เด็กชาวโรฮิงญาตัดไม้ไผ่ที่ค่ายผู้ลี้ภัยทันคาลีในบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 แฟ้มภาพ AFP
กองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งอาระกัน (อาร์ซา) ยกกำลังหลายร้อยคนโจมตีที่มั่นของกองกำลังความมั่นคงพม่า 30 จุดในรัฐยะไข่ ภาคเหนือของพม่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2560 สังหารตำรวจตระเวนชายแดนของพม่า 12 นาย และทำให้กองทัพเปิดปฏิบัติการตอบโต้อย่างรุนแรง ส่งผลให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 650,000 คน อพยพข้ามชายแดนเข้าบังกลาเทศ
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ประณามปฏิบัติการที่โหดร้ายทารุณของพม่า ที่ถูกกล่าวหาว่าเข่นฆ่า ข่มขืน และวางเพลิง ว่าเทียบเท่ากับการล้างเผ่าพันธุ์ แต่กองทัพและรัฐบาลพม่าปฏิเสธคำกล่าวหานี้ กองทัพพม่ายืนกรานว่าปฏิบัติการของกองทัพเป็นการตอบโต้ที่สมควรแก่เหตุ เพื่อปราบปรามภัยคุกคามจาก "ผู้ก่อการร้าย"
นับแต่การโจมตีเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว กองกำลังอาร์ซาก่อเหตุยิบย่อยอีกแค่ไม่กี่ครั้ง กระทั่งเช้าวันศุกร์ที่ 5 มกราคม กองทัพพม่ากล่าวหาว่า กองกำลังติดอาวุธกลุ่มเล็กๆ กลุ่มนี้ "ราว 10 คน" ได้ซุ่มโจมตีรถของกองทัพพม่า ด้วยปืนกลและกับระเบิดประดิษฐ์เอง ส่งผลให้ทหาร 2 นาย และคนขับรถได้รับบาดเจ็บ
รายงานของสำนักข่าวเอเอฟพีกล่าวว่า กองกำลังอาร์ซาได้เผยแพร่แถลงการณ์ทางทวิตเตอร์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 มกราคม ยอมรับว่าพวกตนก่อเหตุซุ่มโจมตีครั้งล่าสุดนี้
"กองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งอาระกัน (อาร์ซา) จึงขอประกาศว่า เราได้ซุ่มโจมตีกองทัพก่อการร้ายพม่า เมื่อเวลาประมาณ 10:00 น. วันที่ 5 มกราคม 2561"
คำแถลงที่ลงนามโดยอาตา อุลลาห์ ผู้นำอาร์ซา กล่าวด้วยว่า อาร์ซาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต่อสู้กับการก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากทางการพม่าซึ่งกระทำต่อประชากรชาวโรฮิงญา เพื่อปกป้อง, กอบกู้ และคุ้มครองชุมชนโรฮิงญา
คำแถลงไม่ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการโจมตีที่เมืองหม่องดอ ในรัฐยะไข่ เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว แต่ยังได้กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของชาวโรฮิงญาในการตัดสินใจใดๆ ที่ส่งผลกระทบต่อชะตากรรมของพวกเขา
"ชาวโรฮิงญาต้องได้ปรึกษาหารือเกี่ยวกับการตัดสินใจทุกเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อความต้องการด้านมนุษยธรรมและอนาคตทางการเมืองของพวกเขา" คำแถลงกล่าว
จนถึงขณะนี้ ขีดความสามารถของอาร์ซายังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด แต่รายงานของอินเตอร์เนชันแนลไครซิสกรุ๊ปกล่าวว่า ดูเหมือนว่าอาร์ซาตั้งใจจะรวมกลุ่มกันใหม่และอาจจะดึงพวกผู้ลี้ภัยโรฮิงญาจนตรอกตามค่ายผู้ลี้ภัยมาร่วมปฏิบัติการในอนาคต
ความรุนแรงที่เกิดเพิ่มขึ้นในรัฐยะไข่จะเพิ่มความวิตกต่อแผนการส่งกลับผู้ลี้ภัยคืนสู่พม่า ซึ่งรัฐบาลพม่าและบังกลาเทศตกลงกันว่าจะเริ่มกระบวนการในวันที่ 23 มกราคมนี้ หลังจากลงนามข้อตกลงกันไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
จ่อ เทย์ โฆษกกองทัพพม่ากลาวว่า พวกผู้ก่อความไม่สงบกำลังพยายามถ่วงการส่งกลับผู้ลี้ภัยจากบังกลาเทศ
"อาร์ซามีเป้าหมายทำให้พวกที่กำลังคิดจะกลับมีความหวาดกลัว เพื่อแสดงให้เห็นว่าภูมิภาคนี้ไม่มีสันติภาพ" โฆษกกองทัพพม่ากล่าว.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |