เวทีเสวนา 'ส.ว.ไทย อย่างไรต่อดี' เจิมศักดิ์-ปิยบุตร-ไอติม-นักศึกษา เห็นตรงกัน ส.ว.ชุดปัจจุบันหนักยิ่งกว่าสภาผัวเมีย


เพิ่มเพื่อน    

6 มิ.ย.63 - ที่ชั้น 5 อาคารไทยซัมมิท กลุ่ม New Consensus Thailand จัดงานเสวนาพร้อมถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ ในหัวข้อ “ส.ว.ไทย อย่างไรต่อดี?” มีผู้เข้าร่วมเสวนาประกอบด้วย นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา, นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า, นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า และ น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตัวแทนเครือข่ายนักเรียน นิสิต นักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.) โดยนายเจิมศักดิ์ได้ร่วมเสวนาด้วยการวิดีโอคอล

 นายเจิมศักดิ์ กล่าวถึงการมี ส.ว.จำเป็นหรือไม่นั้น ตนไม่ยึดว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น ไม่มีก็ไม่เป็นไร ถ้ามีต้องใช้ประโยชน์ได้จริง มิฉะนั้นไม่มีดีกว่า วุฒิสภาเป็นสภาของผู้ใหญ่ ผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อคอยท้วงติง ที่มาและอำนาจต้องสอดคล้องกัน ถ้ามีที่มาสัมพันธ์กับประชาชนมากให้อำนาจได้มาก ถ้าสัมพันธ์น้อยก็ให้อำนาจน้อยลง การยึดโยงประชาชนมากที่สุดคือการเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งรายจังหวัด ไม่ต่างกับ ส.ส. นัก ตนไม่เคยคิดเป็น ส.ว.มาก่อน แต่พอมีรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งยึดโยงประชาชนอย่างแท้จริงก็ลงสมัครและได้เป็น ส.ว.กรุงเทพฯ อยู่ 6 ปี ปีแรกค่อนข้างดี ส.ว. ถูกออกแบบให้เป็นอิสระ ให้อำนาจมากขึ้น ถอดถอนได้ เลือกสรรองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ

นายเจิมศักดิ์ กล่าวว่าตอนเลือก ส.ว. นั้นในปี 2543 เป็นรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ไม่เข้ามาแทรกแซง มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดแรก เป็นชิ้นเป็นอัน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดูดี ต่อมามีรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ปี 2544 เป็นต้นมา ส.ว. ลดความอิสระ เริ่มมี ส.ว. เป็นผัวเมียพี่น้อง ส.ส. รับเงินจากพรรคการเมือง มีโผเลือกองค์กรอิสระ ตอนท้ายยิ่งหนักคิดถึงแต่ตัวเอง อยากเป็น ส.ส. หรือรับตำแหน่งอื่น ก็สร้างความผูกพันกับผู้มีอำนาจต่อ เกิดระบบอุปถัมภ์ ในที่สุดก็ไม่ต่างจาก ส.ส. ซึ่งเลือกจากพื้นที่เหมือนกัน

นายเจิมศักดิ์ กล่าวถึงการมี ส.ว. ว่าต้องใช้จ่ายงบประมาณเกือบหมื่นล้านบาท ตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญตนเสนอให้มีสภาเดียวแล้วแบ่งหน้าที่ จะประหยัดหมื่นล้านบาท หรือถ้ามีให้ยึดโยงประชาชนเต็มที่ ออกแบบให้เลือก ส.ว. โดยอาชีพ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 40 ล้านคน มากำหนดว่าตนเองอยู่ในอาชีพอะไร แล้วแบ่งกลุ่มอาชีพสัก 10 กลุ่ม ให้มีคนเสนอตัวเป็น ส.ว. เลือกทั้งประเทศ ก็จะต่างกับ ส.ส. ทั้งนี้ ถ้าจะมี ส.ว. ดีที่สุดต้องยึดโยงประชาชน เป็นตัวแทนอาชีพ ซื้อเสียงยาก อิสระสูง แม้ได้รับตำแหน่งอาจโดนจูงใจบ้าง แต่น่าจะดีกว่า 

เมื่อถามถึง ส.ว.ชุดปัจจุบัน ยิ่งกว่า ส.ว.ในอดีตที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสภาผัวเมีย นายเจิมศักดิ์ เห็นด้วยว่ายิ่งกว่า เพราะยึดโยงกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อย่างเดียว แม้จะมีลูกเล่นในการเขียนกฎหมายตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ ไม่ยึดโยงประชาชนเลย ให้อำนาจมากถึงกับเลือกนายกฯ พลิกทุกอย่าง

 ขณะที่ นายปิยบุตร กล่าวถึงการมีวุฒิสภาในไทย โดยมองว่าเป็นสภาประกันการสืบทอดอำนาจ เพื่อเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2475 วุฒิสภาเป็นสถาบันแห่งการแย่งชิงกันของฝ่ายต่างๆ นำมาซึ่งความขัดแย้ง วิกฤติรัฐธรรมนูญ และการรัฐประหาร โดยเมื่อปี 2475 เรามีสภาเดียว แต่ให้เลือกตั้ง 3 สเต็ป ครั้งแรกคนยึดอำนาจแต่งตั้งทั้งหมด ระยะผ่านไปจะเปิดให้เลือกตั้งเข้ามาครึ่งหนึ่ง และครบ 10 ปี จะเลือกตั้งทั้งหมด เป็นสภาเดียวแต่มี 2 ประเภท คือเลือกตั้งกับแต่งตั้ง เกิดปัญหาทันที เป็นเหตุผลของการสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ที่พระองค์ไม่มีส่วนเลือกสมาชิกประเภทที่สอง ขณะที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็อยากต่ออายุสภาส่วนแต่งตั้งถึง 20 ปี มีการคัดค้าน จึงแก้เป็น 2 สภา ในปี 2489 เกิดปัญหาแย่งชิงกันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และฝ่ายสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ และเกิดรัฐประหารปี 2490

นายปิยบุตร ไล่เลียงประวัติศาสตร์แล้วสรุปการมี ส.ว. เดิมพันอำนาจบางอย่าง จากคณะราษฎรกับคณะเจ้า และจากคณะรัฐประหารกับฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้ง แม้มีความพยายามแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ให้แก้ อ้างเหตุเสียบบัตรแทนกันและสภาผัวเมีย ขณะที่ปัจจุบันยิ่งกว่าสภาผัวเมีย สภาพี่น้อง เป็นสภาสืบทอดอำนาจชัดเจน การมีสภาสูงคือสนามต่อสู้แย่งชิงพลังทางการเมืองที่ต้องการเข้าไปยึดเอาไว้ บางช่วงสืบทอดอำนาจ ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ต้องมีเลยก็ได้ เลือกตั้งก็กังวลจะเป็นเหมือนเดิมหรือไม่ ส่วน ส.ว. ปัจจุบันได้ทำลายเหตุผลของการมีอยู่ไปหมดแล้ว ไม่ตรวจสอบรัฐบาล บางคนอวยเชียร์ทุกวัน หากกังวลว่าสภาเดียวยึดได้หมดนั้น สภาก็มี กมธ.วิสามัญ คนนอกช่วยงาน ส่วนการเลือกองค์กรอิสระถ้าปรับใช้มติ 2 ใน 3 รัฐบาลก็จะเอาหมดไม่ได้ หรือแบ่งให้ศาลเลือก ประวัติศาสตร์ 80 ปีที่ผ่านมา จึงไม่จำเป็นต้องมีวุฒิสภาเลยก็ได้ 

ด้าน นายพริษฐ์ กล่าวถึงคุณค่าของรัฐธรรมนูญ 3 ประการ คือ 1.กติกาเป็นกลาง 2.เป็นประชาธิปไตย 3.ยืดหยุ่นรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ตนยึดหลักการทั้งสาม ระบบ ส.ว.ปัจจุบันขัดหลักประชาธิปไตย มีอำนาจเยอะมาก ยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ อำนาจเพิ่มเรื่อยๆ แต่ที่มาถดถอยการยึดโยงประชาชน กรรมการคัดเลือก 10 คน มีทั้งเป็น ส.ว.เอง หรือให้พี่น้อง เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน ส่วนในต่างประเทศ วุฒิสภาอังกฤษมาจากการแต่งตั้ง แต่อำนาจน้อย เช่น ยับยั้งกฎหมายได้ 1 ปี ไม่สามารถปรับตกได้ ถ้าอำนาจเยอะต้องเลือกตั้งอย่างสหรัฐอเมริกา ใช้การเลือกตั้งแบ่งเป็น 1 ใน 3 ทุกสองปี ไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งครองอำนาจไว้ยาว

 นายพริษฐ์ ยังกล่าวถึงการไม่มี ส.ว. เลยว่า ปัจจุบันประเทศที่มีสภาเดียวมีมากกว่าประเทศสภาคู่ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น สภาเดียวจะช่วยลดเวลาพิจารณากฎหมาย ทำให้รัฐคล่องตัวขึ้น ประหยัดงบประมาณ ส่วนข้อเสนอเลือกตั้ง ส.ว. จากกลุ่มอาชีพนั้น จะมั่นใจอย่างไรว่าจะได้ผู้นำสาขาอาชีพที่เชี่ยวชาญจริงๆ และต้องลาออกจากงานหรือไม่ จะแบ่งกลุ่มอาชีพอย่างไร เมื่อระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเร็ว เกิดอาชีพใหม่

 ส่วน น.ส.ภัสราวลี เห็นว่า ส.ว. มีแนวโน้มเป็นเครื่องมืออำนาจของคณะรัฐประหาร ส.ส.ปัจจุบันมีความสามารถพอ โดยไม่ต้องผ่าน ส.ว. เหมือนในอดีตได้ การรัฐประหารตั้งแต่สมัย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ กับ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ ต่อมาก็มี ส.ว.แต่งตั้ง ชัดเจนไม่สร้างประโยชน์ประชาชน รวบอำนาจของคณะรัฐประหาร อีกทั้ง ส.ว.โดยตำแหน่งที่เป็น ผบ.เหล่าทัพ มาทำไม เป็นหน้าที่ที่ควรแยกอำนาจ รวมกันไม่ได้ ผลงานโดดเด่นของ ส.ว.ปัจจุบันคือหนุนอำนาจรัฐประหารให้คงอยู่ ไม่เห็นผลงานเด่นเพื่อประชาชน ไม่คุ้มค่างบประมาณ นำเงินไปใช้อย่างอื่นได้เยอะแยะ เยียวยาวิกฤติโควิดได้หลายคน จึงเป็นเหมือนไส้ติ่งอักเสบไร้ประโยชน์ เป็นอันตรายต่อประเทศและประชาธิปไตย นอนกินภาษีประชาชน ต้องตัดทิ้งไม่งั้นจะตาย.

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"