ท่าที-การตัดสินใจ "สมคิด" กระทบ "พปชร.-ประยุทธ์ 2/2"


เพิ่มเพื่อน    

        แม้ยังเหลืออีกหลายโค้งการเมือง ก่อนถึงวันประชุมใหญ่พรรคพลังประชารัฐ ที่ยังต้องให้ที่ประชุมพรรคโหวตเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรค

        ทว่าชั่วโมงนี้ แวดวงการเมืองและคนพลังประชารัฐมองข้ามช็อตไปแล้วว่า หมดเวลา ของกลุ่มคีย์แมนพลังประชารัฐ สายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ทั้งอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค-รมว.คลัง, สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค-รมว.พลังงาน, สุวิทย์ เมษินทรีย์ รองหัวหน้าพรรค-รมว.อุดมศึกษาฯ เรียบร้อยแล้ว ทั้งตำแหน่งใหญ่ในพรรคและเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาล เพียงแต่การต่อรองในช่วงโค้งสุดท้ายของกลุ่มสมคิด ก่อนบิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะออกมาแบบไหน เพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์รัฐบาลและพรรคพลังประชารัฐ

        เพราะเห็นได้ชัดว่า กระแสสังคมจำนวนไม่น้อยมองว่า การที่กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐร่อนใบลาออก 18 คน เพื่อทำให้กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐทั้งหมดสิ้นสภาพ ต้องมีการเลือกกันใหม่ยกแผง มาเกิดขึ้นในช่วงที่คนมองว่ายังไม่ใช่เวลานี้ที่รัฐบาลกำลังกรำศึกสู้สงครามโควิดฯ แม้สถานการณ์จะคลี่คลายลงแล้ว แต่วิกฤติอีกหลายลูกยังรออยู่ ยังเป็นศึกระยะยาวที่รัฐบาลต้องตั้งหลักให้ดี ห้ามเสียขบวน รัฐบาลควรทุ่มทุกอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและสภาพเศรษฐกิจที่หลายภาคส่วนได้รับความเดือดร้อนไปตามๆ กัน ไม่ใช่เอาเวลาแบบนี้มาเล่นการเมือง ชิงอำนาจกันในพรรคและในรัฐบาล แม้ต่อให้สิงหาคมนี้ รัฐบาลประยุทธ์ 2/1 จะทำงานครบ 1 ปี จึงเป็นช่วงที่สมควรแก่การปรับ ครม.-เปลี่ยนถ่ายอำนาจในพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล แต่ประชาชนจำนวนมากก็มองว่า ก็ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมอยู่ดี ควรรอไปก่อน

อีกทั้ง ยิ่งมาเกิดในช่วงที่กำลังจะมีการกดปุ่มใช้เงินกู้ที่รัฐบาลเตรียมหน้าตักไว้ขั้นต่ำร่วม 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน ของกระทรวงการคลัง 1 ล้านล้านบาท ที่ทำผ่านกลไกอำนาจรัฐ ทั้งในระดับพื้นที่ ผ่านคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ หรือ ก.บ.จ.ที่ยึดโยงกับฝ่ายการเมืองในส่วนกลางและระดับจังหวัด และอนุมัติการใช้เงินผ่านคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการใช้เงินกู้ ที่มีข้าราชการประจำเป็นกรรมการเสียส่วนใหญ่ สังคมเลยเป็นห่วง อาจทำให้เกิดการแทรกแซง-แบ่งเค้ก หาผลประโยชน์กันได้ กับจำนวนมากขนาดนี้

