรงอยู่ ทั้งนี้หากมีการดูและรักษาที่ดี พลาสติกก็จะไม่ใช่ขยะที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
“การที่จะแก้ไขปัญหาขยะที่ตรงจุดนั้นไม่ใช่โทษแต่ตัวถุงพลาสติกว่าจะเป็นเครื่องทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะมีหลายเหตุการณ์ยืนยันที่สิ่งแวดล้อมดีขึ้นทันหูทันตา แต่ยอดขายถุงพลาสติกไม่ได้ลดลง ซึ่งเชื่อว่าการออกนโยบายในการท่องเที่ยวที่ครอบคลุม และเข้มงวดน่าจะมีผลโดยตรงกับการรักษาสิ่งแวดล้อมมากกว่าการแบนถุงพลาสติก แต่แน่นอนว่าเรื่องขยะนั้นเป็นปัญหา เราไม่ได้ปฏิเสธตรงนี้ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบอะไรก็สามารถเป็นขยะได้ เพราะฉะนั้นจะต้องไปจัดการเรื่องขยะไม่ใช่การแบนถุง” นายธีระชัยกล่าว
ปรับกลยุทธ์สูโควิด
นายธีระชัยกล่าวว่า แม้ที่ผ่านมาจะกล่าวว่ายอดขายและความต้องการของพลาสติกนั้นจะมีอยู่ต่อเนื่อง แต่บริษัทเองก็ต้องยอมรับว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคเศรษฐกิจการลงทุนมีการชะลอตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่กำลังซื้อผู้บริโภคก็ปรับตัวลดลงตาม ซึ่งจากประเด็นดังกล่าว TPLAS ก็มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาด โดยศึกษาความต้องการของผู้บริโภคเกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น และปรากฏว่าความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกถนอมอาหาร หรือฟิล์มยืดห่อหุ้มอาหาร รวมถึงบรรจุภัณฑ์ประเภทถุงใส่อาหาร ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าในช่วงนี้อาจจะมีการชะลอตามกำลังซื้อลงไปบ้าง
ขณะเดียวกัน ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ประเภทบรรจุภัณฑ์กล่องอาหาร รักษ์สิ่งแวดล้อม ก็มีความต้องกันเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน ซึ่งจากดีมานด์ความต้องการของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ส่งผลให้บริษัทได้ดำเนินการเร่งขยายไลน์การผลิต เพื่อรองรับความต้องการของตลาดผู้บริโภค โดยออกผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น บรรจุภัณฑ์กล่องอาหาร ที่ทำจากกระดาษ โดยในเฟสแรกบริษัทสั่งเร่งผลิตผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจำนวน 650,000 กล่องต่อเดือน พร้อมตั้งเป้ายอดขายจากโปรดักส์ดังกล่าวในปีแรกไว้ที่ประมาณ 30 ล้านบาท และคาดว่าจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตในอนาคต เพื่อต่อยอดรายได้ในอนาคต
Q1/63 กำไรร่วง
อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 1/2563 สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2563 บริษัทมีรายได้รวม 110.31 ล้านบาท ลดลง 27.64 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.04% และมีกำไรสุทธิ 6.10 ล้านบาท ลดลง 4.48 ล้านบาท หรือคิดเป็น 42.37% เมื่อเทียบจากปีก่อน โดยสาเหตุที่ภาพรวมผลการดำเนินงานปรับตัวลดลง เนื่องจากกำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัว ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามาเป็นตัวแปรหลักที่ทำให้มีกลุ่มผู้บริโภคมีความระมัดระวังการเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้น
แต่หากพิจารณาด้านมาร์จิ้นหรือกำไรในไตรมาสดังกล่าวแล้ว จะเห็นได้ว่าบริษัทสามารถรักษาระดับอัตราส่วนกำไรขั้นต้น (Gross Margin) ได้เท่ากับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้วที่ระดับ 19% พร้อมทั้งเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังจากกำลังซื้อจะมีโอกาสกลับเข้าสู่ภาวะปกติภายใต้มาตรการการผ่อนคลายโควิด-19
“ในไตรมาสแรกต้องยอมรับว่า มีปัจจัยกดดันหลายๆ ด้าน อาทิ การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจภาพรวมชะลอตัวลงไปอีก จากเดิมที่แทบจะไม่มีกำลังซื้ออยู่แล้ว ทำให้มีการแข่งขันด้านราคามากขึ้น แต่ TPLAS มีความแข็งแกร่งในด้านฐานลูกค้าเดิมที่ยังคงสั่งสินค้าต่อเนื่องไม่ได้หนีหายไปไหน จึงทำยอดขายของ TPLAS ไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น”.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |