อุ้มดิจิทัลมือถือไว้ทีหลัง 2ค่ายโอดประมูลใหม่ยาก


เพิ่มเพื่อน    

   "บิ๊กป้อม" ถอยอุ้ม "AIS-TRUE" ยัน คสช.ยังไม่พิจารณาใช้ ม.44 กสทช.ปัดชงรัฐบาลเอื้อประโยชน์ 2 ค่ายมือถือ อ้างแค่รวบรวมข้อมูล กลุ่มทรูยกทีวีดิจิทัลมีกำไรรัฐยังช่วย โอดประมูลคลื่นรอบใหม่ลำบากถ้าไม่ยืดจ่ายค่าคลื่น เอไอเอสผสมโรงมีเงินขยายโครงข่าย ขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0
    ที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันที่ 9 เมษายน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่มีภาคประชาชนออกมาคัดค้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะใช้มาตรา 44 ช่วยบริษัทมือถือ 2 ค่ายใหญ่ว่า ยืนยันว่า คสช.ยังไม่ได้พิจารณาใช้มาตรการดังกล่าวแต่อย่างใด เพราะตอนนี้ต้องช่วยทีวีดิจิทัลก่อน ส่วนเรื่องค่ายมือถือ 4 จีนั้นเอาไว้ทีหลัง 
        เมื่อถามว่า ภาคประชาชนเป็นห่วงหาก คสช.ช่วยบริษัทดังกล่าวจะทำให้ประเทศเสียประโยชน์  พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ยังไม่ได้ทำอะไรเลย"
    ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แถลงกรณีที่นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) แสดงความไม่เห็นด้วยกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมว่า สำนักงาน กสทช.ไม่ได้เป็นผู้เสนอเรื่องให้ คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกมาตรการช่วยเหลือ โดยขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตงวดที่ 4 ของบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC) บริษัทในเครือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กับบริษัท แอดวานซ์  ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทย่อยของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) โดยแบ่งจ่ายเป็น 7 งวด 
     "เป็นข้อเสนอของทั้ง 2 บริษัทที่ยื่นให้แก่รัฐบาล ขอยืนยันว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการผ่อนผันการชำระค่าธรรมเนียมของทั้ง 2 บริษัทได้เอง รวมถึงมาตรการช่วยเหลือทีวีดิจิทัลก็ไม่ได้เป็นผู้เสนอ เป็นแต่เพียงผู้รวบรวมข้อมูลให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลเท่านั้น" นายฐากรระบุ
    อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมานักวิชาการและภาคประชาชนไม่เห็นด้วยกับการเข้าช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม ตนไม่ขัดข้อง แล้วแต่รัฐบาลจะตัดสินใจ เพราะเมื่อถึงปี 63 กสทช.สามารถนำแบงก์การันตีไปขึ้นเงินตามที่ผู้ประกอบการได้วางหลักประกันเมื่อตอนประมูลคลื่น นอกจากนี้ คสช.ไม่ได้ขอความเห็นจาก กสทช.รายเดียว แต่ได้มีหลายหน่วยงานให้ความเห็น ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 
      ส่วนกรณีขอให้ช่วยเหลือผู้ประกอบการดิจิทัลนั้น เห็นว่าไม่มีใครคัดค้าน และ กสทช.ให้ความเห็นช่วยเหลือแก่ คสช.แล้วที่ให้พักชำระค่าใบอนุญาต และให้ช่วยเหลือค่าโครงข่าย (MUX) ไม่เกินกว่า  50% ทั้งนี้หากฝ่ายใดมีความเห็นอะไรให้นำเสนอไปที่รัฐบาลได้โดยตรง
    วันเดียวกัน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้แถลงการณ์เรื่อง ขอให้คำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติในการช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโทรศัพท์มือถือ โดยมีเนื้อหาว่าจากการที่รัฐบาล และ คสช.ได้แสดงท่าทีว่าจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยืดเวลาชำระเงินที่ผู้ประกอบการธุรกิจมือถือสองรายยังค้างจ่ายให้รัฐ ไปเป็นการผ่อนชำระนาน 5 ปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 1.5 ต่อปี ซึ่งต่ำมากเมื่อเทียบกับการที่ประชาชนต้องจ่ายเพื่อกู้เงินซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ หรือประกอบธุรกิจการค้า
    ดังนั้น องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ เห็นด้วยและสนับสนุนข้อมูลของนักวิชาการและผู้นำภาคประชาสังคม ที่เสนอว่ายังไม่มีเหตุจำเป็นใดเลยที่รัฐต้องยอมเอาประโยชน์ของคนไทยไปช่วยเหลือบริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งสอง หากรัฐบาลและ คสช.มั่นใจว่ามาตรการช่วยเหลือที่จะออกมาปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน ควรใช้กลไกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่นำไปสู่การตรวจสอบอย่างเปิดเผยรอบด้าน รวมทั้งขอให้บุคคลในคณะรัฐมนตรีและ คสช.ต้องร่วมกันรับผิดหากเกิดการฟ้องร้องเอาผิดทางกฎหมายในอนาคต
    ทั้งนี้ควรแยกพิจารณาวิธีการช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจทีวีดิจิทัลออกจากการพิจารณากรณีโทรศัพท์มือถือ เพราะมีเงื่อนไขทางธุรกิจและเทคโนโลยีที่แตกต่างกัน อนึ่ง การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 นั้นควรใช้เพื่อการอันจำเป็นเพื่อประโยชน์ส่วนรวมโดยแท้จริง มิเช่นนั้นจะเป็นการทำลายหลักนิติรัฐและทำลายความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะยาว
    ขณะที่นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริษัท (ร่วม) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เหตุผลที่บริษัทขอรัฐบาลให้ออกมาตรา 44 เนื่องจากปีที่แล้วผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้รับการช่วยเหลือ เพราะราคาประมูลทีวีดิจิทัลสูงกว่าราคาที่ตั้งไว้ 2 เท่า ทรูจึงเห็นว่าเมื่อการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ที่ผ่านมามีราคาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่า จึงน่าจะขอความช่วยเหลือจากรัฐได้
      ทรูจึงยื่นขอความกรุณาจากรัฐบาล โดยเฉพาะในประเด็นการขยายเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต ขอขยายระยะเวลางวดที่ 4 ที่ต้องจ่ายเงินที่เหลือทั้งหมด 6 หมื่นล้านบาท ออกเป็น 10 งวด และไม่จ่ายดอกเบี้ย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว กสทช.และรัฐจะช่วยด้วยการขยายงวดการชำระเหลือแค่ 5 งวด และจ่ายดอกเบี้ยก็ตาม อย่างไรก็ตามยืนยันว่าสิ่งที่ขอความช่วยเหลือไม่ได้ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์  เพราะบริษัทยังคงชำระค่าธรรมเนียมพร้อมดอกเบี้ย การอ้างว่าทรูทำให้เกิดความเสียหายเป็นหมื่นล้านนั้นไม่เป็นความจริง ทรูได้วางแบงก์การันตีไว้กับ กสทช.และธนาคารพาณิชย์เองเชื่อมั่นในศักยภาพทางการเงินของทรู 
     "การจะเข้าร่วมประมูลคลื่นหรือไม่ขึ้นอยู่กับบอร์ดบริษัท ไม่ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรทรูก็ยอมรับ  และต้องยอมรับว่าหากไม่มีการขยายเวลาในการชำระเงินออกไป การเข้าประมูลคลื่นความถี่ครั้งหน้าอาจจะลำบาก ถ้ารัฐบาลช่วยเราจะมีโอกาสเตรียมการลงทุนด้านอื่น โดยเฉพาะการลงทุนรับกับเทคโนโลยีใหม่ที่จะมา เช่น ดิจิทัล แพลตฟอร์ม เราตอบแทนบอร์ดไม่ได้ว่าเราจะเข้าประมูลหรือไม่ เชื่อว่าถ้ามีการช่วยเหลือโดยรวมทุกโอเปอเรเตอร์จะได้ประโยชน์ อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ ถ้ามีการช่วยเหลือทุกคนจะได้ประโยชน์" นายวิเชาวน์ระบุ
    ส่วนที่มีการกล่าวอ้างว่าทรูมีกำไรนั้น หากมองไปที่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่รัฐบาลช่วยเหลือ มีทั้งรายที่มีกำไรและขาดทุน จึงเชื่อว่ารัฐบาลจะไม่เลือกปฏิบัติ เรื่องนี้ไม่คิดเลยว่าเรื่องง่ายๆ จะกลายเป็นเรื่องเข้าป่า 
    นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด กล่าวว่า หากรัฐบาลมีมติให้ผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900  MHz ในงวดที่ 4 ดังกล่าวออกไปจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม โดยบริษัทจะสามารถนำงบประมาณไปเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ในครั้งต่อไปที่ กสทช.กำหนดขึ้น และที่สำคัญบริษัทจะสามารถนำเงินมาลงทุนขยายโครงข่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในการนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ๆ เพื่อให้บริการลูกค้า  ส่งผลให้ประเทศมีความก้าวหน้ามั่นคง และที่สำคัญเป็นแรงขับเคลื่อนพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ไทยแลนด์  4.0 ตามนโยบายรัฐบาลต่อไป
    นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล  แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ดีแทคไตรเน็ตได้ยื่นจดหมายข้อเสนอ พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อการประมูล 1800 MHz แก่ กสทช. เพื่อเรียกร้องให้พิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์การประมูลเดิม ดังนี้ 1.ไม่ควรกำหนดราคาขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ โดยอิงกับราคาชนะการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เมื่อปี 2558 แต่ควรกำหนดให้ต่ำลงเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำคลื่นไปใช้ได้มากขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม 2.การกำหนดขนาดคลื่นความถี่จำนวน 3 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2x15 MHz ไม่เหมาะสมในทางปฏิบัติ ขณะที่การกำหนดใบอนุญาตเป็น 9 ชุดคลื่นความถี่ ชุดละ 2x5 MHz นั้น จะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายสามารถเลือกประมูลคลื่นความถี่ตามความต้องการของตนเองได้ 
     3.ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับเงื่อนไข การนำคลื่นออกประมูลโดยกำหนดให้จำนวนชุดคลื่นความถี่น้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล หรือเงื่อนไข N-1 เพราะจะยิ่งทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มาใช้อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 และ 4.การที่เอไอเอสกับทรูได้ยื่นเรื่องขอผ่อนผันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz หลังจากการประมูลคลื่นความถี่ตั้งแต่ปี 2558 นั้น เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้รับแรงกดดันจากภาระด้านการเงินที่สูงมาก บริษัทจึงขอให้ กสทช.พิจารณาทบทวนเงื่อนไขการกำหนดงวดและระยะเวลาการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่านอื่นๆ ในอนาคต.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"