"ธนาคารโลก" คาดเศรษฐกิจไทยปี 61 ท็อปฟอร์ม ลุ้นจีดีพีโตสุดแจ่มแตะ 4.1% สูงสุดนับแต่ปี 55 ชี้ส่งออกตัวขับเคลื่อนหลักพ่วงอานิสงส์เอกชนลงทุน บริโภคภายในประเทศเริ่มขยับ ห่วงปัญหาหนี้ครัวเรือนยังสูงเป็นข้อจำกัดการใช้จ่าย ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติเผยจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอีกระยะ ยันไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อหวังประโยชน์ทางการค้า
นายอูลริก ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย มาเลเซีย และความร่วมมือในภูมิภาค (เวิลด์แบงก์) เปิดเผยเมื่อวันจันทร์นี้ว่า รายงานติดตามเศรษฐกิจไทยปี 2561 ของธนาคารโลกมีข่าวดีคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 4.1% เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งจากการติดตามการขยายตัวเศรษฐกิจไทย 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวได้จากการขับเคลื่อนการส่งออก แต่ปีนี้มีสัญญาณดีจากการขับเคลื่อนการลงทุนของภาคเอกชนด้วย
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีรายได้ปานกลาง ทำให้ไทยต้องเดินหน้าปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจใน 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิรูปเรื่องการศึกษาและทักษะ ให้เด็กได้เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แต่กลุ่มคนชั้นสูงเท่านั้น
นอกจากนี้ต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมาไทยได้ลงมือเรื่องด้านคมนาขนส่ง ทั้งรถไฟฟ้าในเมืองและโครงการอื่นๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้สูงในระยะยาว และปฏิรูปการแข่งขันให้มีการเปิดเสรีด้านเศรษฐกิจมากขึ้น
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวได้ดีเพราะมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 6% ซึ่งยังไม่รวมผลกระทบจากสงครามการค้าแต่คาดว่าไม่กระทบประเทศไทยมาก เนื่องจากการส่งออกไปในกลุ่มประเทศ CLMV ขยายตัวดี สามารถชดเชยการส่งออกที่จะลดลงจากผลกระทบได้
นอกจากนี้เศรษฐกิจไทยปีนี้ยังมีแรงขับเคลื่อนจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวได้ดี โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.58 รวมถึงการลงทุนภาคเอกชนที่กระเตื้องขึ้น จากที่หยุดนิ่งมาหลายปี
"เศรษฐกิจไทยไตรมาสแรกปี 2561 จะขยายตัวได้มากกว่าไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 ที่ผ่านมา เนื่องจากการเบิกจ่ายภาครัฐที่ล่าช้า โครงการลงทุนต่างๆ ในปีที่แล้วสามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจทั้งปีจะขยายตัวได้ดี เพราะนอกจากการส่งออกจะขยายตัวได้ดีแล้ว การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ไม่ได้เห็นมานานก็ขยายตัวได้ดีขึ้น" นายเกียรติพงศ์กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายเกียรติพงศ์มองว่าเศรษฐกิจไทยยังมีอุปสรรคจากหนี้ครัวเรือนที่สูงถึง 80% ของจีดีพี การกระจายตัวของเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้เกิดข้อจำกัดในการใช้จ่าย นอกจากนี้ยังล่าช้าในการพัฒนานวัตกรรมที่จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในระยะยาว โดยการพัฒนาด้านนวัตกรรมของไทยอยู่ลำดับที่ 51 ตามหลังประเทศคู่แข่งอย่างจีน เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งประเทศไทยต้องเร่งแก้ไขเพื่อให้หลุดพ้นจากประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง
ด้านนายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนา The Symbol of your Visionary ในหัวข้อ "แนวโน้มเศรษฐกิจโลก-ทิศทางการลงทุนปี 2018" ว่าภาวะเศรษฐกิจโลกมีการฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง โดยเห็นได้จากเศรษฐกิจโลกปี 60 ที่ปรับตัวดีที่สุดในรอบ 5 ปี ทั้งการบริโภค การส่งออก ภาคผลิต ภาคแรงงาน และความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ส่งผลให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้เป็น 4.1% จากเดิม 3.9%
ทั้งนี้ ธปท.ยังต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไปอีกสักระยะหนึ่ง โดยมีแรงกดดันที่มาจากเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งการดูแลเศรษฐกิจให้มีเสถียรภาพ รวมถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนจำเป็นต้องคำนึงถึงภาพรวม และความเหมาะสมต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาวด้วย นอกจากนี้มองว่าการดำเนินนโยบายด้านดอกเบี้ยไม่จำเป็นต้องปรับตามประเทศอื่น เพราะโครงสร้างในแต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน
สำหรับกรณีที่สหรัฐอเมริกาจับตาไทยเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้านั้น นายวิรไทกล่าวว่าได้ทำหนังสือชี้แจงไปยังกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ แล้ว โดยยืนยันว่าไทยไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อผลประโยชน์ทางการค้า ส่วนการดูแลค่าเงินบาทก็เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และต้องการให้ภาคเอกชนสามารถปรับตัวได้ทัน เนื่องจากบางช่วงเวลามีเงินทุนไหลเข้ามาในไทยเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันยังต้องติดตามรายงานของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ อีกครั้งแม้จะชี้แจงไปแล้วก็ตาม เพราะที่ผ่านมาไทยเป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ มานานทั้งทางด้านความสัมพันธ์การค้าและการลงทุน
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 61 คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีอัตราการขยายตัวที่ชัดเจนและมีระดับเหนือกว่า 3.9% จากที่ทำได้ในปี 60 ตามแรงส่งจากภาคการส่งออกและท่องเที่ยว ตลอดจนปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากการลงทุนของภาครัฐ ในการเดินหน้าโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่บางส่วนถูกเลื่อนมาจากปีก่อน
นอกจากนี้ยังมาจากการที่รัฐบาลทยอยผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอีอีซีและการเลือกตั้งต่างๆ น่าจะส่งผลให้นักลงทุนต่างชาตินำเม็ดเงินลงทุนโดยตรง (FDI) เข้าสู่ไทย เสริมให้ภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้เดินหน้าได้อย่างมีเสถียรภาพตามที่ได้วางแผนไว้ อย่างไรก็ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะส่วนที่มาจากปัจจัยนอกประเทศที่อยู่เหนือการควบคุมซึ่งมี 3 กระแสเด่น ได้แก่ กระแสกีดกันทางการค้า การโยกย้ายเงินทุน และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศแกนหลักของโลก.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |