เรื่องเล่าคราวลากเรือหลวง (1)


เพิ่มเพื่อน    

(เรือหลวงอุดมเดช 323 เมื่อครั้งยังประจำการในกองทัพเรือ (ขอบคุณภาพจากอินเทอร์เน็ต))

    หลังสงกรานต์ปีที่แล้วไม่กี่วัน มีข่าวปฏิบัติการลากจูงทางน้ำครั้งสำคัญ เจษฎาเทคนิคมิวเซียม พิพิธภัณฑ์ยานพาหนะของคุณเจษฎา เดชสกุลฤทธิ์ ได้ขอรับการสนับสนุนเรือหลวงอุดมเดช 323 จากกองทัพเรือที่ปลดประจำการลงเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านั้น กองทัพเรือยินดีมอบให้นำไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ริมแม่น้ำนครชัยศรี โดยฝ่ายพิพิธภัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบการลากจูง
    ในฐานะเด็กเรือเก่าของคุณเจษฎาตั้งแต่คราวลากเรือดำน้ำโซเวียตยุคสงครามเย็นมาจากทะเลบอลติกเมื่อต้นปี 2550 ก่อนที่เรือดำน้ำจะประสบเหตุร้ายจมลงสู่ก้นทะเลเหนืออย่างน่าเสียดาย ผมขอโอกาสคุณเจษฎาร่วมปฏิบัติการลากเรือให้สำเร็จสักครั้งในชีวิต คุณเจษฎาก็ไม่ขัดข้อง ความจริงแล้วผมไม่ได้ทำหน้าที่ใดๆ ในการลากจูง เพียงแต่ขอขึ้นไปสัมผัสประสบการณ์หายากเท่านั้น และก็ได้แต่หวังว่าจะไม่ไปเกะกะกีดขวางการทำงานของทีมลาก
    สำหรับเรือหลวงอุดมเดชนี้สังกัดอยู่ในชุดเรือหลวงราชฤทธิ์ ประกอบไปด้วย ร.ล.ราชฤทธิ์ หมายเลข 321, ร.ล.วิทยาคม หมายเลข 322 และ ร.ล.อุดมเดช หมายเลข 323 กองทัพเรือได้มีโครงการจัดหาในปี พ.ศ.2519 ใช้งบประมาณจากค่าสัมปทานสำรวจน้ำมันในทะเลบวกกับงบประมาณประจำ มีชื่อโครงการว่า “การจัดหาเรือคุ้มครองการสำรวจน้ำมันทางทะเล” ต่อโดยบริษัท Cantiere Navale Breda ประเทศอิตาลี
    เรือหลวงอุดมเดชขึ้นระวางประจำการปี พ.ศ.2523 เป็นประเภทเรือยนต์เร็วโจมตีอาวุธนำวิถี ถือเป็นเรือครูของกำลังพลทหารเรือไทยมากมายหลายท่าน สำหรับเรือหลวงวิทยาคมที่อยู่ในชุดเดียวกันเมื่อปลดระวางประจำการแล้วกองทัพเรือก็ได้มอบให้กับจังหวัดนครศรีธรรมราช ขณะนี้จัดแสดงประกอบพระอนุสาวรีย์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลเขาพลายดำเฉลิมพระเกียรติ อำเภอสิชล ส่วนเรือหลวงราชฤทธิ์นั้นยังคงประจำการอยู่ต่อไปก่อน
    เว็บไซต์ Thaiseafarer ระบุข้อมูลจำเพาะของเรือหลวงชุดนี้ไว้ว่ามีความยาวตลอดลำเรือ 49.80 เมตร กว้าง 7.50 เมตร กินน้ำลึก 1.7 เมตร ระวางขับน้ำปกติ 270 ตัน เต็มที่ 300 ตัน ความเร็วมัธยัสถ์ 15 นอต สูงสุด 36 นอต ระยะปฏิบัติการไกลสุด 2,000 ไมล์ ต่อเนื่อง 5 วัน กำลังพลประจำเรือ 46 นาย มีปืนใหญ่เรือ OTO Melara 76/62 Compact ขนาด 76 มม. 1 แท่น, ปืนใหญ่กล Breda/Bofors Type 564 ขนาด 40 มม. 1 แท่น, ปืนกล U.S. Ordnance M2HB ขนาด 12.7 มม. แท่นเดี่ยว 2 แท่น และแท่นยิงอาวุธปล่อยนำวิถีพื้นสู่พื้น MBDA Exocet MM38 2 แท่น แท่นละ 2 ท่อยิง
    เป็นเวลาหลายปีที่ผมเคยได้ยินข่าวเรือหลวงอุดมเดช 323 ทำหน้าที่พิทักษ์ทะเลไทย เข้าจับกุมเรือประเทศเพื่อนบ้านที่ลักลอบเข้ามาทำการประมงในเขตน่านน้ำของเรา จึงถือเป็นเกียรติยิ่งที่กำลังจะได้เดินทางเที่ยวสุดท้ายมาในเรือหลวงที่มีกิตติศัพท์ไม่ธรรมดาลำนี้

(เข้าสู่ปากแม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร)

    เรือหลวงอุดมเดชปลดประจำการที่ฐานทัพเรีอสัตหีบแล้วถูกลากมายังอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ จังหวัดสมุทรปราการ ทีมงานลากจูงจะนำออกสู่อ่าวไทยแล้วเลี้ยวขวาไปประมาณ 50 กิโลเมตรเพื่อเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร จากนั้นก็ขึ้นไปเรื่อยๆ สู่พื้นที่จังหวัดนครปฐม ช่วงนี้เรียกว่าแม่น้ำนครชัยศรี มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่เจษฎาเทคนิคมิวเซียมแห่งใหม่ที่กำลังจะมีการก่อสร้าง อยู่ในเขตตำบลงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี บริเวณตรงข้ามวัดกกตาล
    ข้อมูลเรื่องระยะเวลาในการลากจูงที่ผมได้รับวันก่อนขึ้นเรือคือเกือบๆ 1 สัปดาห์ ด้วยว่าความยากในการลอดผ่านแต่ละสะพานในแม่น้ำท่าจีนจำนวนทั้งสิ้น 17 สะพานก่อนถึงเจษฎาเทคนิคมิวเซียม ขึ้นอยู่กับ 4 ปัจจัย คือระดับความสูงของสะพาน ความสูงของเรือ ระดับน้ำขึ้นน้ำลง และฝีมือของทีมลาก ผมก็เลยสวมวิญญาณแสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ “เก็บเสื้อผ้ายัดใส่กระเป๋า…” สำหรับการอยู่ในเรือไปเผื่อๆ 7 วัน คุณเต่า-เลขาฯ คุณเจษฎา น้ำใจงาม เอื้อเฟื้อซิงเกิลมอลต์วิสกี้เก่าเก็บหลายปียี่ห้อ Glenfiddich มาให้ 1 ขวดลิตรสำหรับประทังชีวิตในเรือ
    เช้าวันเดินทางมีการทำพิธีบวงสรวงแม่ย่านางบริเวณหัวเรือ แล้วกราบสักการะภาพถ่ายและภาพเขียนกรมหลวงชุมพรฯ หรือเสด็จเตี่ยของชาวกองทัพเรือ ทีมเรือลากจุดประทัด 2 รอบแล้วออกเดินทางเวลาประมาณ 08.45 น. มีเรือเล็กของกองทัพเรือ 3 ลำช่วยกันดึงและประคองเรือหลวงออกจากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนเรือลากจะเข้ามารับช่วงต่อ เคลื่อนผ่านป้อมพระจุลจอมเกล้าฯ ทางด้านขวามือ ไม่นานก็ออกสู่ทะเลอ่าวไทย เลยร่องน้ำแล้วเรือก็หันขวาแล่นขนานชายฝั่ง ทว่าไม่สามารถมองเห็นฝั่งด้วยตาเปล่า

(เรือ “กลึงบาดาล” ของกองทัพเรือ นำเรือหลวงอุดมเดชจากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้าออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา)

    ทีมงานลากจูงได้ถอดเอา Bridge หรือห้องควบคุมเรือที่อยู่ส่วนบนของลำเรือรวมถึงเสาเรดาร์ออก นำไปวางไว้ส่วนหน้าของเรือเพราะมีพื้นที่ว่างรวมถึงทางด้านหลังเรือ ใช้เชือกผูกรัดกับลำเรือมาอย่างดี หากไม่ถอดออกก็จะลอดสะพานในแม่น้ำไม่ได้ ตอนแรกมีข่าวว่าจะนำส่วน Bridge นี้แยกจากตัวเรือไปกับรถเทรลเลอร์ หัวหน้าทีมลากชื่อพี่โมทย์ในชุดหมีสีขาว คะเนอายุห้าสิบกว่าๆ อธิบายกับผมว่าขนไปในลำเดียวกันจะช่วยถ่วงน้ำหนักเรือยามลอดสะพานให้ง่ายขึ้น
    ในการลากจูงครั้งนี้ผมไม่ได้อยู่ในเรือลากเหมือนเมื่อคราวลากเรือดำน้ำเนื่องจากเรือลากมีขนาดเล็ก มีคนอยู่ในเรือลากแค่ 2 หรือ 3 คนเท่านั้น ทีมงานส่วนใหญ่อยู่ในเรือหลวง โดยพี่โมทย์ใช้วิทยุสั่งการไปยังเรือลากเป็นระยะๆ ช่วงออกทะเลได้ไม่เท่าไหร่ผมอยู่ด้านหน้าฝั่งกราบซ้ายของเรือ พี่โมทย์หยิบลูกมะพร้าวเฉาะแล้วและแช่น้ำแข็งไว้มาให้ผมดื่ม 1 ลูกเพื่อความสดชื่น สักพักทีมงานประสบการณ์สูงของพี่โมทย์ชื่อป๋ายาวหอบเอาผลไม้มาให้ 1 กอบใหญ่ ทั้งสาลี่ แอปเปิล และส้ม ล้วนเป็นของไหว้ในพิธีบวงสรวงเมื่อเช้าทั้งสิ้น ผมกินส้มไป 1 ลูกเป็นมื้อเช้า ไม่กล้ากินมากเพราะกลัวต้องเข้าห้องน้ำ และเวลานี้ยังไม่รู้ว่าห้องน้ำอยู่ไหน
    ตอนปวดฉี่จึงได้เดินหา มีห้องที่เขียนว่า Toilet เปิดไปดูไร้แสงมืดมิด มองไม่เห็นอะไร ผมก็ยังอุตส่าห์เปิดสวิตช์ไฟทั้งที่รู้ว่าไม่มีไฟฟ้า มองเพ่งในห้องน้ำอยู่สักพักจนสายตาเอาชนะความมืดได้ ในห้องมีโถส้วมแต่ดูจะใช้การไม่ได้ ไม่มีน้ำ พื้นห้องฝุ่นหนาคล้ายสนิม หรืออะไรบางอย่างออกสีดำๆ เหยียบไปรู้สึกหยุ่นๆ เลยถอยออกมา เห็นผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมากับเรือ (เมียของกบ ทีมงานอีกคน) นั่งเล่นโทรศัพท์อยู่ระหว่างส่วนต่อกลางเรือ (ที่เป็นห้องต่างๆ) กับพื้นที่ว่างหลังเรือ ผมถามเธอว่าห้องน้ำใช้ได้ไหม เธอตอบว่าใช้ไม่ได้ ถามใหม่ว่าฉี่ได้ไหม เธอตอบว่าฉี่ได้ ก็เลยฉี่ลงไปทั้งมืดๆ ไม่รู้ว่าลงทะเลหรือไปค้างที่ส่วนไหน ตอนหลังมีคนแนะนำให้ฉี่ลงทะเลโดยตรง ผมปวดฉี่อีกทีตอนที่เรือเข้าแม่น้ำท่าจีนแล้ว แม้แม่น้ำจะไม่น่ากลัวเท่าทะเลแต่ก็เสี่ยงตกอยู่ดี ขออนุญาตข้ามเรื่องฉี่ไปเพราะยังไม่กล้าเล่าแบบลงรายละเอียด รวมถึงกิจธุระส่วนตัวในระดับที่หนักหนาขึ้นไปที่ขอยกยอดไปเล่าในตอนหน้า

(ฝูงนกนางนวลเข้าใจว่าจะได้ปลาจากเรือหลวง หรือไม่ก็แค่บินตามสนุกๆ)

    ผมเดินสำรวจเรือหลวงไปจนถึงด้านบนที่ถูกถอดออกเหลือเป็นดาดฟ้าแบนราบ มีบันไดขึ้นลงจากส่วนกลางเรือ เวลาเรือโคลงหนักๆ ก็นั่งยองๆ ลง คลื่นสูงไม่น่าเกิน 2 เมตร แต่เพราะเรือวิ่งขวางทางคลื่นที่เข้าออกฝั่ง ทำให้เรือโคลงซ้าย-ขวาน่าประหวั่นพรั่นพรึง ไม่โคลงหน้า-หลังเหมือนกับการวิ่งสวนคลื่นที่รู้สึกหวาดเสียวว่าน้อยกว่า ผมจึงลงไปนั่งบริเวณพื้นหลังเรือที่มีการเอาชิ้นส่วนต่างๆ ของเรือที่ถอดออกแล้วมาวางสุมกันจนมีพื้นที่ร่ม ยาเมาเรือคงออกฤทธิ์เต็มที่ผมมุดคลานเข้าไปเอนหลัง อ้วน-ทีมงานอีกคนหนึ่งเอาเสื่อและหมอนมาให้ จึงปูนอนชมนกนางนวลบินตามท้ายเรือสบายใจ น่าจะหลับลงไปได้ประมาณ 5 นาที
    พี่โมทย์เข้ามานั่งคุยด้วย แกพูดเรื่องเรือดำน้ำโซเวียตลำนั้นขึ้นมาเหมือนจุดใต้ตำตอ คงเคยทราบเรื่องคุณเจษฎาซื้อเรือดำน้ำ พอทราบว่าผมมากับเรือลากในคราวนั้นแกก็ตะโกนเรียกป๋ายาว บอกว่า “มาดูคนลากเรือดำน้ำนี่เร็ว” ป๋ายาวเข้ามาร่วมวงเล่าว่านายหน้าเรือลากชาวสวีเดนในเวลานั้นมาให้แกไปเป็นพยานขึ้นศาลเพื่อบอกกับศาลว่าเรือล่าปลาวาฬที่ใช้ลากเรือดำน้ำนั้นคือเรือลาก หรือ Tudgboat ด้วยเกียรติของคนเรือมืออาชีพป๋ายาวไม่ยอมรับข้อเสนอนำความเท็จกล่าวต่อศาล แกย้ำว่า “ก็มันไม่ใช่เรือลาก” พี่โมทย์ให้ข้อมูลเพิ่มว่านายหน้าคนนี้หนีอะไรบางอย่างมาจากสวีเดน และหากินด้วยวิธีแบบนี้หลายครั้ง และสุดท้ายเขาขายเรือล่าปลาวาฬลำดังกล่าวได้ 3 ล้านบาท มีคนซื้อไปตัดชิ้นส่วนขายต่อที่ทะเลทางภาคใต้
    นอกจากบริเวณหลังเรือที่ไม่ร้อนเพราะมีกำบังและโดนลมแล้วก็ไม่มีส่วนไหนของเรือพ้นอิทธิพลแสงแดดเดือนเมษายนไปได้ ภายในตัวเรือโดยเฉพาะในห้องต่างๆ ร้อนเหลือประมาณเพราะเรือสร้างด้วยเหล็ก อุณหภูมิยามบ่ายสะสมความร้อนปาเข้าไปเกิน 50 องศา แค่เดินผ่านก็เหงื่อชุ่ม ตอนขึ้นเรือมาเมื่อเช้านี้ผมวางเป้ไว้บริเวณทางเดินในตัวเรือ เวลาสายๆ มาเจอเป้วางอยู่ในห้องพักผู้บังคับการเรือที่ในเวลานี้คือห้องของพี่โมทย์ มีโต๊ะและโซฟา ตอนเช้าตรู่ที่แดดยังไม่ร้อนคงพอใช้เป็นที่นอนได้ พี่โมทย์แขวนเสื้อผ้าไว้หลายตัว ที่อยู่ในถุงจากร้านซักรีดก็มี เพราะแกอยู่กับเรือเตรียมการเคลื่อนย้ายมาหลายวันแล้ว บนโต๊ะมีโกลด์เลเบิ้ลวางอยู่ด้วย 2 ขวดลิตร ในห้องหนึ่งผมเห็นอุปกรณ์การทำครัวและอาหารแห้งจำนวนหนึ่ง คาดการณ์ได้ว่าหญิงสาวหนึ่งเดียวในเรือน่าจะเป็นแม่ครัว

(เรือโยงในแม่น้ำรับช่วงต่อจากเรือลากในทะเล)

    พี่โมทย์ให้ลูกน้องใช้เชือกผูกยางรถยนต์แล้วโยนลงน้ำท้ายเรือเพื่อลดการแกว่งของเรือ แกคำนวณว่าเรือวิ่งด้วยความเร็ว 4.5 นอต (1 นอตเท่ากับ 1.85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เรือจะเข้าร่องน้ำของปากน้ำท่าจีนราวบ่าย 2 โมงซึ่งก็ตรงเวลา เรือลากส่งต่อเชือก 8 เกลียวทำจากไม้สนซีดาร์ญี่ปุ่น (สึกิ) ให้กับเรือโยงที่จะลากในแม่น้ำ ภาพที่เห็นบอกได้ว่าเรื่องการลากจูงต้องสนามใครสนามมัน มีเรือเล็กมาช่วยประคองท้ายเรือหลวงอีก 1 ลำ การลากเรือในแม่น้ำมีความจำเป็นต้องใช้เรือประคองท้ายเพื่อไม่ให้เรือใหญ่ที่ถูกลากชนเข้ากับตอม่อสะพานหรือเรือลำอื่นที่สัญจรไปมา รวมถึงตลิ่งและท่าน้ำ
    เมื่อเรือลากในทะเลกลับไปมีคนจากในเรือลำนั้นขึ้นเรือหลวงมาด้วย 1 คน ชื่อตั้ม เวลาบ่าย 3 ครึ่ง เรือเข้าสู่ปากน้ำท่าจีนที่กว้างใหญ่ไม่แพ้ปากน้ำเจ้าพระยา บริเวณที่น้ำเค็มสัมผัสกับน้ำกร่อยเห็นสีของน้ำตัดกันชัดเจน สีของน้ำกร่อยดำคล้ำเหมือนน้ำโคลน แถวปากแม่น้ำมีเรือสินค้าจำนวนมาก รวมถึงเรือปลาที่ออกมารับสัตว์น้ำจากเรือใหญ่ที่จอดลอยลำในน้ำลึก

(พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ฯ ทรงยืนปกปักคุ้มภัยแก่ชาวเรือ ณ วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน)

    ขบวนเรือ 3 ลำของเราเข้าสู่แม่น้ำท่าจีน เป็นเขตอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ผ่านวัดศรีสุทธาราม หรือวัดกำพร้าทางด้านขวามือ (มองจากขาขึ้นแม่น้ำ) พระอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ ทรงยืนเด่นสง่า หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร ข้าราชการและประชาชนร่วมกันจัดสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2559 เพื่อสำนึกในพระกรุณาของบิดาทหารเรือไทย เป็นพระอนุสาวรีย์เสด็จเตี่ยที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สูงถึง 17 เมตร
    เรือผ่านวัดโกรกกรากบนฝั่งเดียวกัน ลำน้ำโค้งขวาแล้วโค้งซ้ายเป็นรูปเกือบวงกลม พื้นที่ฝั่งซ้ายมือที่ถูกสายน้ำโอบล้อมไว้คือเขตตำบลท่าฉลอม ฝั่งขวาก็คือตำบลมหาชัย มีคลองมหาชัยดิ่งตรงเข้าไปทางทิศตะวันออกจนเชื่อมกับคลองสนามชัยและยาวไปต่อกับกรุงเทพมหานคร
    ในการลอด 3 สะพานแรก ได้แก่ สะพานถนนพระราม 2, สะพานท่าจีน 3 (วัดบางปลา) และสะพานพุทธมณฑลสาคร ระดับน้ำเป็นใจลอดผ่านไปได้ ทว่าเรือประคองท้ายที่ทำการดึงรั้งและส่งหนุนเรือหลวงเกิดเชือกขาดทั้ง 3 ครั้งสร้างความไม่พอใจให้กับพี่โมทย์ที่ขณะนี้เปลี่ยนมาออกคำสั่งทางโทรโข่งหลุดสบถออกมาพอหอมปากหอมคอ แต่เมื่อเรือท้ายรู้จังหวะการรับส่งกับเรือลากแล้วหลังจากนั้นเชือกก็ไม่ขาดอีกเลย
    เมื่อเรือเคลื่อนลึกเข้าไปในแม่น้ำเรื่อยๆ ขนาดลำน้ำก็ค่อยๆ แคบลง จากชุมชนริมน้ำตั้งกันหนาแน่นก็เริ่มเบาบาง ผักตบชวาในแม่น้ำกลับมากขึ้น สังเกตเห็นว่ามีคฤหาสน์ของเศรษฐีก่อกำแพงล้อมรั้วและมีท่าน้ำมั่นคงสวยงามตั้งอยู่หลายหลังทางฝั่งขวาแทบทั้งสิ้น
    แสงแดดอ่อนแรงลงผมก็ได้ทีกลับขึ้นไปเดินเหินชมทิวทัศน์บนดาดฟ้าอย่างเพลิดเพลิน แม่น้ำนิ่งเอื่อย ผิดกับทะเลคนละขั้ว กระทั่งม่านสีดำเริ่มเข้าจับท้องฟ้า งานหนักของคนเรือค่อยๆ ลดน้อยลง พี่โมทย์ตะโกนขึ้นมาว่า “เหล้าขวดสีเขียวแตกหกหมดเลย เมียไอ้กบทำแตก เป็นอะไรหรือเปล่า” ผมตกใจ รีบเดินลงไปที่หลังเรือ เห็น Glenfiddich วางอยู่บนโต๊ะในสภาพปกติ เคียงอยู่กับ Gold Label 

(เรือข้ามฟากออกจากท่ามหาชัยสู่ท่าฉลอม)

     “ได้เวลากินเหล้าแล้ว” พี่โมทย์เอ่ยขึ้น แล้วยังเสริมว่า “มีโซดานะ น้ำแข็งอยู่ในถัง เดี๋ยวมีกับแกล้ม แต่แก้วไม่มี ต้องเอาขวดน้ำมาตัดครึ่ง” ป๋ายาวถือรีเจนซี่ขวดแบนมาวางสมทบพร้อมครวญเพลง “บ้านพี่เป็นเรือนแพ สาวน้อยเขาไม่แล สาวแก่เขาก็ไม่มอง...” ของกาเหว่า เสียงทอง แล้วเดินตรวจตราโน่นนี่ตามส่วนต่างๆ ของเรือต่อไป   
    ผมหยิบแก้วน้ำพลาสติกใสแบบซีลปิดฝาที่ดื่มน้ำหมดแล้ว ดึงฝาซีลออกใช้เป็นแก้ว พี่โมทย์ดื่มจากแก้วสเตนเลสสีเงิน ตั้มตัดครึ่งขวดพลาสติก อนิจจาวิสกี้ซิงเกิลมอลต์และเบลนด์มอลต์ระดับโกลด์เลเบิ้ลต้องมาเข้าคู่ตุนาหงันกับแก้วระดับยาจก
    ในเรือหลวงมีอยู่ 8 ชีวิต หากไม่นับเมียของกบ ที่เหลือก็เป็นชายฉกรรจ์ล้วนผิวดำกร้านด้วยอาบแดดนานปี เมื่อเปรียบเทียบกันแล้วผมจึงดูเป็นหนุ่มน้อยหน้าใสไปเลย แถมไม่รู้เรื่องเรือเรื่องน้ำ แต่มาขออยู่อาศัยท่ามกลางผู้มากประสบการณ์ทั้งหลายในคืนพระจันทร์เต็มดวงอีกต่างหาก ตัดสินใจรินซิงเกิลมอลต์ใส่แก้ว ไม่ใส่น้ำแข็ง ไม่ใส่น้ำ ไม่ใส่โซดา แล้วยกขึ้นจิบ
    ผมรู้ดี การดื่มเพียวๆ ย่อมทำให้ผู้อื่นคิดว่าหมอนี่ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อไม่ใส่น้ำแข็งแม้ในวันอากาศร้อนเยี่ยงนี้ ขนาดคนเรือผู้แข็งแรงแกร่งกล้าทั้งหลายยังผสมน้ำแข็งโซดาหรือน้ำเปล่า
    ไอ้หนุ่มสำอางจึงกลายมาเป็นผู้น่าเกรงขามในบัดดล และคงจะผ่านค่ำคืนใต้แสงจันทร์นวลไปโดยตลอดรอดฝั่ง (ฮ่า).


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"