10 จุดบนถนนสุขุมวิท นำร่องส่งพลาสติกกลับบ้าน


เพิ่มเพื่อน    

จุดรับขยะพลาสติกบริเวณร้านค้าที่ตั้งบนถนนสุขุมวิท

 

     ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เชื่อว่าทุกคนคงได้ทำตามมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโดยการทำงานที่บ้าน หรือออกจากบ้านให้น้อยที่สุด และการกักตัว 14 วันถ้าได้เดินทางกลับจากต่างถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งถือว่าต้องปรับวิถีการดำเนินชีวิตค่อนข้างมากทีเดียว โดยเฉพาะการสั่งอาหารมาทานที่บ้านหรือห้องพัก ร้านขายเครื่องดื่มปฏิเสธที่จะรับแก้วส่วนตัว ที่ทำให้เกิดขยะพลาสติกจำพวกบรรจุภัณฑ์ ช้อน ซ้อม ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพิ่มขึ้นถึง 15% จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีขยะพลาสติกเกิดขึ้นโดยเฉลี่ยปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่หรือ recycle ประมาณ 0.5 ล้านตัน ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน ไม่ถูก recycle ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากขยะขาดการคัดแยกที่ต้นทาง ถือเป็นการเสียโอกาสในการใช้ทรัพยากร

      ด้วยเหตุนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)  ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หนึ่งในภาคีเครือข่าย 24 องค์กร ได้เข้าร่วมโครงการ “ส่งพลาสติกกลับบ้าน” ริเริ่มโดยเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย (Thailand Responsible Business Network – TRBN) เพื่อทำโมเดลต้นแบบการเรียกคืนขยะที่มีประสิทธิภาพ ในแนวคิด แยกที่บ้าน ฝากทิ้งที่เรา และให้ความรู้การคัดแยกขยะพลาสติกแก่ผู้บริโภคตั้งแต่ต้นทาง และเพื่อความปลอดภัยของซาเล้งและพนักงานเก็บขยะ ลดปริมาณขยะพลาสติกสู่บ่อฝังกลบ และเพิ่มการนำพลาสติกกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ผ่านกระบวนการ recycle/upcycle ของบริษัทเอกชน นำไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) เกิดขึ้นได้จริง

      โดยได้เริ่มต้นนำร่อง 2 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2563 ผ่านการตั้งจุดรับพลาสติกจำนวน 10 จุดในถนนสุขุมวิท ได้แก่ 1.Emporium 2.EmQuartier 3.Singha Complex 4.Bambini Villa 5.Broccoli Revolution 6. A Square 7.The Commons 8.Tesco Lotus สุขุมวิท 51 9.CP Fresh Mart เพชรบุรี 38/1 (สุขุมวิท 39) และ 10.Veggiology โดยรับขยะพลาสติก 2 ประเภท คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็งที่ทำความสะอาดเรียบร้อยจากประชาชนทั่วไป เพื่อนำพลาสติกใช้แล้วจากผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการ recycle แปรรูปเพื่อส่งกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง หรือเรียกว่า ปิด loop

 

วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพย์ฯ 

      นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ทุกคนต้องทำงานอยู่บ้าน หรือกักตัว 14 วัน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้บริการ ฟู้ดเดลิเวอรี่ ที่ต้องใช้ถุงหรือกล่องพลาสติก บรรจุอาหาร รวมไปถึงร้านกาแฟบางร้าน ก็กลับมาใช้แก้วพลาสติก เพื่อความปลอดภัยมากขึ้น ทำให้ขยะ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์พลาสติก มีปริมาณเพิ่มขึ้น 15% จาก 5,500 ตันต่อวัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน และเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมามีขยะที่เป็นพลาสติกและหน้ากากอนามัยที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพิ่มขึ้นถึง 1,500 ตันต่อวัน ในส่วนของข้อดีถือว่าเป็นการทำให้ขยะเกิดการกระจุกตัวเป็นจุดๆ เพราะทุกคนเริ่มทิ้งเป็นที่ และเริ่มคัดแยกขยะไม่กระจัดกระจายเหมือนก่อนช่วงสถานการณ์โควิด-19 2-3 เดือนที่ผ่านมา แต่ในขณะเดียวกันขยะที่เพิ่มขึ้นเป็นสิ่งที่กระทรวงทรัพย์มีความเป็นห่วง จึงอยากจะขอความร่วมมือจากประชาชน อย่าง พลาสติกจำพวกกล่องพลาสติกที่สามารถล้างทำความสะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรืองดรับช้อน ซ้อมพลาสติก หากรับประทานที่บ้าน เป็นต้น และคาดว่าในปี 2564 ตั้งเป้าที่จะผลักดันเป็นข้อบังคับ งดใช้ถุงพลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ถาดโฟม หลอดและแก้วกาแฟพลาสติก ต่อไป

      นางพิมพรรณ ดิศกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการเครือข่ายเพื่อความยั่งยืนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาก่อนช่วงโควิด-19 ประเทศไทยก็ต้องเผชิญกับปัญหาขยะพลาสติกล้นประเทศ โดยแนวทางการแก้ได้จะไปได้ด้วยแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน จากการพยายามเรียกคืนพลาสติก กระดาษ แก้ว หรืออลูมิเนียม เพื่อให้เกิดการรีไซเคิล อัพไซเคิล และกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์แก่ผู้บริโภค ซึ่งจะช่วยลดขยะสู่แหล่งธรรมชาติ และลดการนำเอาทรัพยากรใหม่จากธรรมชาติมาใช้ด้วย แต่การที่จะทำให้เกิดโมเดลของเศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำเพียงลำพังไม่ได้ จึงต้องมีความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนและประชาชน โดยวันที่ 22 เมษายน ที่ผ่านมา ได้ร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนได้เห็นว่า แม้ว่าทุกคนจะอยู่แต่บ้านก็สามารถช่วยกันแยกขยะติดเชื้อออกจากขยะทั่วไปได้ เพื่อเป็นอีกแรงในการช่วยพนักงานเก็บขยะ และยังสามารถลดขยะพลาสติกลงได้

      “ ทั้งนี้ ในโครงการส่งพลาสติกกลับบ้านจะเริ่มนำร่อง 2 เดือน ตั้งแต่พฤษภาคม-มิถุนายน กับ 10 จุดบนถนนสุขุมวิท ที่จะรับขยะพลาสติกสะอาด 2 ประเภท คือ พลาสติกยืดและพลาสติกแข็ง 7 ชนิด ได้แก่ ถุง กล่องใส่อาหาร ถ้วย แก้ว ขวด ฝาขวด และฟิล์ม จากนั้นจะติดตามผลเพื่อประเมินโครงการก่อนจะขยายต่อไป นอกจากนี้ยังมีแอปพลิเคชัน ECOLIFE เก็บแต้มสะสมแลกของสมนาคุณต่างๆ และแอปพลิเคชัน ซีซาเล้ง ที่พัฒนาโดย แก้วกรุงไทย เพื่อเป็นช่องทางเก็บบรรจุภัณฑ์ใช้แล้วของประชาชนที่มีมากกว่า 100 กิโลกรัม ก็สามารถเรียกใช้บริการได้ ทำให้ขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่รวดเร็วและง่ายขึ้น ซึ่งนับว่าการร่วมมือกันระหว่างเครือข่ายๆ ทั้งภาคเอกชนขนาดใหญ่ กลาง เล็ก ภาครัฐ ภาคประชาสังคมและภาควิชาการ เพื่อ close loop นำพลาสติกจากผู้บริโภคส่งเข้าสู่กระบวนการจัดการให้สามารถแปรรูปกลับไปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ผู้บริโภคใช้อีกครั้ง เกิดเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน” พิมพรรณ กล่าว

 

จุดรับขยะพลาสติกที่สะอาด

 

      ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าวว่า การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ ถือว่าเป็นการจัดการปัญหาพลาสติกที่ตรงจุดและทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน และเชื่อมั่นว่าจะเป็นจุดตั้งต้นสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้อย่างแท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับ แนวคิดเรื่อง Environmental, Social, Governance (ESG) ที่จะให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคมและด้านบรรษัทภิบาล โดยทาง ก.ล.ต.ก็ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนผนวก ESG เข้ากับการทำธุรกิจของตนเองเพื่อความยั่งยืน และให้เปิดเผยข้อมูลการดำเนินการที่เกี่ยวกับ ESG สนับสนุนให้มีการเผยแพร่องค์ความรู้ ออกคู่มือและแนวทางปฏิบัติที่ดี ตลอดจนจัดกิจกรรมและโครงการเพื่อส่งเสริมการดำเนินการให้บรรลุผลอีกด้วย

      รศ.ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีที่ผ่านมาที่มีการประกาศโรดแมป การลดและเลิกใช้พลาสติก เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของการตระหนักถึงปัญหาของขยะพลาสติกอย่างจริงจัง โดยกลับมามองที่ภาพขยะโดยรวมก็จะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหามากมาย อาทิ ทำให้เกิดน้ำเสีย น้ำท่วม ไฟไหม้บ่อขยะ และการเพิ่มขึ้นก๊าซเรือนกระจก และยิ่งปัญหาของขยะพลาสติก ก็มีเพิ่มปัญหาเพิ่มเข้าไปอีก เพราะพลาสติกใช้เวลาย่อยสลายนาน ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและสัตว์อื่นๆ และยังเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน อาจจะเป็นทางออกหนึ่งที่จะขยายผลต่อได้ในอนาคต อย่างจุดรับขยะพลาสติกที่กระจายอยู่บนถนนเส้นหลัก นับว่าเป็นจุดที่น่าสนใจ เพราะตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนที่มีคนเยอะ หรือมีกระจายอยู่บริเวณร้านค้าเล็กๆ มีผลในการเก็บข้อมูลเพื่อการวิจัยที่จะทำให้เห็นมิติต่างๆ ของจุดรับขยะพลาสติกเหล่านี้ นำไปสู่แนวทางในการเดินหน้าแก้ปัญหาขยะพลาสติกต่อไป

      อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการส่งพลาสติกกลับบ้าน และวิธีการแยกขยะอย่างถูกต้อง สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/sendplastichome/?ref=bookmarks และหรือสามารถติดต่อขอข้อมูลได้ที่ นางสาวรัมภ์รดา นินนาท หมายเลขติดต่อ 08-1819-0110 e-mail: [email protected]

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"