ธุรกิจการบินยุคเว้นระยะห่างหมดโปรฯหั่นราคาตั๋ว


เพิ่มเพื่อน    

 

"การปรับขึ้นราคาที่จะเกิดขึ้น กลุ่มผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องเดินทางอาจได้รับผลกระทบ แต่จะเป็นผลดีแก่ธุรกิจสายการบิน เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการกำหนดเพดานการขายขั้นสูงของสายการบินต้นทุนต่ำอยู่ที่ 9.40 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่สายการบินปกติเพดานราคาขายขั้นสูงจะอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลเมตร แต่ที่ผ่านมาด้วยสงครามราคาทำให้สายการบินต้นทุนต่ำขายตั๋วในราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลเมตรเท่านั้น เพราะใช้ราคาเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขัน ทำให้ที่ผ่านมาธุรกิจสายการบินต่างแบกภาระขาดทุนกันอ่วม"

 

      มีคำถามเกิดขึ้นมากมาย สำหรับการประกอบธุรกิจในยุค New Normal ที่ต้องเข้มงวดการเฝ้าระวังและการแพร่ระบาดของเชื้อโรค ซึ่งส่งผลกระทบต่อต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นในทุกธุรกิจ และหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับแรงกดดันจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุดคงหนีไม่พ้นธุรกิจสายการบิน

      อย่างที่ทราบกันดี ธุรกิจสายการบินรายได้หลักมาจากยอดขายตั๋วโดยสาร แต่ในภาวะปัจจุบันที่ถูกบังคับให้มีการเว้นระยะห่าง ส่งผลให้สายการบินไม่สามารถขายตั๋วโดยสารได้เต็มห้องโดยสาร ไม่พอ ยังต้องเจอกับภาวะซบเซาของการเดินทาง ซึ่งคำถามก็คือ ธุรกิจการบินจะอยู่รอดได้อย่างไร และวางกลยุทธ์ในเรื่องค่าตั๋วโดยสารอย่างไร

      ประเด็นนี้ จาคอป พาสซี ได้เขียนบทความลงใน MarketWatch ระบุว่า ปัจจุบันตั๋วของสายการบินนั้นมีราคาถูก แต่จงอย่าคาดหวังว่าจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ซึ่งหากถามว่าราคาตั๋วในตอนนี้มีราคาถูกแค่ไหน จากข้อมูลการค้นหาบนเว็บไซต์ Kayak พบว่า ในช่วงเดือนสิงหาคมผู้บริโภคสามารถจองตั๋วเครื่องบินไป-กลับเพื่อเดินทางระหว่างนิวยอร์กและลอสแองเจลิสในราคา 62 ดอลลาร์ (1,800-1,900 บาท) ขณะเดียวกันยังสามารถจ่ายน้อยกว่า 200 ดอลลาร์ (6,000 บาท) เพื่อรับตั๋วเครื่องบินไป-กลับระหว่างไมอามีกับจุดหมายปลายทางหลายแห่งทั่วลาตินอเมริกาและแคริบเบียน

      การที่สายการบินลดราคาตั๋วเนื่องจากความต้องการในการเดินทางลดลง ท่ามกลางความกังวลจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ผู้ประกอบการสายการบินต้องบินเครื่องเปล่า ขณะที่นักบินและพนักงานต้อนรับต่างเผชิญความเสี่ยงจากการถูกเลิกจ้าง

      แน่นอนว่า การชะลอตัวทางธุรกิจมีแนวโน้มจะทำให้ราคาตั๋วลดลงต่อเนื่อง โดย สกอตต์ คีย์ส ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าผู้เชี่ยวชาญด้านการบินของเว็บไซต์การท่องเที่ยว กล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีนักวิเคราะห์หลายคนคาดว่าการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศจะเป็นรูปตัววี ขณะที่การลดราคาอย่างรุนแรงจะเป็นวีธีการง่ายที่สุด และเป็นเครื่องมือที่สายการบินนิยมเลือกเพื่อดึงดูดให้ผู้โดยสารกลับมาใช้บริการของตัวเอง โดยยังมีปัจจัยที่จะทำให้ระดับราคาลดลง นั่นคือเรื่องของราคาน้ำมันที่ปรับตัวต่ำลง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและทำให้สายการบินสามารถตั้งราคาที่ส่งผลดีกับผู้บริโภคอีกด้วย

      อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันสายการบินหลายแห่งได้ลดเส้นทางที่ได้รับความนิยมลงในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 เพื่อลดต้นทุน และในบางกรณีได้มีการขึ้นราคาตั๋ว โดย เฮย์เลย์ เบิร์ก นักเศรษฐศาสตร์จากบริษัทท่องเที่ยว กล่าวว่า ราคาตั๋วเครื่องบินสำหรับการเดินทางระหว่างแอตแลนตาและเดนเวอร์มีราคาแพงกว่า 25% ในปี 2562 เนื่องจาก JetBlue และ Spirit หยุดให้บริการในเส้นทางนั้นจนถึงเดือนกันยายน โดยที่ผ่านมา Spirit and JetBlue ค่อนข้างมีฐานราคาที่ต่ำเมื่อเทียบกับผู้ให้บริการรายใหญ่อื่นๆ และการระงับการให้บริการจะทำให้ค่าโดยสารมีการเฉลี่ยขึ้นราคาในแต่ละเส้นทาง ขณะเดียวกันผู้ให้บริการยังได้ปรับตารางเวลาและเป็นพันธมิตรกับการขนส่ง เพื่อกำหนดเส้นทางที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และอาจเป็นไปได้ว่าจะมีบางเส้นทางที่ราคาเฉลี่ยจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

      ในส่วนของประเทศไทยเอง ขณะนี้สายการบินโลว์คอสต์และสายการบินปกติบางแห่งได้ทยอยกลับมาให้บริการในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่าปริมาณการเดินทางของผู้โดยสารยังมีไม่มาก โดยส่วนใหญ่จะมีประชาชนเดินทางในช่วงเช้าและเย็น และในช่วงวันศุกร์, เสาร์และอาทิตย์ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเวลา (เคอร์ฟิว) ให้บริการ และการเข้มงวดกับการเดินทางข้ามจังหวัด ส่งผลให้สายการบินแต่ละแห่งมีผู้ใช้บริการในช่วงเช้าและเย็นในจำนวนน้อยมากไม่คุ้มกับต้นทุนการประกอบการ และก็เชื่อว่าสถานการณ์ในเดือนมิถุนายนนี้ก็ยังคงเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

      โดยผู้บริหารสายการบินโลว์คอสต์ระบุว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการสายการบินกำลังประสบปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างหนัก และกำลังพิจารณาแนวทางการลดขนาดองค์กร จำนวนพนักงาน และมีรายงานข่าวระบุด้วยว่า มีหลายสายการบินอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อนำไปสู่การควบรวมกิจการ

      ขณะที่ผู้บริหารสายการบินหลายแห่งยอมรับว่า สถานการณ์ปัจจุบันสายการบินต่างๆ ยังแบกรับผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน บางสายการบินจำเป็นต้องหาวิธีการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของบริษัทโดยด่วน โดยการกลับมาเปิดบินในครั้งนี้เป็นการสร้างบรรทัดฐานในการบินใหม่ที่แตกต่างจากเดิม เพราะต้องเฝ้าระวังเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสเป็นสำคัญ ซึ่งในส่วนของไทย นับจากวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา การโดยสารเครื่องบินในยุคโควิด-19 จะเห็นการเปลี่ยนแปลง คือ ให้สายการบินขายตั๋วแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง ซึ่งเป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) แน่นอนว่าจำนวนที่นั่งของเที่ยวบินแต่ละเที่ยวหายไปประมาณ 30%

      ทั้งนี้ ต้องยอมรับการจัดที่นั่งขายตั๋วที่น้อยลงจะกระทบต่อรายได้ของธุรกิจการบิน ทางออกคือ การปรับราคาตั๋วเครื่องบินที่สูงขึ้น ซึ่งราคาตั๋วโดยสารบางเส้นทางอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 100% ในกรณีที่ตั๋วโดยสารอยู่ในอัตราไม่ถึง 1,000 บาทต่อเที่ยว อาจเพิ่มเป็น 2,000 บาทต่อเที่ยว เป็นต้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการปรับขึ้นราคาจะทำได้ทุกเส้นทาง เพราะต้องขึ้นกับดีมานต์ของผู้โดยสารด้วย หากขึ้นราคาตั๋วแต่ไม่มีผู้โดยสารก็ไม่มีประโยชน์ แต่ละสายการบินอาจจะพิจารณาโปรโมชั่นราคาตั๋วโดยสารของตนเองอยู่แล้ว

      นางนันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ กล่าวว่า แม้มาตรการขายที่นั่งเว้นที่นั่งจะส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะไม่คุ้มทุน แต่คาดว่าจะสามารถขายตั๋วโดยสารได้ในราคาที่สูงกว่าที่ผ่านมา เพราะปกติอัตราการบรรทุกที่คุ้มทุนจะอยู่ที่ประมาณ 60% และการจัดที่นั่งโดยสารแบบที่นั่งเว้นที่นั่งน่าจะสามารถบรรทุกผู้โดยสารได้ราว 60% เช่นเดียวกัน เมื่อรวมเข้ากับราคาตั๋วโดยสารที่เพิ่มขึ้น จึงมีโอกาสที่สายการบินจะสามารถไปถึงจุดคุ้มทุนเมื่อเปิดให้บริการตามปกติบางเส้นทางบิน อีกทั้งในการกลับมาเปิดบินครั้งนี้สายการบินจะทำการบินเพียงเส้นทางละ 1 เที่ยวบินต่อวัน และจะวิเคราะห์ตลอดเวลาว่า ถ้าเที่ยวบินไหนมีผู้โดยสารจองน้อยมากก็อาจจะต้องยกเลิก ซึ่งก็ต้องปรับแผนตลอดเวลาเช่นกัน

      นายรัช ตันตนันตา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินนกแอร์ กล่าวว่า ขณะนี้สายการบินนกแอร์ยังไม่ได้พิจารณาจุดคุ้มทุนใหม่หลังการกำหนดให้ขายตั๋วโดยสารแบบที่นั่งเว้นที่นั่ง แต่คาดว่าราคาตั๋วโดยสารคงไม่ต่ำเท่ากับในอดีตที่มีการแข่งขันด้านราคากันสูงมากแน่นอน และเชื่อว่าราคาขายตั๋วโดยสารนับจากนี้เป็นต้นไปจะเป็นราคาตามต้นทุนจริงๆ ซึ่งต่างจากที่ผ่านๆ มาที่การเปิดเสรีส่งผลกระทบต่อการแข่งขันทางด้านราคาอย่างมาก

      การปรับขึ้นราคาที่จะเกิดขึ้น กลุ่มผู้โดยสารที่มีความจำเป็นต้องเดินทางอาจได้รับผลกระทบ แต่จะเป็นผลดีแก่ธุรกิจสายการบิน เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการกำหนดเพดานการขายขั้นสูงของสายการบินต้นทุนต่ำอยู่ที่ 9.40 บาทต่อกิโลเมตร ขณะที่สายการบินปกติเพดานราคาขายขั้นสูงจะอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลเมตร แต่ที่ผ่านมาด้วยสงครามราคาทำให้สายการบินต้นทุนต่ำขายตั๋วในราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลเมตรเท่านั้น เพราะใช้ราคาเป็นกลยุทธ์ในการแข่งขัน ทำให้ที่ผ่านมาธุรกิจสายการบินต่างแบกภาระขาดทุนกันอ่วม

      ดังนั้นสายการบินต่างๆ ยังสามารถปรับขึ้นราคาได้อีกโดยไม่เกินเพดานที่กำหนดไว้ ซึ่งอย่างน้อยก็ทำให้สายการบินที่กลับมาบินใหม่ยังพอไปได้ และในช่วงนี้สายการบินก็จะขายในราคาที่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้อยู่รอดได้ การดัมพ์ราคาอย่างโปร 0 บาท หรือการตัดราคาแข่งกันคงหายไปชั่วคราวจนกว่าโควิดจะคลี่คลาย และสายการบินจะหันมาแข่งขันกันเต็มรูปแบบอีกครั้ง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"