        ด้วยเหตุนี้ การแตกหัก-ชิงเหลี่ยมชิงอำนาจ กันในพรรคพลังประชารัฐในช่วงนี้ แม้ลึกๆ จะเป็นที่รู้กันดีว่า มีความพยายามเจรจาระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ในพลังประชารัฐ ที่ต้องการให้มีการปรับ ครม.-ลดบทบาทกลุ่มสมคิดและดันบิ๊กป้อมขึ้นเป็นหัวหน้าพรรค ได้มีการต่อรองกับกลุ่มสมคิด-อุตตม-สนธิรัตน์มานานแล้ว เพื่อให้กลุ่มอุตตมถอยแบบมีเชิง จะได้ไม่ถูกมองว่าเกิดความแตกแยกในพลังประชารัฐ แต่เมื่อไม่มีการขานรับ กลุ่มตรงข้ามอุตตมจึงต้องใช้วิธีการแตกหัก บีบให้อุตตม-สนธิรัตน์หลุดจากแผงอำนาจในพรรคและรัฐบาลอย่างที่เห็น

        ที่แม้จะเป็นเรื่องปกติของการเมือง ที่ต้องช่วงชิงการนำภายในพรรคและในรัฐบาล แต่วิธีการที่เกิดขึ้นกับพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล ที่คนจำนวนมากเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคนี้ เพราะสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ให้กลับมาเป็นนายกฯ และมาเกิดในช่วงนี้ เลยส่งผลทำให้กองเชียร์พลเอกประยุทธ์และพลังประชารัฐดูจะผิดหวังพอสมควร

        มองความเคลื่อนไหวเฉพาะหน้าในพลังประชารัฐต่อจากนี้ จุดสำคัญเรื่องหนึ่งก็คือ การจับตาดูท่าทีของ กลุ่มสมคิด ทั้งในพรรคพลังประชารัฐและในรัฐบาล หลังถูกมองว่ากำลังถูกคนในพรรคสารพัดกลุ่มจับมือกัน เขี่ยทิ้ง

        มีการมองกันว่า หากกลุ่มสมคิดมีการต่อรองบางอย่างกับผู้มีอำนาจตัวจริงในพลังประชารัฐ ที่ทุกคนก็รู้ว่าเป็นใคร แล้วพอยอมรับกันได้ อันเป็นจุดลงตัวที่พอทำให้กลุ่มสมคิดไม่เสียหน้าทางการเมืองมากเกินไป เช่น แม้อุตตมจะหลุดจากหัวหน้าพรรคและ รมว.คลัง แต่ถ้าถูกโยกสลับไปบางกระทรวง เช่น กลับไปอยู่กระทรวงอุตสาหกรรมตามเดิมสมัยก่อนเลือกตั้ง หรือไปนั่งเป็น รมว.อุดมศึกษาฯ แทนสุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่อุตตมก็ถนัดในฐานะอดีตนักวิชาการ-ผู้บริหารมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ส่วนตำแหน่งในพรรคก็อาจถูกดันไปเป็น ประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ที่ก็คือตำแหน่งปัจจุบันของพลเอกประวิตรในเวลานี้

        ถ้าการเจรจาต่อรองออกมาแบบนี้ หากกลุ่มสมคิด-อุตตม แม้อาจไม่พอใจ แต่หากยอมรับสภาพกันได้ ดีกว่า ขาลอยยกทีม

        ก็จะทำให้การแย่งชิงอำนาจในพลังประชารัฐก็อาจจบเร็วแบบมีรอยร้าว ไม่ถึงขั้นแตกหักทันที เพราะสถานการณ์ยังไม่เอื้ออำนวยให้กับกลุ่มสมคิดคิดทำการใดๆ แม้จะมีกระแสข่าวเรื่องกลุ่มสมคิดวางแผนตั้งพรรคการเมืองใหม่ถูกปล่อยออกมาก่อนหน้านี้ก็ตาม

       หยั่งสถานการณ์ไว้ว่า ทิศทาง-ท่าทีของกลุ่มสมคิด ในพรรคพลังประชารัฐและในรัฐบาลจะไปทางไหน ก็อยู่ที่ ดร.สมคิด เป็นหลัก ว่าจะเอาอย่างไร หลังก่อนหน้านี้ออกมาบ่นเสียงดังๆ ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในพลังประชารัฐ

        “น่าเสียดายน่าจะเอาพลังไปช่วยแก้ปัญหาบ้านเมืองมากกว่า และอยากให้พูดคุยกันมากกว่า ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าอะไรกันนัก เบื่อไหม ผมถามสื่อว่าเบื่อไหม" (สมคิด รองนายกฯ-2 มิ.ย.)

        ความเบื่อของสมคิด สุดท้ายจะแปรเปลี่ยนออกมาเป็นการตัดสินใจแบบไหน ก็เชื่อว่าการตัดสินใจของสมคิดจะมีผลทำให้ ทั้งอุตตม-สนธิรัตน์-สุวิทย์ รวมถึงคนอื่นๆ ในพลังประชารัฐ และในรัฐบาลที่อยู่สายสมคิด-อุตตม อย่าง กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกฯ (สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) และอดีตโฆษกพรรคพลังประชารัฐ, พรชัย ตระกูลวรานนท์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ-เหรัญญิกพรรค อดีตรองอธิการบดีธรรมศาสตร์, สันติ กีระนันทน์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ อดีตรองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ, สุรพร ดนัยตั้งตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน, ชาญกฤช เดชวิทักษ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที เอส ฟลาวมิลล์ จำกัด (มหาชน) ก็คงเอาด้วย แม้มีกระแสข่าวบางคนในกลุ่มนี้อาจแตกแถวเพื่อไปอิงกับขั้วอำนาจใหญ่ในพลังประชารัฐ หากกลุ่มสมคิดโดนลดบทบาท

        ด้วยเหตุนี้ การเคลื่อนไหวต่างๆ ในพลังประชารัฐ ก่อนการประชุมใหญ่พรรค การเทน้ำหนักไปที่การจับตามองท่าทีของ ดร.สมคิด จึงน่าสนใจไม่น้อย เพราะจะมีผลอย่างยิ่งต่อทิศทางของพรรคพลังประชารัฐ ยามเมื่อบิ๊กป้อมขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคและต่อการปรับ ครม.ประยุทธ์ ที่จะเป็นการมาถึงของประยุทธ์ 2/2 ที่คาดกันว่าพอเสร็จจากการจัดทัพในพลังประชารัฐเสร็จเรียบร้อย การปรับ ครม.ก็คงเกิดขึ้นตามมาจากนั้นทันที เว้นเสียแต่หากสถานการณ์ในพลังประชารัฐมีแรงกระเพื่อมอีกหลายระลอก เช่น การปรับ ครม. หากเกิดความไม่ลงตัวในการปรับ ครม.บางตำแหน่ง เช่น รมว.คลัง-รมว.พลังงาน-รมว.มหาดไทย-รมว.อุตสาหกรรม เพราะกลุ่มก๊วนในพลังประชารัฐแย่งกันอีก การเกิดขึ้นของประยุทธ์ 2/2 ก็อาจลากยาวไปเรื่อยๆ จนกว่าทุกอย่างจะลงตัว

        ท่ามกลางกระแสข่าวว่า สำหรับแรงหนุนจากหลายกลุ่มการเมืองในพลังประชารัฐ ที่พร้อมใจกัน หามบิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร เป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแล้ว ในส่วนของคนที่จะมาเป็น มือขวาบิ๊กป้อม คือ เลขาธิการพรรค ที่ก่อนหน้านี้แวดวงการเมืองมองกันว่า ตัวเต็งที่บิ๊กป้อมจะเลือกมาใช้งาน คอยดูแลบริหารจัดการงานในพรรค น่าจะมี 3 ชื่อ คือ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ, สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง, อนุชา นาคาศัย ส.ส.ชัยนาท คีย์แมนกลุ่มสามมิตร

        ยามนี้กระแสเสียง ส.ส.พลังประชารัฐ ทั้งสายปาร์ตี้ลิสต์และ ส.ส.เขต ดูเหมือนเสียงเชียร์ เสี่ยแฮงค์-อนุชา นาคาศัย เริ่มนำคนอื่นๆ เพราะมีแรงหนุนทั้งจากกลุ่มสามมิตร สมศักดิ์ เทพสุทิน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รวมถึงสัญญาใจที่บิ๊กป้อมเคยรับปากกับอนุชาตอนวืด เป็น รมช.คลังปีที่แล้ว ที่ยอมหลบให้กับกลุ่มเพชรบูรณ์ของ สันติ พร้อมพัฒน์ ว่า จะดันให้มีตำแหน่งใหญ่ในรัฐบาลและในพรรค สัญญาใจดังกล่าวเลยน่าจะได้เห็นในเร็วๆ นี้

ขณะที่ความเห็นแกนนำพรรคพลังประชารัฐ พบว่าต่างพยายามจะกลบร่องรอย ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคเอาไว้ เพื่อไม่ให้ปัญหาบานปลายจนกระทบกับรัฐบาล แต่ก็เป็นงานยากในการทำให้ประชาชนไม่มองว่า เกิดการชิงอำนาจกันในพรรคพลังประชารัฐ ด้วยเหตุนี้จึงเชื่อได้ว่า แกนนำพลังประชารัฐก็คงต้องการให้เรื่องนี้จบโดยเร็วที่สุด ผ่านการประชุมใหญ่ของพรรค ที่คงหาวิธีการทำให้เกิดการนัดประชุมให้เร็วที่สุด และเลือกหัวหน้าพรรค-กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่แบบม้วนเดียวจบ เรื่องจะได้ยุติโดยเร็ว

        ซึ่งแกนนำพลังประชารัฐก็มีการออกมาสำทับเรื่องนี้กันหลายคน อาทิเช่น สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม แกนนำกลุ่มสามมิตร ที่พูดถึงปัญหาในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อที่ร้านอาหารของครอบครัวตัวเองย่านสนามบินน้ำ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า การปรับปรุงองค์ประกอบของพรรค คือการปรับพื้นฐานของพรรคให้มีความหนักแน่น มั่นคงมากขึ้น เพราะจะได้นำพาพรรคไปสู่การเป็นเสาหลักที่มั่นคงของประเทศต่อไป โดยความสามารถในการรองรับการเปลี่ยนแปลงเป็นคุณสมบัติของพรรคการเมืองที่ดี ดังนั้นการปรับปรุงพรรคจะเกิดขึ้นไปได้เรื่อยๆ ซึ่งเป็นธรรมชาติของพรรคที่มีโครงสร้างที่ยืดหยุ่นสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ ดังตัวอย่างของพรรคการเมืองในอังกฤษไม่ว่าจะเป็นพรรคอนุรักษนิยมหรือพรรคแรงงาน ก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารพรรคอยู่ตลอดเวลา เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง

        "การปรับโครงสร้างทางการเมือง ไม่ได้หมายความว่าผู้บริหารเดิมจะไม่สามารถกลับมาได้อีก บุคคลที่เข้าใจชาวบ้าน เข้าใจชาวชนบท เข้าใจ ส.ส. ย่อมได้รับคะแนนนิยมในพรรค ทั้งท่านหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค หรือท่านประธานยุทธศาสตร์ของพรรค ก็สามารถกลับเข้ามาเป็นผู้บริหารสูงสุดของพรรคได้อีกเช่นกัน การลาออกของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ เพื่อให้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่ เปรียบเสมือนแก้วที่ตกผลึกแล้ว และกำลังจะถูกเจียระไนให้มีมูลค่าสูงขึ้น"

       ทุกความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐต่อจากนี้ จึงน่าติดตามยิ่งในทางการเมือง แม้พอจะเห็นปลายทางสุดท้ายว่า อาจมีความพยายามเก็บปัญหาเอาไว้ในพรรคและในรัฐบาล แต่สิ่งที่เกิดขึ้นมันเป็นรอยร้าวในพรรคที่ยากจะซ่อนเร้นความจริงเรื่องนี้ไว้ได้


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"