ไวรัสทำศก.พัง-คนจนเพิ่ม


เพิ่มเพื่อน    


    การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้ส่งผลกระทบในหลายมิติกับหลายประเทศทั่วโลก ไม่เพียงเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น ทั้งผลกระทบในด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนด้านสังคม เพราะทันทีที่มีการแพร่ระบาด รัฐบาลของหลายประเทศได้เร่งออกมาตรการในการยับยั้งป้องกัน “มาตรการล็อกดาวน์” เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่รัฐบาลส่วนใหญ่เร่งดำเนินการ การหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเกือบทั้งหมด ได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนในหลายประเทศอย่างชัดเจน
    โดยก่อนหน้านี้ “ธนาคารโลก (World Bank) ได้ออกมาระบุว่า วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ อาจส่งผลกระทบทำให้ประชากรทั่วโลกถึง 60 ล้านคน ต้องเผชิญกับความยากจนอย่างแสนสาหัส
    พร้อมกันนี้ ยังระบุอีกว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้มีโอกาสที่จะหดตัวถึง 5% เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าว จากธุรกิจในหลายประเทศที่ต้องปิดทำการ รวมทั้งระบบสาธารณสุขยังอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างหนักอีกด้วย
    ทั้งนี้ ผู้ยากจนตามนิยามของธนาคารโลก คือ ผู้ที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจน โดยมีรายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน หรือราว 60 บาท ซึ่งประเทศที่มีตัวเลขผู้ยากจนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ “บราซิล” ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในแถบละตินอเมริกา โดยพบว่าชาวบราซิลต้องอยู่ภายใต้ความยากจนถึง 13 ล้านคน ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่าง “สหรัฐ” ก็ต้องเผชิญกับตัวเลขคนตกงานเพิ่มขึ้น 14.7%
    ไม่เพียงเท่านี้ เมื่อ “ธนาคารกลางแห่งอังกฤษ (Bank of England) ได้ออกมาคาดการณ์ถึงภาพรวมของอังกฤษหลังจากนี้ว่า จะเข้าสู่ภาวะถดถอย
    ขณะที่ “ประเทศไทย” เอง ก็หลีกหนีประเด็นเรื่องความกดดันด้านเศรษฐกิจไม่พ้น ซึ่งปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวได้ส่งผลกดดันในหลายๆ ด้านต่อประชาชน โดยล่าสุด “สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์” ได้ออกมาประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ว่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ -5.0 ถึง 6.0% ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวลดลงของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก การลดลงอย่างรุนแรงของจำนวนและรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ การระบาดของไวรัสโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง ขณะที่การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะลดลงอยู่ที่ระดับ -8.0%
    ขณะที่ภาคเอกชนเองก็มีมุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยส่วนใหญ่ยังคงประเมินว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจทุกตัวให้หยุดชะงัก และแน่นอนว่าจะมีผลกระทบโดยรวมต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีนี้ให้เติบโตติดลบอย่างแน่นอน
    ทั้งนี้ ผลกระทบส่วนใหญ่เริ่มสะท้อนให้เห็นอย่างต่อเนื่อง  ทั้งจากอัตราการว่างงานของแรงงานในประเทศไทย ที่ขณะนี้มีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่อยู่ในสถานะว่างงานแน่นอนแล้ว และสถานะจะว่างงานในอนาคตอีกจำนวนหลายล้านคน เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบในมุมต่างๆ เพราะแน่นอนว่าการว่างงานที่เพิ่มขึ้นจะมีผลต่อยอดไปถึงการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลพยายามใช้เครื่องยนต์นี้ในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยกับภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกในช่วงก่อนหน้านี้
    โดยก่อนหน้านี้ “ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยระบุว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลในไตรมาส 4/2562 ซึ่งเริ่มมีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกแล้ว  สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในภาพรวมอยู่ที่ 13.47 ล้านล้านบาท คิดเป็น 79.8% ของจีดีพี เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/2562 ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ 13.24 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 78.9% ของจีดีพี
    การเร่งป้องกันและแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จึงถือเป็นเรื่องที่ต้องเร่งดำเนินการ ไม่เพียงเพื่อด้านสาธารณสุข สุขภาพของประชากรโลกเท่านั้น แต่ในมิติอื่นๆ ที่กำลังกลายเป็นปัญหาก็จะได้ถึงเวลาที่ต้องเร่งแก้ไขด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการฟื้นฟูด้านเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาการว่างงาน เพื่อทำให้ประชาชนกลับมามีรายได้เลี้ยงปากท้องอย่างมีประสิทธิภาพ.

ครองขวัญ รอดหมวน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"