มติ "ก.บ.ศ." โยนเผือกร้อน "บิ๊กตู่" ชี้ขาดโครงการก่อสร้างบ้านพักตุลาการ เหตุกฎหมายไม่ให้อำนาจยุติเอง หวั่นโดนเอกชนคู่สัญญาฟ้องเรียกค่าเสียหาย ยันศาลตระหนักการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม พร้อมเคารพความเห็นทุกฝ่าย "มทภ.3" เปิดเวทีรับ 4 ข้อเสนอเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ "บิ๊กตี๋" มั่นใจนายกฯ กล้าตัดสินใจเพื่อ ปชช.
ที่ห้องประชุมคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ศาลฎีกา ถ.แจ้งวัฒนะ วันที่ 9 เม.ย. เวลา 09.30 น. คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ได้พิจารณาวาระพิเศษเพิ่มเติม กรณีที่สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการศาลอุทธรณ์ภาค 5 พร้อมบ้านพักข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งโครงการดังกล่าวปัจจุบันใกล้เสร็จสมบูรณ์ตามสัญญาแล้ว แต่ปรากฏว่ามีบุคคลกลุ่มหนึ่งคัดค้านและเรียกร้องให้ยุติการก่อสร้าง พร้อมให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในโครงการก่อสร้างออกไป
นายสราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม สรุปผลการประชุมเริ่มต้นชี้แจงเกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่และการดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2540 กระทรวงยุติธรรมมอบหมายให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ขอใช้พื้นที่ในราชการทหาร บริเวณด้านหลังของหน่วยกองพันทหารปืนใหญ่ที่ 7 เนื้อที่ประมาณ 106 ไร่ ต่อมาผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ได้มีหนังสือยืนยันการขอใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านพักและอาคารที่ทำการของกระทรวงยุติธรรม
"เมื่อได้รับการอนุญาตให้เข้าใช้พื้นที่ตามลำดับขั้นตอน โดยถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้ดำเนินการด้านงบประมาณและการจัดซื้อจัดจ้างตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง จนได้ผู้รับจ้างและได้ลงนามในสัญญาโครงการก่อสร้างดังกล่าวในที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1723 (บางส่วน) กับบริษัท พี.เอ็น.เอส.ไซน์ จำกัด ผู้รับจ้าง โดยมีบริษัท เอ็นจิเนียริ่งดีไซน์ คอนซัลแตนส์ จำกัด เป็นผู้คุมงาน วงเงินรวม 3 โครงการ จำนวน 955,064,056.28 บาท" นายสราวุธระบุ
เลขาฯ สำนักงานศาลยุติธรรม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวหากมองภาพในมุมสูงจะเห็นได้ว่าอยู่แนวระดับเดียวกับสวนสัตว์ไนท์ซาฟารี อ่างเกษตร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชุมชนช่างเคียน ชุมชนช้างเผือก และในการดำเนินการตามโครงการ สำนักงานศาลยุติธรรมได้ตระหนักถึงการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมเสมอมา บริเวณก่อสร้างที่มีต้นไม้มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 30 เซนติเมตรขึ้นไป ได้ขุดล้อมแล้วนำไปปลูกบริเวณใกล้เคียง โดยมีรายละเอียดของต้นไม้ที่ขุดล้อมไปคือ ต้นประดู่จำนวน 29 ต้น ต้นพลวงจำนวน 86 ต้น ต้นสักจำนวน 4 ต้น ต้นกระบากจำนวน 77 ต้น และไม้เนื้ออ่อนอื่นอีก 44 ต้น รวมจำนวน 240 ต้น รวมทั้งหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จมีโครงการปลูกต้นไม้อย่างต่อเนื่อง
นายสราวุธกล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่บุคคลกลุ่มหนึ่งพยายามให้ยุติและรื้อถอนโครงการดังกล่าวนั้น สำนักงานศาลยุติธรรมเป็นคู่สัญญาไม่อาจดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ได้ เนื่องจากหากสำนักงานศาลยุติธรรมยุติโครงการย่อมจะตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องถูกคู่สัญญาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งจะทำให้รัฐต้องเสียงบประมาณในการชดใช้ค่าเสียหาย อีกทั้งหากสำนักงานศาลยุติธรรมจะดำเนินการรื้อถอนก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ และยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย รวมถึงอาจจะต้องถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินดำเนินการหาผู้รับผิดชอบตามกฎหมายด้วย จากข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว สำนักงานศาลยุติธรรมจึงได้นำเรื่องเข้าที่ประชุม
"ที่ประชุม ก.บ.ศ.จึงมีมติให้สำนักงานศาลยุติธรรมรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ชอบธรรมและด้วยสันติวิธี โดยตระหนักถึงการอยู่ร่วมกับธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อม และให้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีถึงข้อเท็จจริงทั้งหมด โดยหากรัฐบาลเห็นสมควรประการใด เช่นให้ชะลอการใช้บ้านพักเฉพาะส่วนที่มีการคัดค้านไว้ชั่วคราวหรือดำเนินการอื่นในระหว่างฟื้นฟูสภาพแวดล้อม สำนักงานศาลยุติธรรมก็ไม่ขัดข้อง" เลขาฯ สำนักงานศาลยุติธรรมกล่าว
ต่อมานายสราวุธกล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อ ก.บ.ศ.มีมติเรื่องดังกล่าวแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการส่งมติ ก.บ.ศ.เกี่ยวกับโครงการดังกล่าวต่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับนายกฯ ว่าจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างไรต่อไป
ถามถึงกรณีที่ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เปิดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันหาทางออก ในเรื่องนี้ที่มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ จ.เชียงใหม่ โดยเชิญตัวแทนจากฝ่ายศาลเข้าร่วมประชุม แต่ปรากฏไม่มีตัวแทนจากศาลเข้าร่วม เลขาฯ สำนักงานศาลยุติธรรมกล่าวว่า เนื่องจากวันนี้มีการประชุม ก.บ.ศ.เพื่อพิจารณาในเรื่องดังกล่าวอยู่ เราจึงต้องรอผลการประชุมจาก ก.บ.ศ. ซึ่งเมื่อเราได้มติเป็นข้อยุติตรงนี้แล้วก็มีความเห็นว่า จะต้องส่งมติดังกล่าวไปให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาโดยตรง
วันเดียวกัน เวลา 09.00 น. ที่มณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ เชียงใหม่ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นประธานเปิดเวทีสาธารณะเพื่อร่วมกันหาทางออก กรณีโครงการก่อสร้างบ้านพักข้าราชการตุลาการศาลอุทธรณ์ภาค 5 บริเวณป่าเชิงดอยสุเทพ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการเชิญตัวแทนเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ซึ่งเรียกร้องให้ยุติและยกเลิกโครงการแล้วคืนพื้นที่ป่าเข้าร่วมพูดคุยนำเสนอข้อมูลความคิดเห็น ข้อเรียกร้อง ร่วมกับตัวแทนศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพื่อหาทางออกร่วมกัน พร้อมทั้งมีการเชิญตัวแทนส่วนราชการและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเริ่มดำเนินการหารือปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่ส่งตัวแทนมาเข้าร่วมแต่อย่างใด โดยเพิ่งมีการแจ้งยกเลิกในช่วงเช้าวันเดียวกัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ได้ตอบรับและส่งรายชื่อตัวแทนที่จะเข้าร่วมไว้แล้ว โดยแจ้งว่าสำนักงานศาลยุติธรรมก็มีการประชุมที่ส่วนกลางวันเดียวกัน
จากนั้นช่วงบ่าย พล.ท.วิจักขฐ์แถลงสรุปผลการจัดเวทีสาธารณะเรื่องดังกล่าวว่า ผลการประชุมวันนี้จะนำเสนอ ผบ.ทบ.ภายในวันที่ 10 เม.ย.เป็นอย่างช้า เพื่อนำเรียนหัวหน้า คสช.พิจารณาความต้องการของกลุ่มมวลชน ประชาชนชาวเชียงใหม่ ภาคประชาสังคม และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในเวทีที่เปิดเผยและแสดงความเห็นอย่างเสรีในการประกาศจุดยืน เพราะในช่วงบ่ายนี้ในส่วนของศาลยุติธรรมก็จะมีผลการประชุมออกมาด้วย
แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าวว่า ข้อสรุปตามที่ภาคประชาชนเสนอคือ 1.ต้องการให้รื้ออาคารศาลบางส่วน แต่รื้อขนาดไหนจะจัดผู้เกี่ยวข้องไปดูแลอย่างเป็นธรรม และนำเสนอจุดที่ขีดเส้นที่เหมาะสมภายในวันที่ 19 เม.ย.นี้ โดยขอให้ผู้ว่าฯ ตั้งคณะกรรมการร่วมภาคประชาสังคมและข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูพื้นที่ และสรุปมาเป็นประเด็น 2.ในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างให้ทำให้เสร็จ หรือจะให้หยุด แต่รัฐต้องจ่ายเงินตามงวดงานให้แล้วเสร็จ เพื่อไม่ให้กระทบบริษัทที่ได้งานมาอย่างถูกกฎหมาย 3.เกี่ยวกับบ้านพักหากรื้อถอนรัฐจะต้องหาพื้นที่เหมาะสมทดแทนในการก่อสร้าง เพื่อเยียวยาหางบประมาณมาก่อสร้างใหม่ 4.หากกำหนดพื้นที่ขีดเส้นได้แล้ว สำนักงานศาลต้องส่งคืนพื้นที่เกี่ยวข้องที่กระทบต่อผืนป่าให้ราชพัสดุ และดำเนินการโครงการปลูกป่าราษฎร์-รัฐ ร่วมใจต่อไป
"ทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าวให้ทำเป็นข้อเสนอถึงนายกรัฐมนตรี โดยส่งผ่าน ผบ.มทบ.33 แล้วส่งให้แม่ทัพภาคที่ 3 ซึ่งจะนำเรียน ผบ.ทบ.เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช.พิจารณาพร้อมข้อยุติของศาล โดยผมเชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีเป็นคนกล้าตัดสินใจ เพราะกระทบต่อจิตใจประชาชน ผบ.ทบ.ท่านก็ฟัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ท่านก็ฟังเสียงประชาชน เมื่อเช้าผมก็นำเรียน พล.อ.ประวิตรไปว่าศาลขอยกเลิกมาเวทีสาธารณะ ท่านก็รับทราบและให้เก็บประเด็นหลักว่าประชาชนต้องการอะไร" แม่ทัพภาคที่ 3 กล่าว
ด้านนายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ประธานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ กล่าวว่าสาเหตุที่ประชาชนคัดค้านการสร้างบ้านพักตุลาการและต้องการให้ทุบทิ้ง ด้วยเหตุผลเพราะกระทบจิตใจและจิตวิญญาณคนเชียงใหม่ ไม่ต้องเสียดายงบประมาณเพราะเทียบไม่ได้เลยกับป่าที่จะฟื้นฟูกลับมา จึงขอวิงวอนถึงผู้บริหารศาลว่าอย่ากลัวเสียหน้า เสียศักดิ์ศรี ผิดพลาดได้ก็แก้ไขได้ และเท่ากับกอบกู้ศรัทธาของประชาชนกลับคืนมา รวมทั้งได้เห็นการทำลายสิ่งแวดล้อม ถมลำห้วย และเจาะภูเขา โดยเฉพาะการตัดต้นไม้นับพันต้น กระทบระบบนิเวศมากกว่า 80 ไร่ กังวลการเกิดไฟป่าและน้ำป่าในช่วงน้ำหลาก โดยใช้งบประมาณที่ฟุ่มเฟือยขัดกับแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง แม้จะชอบด้วยกฎหมาย
"เราไม่ได้สุดโต่ง เครือข่ายได้มีมติให้ก่อสร้างให้เสร็จตามสัญญา และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่วมกันในการชี้แนวเขตป่าดอยสุเทพ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ให้ชัดเจน ทั้งหมดอยู่ภายใต้คำว่าสันติและปรองดอง 16 องค์กรที่รวมกันเป็นเครือข่ายยืนหลักการเดิมคือ ขอให้รื้อออกทั้งบ้านพัก 45 หลัง และอาคารชุด 9 หลัง ตามแนวเขตป่าดั้งเดิม โดยศาลอาจจะเลื่อนเวลาออกไป 2 เดือนเพื่อให้สัญญาการก่อสร้างจบ ขอวิงวอนศาลให้รับฟังเสียงคนเชียงใหม่ เรามีเจตนารมณ์ว่าไม่ว่าใครที่ไหนก็ไม่สำคัญ ไม่มีสิทธิ์ครอบครองป่าผืนนี้" ประธานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพระบุ.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |