ผ่านฉลุย!ร่างพรบ.โอนงบ ฝ่ายค้านฉายซํ้าตีเช็คเปล่า


เพิ่มเพื่อน    


    ฝ่ายค้านฉายหนังม้วนเก่า เปลี่ยนจาก ”นักกู้” เป็น “จอมโอน” ซัดวาทกรรมเดิมตีเช็คเปล่าให้อำนาจนายกฯ คนเดียวละเลงเงิน “ก้าวไกล” ก้าวไม่พ้นสับงบกองทัพแหกตา เล่นแร่แปรธาตุ  “ชวน” สุดทน "อมรัตน์" อบรมอย่าใช้สภาเป็นเครื่องมือพาดพิงสถาบันอื่น “ประยุทธ์” บอกพร้อมรับฟัง  ส.ส.ที่มีเหตุผล ส่วนที่ฟุ้งก็ปล่อยให้ทะลุหู
    เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเป็นพิเศษพิจารณาวาระร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. ... วงเงิน 88,452 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชี้แจงถึงหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า เป็นการให้โอนงบประจำปีรายจ่ายบางรายการไปเป็นงบกลาง รายการสำรองจ่ายที่จำเป็นฉุกเฉิน วงเงิน 8.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลในการแก้ปัญหาและบรรเทาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ซึ่งร่างกฎหมายสอดคล้องกับกรอบวินัยการเงินการคลัง และทำให้การบริหารจัดการงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 มีประสิทธิภาพและความคล่องตัวเท่าทันต่อสถานการณ์ 
    “เมื่อร่างกฎหมายมีผลบังคับใช้ หน่วยงานจะขอรับการจัดสรรงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเพื่อนำไปใช้ในภารกิจ 3 เรื่อง คือ 1.การแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ 2.การป้องกันและเยียวยา ภัยพิบัติ ภัยแล้ง และอุทกภัยที่อาจเกิดขึ้นในปลายปี 2563 และ 3.แก้ไขปัญหาที่มีเหตุฉุกเฉินหรือที่จำเป็น ผมหวังว่า ส.ส.จะให้การสนับสนุนและรับหลักการร่างกฎหมายนี้ เพื่อนำงบประมาณแผ่นดินไปดำเนินการในเหตุการณ์เร่งด่วนอย่างคุ้มค่า โปร่งใสและเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนสืบไป” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    จากนั้นเวลา 10.00 น. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้ได้รับมอบจากผู้นำฝ่ายค้านอภิปรายว่า การพิจารณากฎหมายโอนงบประมาณตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามีแล้ว 5 ครั้ง แต่ครั้งนี้ไม่สามารถรับหลักการได้ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ 1.ขัดกับหลักประชาธิปไตยและกฎหมายอื่น  ซึ่งตามหลักการนำงบประมาณไปใช้ต้องคำนึงถึงหลักความยินยอมของประชาชนเป็นหลักการสำคัญที่สภาต้องตรวจสอบได้ และใน พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ 2561 กำหนดห้ามไม่ให้โอนงบประมาณข้ามหน่วยงาน แม้จะอนุโลมให้โอนได้ก็ต้องโอนระหว่างหน่วยรับงบประมาณด้วยกันเท่านั้น แต่การโอนงบประมาณเข้างบกลางนั้นจะมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยกฎหมายทันที เพราะงบกลางไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยรับงบประมาณ เป็นเพียงรายการการใช้เงินเท่านั้น และงบกลางส่วนนี้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจคือ นายกฯ เท่านั้น
    นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า 2.รายการของการโอนงบประมาณครั้งนี้ต้องเรียกว่าจอมโอนแห่งยุค เพราะพล.อ.ประยุทธ์ได้โอนงบประมาณมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มากที่สุดในประวัติศาสตร์ ประกอบกับเมื่อวันที่ 16 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะประธานกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ออกประกาศคณะกรรมการฯ กำหนดสัดส่วนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 2% แต่ไม่เกิน 7.5% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นการแก้ไขระเบียบมารองรับเพื่อให้งบกลางอยู่ในอำนาจของนายกฯ แต่เพียงผู้เดียวมากขึ้น  
มุกเดิมอัดตีเช็คเปล่า
    "การทำร่างกฎหมายเช่นนี้เหมือนมัดมือสภาและตีเช็คเปล่า หากสภาอนุมัติให้ผ่านไป เราจะเป็นสภาจากการเลือกตั้งชุดแรกที่มีรอยด่างว่าถูกมัดมือชก และเห็นชอบกฎหมายโอนงบประมาณที่ไม่ควรเห็นชอบ เพราะไม่มีรายละเอียด ดังนั้นเพื่อศักดิ์ศรีของสภา เราโปรดอย่าได้รับหลักการ แต่หากจะรับหลักการก็ต้องรับหลักการแบบมีเงื่อนไข โดยหากการพิจารณาวาระ 2 และ 3 ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการใช้งบประมาณอีก ฝ่ายค้านในฐานะเสียงข้างน้อยจะโหวตคว่ำเพื่อบันทึกเอาไว้" นพ.ชลน่านกล่าว
    ต่อมานายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การโอนงบประมาณปี 2563 ถือเป็นจิกซอว์สำคัญในการแก้ไขวิกฤตินี้ต่อจาก 3 พระราชกำหนดกู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท และร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่กำลังเข้าสภาเร็วๆ นี้ โดยขอตั้งข้อสังเกตในร่าง พ.ร.บ.นี้ 4 ข้อ 1.โอนล่าช้า ไม่ไยดีต่อความเดือดร้อนของประชาชน เพราะที่ผ่านมาพรรคเสนอขอเกลี่ยงบส่วนนี้ตั้งแต่เดือน มี.ค. แต่รัฐบาลไม่นำมาปฏิบัติ ถ้าเกลี่ยงบตั้งแต่ตอนนั้นเราอาจไม่ต้องกู้เงินถึง 1  ล้านล้านบาท 2.โอนน้อย ทั้งที่ยอดตัดโอนของหน่วยงานต่างๆ จาก 3 แผนงาน รวม 5.3 หมื่นล้านบาทนั้น สามารถตัดได้ 8.4 หมื่นล้านบาท 3.โอนทะลุกรอบ เม็ดเงินที่โอนในคราวนี้ถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ จึงมีประกาศของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของภาครัฐ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน ได้ปรับเพดานงบกลางเพิ่มเป็น 3.5% - 7.5% ของวงเงินงบประมาณ ทำให้มีปัญหาว่า รัฐบาลตั้งงบกลาง ซึ่งเป็นงบของนายกฯ สภาไม่สามารถตรวจสอบได้เลย ขณะที่สัดส่วนในการชำระหนี้ภาครัฐก็ถูกปรับลดจาก 2.5% เหลือ 1.5 % ทำให้ท่านสามารถชักดาบได้ต่อไป 
“ผมเข้าใจดีว่าในสถานการณ์วิกฤติจำเป็นต้องยืดหยุ่น แต่ผมเป็นห่วงว่าประกาศฉบับนี้จะไม่ใช่ประกาศชั่วคราว เพราะไม่มีกำหนดวันเวลาว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด”
    นายพิจารณ์กล่าวต่อว่า 4.โอนไม่จริง จากเดิมงบประมาณทำโครงการผูกพันในปีที่ 1 กำหนดให้จ่าย 20% ของยอดค่าโครงการปีที่ 2 และ 3 ต้องจ่าย 40% แต่มติ ครม.รัฐบาลนี้ได้ปรับลดยอดของงบผูกพันในลักษณะดาวน์น้อยผ่อนนานและหนัก ส่งเสริมการเบียดบังงบในปีต่อๆ ไป เพราะปรับลดยอดจากงบ 20% ในปีแรกลงเหลือ 15% ส่วนปีที่ 2 และ 3 ปรับเพิ่มเป็น 42.5% ส่วนที่แย่ไปกว่านั้น การโอนงบของกระทรวงกลาโหมมีวงเงิน 1.7 หมื่นล้านบาท ตัวเลขเยอะ เหมือนยอมไม่ซื้ออาวุธเพราะเห็นแก่ประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นการเล่นแร่แปรธาตุ แหกตาประชาชน เพราะเป็นหน่วยงานที่ฝืนมติ ครม. ลดเงินที่ต้องจ่ายในโครงการในปีแรกจาก 15% เหลือเพียง 10% เท่านั้น โดยปีที่ 2 และ 3 จ่ายถึง 45% ทั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นเจ้ากระทรวง แต่เขียนด้วยมือลบด้วยเท้าหรือไม่ เช่น โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ซึ่งไม่ทราบจะถูกรื้อฟื้นมาอีกเมื่อไหร่ เพราะล้วนเป็นโครงการดาวน์น้อยผ่อนหนัก ขณะที่ในส่วนของกองทัพบกมีโครงการจัดหารถยานเกราะล้อยาง Stryker ปี 2563-2565 วงเงิน 4.5 พันล้านบาท โครงการจัดหาเครื่องบินใช้งานทั่วไป ปี 2563-2565 วงเงิน 1.3 พันล้านบาท และกองทัพอากาศ โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกทดแทน บ.ฝ.19 ปี 2563-2565 วงเงิน 5.1 พันล้านบาท
    "เฉพาะ 3 โครงการของกองทัพบกกับกองทัพอากาศ มีวงเงินสูงถึง 1.1 หมื่นล้านบาท สามารถเอาไปใช้ซื้อวัคซีนเข็มละ 1,000 บาท ฉีดสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้ถึง 2.2 ล้านคน หรือเปลี่ยนเป็นเงินเยียวยา 5,000 บาท ได้ 442,400 คน ดังนั้นพรรคจึงขอเสนอให้การพิจารณางบให้มีประสิทธิภาพ โดยให้สำนักงบประมาณเผยแพร่รายละเอียดร่าง พ.ร.บ.งบประมาณในรูปแบบดิจิทัล และควรใช้กลไกของ  กมธ.วิสามัญตรวจสอบงบประมาณ และมาตรการแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในการตรวจสอบการใช้จ่าย  พร้อมออกประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังฉบับใหม่ โดยต้องกำหนดเวลาสิ้นสุดการขยายกรอบวินัยการเงินการคลัง” นายพิจารณ์กล่าว
'ชวน' อบรม 'อมรัตน์'
    จากนั้นเวลา 13.00 น. น.ส.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า มี 4  หน่วยงานคือ ศาล, องค์กรอิสระ, อัยการ และรัฐสภา ที่ได้รับงบประมาณรายจ่ายปี 2563 รวม 47,000  ล้านบาท ไม่ยอมร่วมโอนงบมาช่วยประชาชน อ้างว่าเป็นการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่ให้โอนงบประมาณกลับ โดยเฉพาะรัฐสภานั้นรู้สึกผิดหวังที่ไม่เห็นความพยายามของประธานสภาหาวิธีคืนเงินครั้งนี้ ทำให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานชี้แจงทันทีว่า สภายินดีคืนงบประมาณให้ แต่ติดที่คณะกรรมการกฤษฎีกาบอกว่าไม่สามารถตัดงบได้ ซึ่งนางอมรัตน์แย้งกลับว่า แม้คณะกรรมการกฤษฎีกาจะบอกตัดงบไม่ได้ แต่ไม่เห็นความพยายามประธานสภาหาวิธีอื่นคืนเงิน  ซึ่งนายชวนตอบว่าเชื่อว่าคนส่วนมากในสภาเข้าใจ แต่มีอยู่บ้างไม่ยอมเข้าใจ 
จากนั้นนางอมรัตน์ได้อภิปรายพาดพิงไปถึงศาลและศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่ยอมคืนงบประมาณ โดยยกตัวอย่างงบประมาณสร้างบ้านพักตุลาการ กินหรูอยู่สบาย ทำให้นายชวนเตือนทันทีว่า "อย่าไปพาดพิงถึงสถาบันอื่น เราไม่ชอบใครส่วนตัว แต่อย่าใช้สภาเป็นเครื่องมือวิจารณ์สถาบันอื่น" ขณะที่ ส.ส.รัฐบาลก็ประท้วง น.ส.อมรัตน์ที่อภิปรายเสียดสีองค์กรภายนอก จากนั้นนายชวนจึงให้ น.ส.อมรัตน์อภิปรายต่อจนจบ
    ต่อมาเวลา 13.55 น. พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงว่า หลายท่านพูดถึงรายจ่ายงบกลางด้วยความเข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ขอเรียนว่างบกลางไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะนำเงินทุกบาททุกสตางค์มาใช้ได้ทั้งหมดโดยนายกฯ  เพียงผู้เดียว งบกลางแบ่งออกเป็นหลายส่วน อาทิ เงินเบี้ยหวัด, บำเหน็จ, บำนาญ, เงินเลื่อนขั้นปรับวุฒิข้าราชการ, เงินสมทบลูกจ้างประจำ, เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน เป็นต้น
    “การใช้จ่ายงบกลางนั้นมีขั้นตอน ไม่ใช่อำนาจของนายกฯ คนเดียว ซึ่งหน่วยงานที่จะขอใช้เงินนั้นสามารถเสนอโครงการมายัง ครม.ได้ ซึ่งผมในฐานะหัวหน้า ครม.ต้องพิจารณาอนุมัติการทำงานทั้งหมด  ขออย่าห่วงมาก ให้กฎหมายและเจ้าหน้าที่ทำงาน จากนั้นจึงมาติดตามว่าระหว่างการทำนั้นทุจริตหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่มีงบ" พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจง
    พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ส่วนข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ทำ พ.ร.บ.โอนงบก่อน จะได้ไม่ต้องทำ พ.ร.ก.กู้เงินนั้น ขอชี้แจงว่าอย่างไรก็ไม่พออยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีการประมาณการ เพราะไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ไม่ใช่เฉพาะโควิด และการออกเป็น พ.ร.ก.กู้เงินสามารถดำเนินการได้เร็วกว่าการจัดทำ พ.ร.บ.โอนงบ หลายคนบอกว่าเอาไป เอาไปเลย คงไม่ใช่ เพราะเขียนไว้กรอบกว้างๆ ว่าใช้ทำอะไรบ้าง โควิด น้ำท่วม หรืออื่นๆ ที่จำเป็น ดังนั้นอะไรที่ถูกตัดไปช่วงแรกในช่วงโอนงบประมาณสามารถขอขึ้นมาใหม่ได้ 
“การอภิปรายของ ส.ส. ผมรับฟังได้สิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่หากสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ผมฟังแบบทะลุผ่าน ไม่เช่นนั้นจะปวดหัวพอสมควร” นายกฯ กล่าว
    ภายหลังสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้นแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวปิดว่า ยินดีรับฟังความเห็นของทุกคน  วันนี้ต้องทำให้ประเทศก้าวพ้นวิกฤติทั้งโควิดและเศรษฐกิจไปพร้อมกัน ส่วนคำถามที่ว่าเมื่อไรจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินนั้น เรื่องนี้ต้องมอง 2 มุม ไม่ใช่เพื่อรักษาอำนาจตัวเอง ถ้าไม่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินเราคงไม่ผ่านสถานการณ์มาถึงจุดนี้ ขอให้ดูเหตุการณ์ที่บางแสนเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.63 อันตรายแค่ไหน ถ้าจะให้พ้นตรงนี้ไปได้ ทุกคนทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องช่วยกันเตือนประชาชน จิตใจตนมั่นคง มีอย่างเดียวคือทำเพื่อประเทศบ้านเมือง ขอบคุณทุกคนในการเสนอความเห็นอันเป็นประโยชน์ ยืนยันรัฐบาลจะดูแลทุกคนให้ดีที่สุด
    กระทั่งเวลา 19.00 น. นายชวนซึ่งเป็นประธานการประชุมขณะนั้นได้ให้ ส.ส.ลงมติ ผลปรากฏว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบรับหลักการด้วยคะแนน 264 ต่อ 4 งดออกเสียง 185 ไม่ลงคะแนนเสียง 1 เสียง ทั้งนี้ยังได้ตั้งคณะ กมธ.วิสามัญ จำนวน 49 คน และกำหนดระยะเวลาทำงาน 7 วัน
    พล.อ.ประยุทธ์ยังได้ชี้แจงกรณีงบของกระทรวงกลาโหมว่า เป็นไปตามเกณฑ์ที่สามารถชะลอโครงการได้ แต่โครงการใดที่ทำสัญญาผูกพันแล้ว หรืออยู่ภายใต้กรอบข้อตกลงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ไม่สามารถโอนได้ ทั้งนี้ขอให้เห็นใจทหาร เพราะต้องทำหน้าที่หลายอย่าง เช่น ช่วยน้ำท่วม  ฝนแล้ง ทั้งที่หน้าที่หลักคือป้องกันประเทศ
ต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ย้ำถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณ ต้องขอบคุณ ส.ส. ของฝ่ายค้านและรัฐบาลที่อภิปรายในสิ่งที่เป็นประโยชน์ จะนำไปพิจารณา และไม่ใช่นายกฯ คนเดียวที่รับไป หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ก็มาฟังหมด มีการสรุปรายงาน เดี๋ยวเขาก็ต้องไปแก้และปรับปรุง  อะไรที่เป็นข้อห่วงใยก็ต้องปรับให้เข้าใจกัน
    ขณะที่ พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีคณะกรรมาธิการองค์กรอิสระ วุฒิสภา เสนอให้ 3 องค์กรอิสระร่วมตรวจสอบการใช้เงินกู้จาก พ.ร.ก. 3 ฉบับว่า ได้รับหนังสือจาก กมธ.แล้ว และจะไปประชุมร่วมในวันที่ 5 มิ.ย. ซึ่งถือเป็นเจตนาดีและผู้ตรวจการแผ่นดินก็เห็นด้วย  เพราะตามข้อมูลการทุจริตสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ ทำได้ในทุกขั้นตอน โดยที่ผ่านมาประธานองค์กรอิสระทั้ง 3 องค์กรก็ได้หารือร่วมกันอยู่ตลอดเวลา จึงขอไปประชุมร่วมกับ กมธ.ก่อนว่าจะให้เข้ามาช่วยตรวจสอบอย่างไร. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"