ตามรอยวิกฤตหมอกควัน 3 ประเทศลุ่มน้ำโขง สู่การแก้ไขที่ยั่งยืน  


เพิ่มเพื่อน    

ไฟป่าพื้นที่จ.เชียงใหม่

ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 สร้างผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในภาคเหนือตอนบนของประเทศอย่างสาหัส อัตราผู้ป่วยจากหมอกควันด้วยกลุ่มโรคทางเดินหายใจเพิ่มสูง ผู้คนต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อปกป้องชีวิตตัวเอง    

หมอกควันภาคเหนือสาเหตุหนึ่งนอกจากสภาพภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะและภูเขาล้อมรอบ ยังมีตัวการสำคัญเป็นการเผาป่า เผาซังข้าวโพด ประกอบกับหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้าน  นำไปสู่การสะสมของฝุ่นละอองมรณะในอากาศสูงเกินค่ามาตรฐาน สอดคล้องกับเวทีเสวนาออนไลน์ผ่านเพจ Greenpeace Thailand “ ข้าวโพด หมอกควันข้ามพรมแดน  และภาระรับผิดชอบของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์” เมื่อวันก่อน  มีข้อมูลยืนยันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีส่วนต่อวิกฤตมลพิษอากาศ 8 จังหวัดภาคเหนือและประเทศเพื่อนบ้าน  รวมถึงอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีส่วนเกี่ยวข้องก่อฝุ่นมรณะ  PM 2.5 ช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีนักวิชาการร่วมวิเคราะห์  แลกเปลี่ยน  และเสนอทางออกที่แก้ปัญหาหมอกควันอย่างยั่งยืน  พร้อมเปิดเผยรายงานชิ้นใหม่ของกรีนพีซ  ประเทศไทย ต่อประชาชน

 

รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิแวศ กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า กรีนพีซ รณรงค์การลดบริโภคเนื้อสัตว์ เพิ่มการกินผัก เพื่อสุขภาพที่ดีกว่า และลดการผลิตจากอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ ตัวการก่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า และปัญหาสุขภาพประชาชน เราเรียกร้องให้ภาครัฐหันมาสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยมากขึ้น และส่งเสริมเกษตรกรรมเชิงนิเวศให้เพิ่มขึ้นด้วย  ล่าสุด  กรีนพีซ ประเทศไทย มีรายงานชิ้นใหม่ ที่เชื่อมโยงให้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะประเด็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าและก่อหมอกควันข้ามพรมแดนกว่า 10 ปี ศึกษาร่วมกับศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นรายงานการวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพด จุดความร้อน และร่องรอยพื้นที่เผาไหม้จากภาพถ่ายดาวเทียมระหว่างปี พ.ศ.2558-2562 ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง  ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากเครื่องมือ Moderate Resolution Imaging Spectroradiometer (MODIS) ที่ติดตั้งบนดาวเทียม Terra and Aqua ของนาซา และดาวเทียมระบบ VIIRS ติดตามจุดความร้อน ร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ และพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ภาคเหนือตอนบน 8 จังหวัดของไทย ตอนบนของ สปป.ลาว และรัฐฉานของเมียนมา 

“ปัญหาหมอกควันพิษข้ามพรมแดน ไม่ได้เกิดจากเกษตรกรรายย่อยหรือการเก็บหาของป่า แต่อยากให้มองมุมการผลิตเชิงอุตสาหกรรมสร้างมลพิษข้ามพรมแดน ไทยต้องผลักดันให้เกิดภาระความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ที่ขาดหายไป  ไทยเป็นผู้นำการผลิตเนื้อสัตว์ และอาหารสัตว์ มีข้อมูลหนึ่งบริษัทผลิตไก่ 5 ล้านตัวต่อสัปดาห์เพื่อการบริโภคในประเทศและส่งออก  เนื้อไก่และไข่ไก่ที่กินมาจากอุตสาหกรรม ซึ่งเกี่ยวพันตั้งแต่พื้นที่เกษตร พืชอาหารสัตว์ จนถึงการแปรรูป  มีข้อมูลการผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้นสัมพันธ์กับผลผลิตข้าวโพดมากขึ้น ทิศทางเดียวกัน  สัดส่วนผลิตเพื่อส่งออกก็เพิ่มสูง   ปัญหาสุขภาพจากมลพิษใน 3 ประเทศ เชื่อมโยงกับการผลิตปริมาณมหาศาล มีต้นทุนแลกมาด้วยผืนป่าและสุขภาพที่หายไปของประชาชน “ รัตนศิริ กล่าว

ไฟป่าภาคเหนือ

การหายใจสุดฝุ่น PM2.5 เข้าไปในร่างกาย ยังส่งผลตัวเลขผู้ป่วยสูงขึ้น ข้อมูลข้างต้นมีที่มาจากกรมควบคุมโรคเกี่ยวกับผู้ป่วยจากปัญหาหมอกควันในภาคเหนือตอนบน ในระยะหมอกควัน (เดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม) ของทุกปี

เธอกล่าว ปี 58 มีผู้ป่วยใน 4 กลุ่มโรคที่เฝ้าระวัง รวม  8 แสนคน จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปี 62 ที่ผ่านมา หลังเกิดมาตรการควบคุม ผู้ป่วยลดลงเหลือ  6 แสนคน กลุ่มโรคที่มีรายงานสูงสุด คือ ทางเดินหายใจทุกชนิด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคผิวหนังอักเสบ และโรคตาอักเสบ  เหนือกว่าต้นทุนสุขภาพ ยังรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย 1 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซทั่วโลกมาจากภาคเกษตรและปศุสัตว์อุตสาหกรรม  เทียบเท่าภาคขนส่งคมนาคม  นอกจากนี้ เป็นการเปลี่ยนพื้นที่ป่ากลายเป็นเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ มีข้อมูล FAO ระบุภาคเกษตรกรรมทั้งหมด  ราวร้อยละ 80 เป็นพื้นที่ทำอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ไอพีซีซีรายงานถ้าไม่เปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตอาหารและการจัดการดินของโลก ไม่มีทางรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยโลกไว้ไม่ให้สูงกว่าขีดจำกัดที่ปลอดภัย ส่งผลกระทบระบบนิเวศ

“ อีกประเด็นโรคระบาดที่เกิดขึ้น อย่างซาร์ส  อีโบลา เมอร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดหมู  หรือโควิด-19 เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า ค้าสัตว์ป่า อุตสาหกรรมปศุสัตว์ การเปลี่ยนพื้นที่ป่า โลกที่ขาดสมดุลกระตุ้นให้ไวรัสแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้ ยังไม่รวมต้นทุนเรื่องหนี้สินจากการผลิต ความเป็นธรรมต่อเกษตรกร  มองไม่ได้เป็นตัวเลข และไม่มีใครเห็นค่า   “ รัตนศิริ กล่าว

 

วงเสวนานี้ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านอาหารฯ วิเคราะห์ด้วยว่า มาตรการการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของไทยที่เคร่งครัดขึ้นอาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่บรรษัทของไทยหันไปลงทุนนอกเขตพรมแดนประเทศไทยมากขึ้น เพื่อชดเชยหรือเพิ่มผลผลิตที่อาจขาดหายไปจากที่เคยผลิตได้ในไทย โดยราวปี   2559 มีการเปลี่ยนแปลงมาตรการการรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร และการประกันราคา ด้วยหลักฐานกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ถูกต้อง ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาการขาย  เกิดผลผลิตตกค้าง มาตรการนี้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงกับจุดความร้อนในไทยที่ลดลงในปี  2559 และลดลงเรื่อย ๆ จนกระทั่งพุ่งสูงกลับมาอีกครั้งในปี  2562 ประมาณ 14,000 จุดในเดือนเมษายน  ในขณะที่จุดความร้อนเพิ่มสูงขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน การขยับขยายพื้นที่การผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาจเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งเนื้อสัตว์และอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นจากตลาดโลก  ซึ่งสอดคล้องกับผลศึกษาย้อนหลัง 5 ปี

 

เจาะลึกการศึกษามีข้อค้นพบที่น่าสนใจ  ผศ.ดร.อริศรา เจริญปัญญาเนตร ศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (ภาคเหนือ) คณะสังคมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีข้อค้นพบหลักดังนี้ เปิดเผยในวงเสวนานี้ว่า  การศึกษาข้อมูล 5 ปีย้อนหลัง ใช้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม MODIS ช่วยติดตาม และเป็นเทคโนโลยีทันสมัยตอบปัญหาเชิงพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ขนาดใหญ่เข้าถึงยาก และตรวจย้อนหลังได้หลายปี พื้นที่ศึกษาอยู่ในโซนอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ครอบคลุม 3 ประเทศ ตอนบนของไทย ตนอบนของลาว และรัฐฉาน เมียนมาร์   โฟกัสที่พื้นที่ปลูกข้าวโพด ร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ ที่มีพื้นที่ใหญ่กว่า 250 ตารางเมตรขึ้นไป  ในไทยเราสำรวจตัวอย่างพื้นที่ปลูกข้าวโพดแปลงใหญ่ 240 จุด เมียนมา 238 จุด และตอนบลาว 64 จุด รวมกว่า 500 จุด เป็นตัวแทนพื้นที่ปลูกข้าวโพดในช่วง 5 ปี  ส่วนการวิเคราะห์จุดความร้อนใช้ดาวเทียม Suomi-NPP ระบบ VIIRS มีความละเอียดเชิงพื้นที่ ขนาดมากกว่า 375 ตร.ม  เน้นจุดความร้อนสูงจากการเผาในที่โล่ง  

ประเด็นแรก นักวิชาการ มช. บอกว่า ผลศึกษาพบพื้นที่ปลูกข้าวโพดแปลงใหญ่ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง พบมาช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน    แต่ถ้าแยกรายประเทศ  ตอนบนของไทยพบปลูกมากที่สุดเดือนเมษายนประมาณ 3.8 ล้านไร่  รัฐแนเมียนมา พบมากเดือนพฤษภาคมและเมษายน ประมาณ 8.4 ล้านไร่ และตอนบนลาว 7 ล้านกว่าไร่  ส่วนร่องรอยพื้นที่เผาไหม้พบมากสุดเดือนมีนาคม ช่วงปี 2560-2562 และเดือนเมษายน ช่วงปี 2558-2559  ขณะที่จุดความร้อน 3 ประเทศ พบมากสุดเดือนเมษายนของทุกปี ไทยมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2558-2561 แต่ปี 2562 กราฟสูงขึ้นชัดเจน
เช่นเดียวกับรัฐฉาน ลาว ปี  62 จุดความร้อนสูงขึ้น

ส่วนสถานการณ์การปลูกข้าวโพดภาคเหนือตอนบนของไทย ผศ.ดร.อริศรา กล่าวว่า พื้นที่รายปีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี  2558 จนถึงปี  2560 จากนั้นลดลงจนถึงปี พ.ศ.2562 เทรนด์ลดลงเรื่อยๆ  ขณะที่รัฐฉานของเมียนมามีสถานการณ์ตรงกันข้ามกับไทย มีการปลูกลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 จนปี  2561 จากนั้นเพิ่มขึ้นในปี . 2562 ส่วนพื้นที่ตอนบนของ สปป.ลาว มีสถานการณ์การปลูกที่ไม่แน่นอน พบพื้นที่ปลูกข้าวโพดลดลงและเพิ่มขึ้นปีเว้นปี ประเด็นต่อมาสัดส่วนร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ปลูกข้าวโพดกับพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งหมดในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงในช่วง 5 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 14.69 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 24.4 ในปี  2562 สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นจุดความร้อนที่พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดในอนุภูมิภาคนี้ในช่วงเวลา

ไฟไหม้ป่าอุทยานแห่งชาติภูกระดึง จ.เลย

 

" ไทยร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ปี 59 เพิ่มขึ้นจากปี 58 ประมาณ 7 แสนไร่  จากนั้นลดลงต่อเนื่องในปี 60 จนถึงปี 62 ขณะที่รัฐฉานเมียนมา พบร่องรอยพื้นที่เผาไหม้ค่อนข้างมากต่อเนื่องทุกปี ปีละ 2-3 ล้านไร่ ส่วนลาวตอนบนเพิ่มขึ้น ปี 62 วิกฤตมากพบถึง 1.8 ล้านไร่  สำหรับจุดความร้อนใน 3 พื้นที่ ปี 62 เพิ่มขึ้นจากปี 61 เกินร้อยละ 50 “   ผศ.ดร.อริศรา ระบุ


ในภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ปลูกข้าวโพดและจุดความร้อนในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จากการศึกษานักวิชาการคนเดิมกล่าวว่า  พบมากที่สุดเดือนเมษายนเกือบทุกปี ยกเว้นปี  2558 ที่พบมากในเดือนมีนาคม โดยจุดความร้อนที่พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดช่วงเดือนเมษายนของทั้ง 3 ประเทศรวมกัน ประมาณ 17,000 จุด ในเดือนเดียว  เป็นจุดความร้อนในไทย พบประมาณเดือนละ 4,000 จุด ส่วนรัฐฉานของเมียนมาพบประมาณเดือนละ 7,000 จุด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา และ สปป.ลาว มีจุดความร้อนสูงสุดราวเดือนละ 10,000 จุด 

“จากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมสรุปได้ว่า จุดความร้อนที่พบในพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง คิดเป็นร้อยละ 30 ของจุดความร้อนทั้งหมด ปีที่พบจุดความร้อนสูงมากสุดปี 60 ร้อยละ 32 และปี 58 ร้อยละ 32 แต่พีคสุดปี 2562 เป็นปีที่พบจุดความร้อนในพื้นที่ข้าวโพดมากกว่า 51,962  จุด มากกว่าปีอื่นร้อยละ 50 ที่พบ 25,000 จุด  “ ผศ.ดร.อริศรา สรุปผลศึกษา

ส่วนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก้หมอกควัน นักวิชาการ มช. บอกว่า ปัจจุบันความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดสูง ภาครัฐลงนามเอ็มโอยูกับเอกชน เพื่อขยายการผลิต โดยมีเกษตรกรร่วมโครงการกว่า 1 แสนรายในปี 62  หมายความว่า ปี 63 และ 64 จะมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มมหาศาล จุดความร้อนจะเพิ่มขึ้น ฝุ่นพิษจะตามมาอีก นโยบายส่งเสริมของรัฐเป็นแรงจูงใจ จะแก้ไขต้องมองเรื่องการจัดการเศษวัสดุในวงจรเพาะปลูก นำเทคโนโลยีมาช่วยให้มีทางเลือกที่ดีแทนการเผา และหากสกัดไม่ให้ปลูกข้าวโพด จะมีพืชทางเลือกอะไรทดแทน 

“ จากแผนที่จุดความร้อนต้นปี 63 ระหว่างวันที่ 1-31 มีนาคมที่ผ่านมา บริเวณกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงจากข้อมูลดาวเทียม พบมากบริเวณรัฐฉาน สปป.ลาว และตอนเหนือของไทย สอดรับกับแผนที่การกระจายตัวเชิงพื้นที่ของฝุ่น PM2.5 คนภาคเหนือแทบหายใจไม่ได้ บางพื้นที่ค่าฝุ่นขึ้นมาถึง 800 -900 ในบางวัน สปป.ลาวก็พีคสุด  แต่อาจไม่ได้รับข้อมูลข่าวสาร ถัดมาเดือนเมษายนฝุ่นพิษครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือตอนบนของไทยเต็มๆ ปรากฏการณ์ฝุ่นควันที่มีต้นตอจากการเผาตั้งแต่ธันวาคม 62 จนถึงเมษายน 63 แม้เข้าเดือนพฤษภาคมหน้าฝน ยังเห็นดอยสุเทพเลือนราง เราพบค่าฝุ่น PM2.5 ในเกณฑ์สีส้ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน   หลายคนคิดว่าปลอดภัยแล้ว แต่ตอนนี้เรายังสูดฝุ่นพิษกันอยู่ รวมถึงมีโรคโควิดเข้ามา ทำให้หลงลืมปัญหานี้ไป “ ผศ.ดร.อริศรา กล่าว

หมอกควันปกคลุมจ.ลำปาง

ด้าน ชัชวาล ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยเป็นเขตต้นนำลำธารขนาดใหญ่พื้นที่ต่อเนื่องกับเทือกเขาหิมาลัย เชียงใหม่มีพื้นที่ราบลุ่มร้อยละ  10 เท่านั้น ที่ดอนเชิงเขาร้อยละ 30 และพื้นที่เขาสูงร้อยละ 60  ป่าของไทยส่วนใหญ่อยู่ภาคเหนือ ประกอบด้วยป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น และเป็นต้นน้ำเจ้าพระยา ตามจังหวัดต่างๆ ลักษณะภูมิประเทศเป็นแอ่งกระทะ เมื่อเกิดการเผาไหม้บนดอยสูง ก่อปัญหาหมอกควันปกคลุมเมือง  บวกกับเราอยู่สภาวะโลกร้อน แรงกดอากาศสูง ล็อคฝุ่นพิษไว้ 2-3 เดือนตามแอ่งต่างๆ  อย่างเชียงใหม่เผชิญปัญหามา 14 ปีแล้ว ก้าวสู่ปีที่ 15 ประชาชนได้รับผลกระทบสูงมาก

 

“ ปี 63 จุดความร้อนเกิดในเขตป่าอนุรักษ์ร้อยละ 53 ป่าสงวน ร้อยละ42 รวมร้อยละ 95 เกิดเผาไหม้ในป่า ส่วน สปก. ชุมชนข้างทาง ประมาณร้อยละ 5 ซึ่งในป่าอนุรักษ์มีชุมชนดั้งเดิมอยู่มาก่อนประกาศ  เชียงใหม่มี 400 ชุมชนในป่าอนุรักษ์ อีก 1,200 ชุมชนอยู่ในป่าสงวน ซึ่งมีพื้นที่เกษตร  เดิมทำ 2 แบบ คือ เกษตรดั้งเดิมหรือไร่หมุนเวียน และวนเกษตรหรือเกษตรยั่งยืนเพื่อยังชีพ เมื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเริ่มขึ้น ระบบข้าวปลูกเข้ามาและขยายตัวเพิ่มขึ้น ภาคเหนือมีพื้นที่ปลูกข้าวโพด   4.4 ล้านไร่ เฉพาะเชียงใหม่ประมาณ 1.7 แสนไร่ ในปี 59 ก่อนลดลงปี 60 แล้วเพิ่มขึ้นปี61 และ 62 ตรงกับรายงานกรีนพีซ ประเทศไทย  พบจุดความร้อนในพื้นที่ข้าวโพดร้อยละ 30 “

แรงจูงใจปลูกข้าวโพด ชัชวาล มองว่า การเพาะปลูกทำได้ง่าย ใช้น้ำจากฟ้าฝน รอเก็บเกี่ยว   หลังเก็บเกี่ยวปล่อยทิ้งไว้ได้ วิธีจัดการเศษวัสดุข้าวโพด คือ การเผาเตรียมเพาะปลูกรอบต่อไป  เป็นเกษตรเชิงเดี่ยวกระทบระบบนิเวศสูง ทั้งเบิกพื้นที่ป่าธรรมชาติให้ลดลง ยิ่งขยายพื้นที่มากเท่าไหร่ จะมีรายได้สูงขึ้นเท่านั้น นอกจากปลูกง่าย ยังรายได้ดี เพราะมีการประกันราคา ปีนี้ประกันราคา 8.50 บาทต่อกิโลกรัม สูงกว่าปีที่แล้ว  จะหนักขึ้นปีนี้ ผลกระทบถัดมาดินเสื่อมโทรมเร็วมาก จะเห็นดอยหัวโล้น ยิ่งปลูกซ้ำ ใช้ยาฆ่าแมลง สารเคมีมากขึ้น คุณภาพดินต่ำ กระทบสุขภาพเกษตรกร ถัดมาระบบการผลิต การตลาด การบริโภคนิยม นำสู่ปัญหาหนี้สิน

 “ ปัญหาตามมาจากการเผาพื้นที่ปลูกข้าวโพด คือ ฝุ่น PM2.5 กระทบวงกว้าง  เดิมชาวบ้านมีระบบผลิตยังชีพ กระทบไม่มาก แต่เมื่อผลิตเพื่อขาย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กระทบรุนแรง เป็นสาเหตุใหญ่หมอกควันเชียงใหม่ วิธีที่ดีสุดคือเปลี่ยนจากปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นระบบเกษตรยั่งยืน ส่วนเฉพาะหน้าวิธีกำจัดวัชพืชข้าวโพดนำมาอัดแท่งเป็นอาหารสัตว์แทนการเผา ถัดมาการนำเศษวัชพืชข้าวโพดมาทำไบโอชาร์หรือถ่านชีวภาพ หลายพื้นที่เริ่มทำ แต่ต้องใช้เวลา และมีต้นทุนสูง จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐและเอกชน “ ชัชวาล กล่าว

แกนนำสภาลมหายใจพูดถึงตัวอย่างชุมชนจัดการทรัพยากรอย่างยั่วยืนด้วยว่า ตอนนี้มีไร่หมุนเวียน เกษตรยั่งยืน รวมถึงผลักดัน”แม่แจ่มโมเดล” ที่เปลี่ยนปลูกข้าวโพดเป็นไผ่หรือไม้เศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ชุมชนต้องได้รับการสนับสนุนเรื่องแหล่งน้ำ ความรู้ และระบบตลาด  หลายพื้นที่ลดเผา แต่สิ่งสำคัญรัฐต้องแสดงเจตจำนงชัดเจนในการแก้ปัญหาหมอกควันให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาพื้นที่ป่า ,การออก พ.ร.บ.อากาศสะอาด เพื่อกำกับควบคุมบริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐ ภาคเกษตร อุตสาหกรรม และภาคเมือง เพื่อแก้ปัญหาพร้อมกัน ส่วนเรื่องการปลูกข้าวโพด รับต้องมีมาตรการชัดเจนผลิตข้าวโพดไม่สร้างฝุ่นควัน หากเกิดต้องรับผิดชอบ แต่ไม่รู้รัฐจะไปคุยกับเจ้าสัวได้หรือไม่  มิฉะนั้น จะโทษเกษตรกรเผา ขณะที่ผู้ส่งเสริมไม่ได้รับการเอ่ยถึง ถัดมาวางเป้าลดพื้นที่ปลูกข้าวดพดอย่างเป็นลำดับ เลปี่ยนมาทำเกษตรยั่งยืนให้ได้ โดยรัฐและภาคธุรกิจร่วมส่งเสริม พัฒนา อีกประการสำคัญ รณรงค์ให้ผู้บริโภคเลิกบริโภคสินค้าก่อหมอกควัน

หมอกควันปกคลุมภาคเหนือ

 “ การแก้ปัญหาจะไม่สำเร็จ หากภาคประชาชนและภาคประชาสังคมไม่เข้มแข็ง ต้องติดตาม มอนิเตอร์ กดดัน และผลักดันให้เกิดนโยบายลดฝุ่นควัน ลดปลูกข้าวโพดเชิงพื้นที่ ต้องทำทั้งระบบ แม้กระทั่งผลักให้รัฐคุยกับกลุ่มประเทศอาเซียนแก้ปัยหาจริงจังมากกว่านี้ “ แกนนำสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวในท้าย

 

จากกิจกรรมไลฟ์นี้ กรีนพีซยังมีข้อเสนอต่อภาครัฐและอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ดังนี้คือ กลุ่มอาเซียนร่วมมือกันรวบรวมข้อมูลจัดทำแผนที่และขอบเขตของพื้นที่สัมปทานของผู้ประกอบการ  ,เพิ่มและปรับปรุงนโยบายความโปร่งใสและมาตรการทางกฎหมายที่เอาผิดบริษัทอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงผืนป่าและก่อหมอกควันพิษตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต ตั้งแต่การปลูกและรับซื้อพืชอาหารสัตว์ การทำปศุสัตว์ ไปจนถึงการแปรรูป และสามารถให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่วได้ และออกกฎหมายติดฉลากผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์อุตสาหกรรมทุกประเภท  เปิดเผยข้อมูลการเลี้ยง ที่มาอาหารสัตว์เชื่อมกับการทำลายป่าและก่อหมอกควันพิษหรือไม่ ตลอดจนหันมาสนับสนุนนโยบายและเปลี่ยนแปลงระบบโครงสร้างอาหารด้วยวิธีการผลิตที่ยั่งยืน เพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของประชาชนในภูมิภาค                                          


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"