พอเกิดกลียุคในอเมริกา โดนัลด์ ทรัมป์ ขู่ว่าจะส่งทหารจากรัฐบาลกลางเข้าไประงับเหตุร้าย ก็มีเสียงต่อต้านจากผู้ว่าการรัฐหลายคนว่าประธานาธิบดีไม่มีสิทธิ์ที่จะสั่งโดยพลการ...จะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ว่าการรัฐนั้นๆ ก่อน
หรือต้องได้รับคำร้องขอจากรัฐ จึงจะส่งทหารเข้าไปได้
กรณีความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นชัดเจนระหว่างทรัมป์กับผู้ว่าการรัฐนิวยอร์กที่ชื่อ Andrew Cuomo
ทรัมป์ขึ้นทวิตเตอร์ว่านิวยอร์กกำลังกลายเป็นรัฐกลียุคแล้ว ขอให้ผู้ว่าฯ ส่งทหารสำรองพิทักษ์มาตุภูมิ หรือ National Guard จากส่วนกลางโดยด่วน
แต่ผู้ว่าฯ บอกว่าไม่จำเป็นต้องขอกำลังจากรัฐบาลกลาง เพราะได้เตรียมหน่วยสำรองเอาไว้แล้ว 13,000 คน หากจำเป็น
เกิดคำถามว่า ตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายของสหรัฐฯ นั้น ประธานาธิบดีสหรัฐฯ สามารถส่งทหารประจำการเข้าไปปฏิบัติการในรัฐต่างๆ หรือไม่?
คำตอบก็คือ ทรัมป์สั่งทหารเข้าไปในรัฐต่างๆ ได้...แต่ภายใต้สถานการณ์บางอย่างเท่านั้น
ถึงวันนี้มีทหารสำรอง National Guard หลายพันคนที่เป็นกองกำลังสำรองของกองทัพบกสหรัฐฯ ได้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในบางรัฐแล้ว
กว่า 20 รัฐที่กำลังพยายามจะระงับเหตุร้าย เมืองและรัฐเหล่านี้ได้ขอกำลัง National Guard แล้ว
แต่กฎหมายดั้งเดิมที่ออกมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ระบุว่ารัฐบาลกลางที่วอชิงตันสามารถจะ “แทรกแซง” อำนาจของรัฐได้ในกรณีใดบ้าง
กฎหมายฉบับนี้เรียกว่า Insurrection Act หรือกฎหมายปราบจลาจล
กฎหมายฉบับนี้ระบุว่า ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบล่วงหน้าจากผู้ว่าการรัฐเมื่อเขาพิจารณาแล้วเห็นว่าสถานการณ์ในรัฐนั้นเข้าสู่ “สภาวะที่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้” หรือเมื่อ “สิทธิของพลเมืองถูกคุกคาม”
ซึ่งสามารถตีความได้กว้างขวางหลากหลาย ขึ้นอยู่กับมิติมุมมองการเมืองในแต่ละจังหวะเวลาของสถานการณ์ตึงเครียด
แต่เดิมกฎหมายเก่าแก่ฉบับนี้ (ผ่านโดยสภาคองเกรสในปี 1807) มุ่งจะให้อำนาจประธานาธิบดีของรัฐบาลกลางสั่งหน่วยติดอาวุธเข้าระงับเหตุอันเกิดจาก “การรุกรานจากศัตรูที่เป็นอินเดียน (แดง)”
ต่อมามีการเพิ่มมาตราในกฎหมายฉบับนี้เพื่อขยายอำนาจของประธานาธิบดีในการใช้กำลังทหารเพื่อความไม่สงบในประเทศและเพื่อปกป้องสิทธิพลเมือง
แต่ขณะเดียวกันผู้รู้ด้านกฎหมายอเมริกันก็แย้งว่ากฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ออกในปี 1878 กำหนดว่าการที่รัฐบาลกลางจะใช้กำลังทหารเพื่อปฏิบัติการในประเทศนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสก่อน
แต่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายอีกกลุ่มหนึ่งก็ตีความว่า กฎหมาย Insurrection Act ให้อำนาจทางกฎหมายเพียงพอสำหรับที่จะให้อำนาจประธานาธิบดีในการสั่งทหารประจำการเข้าควบคุมสถานการณ์ที่เข้าข่ายเป็นภัยคุกคามของความมั่นคงได้
ประเด็นปัญหาจึงอยู่ที่การใช้ดุลพินิจว่าสถานการณ์ในสหรัฐฯ วันนี้เข้าข่ายที่ทรัมป์สามารถอ้างสิทธิในการส่งทหารเข้าปฏิบัติการในรัฐบางรัฐที่เขาเห็นว่าจะต้อง “จัดการอย่างเด็ดขาด” หรือยัง
เพราะทรัมป์เรียกตัวเองว่าเป็น Law and Order President แล้ว
มีความหมายว่าเขาเป็นผู้นำที่ยึดมั่นในการรักษาความสงบเรียบร้อย
ชัดเจนว่าทรัมป์พูดอย่างนี้เพื่อจะหาเสียงกับคนอเมริกันที่ต้องการให้การประท้วงสงบลงทันที
ขณะที่คนอเมริกันจำนวนไม่น้อยเห็นว่าต้องแยกการประท้วงที่สันติเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ George Floyd และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอเมริกันอย่างจริงจังออกจากความรุนแรงที่เกิดจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่ฉวยโอกาสสร้างความโกลาหลในความสับสน
คนไม่น้อยกลัวว่าทรัมป์แยกสองเรื่องนี้ไม่ออก และจงใจจะสร้างความชอบธรรมให้กับตัวเองด้วยการใช้อำนาจสั่งการทหารให้เข้าแทรกแซงกิจการของรัฐที่เขาสั่งการไม่ได้
ถามว่าอำนาจของประธานาธิบดีอย่างนี้เคยใช้มาก่อนหรือไม่
เคยหลายครั้ง...แต่การใช้อำนาจเช่นนี้ของประธานาธิบดีครั้งล่าสุดเกิดขึ้นมาเกือบ 30 ปีแล้ว
นั่นคือปี 1992 ตอนที่ประธานาธิบดีจอร์จ บุช ผู้พ่อสั่งการให้ทหารส่วนกลางเข้าระงับเหตุวุ่นวายที่ลอสแองเจลิส
ตอนนั้นก็เกิดเหตุคนผิวดำชื่อ Rodney King ถูกตำรวจผิวขาวใช้กำลังเกินเหตุเช่นกัน...จนเกิดจลาจลในหลายๆ เมือง
แต่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็ยังไม่เคยมีกรณีทำนองนี้อีก
ทรัมป์กำลังจะเขียนประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ ใหม่ด้วยการท้าทายผู้ว่าการรัฐหลายแห่งที่ไม่ยอมฟังคำขู่ของตนเอง
วิกฤติทับซ้อนวิกฤติวันนี้ของอเมริกายังไม่มีใครรู้ว่าจะจบลงอย่างไร
หรือเรากำลังเห็นสัญญาณของ “สงครามกลางเมือง” แห่งปี 2020 ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนพฤศจิกายนนี้?.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |