จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าพัฒนาวัคซีนโควิดสำเร็จ


เพิ่มเพื่อน    


    การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เริ่มซาลงไปหลังจากผู้ติดเชื้อที่เกิดขึ้นในประเทศไทยลดลง ส่วนที่มีการแถลงข่าวว่าพบผู้ติดเชื้ออยู่ เนื่องจากเป็นผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศและถูกกักตัวในสถานที่กักกันของรัฐ หรือ States quarantine เป็นที่เรียบร้อย ทำให้ยืนยันได้ว่าผู้ติดเชื้อจำนวนนี้จะไม่ออกไปแพร่เชื้อสู่ชุมชนแน่นอน
    เมื่อผู้ติดเชื้อลดลง และยอดรักษาหายเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้มีการพิจารณาผ่อนปรนกิจการและกิจกรรมต่างๆ หลายแห่ง ซึ่งยังเหลือมาตรการที่ 4 ที่ยังอยู่ในขั้นพิจารณาการผ่อนปรนต่อไป
    แต่สิ่งที่กล่าวมานี้ก็ไม่ใช่ช่วงที่เรารอคอยมากที่สุด แท้จริงแล้วปลายทางความปรารถนาของมวลมนุษยชาติ คือช่วงที่วัคซีนได้ถูกสร้างขึ้นเสร็จอย่างสมบูรณ์ และได้แจกจ่ายไปให้กับคนทั่วโลก แล้วอะไรจะเกิดขึ้นบ้างถ้าทุกคนได้รับวัคซีน สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือภาครัฐจะปลดล็อกมาตรการและกฎเกณฑ์ต่างๆ ทั้งหมดที่ใช้ในช่วงโควิด-19 รวมถึงให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดกิจการหรือให้บริการได้อย่างเต็มที่เหมือนช่วงก่อนที่จะมีโรคระบาด
    หลังจากนั้นคือ ความหวาดระแวงในใจทุกคนเวลาเข้าใกล้ใครก็ตามจะหายไป เพราะทุกคนจะมีความเชื่อมั่นว่ามีภูมิคุ้มกันแล้ว ไม่ติดเชื้อจากคนอื่น และก็ไม่แพร่เชื้อให้คนอื่นแน่ๆ ซึ่งความเชื่อมั่นเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเดินเครื่องได้เหมือนแต่ก่อน ทำให้ทุกคนกล้ากลับไปมีวิถีชีวิตเดิมๆ หรืออาจกล้ามากกว่าเดิมด้วยซ้ำ
    เพราะหลายคนรู้สึกอัดอั้นและอึดอัดจากข้อจำกัดในการใช้ชีวิตช่วงโควิด-19 ก่อนออกจากบ้าน เรากล้าที่จะไม่สวมหน้ากากอนามัย และทิ้งขวดเจลล้างมือไว้ที่ห้องเวลาจะออกไปข้างนอก
    ยิ่งตอนใช้บริการขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้า การยืนเว้นระยะห่างในช่วงที่รอรถเทียบชานชาลาจะไม่อยู่ในหัวของทุกคนอีกต่อไป เมื่อขบวนรถไฟมาถึง ประตูเปิดออก ภาพผู้คนแออัดเต็มตู้ขบวนก็ไม่อาจทำให้เราลังเลที่จะขึ้นขบวน แม้ต้องยืนแบบเบียดเสียดกัน เราจะรู้สึกถึงความเป็นอิสระ จะไปที่ไหน จะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องกังวล ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมาย ในส่วนการไปเที่ยวเดินห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า รวมถึงร้านค้าต่างๆ ไม่ต้องคอยยืนต่อคิวเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ และควักมือถือขึ้นมาสแกนโปรแกรมไทยชนะผ่าน QR Code เวลาเข้า-เวลาออก
    ส่วนเวลาเข้าร้านอาหารก็สามารถชวนเพื่อนๆ คนในครอบครัว มาเป็นกลุ่มใหญ่รวมวงอย่างใกล้ชิดได้ มองหน้ากันได้โดยตรง และพูดคุยกันได้อย่างสนุกสนาน ไม่ต้องถูกบังคับให้แยกนั่งทานคนละโต๊ะอย่างโดดเดี่ยว หรือมีฉากกั้นระหว่างคนในโต๊ะเดียวกันเหมือนทุกวันนี้
     และที่สำคัญโรงหนังจะกลับมาเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ จากในวันนี้มีการเว้นระยะห่าง นั่ง 2 คน และนั่งสลับเยื้องกันระหว่างแถวจะไม่มีอีกต่อไป จะกลายเป็นภาพที่เมื่อภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ หรือเรื่องน่าสนใจจะเริ่มทยอยเข้าฉายในโรง ถึงเวลานั้นจะสัมผัสได้ถึงการที่คนเข้าไปดูหนังเต็มโรงเหมือนหลายเรื่องที่ผ่านมา และเป็นช่วงเวลานาน เป็นเวลา 2-3 ชั่วโมง อิ่มเอมความสุขในช่วงเวลานี้ได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องคอยระแวงเรื่องโรค
    ด้านงานคอนเสิร์ต งานแข่งขันกีฬา และอีเวนต์ต่างๆ จะมีจัดจนทะลัก หลังจากต้องงดชั่วคราว บรรดาแฟนๆ ของศิลปิน ทีมกีฬา จะแห่กันไปซื้อตั๋วเพื่อให้ได้ใกล้ชิดกับคนที่ชื่นชอบ และสัมผัสกับประสบการณ์ความบันเทิง
    แม้จะมีคนร่วมงานหลักพัน หลักหมื่น คนก็ไม่กลัว ค่ำคืนในยามราตรีจะกลับมาสว่างไสวและคึกคัก ย่านสถานบันเทิงจะเต็มไปด้วยผู้คนที่มาร่วมสังสรรค์กันเช่นเดิม ภาคธุรกิจและขนส่งจะกลับมาเปิดให้บริการตามเวลาปกติ ไม่ต้องรีบปิดร้านเหมือนช่วงโควิด-19 ซึ่งเราไม่ต้องคอยดูนาฬิกาว่าจะต้องรีบกลับบ้านก่อนกี่โมง
    การท่องเที่ยวเป็นสิ่งที่หลายคนรอมานาน ซึ่งบางคนอาจขอลางานยาวๆ ทันที เพราะเป็นช่วงเวลาที่รอมาเนิ่นนาน หลายคนในปีนี้ได้มีการลิสต์ชื่อเมืองทั้งไทยและต่างประเทศที่อยากไป หรือที่วางแผนว่าจะไปก่อนหน้านี้ แต่ต้องยกเลิกแผนเพราะโควิด-19 แต่ถ้ามีวัคซีน หลายคนก็จะเตรียมข้อมูลการเดินทาง ติดต่อหาเพื่อน ครอบครัว ที่พร้อมไปเที่ยวด้วยกัน และทำการค้นหา-จองตั๋วเครื่องบิน ที่พัก อย่างไม่ลังเล
    ที่จะขาดไม่ได้เลยคือการกลับมาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ยิ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ได้รับการนิยมในการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ของโลก เราจะได้ยินคนรอบข้างพูดคุยกันเป็นภาษาจีน อังกฤษ อินเดีย ฯลฯ ยิ่งเวลาไปแหล่งท่องเที่ยว ภาพนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากบน BTS, MRT, สนามบิน ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัดรถไฟต่างๆ เยาวราช และแหล่งสถานบันเทิง จะกลับมาให้เห็นจนชินตา
    อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นปัญหาคือปัญหาเดิมๆ ที่ประเทศยังเจอทุกปีคือ การจราจรติดขัด และสิ่งแวดล้อมแย่ลง
    รถจะกลับมาติด โรงงานกลับมาเดินกำลังการผลิตขั้นสูงสุด เพื่อทดแทนการขาดทุนของกิจการต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกิจการในช่วงที่โควิด-19 มีการแพร่ระบาดอย่างหนัก ผู้คนทิ้งขยะลงตามริมทางและชายหาดทะเล
    แต่ภาพฝันทั้งหมดที่กล่าวมาจะเกิดขึ้นได้ต้องมีวัคซีนออกมาให้คนใช้ โดยขณะนี้บริษัทวิจัยและพัฒนาวัคซีนในหลายๆ ประเทศพากันทุ่มสรรพกำลัง ทั้งนักวิจัยและเทคโนโลยีสุดล้ำหน้า เพื่อแข่งกันให้ได้เป็นผู้ผลิตวัคซีนโควิด-19 รายแรกของโลก นอกจากช่วยชีวิตคนทั้งโลกแล้ว บริษัทยังได้ผลกำไรและชื่อเสียงเป็นการตอบแทน รวมถึงประเทศที่ผลิตวัคซีนได้ก่อน รัฐบาลของประเทศนั้นๆ ก็จะได้หน้าไปโดยปริยาย ซึ่งประเทศตัวเต็งพัฒนาและผลิตวัคซีนในตอนนี้คือ อังกฤษ เยอรมนี จีน และสหรัฐอเมริกา
    ซึ่งจากข้อมูลข่าวที่ผ่านมาดูเหมือนประเทศแรกที่พัฒนาวัคซีนสำเร็จเตรียมพร้อมที่จะขายประเทศแรกคือประเทศจีน วัคซีนโรคโควิด-19 ชนิดเนื้อตายของจีนจะทดลองทางคลินิกเสร็จสิ้นและพร้อมวางตลาดภายในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า
    ประเทศไทยมีการริเริ่มและความพยายามในการพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คณะเภสัช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไบโอเทค สวทช. บริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด ในการพัฒนาวิจัยวัคซีนต้นแบบในหลายรูปแบบ ทั้งรูปแบบดีเอ็นเอ (DNA) เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) โดยเริ่มทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง ซึ่งวัคซีน DNA โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด และไบโอเทคเริ่มทดสอบในหนูทดลอง ส่วนวัคซีน mRNA โดยคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านการทดสอบในหนู และเริ่มทดสอบในลิงเมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา 
    ซึ่งการทดสอบในลิงจะฉีดถึง 3 ครั้ง สำหรับวัคซีนที่ทดลองในลิง ครั้งที่ 1 ฉีดวันที่ 23 พ.ค. เวลา 07.39 น. ครั้งที่ 2 นับไปอีก 4 สัปดาห์ ครั้ง 3 นับไปอีก 8 สัปดาห์ โดยหลังการทดสอบในเข็มที่ 2 น่าจะทำให้เห็นผลการสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 โดยขั้นตอนการทดสอบในลิง ถือเป็นสัตว์ที่ตอบสนองกับวัคซีนได้ใกล้เคียงกับมนุษย์มากที่สุด จะดูเรื่องความปลอดภัย ไม่เกิดโรคแทรกซ้อนเมื่อได้รับวัคซีน และการตอบสนอง คือสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง ก่อนที่จะทดสอบในมนุษย์ ซึ่งคาดว่าอีก 3-6 เดือนจะเริ่มทดสอบได้
    สำหรับกระบวนการทดสอบในมนุษย์มี 3 ระยะ โดยพิจารณาใน 4 ประเด็น ได้แก่ ความเป็นพิษ ความปลอดภัยต่อร่างกาย การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน และประสิทธิผลของวัคซีน ซึ่งหากข้อมูลการทดสอบในลิงเป็นที่น่าพอใจ คาดว่าจะเริ่มผลิตวัคซีนเพื่อทดสอบในคนได้ประมาณเดือน ส.ค.ปีนี้ โดยเฟสที่ 1 ทดสอบในคนจะเริ่มจากหลักสิบคน เพื่อดูว่าวัคซีนมีความปลอดภัยหรือไม่ จากนั้นเฟสที่ 2 เพิ่มเป็นหลักร้อยคน เพื่อดูว่าสร้างภูมิคุ้มกันได้จริง และเฟสที่ 3 จะทดสอบในหลักหลายพันคน เพื่อดูว่าใช้ได้กับประชากรจำนวนมาก โดยวัคซีนชนิด mRNA ที่ประเทศไทยใช้ เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด มีข้อดีคือสามารถพัฒนาได้เร็วและใช้ได้ผล โดยการใช้ปริมาณวัคซีนที่ไม่มากนัก
    อย่างไรก็ตาม สำหรับคนทั้งโลก ใครจะพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จก่อนก็ไม่สำคัญเท่าการที่ได้วัคซีนออกมาโดยเร็วที่สุด เพื่อจำกัดความเสียหายและความสูญเสียทุกคนให้กลับมามีอิสระเต็มที่ในการใช้ชีวิต และเราจะไม่สูญเสียใครเพราะโรคนี้อีกต่อไป สิ่งที่คนกำลังบอกว่าจะก้าวสู่ยุค New Normal แน่ใจแล้วหรือว่าทุกคนอยากเป็นแบบนั้น คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่แค่อยากกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมๆ ที่พวกเขาคุ้นเคยเท่านั้นเอง.
 วอชเชอร์

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"