7 มิ.ย.63- สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 คณะกรรมการสรรหาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีมติตัดสิทธิไม่ให้ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก และ จินตนันท์ ริญาต์ร ศุภมิตร อดีตสมาชิก สนช. ชุดเดียวกันกับสุชาติ เข้ารับการสรรหาเป็น กสม. เนื่องจากทั้งสองคนเพิ่งพ้นจากตำแหน่ง สนช. มาไม่ถึงสิบปี พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.ป.กรรมการสิทธิฯ มาตรา 10(18) กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (18) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะสิบปีก่อนเข้ารับการสรรหา ขณะที่อีกด้านหนึ่ง คณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช.ที่มีมติเสนอชื่อนายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข อดีตสนช.เป็นป.ป.ช.และผ่านความเห็นชอบจากสว.ไปแล้วนั้น
ล่าสุด นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม.ในฐานะหนึ่งในคณะกรรมการสรรหา กสม. ระบุว่า นี้คือปัญหากรรมการสรรหาสองชุดตีความเรื่องนี้แตกต่างกัน อยากให้สังคมย้อนดูถึงที่มาขององค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญปี 40 โดยมีการถ่วงดุลโดยคณะกรรมการสรรหา เช่น กรรมการสรรหา กสม.ในขณะนั้นมีมากถึง 27 คน ซึ่งมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ ขณะที่สว.ซึ่งเป็นผู้ผ่านความเห็นชอบในช่วงเวลานั้นมาจากการเลือกตั้ง เมื่อมาถึงรัฐธรรมนูญปี 50 เริ่มเบี้ยวบูด เพราะปรับโครงสร้างกรรมการสรรหาใหม่เหลือแค่ 7 คนอยู่ในแวดวงศาล 5 คน นอกนั้นเป็นประธานสภากับผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งถือว่าแคบมาก ไม่มีภาคประชาชนเลย ต่อมารัฐธรรมนูญ 60 กรรมการสรรหา กสม.จะมีความแตกต่างจากชุดอื่น เพราะเป็นไปตามกฎหมาย กสม.จึงมีบุคคลจากสาขาอาชีพอื่นรวมอยู่ด้วย แตกต่างจากกรรมการสรรหาของ ป.ป.ช.ที่ไม่มีภาคประชาชนร่วมด้วย
นางสุนี กล่าวว่า เจตนารมณ์ในการมีองค์กรอิสระคือต้องการให้เกิดการถ่วงดุล ผู้ทำหน้าที่ต้องกล้าตรวจสอบรัฐบาลจึงไม่ให้ผูกพันกับนักการเมือง โดยรธน.60 กำหนดห้ามว่า ข้าราชการการเมือง สส.และสว.ต้องพ้นตำแหน่ง 10ปีจึงจะเข้าสู่แวดวงองค์กรอิสระได้ ขณะที่สนช.ทำหน้าที่แทนสส.และสว.ทั้งหมด จะปฏิเสธว่าไม่ใช่สส.และสว. มีคำถามว่าแล้วสนช.เป็นใคร ด้วยเหตุผลนี้กรรมการสรรหา กสม.จึงมีมติถึงสองรอบว่าอดีตสนช.เป็นสส.และสว.เมื่อยังพ้นตำแหน่งไม่ถึง 10 ปี จะเข้ารับการสรรหาเป็นกสม.ไม่ได้
"เรายืนกรานเรื่องนี้โดยไม่ได้ดูเรื่องตัวบุคคล ดูแค่สนช.ทำหน้าที่สส.และสว.ดังนั้นต้องพ้นตำแหน่ง 10 ปีก่อน ไม่เช่นนั้นจะมีคุณสมบัติต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ การบอกว่าทำหน้าที่แทนสส.และสว.แต่ไม่ได้เป็นสส.และสว.นั้นดูจะเป็นเรื่องโจ๊กจนเกินไป เพราะมีอำนาจเต็มเหมือนสส.และสว. แต่พอถึงเวลาจะขอยกเว้นไม่เป็นสส.และสว.ก็ต้องถามว่าแล้วที่ผ่านมาคุณคือใคร" นางสุนี กล่าว
หนึ่งในคณะกรรมการสรรหา กสม. ระบุด้วยว่า คาดไม่ถึงว่ากรรมการสรรหา ป.ป.ช.จะตีความแตกต่างไปจากกรรมการสรรหา กสม. แต่ก็ต้องยอมรับว่ากรรมการสรรหาสองชุดมีความเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าต้นเหตุของปัญหามาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้งองค์กรอิสระตั้งแต่ต้น ทำให้เกิดความยุ่งเหยิง
เธอระบุว่า อีกทั้งสว.ปัจจุบันมาจากการแต่งตั้งทั้งหมด และมาจากสนช.เกือบครึ่ง ทำให้คนเหล่านี้ตีความไปอีกแบบหนึ่ง ซึ่งไม่สอดรับกับความเห็นของสังคม เพราะสนช.ทำหน้าที่แทน สส.และสว.อย่างยิ่งใหญ่ มีเอกสิทธิ์เสมือนหนึ่งมาจากการเลือกตั้งมาโดยตลอด ถ้าปล่อยให้มีการตีความอย่างนี้องค์กรอิสระจะมีอดีตสนช.เข้ามาสมัครอีกเยอะแยะเลย ซึ่งมีทั้งข้าราชการเกษียณ และสารพัดกลุ่ม ท่านต้องเคารพกติกาที่พวกท่านเป็นคนสร้างขึ้นมาเอง
นางสุนี กล่าวว่า อย่างไรก็ตามเมื่อมีความเห็นที่แตกต่างกันทางกฎหมายก็ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด เนื่องจากเป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ จนกลายเป็นมติของสว.ไปแล้ว จึงไม่ใช่แค่ความขัดแย้งระหว่างกรรมการสรรหาสองชุดเท่านั้น ไม่เช่นนั้นจะมีข้อถกเถียงไม่จบสิ้น.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |