เฮ! อีกแล้ว "พญ.พรรณประภา" แถลงพบผู้ป่วยโควิด 1 รายในสถานกักตัวของรัฐ หลังเดินทางกลับจากต่างแดน ส่วนการติดเชื้อในประเทศเป็น 0 ต่อเนื่อง เหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลแค่ 58 ราย กรมสุขภาพจิตทำโพลพบความเครียดของครอบครัวไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง ผุดแคมเปญ "วัคซีนครอบครัว" สู้
เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน เวลา 11.30 น. ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. กระทรวงสาธารณสุข พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า วันนี้ (3 มิ.ย.63) มีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ 1 ราย เดินทางกลับจากต่างประเทศ เข้าพักในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ หมายความว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศยังเป็น 0 ราย มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 3,084 ราย (อยู่ในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 147 ราย และติดเชื้อในประเทศ 2,444 ราย) มีผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 2 ราย รวมรักษาหายแล้ว 2,968 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ 58 ราย ผู้เสียชีวิตไม่มีเพิ่มขึ้น คงอยู่ที่ 58 ราย
สำหรับภาพรวมของผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศไทย จำแนกตามเพศ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง จำแนกตามพื้นที่การรักษา ยังคงพบมากที่สุดที่กรุงเทพมหานครและนนทบุรี 1,723 ราย ตามมาด้วยภาคใต้ 741 ราย ภาคกลาง 414 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 111 ราย และภาคเหนือ 95 ราย อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยอยู่ที่ 39 ปี จังหวัดที่มีผู้ป่วยยืนยันสะสมมากที่สุด 3 จังหวัดแรก ยังคงเป็นกรุงเทพมหานคร, ภูเก็ต และนนทบุรี โดยภูเก็ตมีจำนวนผู้ป่วยต่อประชากร 1 แสนคนมากที่สุด อยู่ที่ 54.91 คน ต่อประชากร 1 แสนคน
พญ.พรรณประภากล่าวต่อไปว่า ผู้ป่วยรายใหม่ในวันนี้เป็นนักศึกษาชายไทย อายุ 26 ปี เดินทางจากประเทศซาอุดีอาระเบีย จากกรุงริยาดถึงกัวลาลัมเปอร์ เข้าไทยผ่านทางด่านปาดังเบซาร์ โดยรถบัสมาถึงไทยวันที่ 25 พ.ค.63 ผลตรวจครั้งที่ 1 ไม่พบเชื้อ เข้าพักสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ จ.ปัตตานี ตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 31 พ.ค.63 พบเชื้อ ไม่มีอาการป่วย จึงส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.ปัตตานี ส่วนสถานการณ์โควิดในสถานที่เฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ตั้งแต่เดือน ก.พ. - 3 มิ.ย.63 ผู้ป่วยทั้งสิ้น 147 ราย เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง อายุเฉลี่ย 39 ปี สำหรับประเทศต้นทางที่มีคนไทยเดินทางกลับมามากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อินโดนีเซีย, ซาอุดีอาระเบีย, คูเวต, ปากีสถาน และคาซัคสถาน
ส่วนจำนวนผู้ป่วยยืนยันตามปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่แรก อันดับที่ 1 คือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้า แต่จำนวนผู้ป่วยยืนยันตามปัจจัยเสี่ยงสองสัปดาห์ล่าสุด อันดับที่ 1 คือผู้ป่วยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ อันดับที่ 2 ไปสถานที่ชุมชน และอันดับที่ 3 สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยก่อนหน้า จะเห็นว่ายังคงพบผู้ป่วยในชุมชนอยู่ การใส่หน้ากากอนามัยยังเป็นสิ่งจำเป็น ที่ผ่านมาเราเห็นประชาชนใส่หน้ากากผ้ามากยิ่งขึ้น อยากเน้นย้ำเรื่องการซักทำความสะอาดหน้ากากผ้าก่อนนำกลับมาใช้ใหม่
พญ.พรรณประภากล่าวช่วงท้ายว่า วันที่ 1 มิ.ย.มีมาตรการผ่อนคลายระยะที่ 3 มีกิจการ กิจกรรมหลายประเภทกลับมาดำเนินการได้ตามปกติมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ความปกตินี้เป็น New Normal หรือวิถีชีวิตใหม่ พี่น้องประชาชนอาจรู้สึกไม่สะดวกสบายบ้าง มาตรการต่างๆ ที่เราออกมาเพื่อไม่ให้เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ซ้ำ การสวมหน้ากากอนามัย การใช้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือบ่อยๆ การเข้าไปสถานที่ต่างๆ มีการสแกนอุณหภูมิร่างกาย สแกนคิวอาร์โค้ดผ่านแอปพลิเคชันไทยชนะ สิ่งเหล่านี้ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดซ้ำอีก หรือหากมีการระบาดก็สามารถจำกัดการระบาดให้อยู่ในวงแคบที่สุด ติดตามผู้ป่วย ผู้ใกล้ชิดมาตรวจคัดกรองรักษาได้อย่างทันท่วงที หลายประเทศมีการปลดล็อกแล้วระบาดซ้ำ พี่น้องประชาชนจะร่วมมือกันได้ด้วยการปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ เพื่อให้มีการผ่อนคลายต่อไป ไม่ต้องกลับมาถอยหลังที่จุดเดิม
ด้าน นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตเล็งเห็นถึงความสำคัญของความสุขในครอบครัวมาโดยตลอด เพราะครอบครัวเป็นพลังเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในการทำให้ชุมชนและสังคมอยู่ดีมีสุข ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กรมสุขภาพจิตจึงได้ทำการสำรวจความสุขของครอบครัวไทยผ่านทางออนไลน์ และสำรวจอีกครั้งในกลุ่มเปราะบางทางสังคม
จากการลงสำรวจในพื้นที่ระหว่างช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ผ่านมา ผลสำรวจออนไลน์พบว่า ความเครียดของครอบครัวไทยส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง มีสัดส่วนร้อยละ 54.13 และมีความเครียดของครอบครัวระดับสูงถึงสูงมากร้อยละ 17.53 และจากการสำรวจความสุขของครอบครัวกลุ่มเปราะบางเมื่อลงพื้นที่สำรวจ พบสัดส่วนครอบครัวที่มีความสุขน้อยหรือน้อยมากร้อยละ 17.2 ซึ่งสูงกว่ากลุ่มที่ทำการสำรวจออนไลน์ในครั้งแรก จึงเร่งพัฒนา "วัคซีนครอบครัว" ประกอบด้วย พลังบวก ครอบครัวมองมุมบวกเป็น เห็นทางออกในทุกปัญหาแม้ในยามวิกฤติ, พลังยืดหยุ่น ครอบครัวที่ปรับตัวได้ ปรับเปลี่ยนเป้าหมาย หรือบทบาทหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น และพลังร่วมมือ ครอบครัวที่ปรองดอง เป็นทีม มีน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค "โปรแกรมวัคซีนครอบครัว" เป็นชุดกิจกรรมที่สนุก ง่าย ทำได้ทุกคน สามารถทำร่วมกันในครอบครัว เพื่อช่วยให้ครอบครัวมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจในการสร้างสุข ลดทุกข์ เป็นเกราะป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในครอบครัว ช่วยให้สามารถฟื้นตัวกลับมาเผชิญปัญหาต่ออย่างเข้มแข็ง
ด้าน พญ.ดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า วัคซีนครอบครัวเป็นกิจกรรมที่ผู้นำหรือสมาชิกในครอบครัว หรือ อสม.และผู้นำชุมชนพาทำกิจกรรมกันเองในครอบครัว โดยพาทำกิจกรรมกลุ่มครั้งละ 10-15 ครอบครัว ในกลุ่มครอบครัวกลุ่มเปราะบาง เพื่อเร่งเสริมพลังบวก พลังยืดหยุ่น พลังร่วมมือ ประกอบด้วยกิจกรรมต้นแบบ 3 กิจกรรม ได้แก่ กล่องพลังใจ ช่วยเสริมพลังบวก ช่วยให้คนในครอบครัวมองเห็นว่าทุกคนต่างมีข้อดี ถ้าได้ขอบคุณกันและชื่นชมในข้อดีของกัน คนพูดก็สุขใจ คนฟังก็มีกำลังใจ อยากร่วมมือเป็นทีมเดียวกันในการสู้ปัญหา
พญ.ดุษฎีกล่าวว่า ด้านเกมพลังใจ ช่วยเสริมพลังยืดหยุ่น ช่วยให้สมาชิกในครอบครัวฝึกปรับตัว ปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระที่เกิดขึ้น รับฟังและช่วยเหลือกันในการแก้ปัญหา และต้นไม้พลังใจ ช่วยเสริมพลังร่วมมือผ่านการสังเกต รับฟัง และไว้ใจกัน ช่วยให้คนในครอบครัวปรองดอง ใช้ความเก่งของทุกคนในบ้านมาช่วยกันฟันฝ่าปัญหาอุปสรรค สิ่งที่เรียนรู้ทั้งหมดจะถูกนำกลับไปทำต่อที่บ้านผ่านบันทึกวัคซีนครอบครัว เพื่อให้ครอบครัวฝึกสร้างวัคซีนอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดภูมิคุ้มกันทางใจอย่างถาวร.
เมื่อวานคุยเล่น เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด |
อนาคต 'คนนินทาเมีย' |
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ' |
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ |
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง" |
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา. |
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?" |